219Views
Karl Lagerfeld ไกเซอร์แห่งโลกแฟชั่นผู้ชุบชีวิต Chanel จากความตาย
ผมขาวยาวรวบหางม้า สวมแว่นดำ ปกคอสูงตั้งปิดคอ ผูกเนคไทด์สีดำ พูดแค่นี้หลายคนก็คงนึกออกแล้วว่าเป็นใคร เขาก็คือ Karl Lagerfeld ดีไซน์เนอร์ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการแฟชั่นมาอย่างยาวนานนั่นเอง ซึ่งหลายคนอาจรู้จักเขาจากหน้าร้านแบรนด์ Karl Lagerfeld ตามห้างใหญ่ๆ หรือ การเป็นหัวเรือใหญ่ด้านการออกแบบแห่ง Chanel
แต่รู้หรือไม่ว่าจริงๆ แล้วเขาอยู่เบื้องหลังแบรนด์แฟชั่นระดับโลกอีกหลายแห่ง และสร้างผลงานมากมายไว้ในโลกการออกแบบ เรียกได้ว่าถ้าไม่มีเขาเราอาจไม่ได้เห็นแบรนด์ดังหลายแบรนด์ในตอนนี้เลยก็ว่าได้
ในวันนี้ Art of ก็จะขอมาเล่าเรื่องราวชีวิต และผลงานของหนึ่งในดีไซน์เนอร์ผู้นำโลกแฟชั่น ผู้อยู่เบื้องหลังแบรนด์แฟชั่นระดับโลกมากมายตั้งแต่ Chloé, Fendi, Valentino และ ผู้ชุบชีวิตแบรนด์ Chanel ให้อยู่มาจนถึงทุกวันนี้อย่าง “Karl Lagerfeld” นักออกแบบประจำเดือนนี้ในซีรี่ย์ Designer of the month กันเลย
จากทายาทครอบครัวค้าไวน์ผู้ร่ำรวยแห่งเยอรมนี สู่เส้นทางล่าฝันในฝรั่งเศส
Karl Otto Lagerfeldt เกิดเมื่อวันที่ 10 กันยายน ปี 1933 ในเมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี ซึ่งต่อมาเขาตัดตัว T ท้ายนามสกุลออกเพื่อให้ออกเสียงง่ายขึ้นเพื่อให้สะดวกต่อการดำเนินธุรกิจ
คาร์ลเกิดในครอบครัวค้าไวน์ที่ร่ำรวย พ่อของเขาเป็นเจ้าของธุรกิจนำเข้านมที่ประสบความสำเร็จ และพูดได้ถึง 9 ภาษา ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ครอบครัว Lagerfeldt ได้รับการปกป้องจากรัฐบาลนาซี เนื่องจากผลประโยชน์ทางธุรกิจ และได้ย้ายไปอยู่ชนบททางตอนเหนือของเยอรมนี ทำให้เขาโตมาแบบแทบไม่รู้ผลกระทบจากสงครามโลก และแทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับนาซีเลย
ในวัยเด็กคาร์ลได้แสดงความหลงใหลในด้านศิลปะ และการออกแบบ เขามักจะใช้เวลาไปกับการตัดภาพในนิตยสารแฟชั่น การสเก็ตช์รูปที่เขาทำแทบจะตลอดเวลาแม้แต่ในเวลาเรียน จนไปถึงการคอมเมนต์เสื้อผ้าของคนที่ใส่มาโรงเรียน ซึ่งในเวลาต่อมาเมื่ออายุได้ 14 ปี เขาก็ได้ย้ายมาที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อสานต่อความฝันในการเป็นแฟชั่นดีไซน์เนอร์ของตัวเอง
เขาเรียนจบมัธยมปลายจาก Lycée Montaigne โดยมุ่งเน้นไปทางด้านศิลปะ และประวัติศาสตร์ ก่อนที่ในปี 1954 เขาจะชนะการประกวดการออกแบบเสื้อโค้ทจากงาน French International Wool Secretariat ซึ่งจากงานครั้งนี้ทำให้เขาได้เจอกับผู้ชนะอีกคนที่ได้กลายมาเป็นคู่แข่งตลอดกาลของเขาในเวลาต่อมาอย่าง Yves Saint Laurent นั่นเอง
