1047Views
อนาฅต – Tomorrow and I ซีรีส์ที่ทำให้ตั้งคำถามว่า ‘อยากจะเห็นอนาคตเป็นแบบไหน?’
ในช่วงสองปีที่ผ่านมา จะสังเกตเห็นได้ว่า มีซีรีส์และภาพยนตร์ Netflix Originals ที่สร้างสรรค์โดยคนไทยอยู่หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น Hunger (2023), Analog Squad (2023), Delete (2023), The Murderer (2023), สาธุ (2024), Dr, Climax (2024), สืบสันดาน (2024) และ อย่ากลับบ้าน (2024) โดยแต่ละเรื่องมีการเล่าเรื่องที่เป็นเอกลักษณ์ และงานโปรดัคชั่นคุณภาพ
ซีรีส์ Netflix Originals เหล่านี้ได้ถูกเรียกรวมรุ่นกันภายใต้ชื่อ ‘ทีใคร ทีมันส์’ นั่นเอง ซึ่งเป็นผลงานที่ผลิตโดยคนไทยบนแพลตฟอร์ม Netflix ที่ฉายไปทั่วโลก
และซีรีส์ที่เป็นที่จับตาและพูดถึงที่สุดในช่วงปลายปี 2024 นี้ ก็คือ ซีรีส์ ‘Tomorrow and I’ หรือ ‘อนาฅต’ ที่ประกอบไปด้วย 4 ตอน โดยแต่ละตอนมีทั้งประเด็นเรื่องเล่าและงานภาพที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ได้แก่ นิราศแกะดำ (Black Sheep) , เทคโนโยนี (Paradistopia) , ศาสดาต้า (Bhuddha Data) และ เด็กหญิงปลาหมึก (Octopus Girl) โดยทั้งหมดนี้ใช้เวลาสร้างนานถึง 3 ปี เลยทีเดียว
ซึ่งหลังจากออกฉายไม่กี่วัน ซีรีส์นี้ก็เป็นที่พูดถึงและมีกระแสความคิดเห็นในแต่ละตอนที่หลากหลายมาก ตามแต่ว่าเรื่องไหนจะจุดประเด็นอะไรในใจแต่ละคนบ้าง เชื่อว่าหลังดูจบแต่ละตอน หลายคนจะต้องถามตัวเองว่า ‘อนาคตที่เราอยากเห็น เป็นแบบไหนกันนะ?’
วันนี้ Art of จะพาไปพูดคุยกับทีมผู้สร้างซีรีส์ ‘Tomorrow and I’ ได้แก่ ผู้กำกับ คุณกอล์ฟ—ปวีณ ภูริจิตปัญญา และ ผู้อำนวยการสร้าง คุณหนุ่ม—สุรวุฒิ ตุงคะรักษ์ จาก Jungka Studio เกี่ยวกับจุดเริ่มต้นและเบื้องหลังของการสร้างซีรีส์เรื่องนี้กัน เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับคนทำงานสายครีเอทีฟ ผู้ชม และผู้ที่สนใจทุกคน
จุดเริ่มต้นของซีรีส์นี้
คุณกอล์ฟ: เริ่มต้นจาก พีพี (พัทน์ ภัทรนุธาพร – ผู้สร้างอีกคน) ที่กำลังเรียนปริญญาเอกและมีความสนใจเรื่องวิทยาศาสตร์มาก เขามาชวนกันว่า มาทำหนัง Sci-fi ของไทยกันไหม ตอนได้ฟังตอนนั้นก็ได้แต่คิดว่า ความ Sci-fi มันห่างจากไกลจากความเป็นประเทศไทยมาก
แต่พอลองมาคิดถึงเรื่อง ‘อนาคต’ ในประเทศจริงๆ ถ้าย้อนไปสิบปีก่อนมาจนปัจจุบัน เทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น แต่ตัวคนอาจไม่ได้เปลี่ยนตาม จะสิบ ยี่สิบ สามสิบปี ปัญหาสังคมเดิมๆ ก็ยังมีอยู่ ทำให้เริ่มสนใจอยากที่จะนำเอาประเด็นทางสังคมที่น่าตั้งคำถาม และประเด็นที่น่าเจ็บปวด มาสื่อสารออกไปให้ทุกคนได้ตั้งคำถามว่า ‘เรารู้สึกยังไงกับสภาวะโลกในปัจจุบันนี้ และอยากให้โลกในอนาคตเป็นแบบไหน?’
