Skip to content Skip to sidebar Skip to footer

Bic Cristal ปากกาลูกลื่นพลิกโลก เพราะทุกคนมีสิทธิที่จะเขียน

ในอดีตคนที่ใช้ปากกาเคยจำกัดอยู่แค่คนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น เพราะด้วยการใช้ปากกาหมึกซึมนั้น มีเงื่อนไขว่า “โต๊ะต้องเรียบ กระดาษต้องดี และต้องหมั่นทำความสะอาดเสมอ” จนกระทั่งมีการประดิษฐ์ “ปากกาลูกลื่น” ด้ามพลาสติกหน้าตาธรรมดายี่ห้อหนึ่ง ที่พลิกโลกทั้งใบให้กลายเป็นโลกที่ไม่ว่าใครสถานะไหนก็สามารถมีปากกาไว้เขียนได้ นั่นก็คือ ปากกา “Bic Cristal” ปากกาที่เราคุ้นตากันเป็นอย่างดีนั่นเอง!

ในอดีตคนที่ใช้ปากกาเคยจำกัดอยู่แค่คนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น เพราะด้วยการใช้ปากกาหมึกซึมนั้น มีเงื่อนไขว่า “โต๊ะต้องเรียบ กระดาษต้องดี และต้องหมั่นทำความสะอาดเสมอ” จนกระทั่งมีการประดิษฐ์ “ปากกาลูกลื่น” ด้ามพลาสติกหน้าตาธรรมดายี่ห้อหนึ่ง ที่พลิกโลกทั้งใบให้กลายเป็นโลกที่ไม่ว่าใครสถานะไหนก็สามารถมีปากกาไว้เขียนได้ นั่นก็คือ ปากกา “Bic Cristal” ปากกาที่เราคุ้นตากันเป็นอย่างดีนั่นเอง!

ในวันนี้ Art of จะขอเล่าเรื่องเบื้องลึกเบื้องหลังของผลงานการออกแบบ “BIC Cristal” ปากกาที่เรียกได้ว่าเป็นบรรพบุรุษของปากลูกลื่นราคาย่อมเยาที่เราใช้กันในทุกวันนี้ ผลงานการออกแบบประจำตัวอักษร B ในซีรี่ส์ Design A – Z


จากปากกาของกองทัพ สู่ปากกาของทุกคน

BIC Cristal ปากกาลูกลื่นแท่งแรกของ BIC ถูกออกแบบในปี 1949 โดย Décolletage Plastique design team ทีมออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติกของ BIC บริษัทผลิตเครื่องเขียนจากประเทศฝรั่งเศส ที่ผู้ก่อตั้ง Marcel Bich และ Edouard Buffard มีความมุ่งหวังที่จะสร้างปากกาที่มีราคาที่ถูกลงเพื่อให้ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในสถานะไหนก็สามารถใช้ได้

ความหวังนี้เริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้นเมื่อ Marcel Bich หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัท BIC (เขาตัดตัว h ออก แล้วเอามาตั้งชื่อบริษัท) ไปเจอปากกาลูกลื่นที่ถูกผลิตในอาเจนติน่าโดยสองพี่น้อง Biro ซึ่งตอนนั้นยังถูกจัดเป็นสินค้าที่มีราคาสูง ทำให้ไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าไหร่ แต่ก็มักจะได้รับคำสั่งซื้อจาก “กองทัพ” เนื่องจากเขียนได้ทุกที่ ทุกสถานการณ์ โดยเฉพาะเหล่านักบินที่ต้องจดข้อมูลจากบนฟ้า Marcel เล็งเห็นโอกาสจากเทคโนโลยีลูกลื่นนี้ทำให้เขาตัดสินใจซื้อสิทธิบัตรมาในปี 1944

หลังจากนั้นเขาก็ลงทุนในการพัฒนา “ลูกโลหะ” ให้มีขนาดที่เล็กลง เพื่อให้หมึกสามารถไหลได้อิสระมากขึ้น และพัฒนาหมึกให้มีความหนืดมากพอที่จะไม่รั่วซึมออกมาแต่ก็ไม่มากเกินไปจนทำให้หมึกตัน ซึ่งหลังจากการพัฒนาเทคโนโลยี และการออกแบบเสร็จสิ้นปากกา BIC รุ่น Cristal ก็ได้ถูกผลิต และเปิดตัวที่ฝรั่งเศสในเดือนธันวาคม ปี 1950 โดยเป็นปากกาลูกลื่นแบบแรกที่ถูกผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก จนถึงปี 1953 ก็ขายไปถึง 40 ล้านด้ามเลยทีเดียว


ทำไมต้องหกเหลี่ยม ทำไมใส ทำไมสีส้ม และทำไมถึงมีรู ?