ก้าวเท้าเข้าสู่โลกแฟชั่น นักออกแบบหน้าใหม่ที่ใครต่างก็ต้องการตัว
หลังจากที่ชนะการประกวดได้ไม่นานคาร์ลก็ได้ร่วมงานกับ Pierre Balmain หนึ่งในคณะกรรมการการประกวด และได้นำผลงานของเขาไปผลิตจริง ซึ่งคาร์ลทำงานอยู่ที่นั่น 3 ปี ก่อนที่จะย้ายงานมาอยู่กับ Jean Patou ในฐานะ Artistic Director เขาได้มีส่วนร่วมในการออกแบบคอลเลกชัน Haute Couture (ที่ไทยเรียกกันว่า โอตกูตูร์ ที่แปลว่าแฟชั่นชั้นสูง หรือ การตัดเย็บชั้นสูง) ถึง 10 คอลเลกชันก่อนที่จะเขาจะลาออกในปี 1962 มาเป็น Freelance Designer แทน
ในช่วงปี 60 คาร์ลรับงานออกแบบให้กับแบรนด์แฟชั่นหลายแห่งทั้ง Valentino, Krizia, Charles Jourdan ไปจนถึง Chloé ที่เขาออกแบบให้ไปจนถึงปี 1983 และกลับมาร่วมงานอีกครั้งช่วงปี 1992 – 1997
ในปี 1965 คาร์ลได้รับการว่าจ้างจาก Fendi ให้ช่วยพัฒนาไลน์ผลิตภัณฑ์จากขนสัตว์ให้ทันสมัยมากขึ้น คาร์ลได้พลิกวงการแฟชั่นขนสัตว์ด้วยการนำขนสัตว์ที่ราคาถูกลงมาใช้กับแฟชั่นชั้นสูงอย่างขนกระต่าย หรือ กระรอก เขาได้เปิดไลน์สินค้า Ready-to-wear เสื้อผ้าสำเร็จรูปสำหรับคนทั่วไปขึ้นให้กับ Fendi
นอกจากนี้คาร์ลยังเป็นคนออกแบบโลโก้ Double F ที่มาจากคำว่า “Fun Fur” ที่เป็นตัว F กลับหัวไปมาที่เราเห็นบนสินค้าของ Fendi มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งคาร์ลยังคงทำงานร่วมกับ Fendi จนถึงวันสุดท้ายของชีวิตของเขา
ร่วมงานกับ Chloé ขึ้นแท่นการเป็นผู้มีอิทธิพลของโลกการออกแบบ
ในปี 1966 คาร์ลก็ได้เข้ามาทำงานให้กับ Chloé ในฐานะดีไซน์เนอร์เต็มตัว โดยทำงานร่วมกับเจ้าของแบรนด์ Gaby Aghion ก่อนที่ต่อมาในปี 1974 คาร์ลจะได้ตำแหน่งดีไซน์เนอร์เดี่ยวให้กับแบรนด์นี้ ซึ่งผลงานในช่วงปี 70 ที่คาร์ลได้ทำให้กับ Chloé นั้นได้ทำให้เขากลายเป็นหนึ่งในนักออกแบบที่โดดเด่นที่สุดในโลก และชิงตำแหน่งผู้มีอิทธิพลของโลกการออกแบบที่สุดในยุคนั้นกับ Yves Saint Laurent คู่แข่งของเขานั่นเอง
ในช่วงต้นยุค 70 คาร์ลได้ทุ่มเทให้กับการนำแฟชั่นสไตล์ในยุค 30-50 มาใช้ ตั้งแต่การสร้างเทรนด์ Big Look หรือ Soft Look ให้เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยการการนำซับใน การบุ การเย็บชายผ้าจากผ้าบางๆ และการใช้ขนสัตว์ที่เขาทำกับ Fendi ออกไปทั้งหมดเหมือนแฟชั่นจากยุค 30 เพื่อให้เกิดเป็นแฟชั่นที่ใส่เลเยอร์กันได้สบายๆ ซึ่งสไตล์นี้ได้ยึดครองพื้นที่ในวงแฟชั่นชั้นสูงตั้งแต่ปี 1975