กระบวนการทำงานกับ Netflix
คุณหนุ่ม: เรานำโปรเจกต์นี้ไปเสนอทาง Netflix ซึ่งต้องให้เครดิตเลย เพราะเขาใจกว้างมาก ที่ให้เรากล้าทำเรื่องแนวนี้ออกมา อย่างที่บอกกันไปว่าเรื่อง Sci-fi แบบนี้ห่างไกลกับประเทศไทยมากจริงๆ
คุณกอล์ฟ: ตอนเราเอาไปเสนอ คิดว่าเขาน่าจะเห็นถึงความตั้งใจจริงของเรา เราเห็นถึงวิสัยทัศน์ของทาง Netflix เลย ว่าเขาอยากนำเสนอความแตกต่าง ความหลากหลาย และสื่อสารเรื่องที่ไม่สามารถพูดออกไปในสื่อปกติได้
โปรเจ็กต์นี้ถือเป็นโปรเจ็กต์แรกๆ ของ ‘ทีใครทีมันส์’ ที่เป็นการรวมผลงาน Netflix Originals โดยคนไทย แต่เราใช้เวลาทำนานมากถึง 3 ปี ทำให้ปล่อยออกมาทีหลังเรื่องอื่นๆ โปรเจ็กต์นี้เริ่มต้นตอนปี 2021 ได้ถ่ายทำปี 2022-2023 และทำเสร็จจนได้มาฉายปลายปี 2024 นี้เอง
ที่มาที่ไปของประเด็นทางสังคมในแต่ละตอน
คุณกอล์ฟ: ตอนเริ่มต้นมีการลิสต์ประเด็นออกมาเยอะมาก แต่ประเด็นที่สนใจส่วนตัวที่สุดคือเรื่องโลกร้อน (ในเรื่องเด็กหญิงปลาหมึก) และเรื่องการค้าประเวณีในสังคม (ในเรื่องเทคโนโยนี) จากนั้นพีพีก็มาบอกว่าสนใจอยากทำเรื่องศาสนา ทำให้เริ่มสังเกตเห็นว่าเด็กรุ่นใหม่เริ่มตั้งคำถามกับศาสนาเหมือนกัน
ส่วนไอเดียสุดท้ายคือเรื่อง นิราศแกะดำ ความสนใจเริ่มมาจากเรื่องการโคลนสัตว์ที่เริ่มถูกกฎหมายแล้ว ทำให้เราเริ่มตั้งคำถามกับเรื่องตัวตนและร่างกาย เช่นว่า ถ้าเราเกิดขึ้นมาแล้วได้มาอยู่ในร่างกายที่ไม่อยากอยู่ ก็เหมือนเราถูกโคลนมาแบบไม่สมบูรณ์หรือเปล่า? จึงกลายมาเป็นประเด็นเรื่อง ‘การยอมรับตัวตน’ ในตอนนี้
Art of: กระแสตอบรับก็ออกมาหลากหลายมาก
คุณกอล์ฟ: เป็นสิ่งที่ทีมงานดีใจนะ และคาดการณ์อยู่แล้วว่าจะเป็นแบบนี้ น่าตื่นเต้นมากที่เราจะเห็นว่าแต่ละตอนจะมีแฟนของตัวเอง และทุกๆ คนจะมีการเรียงลำดับความชอบที่ไม่เหมือนกันเลย เป็นเรื่องดีที่ทุกคนคิดเห็นแตกต่างกัน
แต่ละเรื่องมีความแตกต่างกันชัดเจนมาก มีการคุมภาพรวมยังไง
คุณกอล์ฟ: ทั้ง 4 ตอนอยู่ภายใต้ไอเดียเดียวกันก็คือคำว่า Tomorrow and I และ การตั้งคำถามเกี่ยวกับอนาคตที่เราอยากจะให้เป็น เราตั้งใจให้แต่ละเรื่องมีทิศทางที่ไปสุดในแบบของตัวเอง สิ่งที่สำคัญก็คือในเรื่องนั้นๆ เราพูดถึง ‘ใคร’ มากกว่า