การออกแบบปากกาตั้งแต่อดีตจะมีลักษณะเป็นแท่งกลม แต่ BIC Cristal เป็นปากกาที่ทำจากพลาสติกแท่งแรกที่เป็นหกเหลี่ยมเหมือนดินสอไม้ ทั้งนี้ก็เพื่อทำให้ตัวแท่งที่มีขนาดเล็กลง บางลงยังคงมีความแข็งแรง เขียนจับได้มั่นคง และวางบนโต๊ะแล้วไม่กลิ้งไปมา

สาเหตุที่ตัวแท่งปากการุ่นแรกทำมาจากพลาสติกใสเพื่อให้เห็นว่ามีหมึกเหลือในปากกาเท่าไหร่ เพราะว่ามันเป็นปากกาแบบใช้หมดแล้วเปลี่ยนไส้หมึกไม่ได้ จึงทำให้ไม่สามารถถอดแยกออกมาดูได้

ต่อมาในปี 1961 BIC จะปล่อยปากการุ่น Fine ที่มีขนาดเส้น 0.8 มม. เพื่อรองรับการเขียนที่ละเอียดมากขึ้นออกมา โดยเปลี่ยนเป็นด้ามสีส้มทึบในแบบที่เราคุ้นตาเพื่อให้โดดเด่นมองเห็นได้ง่าย และแยกออกจากรุ่นแรกที่เป็นแท่งใสที่มีขนาด 1.0 มม. ได้ชัด

นอกจากนี้เมื่อขนาดของเส้นบางลงปริมาณหมึกที่ออกมาก็น้อยลงทำให้ปากกาเขียนได้นานกว่าเดิม จากรุ่นแรกที่เขียนได้ราวๆ 2 กิโลเมตร ก็กลายเป็น 3.5 กิโลเมตร และอาจรวมไปถึงราคาต่อแท่งที่ถูกทำให้เมื่อหมึกไม่ออกก็แค่เปลี่ยน ส่งผลให้การดูปริมาณหมึกไม่ค่อยจะจำเป็นเท่าไหร่ (แต่ว่าต่อมาก็มีรุ่นสีส้มแบบใสนะ)

ส่วนเรื่องรูที่บนตัวปากกาที่ทุกคนเห็นๆ แต่ไม่รู้ว่ามีไปทำไมนั้น จริงๆ แล้วมีไว้เพื่อให้แรงดันอากาศของภายนอก และภายในปากกาเท่ากัน เพราะปากกาของ BIC นั้นเป็นแบบถอดประกอบไม่ได้ ทำให้อาจเกิดปัญหาเรื่องแรงดันไม่เท่ากัน หมึกไหลได้ไม่ดี และทำให้หมึกรั่วออกมา


ปฏิวัติวงการเขียน ของถูกและดีที่มีอยู่จริง

ถึงแม้ว่าปากกา BIC จะมีจุดขายที่แข็งแกร่งมากคือการเป็น “ปากกาที่ดีในราคาถูก” แต่การตลาดก็ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นอยู่ดีเพราะว่านี่เป็นครั้งแรกที่โลกมีปากกาที่ทุกคนสามารถมีได้ โดยราคาขายครั้งแรกอยู่ที่แท่งละ 19 cents หรือ ประมาณ 30 สตางค์ในสมัยนี้ ซึ่งถ้าให้เทียบกับปากกาลูกลื่นที่ใช้ในกองทัพที่เป็นแรงบันดาลใจเริ่มต้นราคาจะต่างกันราวๆ 50 เท่าเลยทีเดียว

ปากกา BIC เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เปลี่ยนโลกอย่างแท้จริง เพราะหลังจากเปิดตัวในปี 1950s ก็ทำให้สถิติจำนวนคนที่อ่านเขียนได้ทั่วโลก (literacy rates) เพิ่มจาก 35% ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 จนเพิ่มเป็น 90% ในปี 2024

การขยายตลาดของ BIC ดำเนินไปได้ด้วยดีโดยเริ่มจากในยุโรปก่อน ซึ่งยอดขายรวมในช่วงแรกถึงปี 1955 นั้นเชื่อว่าสูงเกิน 5 ล้านดอลลาร์ ก่อนที่ส่งออกไปในแถบทวีปออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ และเข้าตีตลาดใหญ่อย่างอเมริกาในปี 1958 ภายใต้สโลแกน “Writes first time, Every time” เขียนดีทุกครั้งเหมือนใช้ครั้งแรก ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดีมากทั่วโลกจนเรียกได้ว่าในยุค 50-60 ปากกาของ BIC ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของโลกการเขียนจากปากกาหมึกซึมที่ยุ่งยากกลายเป็นปากกาลูกลื่นที่เขียนที่ไหนก็สะดวก และไม่ว่าใครก็สามารถหาซื้อมาเขียนได้


BIC Boy เด็กหัวกลม

BIC ได้ว่าจ้าง Raymond Savignac ศิลปิน และนักออกแบบกราฟฟิกชื่อดังของฝรั่งเศสในยุคนั้นให้ออกแบบโปสเตอร์ให้ ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศด้านโฆษณาในปี 1952 ก่อนที่หลังจากนั้นในปี 1961 เขาจะได้ออกแบบโลโก้ให้กับ BIC ก็คือเจ้าเด็กหัวกลมที่เราเคยเห็นกันนั่นเอง 

โดยเขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากเด็กนักเรียนที่เป็นกลุ่มตลาดที่ใหญ่ที่สุด ทำกำไรสูงที่สุด รวมเข้ากับหัวลูกบอลของปากกาลูกลื่นที่เป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์ และโลโก้ BIC Boy ก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของ BIC มาจนถึงปัจจุบัน ด้วยความสำเร็จนี้เองทำให้ Raymond ยังคงสร้างสรรค์ผลงานให้กับ BIC มาตลอด 20 ปี


ก้าวต่อไปของ BIC ปากกายอดขายอันดับ 1 ของโลก ที่ยั่งยืนมากขึ้น

ในปัจจุบันปากกาของ BIC มีอายุมากกว่า 75 ปีแล้ว ซึ่งถูกผลิตออกมามากมายหลายแบบ แต่รุ่น Cristal ก็ยังคงเป็นรุ่นยอดนิยมที่สุดอยู่ และไม่ใช่แค่ของตัวแบรนด์เอง แต่นี่คือปากกาที่มีขายดีมากที่สุดทั่วโลกโดยมียอดขายทะลุ 1 แสนล้านแท่งไปแล้วตั้งแต่ปี 2006 และด้วยความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่นี้เองทำให้ปากกา BIC ได้ถูกจัดแสดงอยู่ในนิทรรศการถาวรของพิพิธภัณฑ์ MoMA ที่นิวยอร์ค และ Design Museum ในลอนดอน

ถึงแม้ว่าปากกา BIC รุ่น Cristal และ Fine นั้นจะเป็นเหมือนดั่งไอคอนลับของวงการการออกแบบที่เปลี่ยนแปลงโลก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเป็นปากกาแบบใช้แล้วทิ้งนั้นได้สร้างปริมาณขยะที่ไม่จำเป็นให้กับโลกเช่นกัน ว่ากันว่าแค่ในสหรัฐก็มีปากกามากกว่า 1.6 พันล้านแท่งแล้วที่ถูกทิ้งต่อปี ซึ่งทางบริษัทก็ไม่ได้นิ่งนอนใจโดยได้เปลี่ยนวัสดุ 75% มาใช้เป็นพลาสติกรีไซเคิลแทน แต่ก็ยังคงเก็บหน้าตาไว้ตามเดิม

ซึ่งตั้งแต่ปี 2021 BIC ก็ได้เริ่มวางขายไลน์สินค้ารักโลกภายใต้ชื่อว่า BIC ReVolution เช่น ดินสอกด ปากกาเคมี และลิคควิดเทป หรือ BIC Cristal ReNew ปากกาหน้าตาคุ้นเคยที่สามารถเปลี่ยนไส้ปากกาได้แล้ว ซึ่งบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดทำมาจากวัสดุรีไซเคิล เป้าหมายต่อไปของ BIC คือการให้ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดใช้วัสดุจากการรีไซเคิล หรือวัสดุที่รีไซเคิลได้ ตั้งแต่ตัวสินค้าจนไปถึงบรรจุภัณฑ์ภายในปี 2030


The Bic Art Collection ศิลปะจากลายเส้นและด้ามปากกา BIC โดยศิลปินทั่วโลก

BIC เริ่มมีการเปิดตัวงานศิลปะร่วมสมัยตั้งแต่ช่วงปลายยุค 90 โดยจะใช้ผลิตภัณฑ์ของ BIC หรือได้รับแรงบันดาลใจ โดยเริ่มจากการจัดนิทรรศการในอิตาลีที่เล่าเรื่องราวของ Marcel Bich

ตั้งแต่ ปากกา BIC Cristal เปิดตัวในช่วงต้นยุค 50s ศิลปินหลายคนก็ได้นำปากกาลูกลื่นนี้มาใช้สร้างสรรค์งานศิลปะ ตั้งแต่ ภาพวาด, ลายเส้น, ประติมากรรม ไปจนถึงงานศิลปะจัดวาง (Art installation) ทำให้ได้เห็นถึงศักยภาพของปากกานี้ว่าไม่ธรรมดาเลยจริงๆ

และในปี 2017 ก็ได้มีโครงการ BIC Art Master Africa ที่เปิดพื้นที่ให้ศิลปินจากทวีปแอฟริกาและตะวันออกกลางได้สร้างสรรค์ผลงานด้วยปากกาลูกลื่น โดยมีศิลปินนับพันส่งผลงานเข้าประกวดไม่ขาดสายจนปัจจุบัน ซึ่งแต่ละชิ้นก็สวยงามน่าทึ่งทั้งนั้น


เขียนและเรียบเรียงโดย
รวีศิลป์ อัศวกิตติประภา , เบญญดา ถาวรเศรษฐ

source:
https://en.wikipedia.org/wiki/Bic_Cristal
https://www.cascade.app/studies/bic-strategy-study
https://designmuseum.org/discover-design/all-design-objects/bic-biro
https://corporate.bic.com/en-US/group/our-story
https://en.wikipedia.org/wiki/Bic_(company)
https://en.wikipedia.org/wiki/Ballpoint_pen
https://www.bbc.co.uk/future/article/20201028-history-of-the-ballpoint-pen
https://www.youtube.com/watch?v=-OxsoPxc8SY

© 2021 Art of. All rights reserved.

  083-138-5607
contact@artofth.com

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save