หลังจากที่สร้างเทรนด์ Soft Look ได้สำเร็จ และถึงคาร์ลจะเคยพูดว่าการใช้ซับใน และโครงแข็งๆ คือความถดถอย แต่ในปี 1978 เขาก็ได้ออกแบบเสื้อผ้าที่มีโครงหนา ไหล่กว้าง ทรงดูคมชัด แบบแฟชั่นจากยุค 40 – 50 ทั้งการใส่แผ่นเสริมไหล่ อก และสะโพก การใช้โครงสร้างสูทแข็งๆ การจับจีบชุดตรงช่วงเอวถึงสะโพก การใส่กระโปรงเข้ารูป ไปจนถึงรองเท้าส้นเข็ม ซึ่งต่อมาแฟชั่นเหล่านี้จะกลายเป็นที่นิยมในช่วงยุค 80
อีกหนึ่งข้อสังเกตจากเทรนด์แฟชั่นทั้งสองที่คาร์ลทำในช่วงปี 70 ก็คือความรักที่เขามีให้กับยุคศตวรรษที่ 18 เห็นได้จากคอลเลกชันฤดูใบไม้ร่วงปี 1977 ที่เป็นหนึ่งในคอลเลกชันที่โด่งดังที่สุดในยุค Soft Look คาร์ลได้ใส่ลูกไม้ เครื่องหัว และรองเท้าบูทสูงแบบศตวรรษที่ 17
ต่อมาคอลเลกชั่นฤดูใบไม้ร่วงปี 1979 ซึ่งเป็นปีแรกๆ ของยุคชุดไหล่ใหญ่ที่เขาได้รับแรงบันดาลใจจากเครื่องแบบทหารจากยุคนโปเลียนในการใช้กระดุมกลัดด้านข้างกางเกงรัดรูป
ไม่หยุดอยู่กับความสำเร็จ สร้างสรรค์ผลงานเพื่อตอบสนองความต้องการในอนาคต
คาร์ลยังคงสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นเสื้อเสริมไหล่ กระโปรงเข้ารูป รองเท้าส้นเข็มต่อไปจนถึงยุค 80 เขาทำเช่นเดียวกับดีไซน์เนอร์อีกหลายคนที่มักทำกระโปรงสั้นมินิสเกิร์ตตามเทรนด์ในยุคนั้น แต่คาร์ลเขาไม่ทำเพียงแค่นั้น กระโปรงที่เขาออกแบบในเวลานั้นบางทีก็มีความยาวไปจนถึงข้อเท้าเลยทีเดียว ซึ่งน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของความตั้งใจที่จะวางเทรนด์ที่มีความนุ่มนวลขึ้น และสวมใส่สบายมากขึ้นในอนาคต
ในช่วงปี 1981-1982 คาร์ลได้นำกระโปรงยาว และผ้าคลุมไหล่ แบบในช่วงกลางยุค 70 ความบางเบาสมบูรณ์แบบที่เขาสร้างสรรค์ได้สำเร็จกลับขึ้นมาบนรันเวย์อีกครั้ง นอกจากนี้ถึงแม้ว่าเจ้าตัวจะชอบใส่เสื้อผ้าเข้ารูปตลอดเวลา คาร์ลได้ออกแบบกางเกงที่มีความยาว และทรงที่หลากหลายเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการที่กว้างมากขึ้นของผู้หญิงในยุคสมัยใหม่
ชุบชีวิต Chanel แปลงแบรนด์ชั้นสูงใกล้ตายสู่ Double C ภาษาที่ใครเห็นก็เข้าใจ
ในปี 1982 คาร์ลตัดสินใจท้าทายตัวเองด้วยการทำงานให้กับ Chanel ซึ่งในเวลานั้นถูกสบประมาทว่าเป็น “แบรนด์ที่ใกล้ตาย” หลังจากการจากไปของ Coco Chanel เมื่อ 10 ปีก่อน เขาเข้าคุมคอลเลกชันโอตกูร์ตูในปี 1983 และได้พลิกฟื้นแบรนด์นี้ให้กลับมายิ่งใหญ่ และมีชีวิตชีวาอีกครั้ง ตั้งแต่การปรับไลน์เสื้อผ้าสำเร็จทั้งหมดใหม่ การใช้โลโก้ CC ไขว้ ให้กลายเป็นลายประจำแบรนด์ และ นำไข่มุก รองเท้าทูโทน และผ้าทวีตกลับมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้ง