คุณหนุ่ม: เราให้ ‘จุดมุ่งหมาย’ ของหนังแต่ละตอนเป็นตัวกำหนดทิศทาง ว่าอยากให้แต่ละตอนนำไปสู่การพูดถึง และการคิดต่อยังไงในสังคมบ้าง ซึ่งท้าทายตั้งแต่การที่เราต้องอธิบายให้ทีมงานของเราเองเข้าใจแล้ว
คุณกอล์ฟ: ท้าทายมากตั้งแต่เรื่องบท การเลือกนักแสดง จนมาถึง Production Design เพราะมันเหมือนเป็นการสร้างโลก 4 โลกที่ไม่ได้อยู่ในจักรวาลเดียวกันเลย
คุณหนุ่ม: เพื่อสื่อสารกับทีมงานทั้งหมด เราเลยต้อง Twist กระบวนการท้ังหมดเลย โดยปกติแล้วมันจะเริ่มจาก บท, screenplay แต่สำหรับโปรเจ็กต์นี้ เราเริ่มจากทำ ‘Visual Design’ ของแต่ละโลกขึ้นมาเลย เพื่อให้คนเขียนบทและทีมงานได้เห็นภาพนี้ตรงกัน
สิ่งที่ท้าทายที่สุดในการทำซีรีส์เรื่องนี้
คุณกอล์ฟ: คิดว่ายากที่สุดคือการทำให้เสร็จ เพราะมีถึง 4 เรื่องที่ใช้เวลาและกำลังเยอะมาก เราต้องบุกเบิกลองผิดลองถูกหลายอย่าง ต้องอาศัยความเชื่อมั่นสูงมากๆ เมื่อวันที่ทำเสร็จ เอาจริงๆ ยังไม่รู้ตัวเลยว่าเสร็จแล้ว เพราะเราอยู่กับมันมานานมาก จากนี้ก็ได้แต่ปล่อยวาง
คุณหนุ่ม: ความยากในมุมโปรดัคชั่นคือ เป็นงานในแบบที่คนไทยยังไม่เคยทำ ในสเกลแบบนี้ ลักษณะแบบนี้ เลยต้องสร้างระบบการทำงานใหม่ทั้งหมด เรารู้ว่างานนี้ต้องใช้เวลาอยู่กับมันนานมาก เราต้องการคนที่มาอยู่กับงานนี้ได้จริงๆ เลยต้องหา Rising Star คนที่จะเติบโตพร้อมไปกับเราในงานนี้
คุณกอล์ฟ: มีการเลือกจาก Portfolio เลย เลือกคนที่ทำสไตล์ที่เราต้องการ เหมือนฝันที่เป็นจริงเลยที่ได้ทำงานกับคนเก่งๆ ซึ่งตอนแรกเราเคยติดต่อบางบริษัทเหมือนกัน เขาก็มองว่าสิ่งที่เราจะทำมันดูเป็นไปไม่ได้เลย
คุณหนุ่ม: จะเรียกว่าเป็นโปรเจ็กต์รวมคนบ้าก็ได้
ทำยังไงให้สื่อสารถึงสิ่งที่มีความเป็นไทย แต่ก็ยังสามารถเข้าใจได้จากมุมมองของคนทั่วโลก
คุณหนุ่ม: เราคิดว่าหลายประเด็นในเรื่องมีความ Universal (สากล) ในตัวมันเองอยู่แล้ว เช่น การไม่ได้รับการยอมรับ การโดนกดขี่ทางสังคม ส่วนในเรื่องโปรดัคชั่น เราตั้งใจไว้อยู่แล้วว่างานภาพ เสียง และทุกๆ อย่าง ต้องได้มาตรฐานระดับโลก
คุณกอล์ฟ: ถ้าในมุมส่วนตัว ไม่ได้คิดถึงการบาลานซ์อะไรเลย ไม่ได้คิดเลยว่าต่างชาติจำเป็นต้องเข้าใจขนาดนั้น เพราะประเด็นของเรื่องพวกนี้มันเกิดมาจากความเจ็บปวดในสังคมไทย แต่อย่างเรื่อง Gender ถึงทั่วโลกจะเหมือนยอมรับกันแล้ว ก็เชื่อว่าในบางสังคมมันยังมีการถูกกดทับอยู่
เรื่องโสเภณีก็เป็นเรื่องที่ในหลายชาติถูกกฎหมายแล้ว และเขาอาจจะไม่ได้อินขนาดนั้น ซึ่งจริงๆ แล้วหัวใจหลักที่อยากพูดถึงในเรื่องนี้ก็คือเรื่อง ‘โสเภณีเด็ก’ ซึ่งเป็นประเด็นที่ไม่มีใครในโลกเลยกล้าพูดถึง ส่วนในเรื่องศาสดาต้า คิดว่าพูดกับคนไทยโดยตรงเลย ไม่ได้ตั้งใจว่าต่างชาติต้องเข้าใจ
อันที่จริง จากที่อ่านรีวิวต่างประเทศ ไม่น่าเชื่อว่าในทั้ง 4 ตอน มีคนต่างชาติที่เข้าใจทั้งหมดเลย ถึงแม้ความตั้งใจของเราจริงๆ คือต้องการสื่อสารถึงคนไทยก็ตาม
คุณหนุ่ม: โดยเฉพาะตอนเด็กหญิงปลาหมึกเป็นตอนที่อยากจะพูดเรื่องโลกร้อนกับคนไทยตรงๆ เลย อยากให้คนไทยรู้สึกจริงๆ ตอนจบก็จบแบบให้เจ็บปวดที่สุดไปเลย แบบให้เจ็บแล้วจำ
คุณกอล์ฟ: ตอนเด็กหญิงปลาหมึกเป็นตอนที่ส่วนตัวคิดว่าลุ้นที่สุด เพราะเราเลือกไดเร็คชั่นที่สื่อสารแบบตลกโปกฮามากๆ เหมือนเป็นการเสียดสีถึงความที่คนไทยไม่สนใจในเรื่องโลกร้อนเลย
คิดยังไงกับการที่มีการพูดถึงว่าซีรีส์เรื่องนี้เป็นเหมือน Black Mirror ของไทย
คุณกอล์ฟ: ผมเป็นแฟนซีรีส์ Black Mirror และ Charlie Brooker อยู่แล้ว แน่นอนว่าได้รับแรงบันดาลใจมา แต่สำหรับเรื่อง Tomorrow and I ถึงจะเป็นเรื่องที่จินตนาการถึงอนาคตเหมือนกัน แต่ก็มีความแตกต่างอย่างชัดเจน จากกระแสตอบรับของผู้ชม เขาก็รับรู้ได้ว่าเรื่อง Tomorrow and I จะมีมุมมองที่พูดถึงสังคมโดยรวมมากกว่า ในขณะที่ Black Mirror จะเน้นพูดถึงตัวบุคคล
คุณหนุ่ม: สำหรับผมก็ถือเป็นเรื่องดี เพราะทำให้ไม่ต้องอธิบายเยอะทุกคนก็พอจะเข้าใจแนวทางรวมๆ แล้ว
ทิ้งท้ายเกี่ยวกับซีรีส์เรื่องนี้
คุณกอล์ฟ: ซีรีส์เรื่องนี้ไม่มีตัวเอก แต่มีตัวละครที่นำพาประเด็นออกมาให้ทุกคนดู เราพยายามนำเสนอทุกๆ มิติตามความเป็นจริง สุดท้ายอยากให้คนดูเป็นคนเลือกตัดสิน และหยิบสิ่งเหล่านี้ออกมาพูดคุยกัน เพื่อร่วมกันสร้างอนาคตในแบบที่เราอยากให้มันเป็น
คุณหนุ่ม: เราทำหนังเรื่องหนึ่ง จุดประสงค์แรกเราก็อยากให้คนสนุกไปกับมัน รู้สึกไปกับมัน และสำหรับซีรีส์เรื่องนี้ อย่างน้อยอยากให้ทุกคนนำเรื่องราวมาพูดคุย ถกเถียง และถ้ามันนำไปสู่การกระทำอะไรบางอย่าง เท่านี้ก็ดีใจมากแล้ว เช่น ถ้าดูตอนที่ 4 แล้วร้องไห้ จากนั้นเดินไปปิดไฟสักดวงในบ้าน เท่านี้ก็สุดยอดมากแล้วนะ