คาร์ลปรับเปลี่ยนดีไซน์ของ Chanel ที่เคยแพร่หลายในช่วงต้นยุค 60 ให้ดูมีความสมยุค 80 มากขึ้น ด้วยการเสริมไหล่ ยกส้นรองเท้าให้สูงขึ้น เล่นกับขนาดของเครื่องประดับ และกระเป๋าให้ใหญ่ขึ้น หรือ เล็กลง โดยเฉพาะการทำกระโปรงให้สั้นลง มีความเข้ารูปมากขึ้นที่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เพราะ Chanel ปฏิเสธการทำกระโปรงที่สั้นเหนือเข่ามาตลอด
การสร้างโลโก้ Double-C และใช้ลงบนสินค้าต่างๆ ทำให้ Chanel เป็นที่รู้จักไปอย่างกว้างขวาง สอดคล้องกับอุตสาหกรรมแฟชั่นที่กำลังจะกระจายไปทั่วโลก เป็นการแปลงสถานะของแบรนด์ชั้นสูงให้กลายมาเป็นภาษาที่ทุกคนเข้าใจ และจดจำได้ง่าย ซึ่งจากการที่คาร์ลได้ชุบชีวิต Chanel ได้สำเร็จอย่างงดงามโดยไม่เสียตัวตน และอัตลักษณ์ดั้งเดิมของแบรนด์เลยนี้เองทำให้เขาได้เปลี่ยนไปเป็นไอคอนของวงการแฟชั่นอย่างแท้จริง
ตั้งแบรนด์ Karl Lagerfeld
ในปี 1984 ช่วงเวลาเดียวกันกับที่คาร์ลทำงานให้กับ Chanel เขาก็ได้ตั้งแบรนด์ “Karl Lagerfeld” ตามชื่อของตัวเองขึ้นมา โดยเน้นไปที่เสื้อผ้าสำเร็จที่มีคอนเซปของแบรนด์ว่า “Intellectual Sexiness” และในปี 1989 คาร์ลก็แตกไลน์เสื้อผ้าของผู้ชายขึ้นมา หลังจากที่เขาทำเสื้อผ้าให้ผู้หญิงมาตลอด แต่หลังจากนั้นไม่นานเขาก็ขายแบรนด์นี้ให้กับ Cora-Revillion
ต่อมาในปี 1992 Dunhill Holdings ส่วนหนึ่งของกลุ่ม Vendôme Luxury Group ได้เข้าซื้อแบรนด์ Karl Lagerfeld ประมาณ 30 ล้านดอลลาร์ เป็นส่วนหนึ่งของดีลให้คาร์ลกลับไปออกแบบให้กับ Chloé อีกครั้ง และหลังจากนั้น 5 ปี Vendôme ก็ขายแบรนด์คืนให้กับคาร์ลในราคา “1 ฟรัง” ก่อนที่คาร์ลจะขายแบรนด์อีกครั้งให้ Tommy Hilfiger group ในปี 2005 โดยเขายังคงเป็น Chief Creative ที่ยังกำกับดูแลทิศทาง และขั้นตอนการออกแบบทั้งหมดอยู่
ผลงานชุดสุดท้ายที่แม้แต่ความตายก็หยุดไม่ได้
หนึ่งในผลงานชุดสุดท้ายของคาร์ล คือ คอลเลกชันฤดูใบไม้ร่วงปี 2019 ของ Chanel ที่เขาได้ออกแบบเสร็จทั้งหมดก่อนที่จะเสียชีวิตในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2019 จากอาการแทรกซ้อนของโรคมะเร็งต่อมลูกหมากที่กรุงปารีส ธีมของผลงานชุดนี้ คือ Alpine หรือ เทือกเขาเอลป์ เป็นคอนเซปเสื้อผ้าที่ใส่หลังเล่นสกี ยกตัวอย่างเช่น ชุดผ้าทอทวีต โค้ทลายฮาวด์สทูธ ลายตารางหมากรุก ไปจนถึงชุดกระโปรงสั้นขนนกสีขาว โดยส่วนใหญ่จะเป็นสีโทนสว่าง ที่ให้ความรู้สึกอบอุ่นในเวลาเดียวกัน
ถึงแม้ว่าคนส่วนใหญ่จะจำคาร์ลได้จากผลงานของ Chanel แต่จริงๆ แล้วคาร์ลไม่เคยทิ้งแบรนด์ Fendi ที่เขาทำงานด้วยตั้งแต่ยุค 60 ไปไหน คอลเลกชัน Autumn/Winter 2019 เป็นผลงานชุดสุดท้ายที่เขาทำให้กับ Fendi ซึ่งในวันสุดท้ายของชีวิตเขายังส่งโน๊ตเกี่ยวกับโชว์ให้กับทีมจากบนเตียงอยู่เลย
โดยคอลเลกชันของ Fendi นี้คาร์ลได้ใช้สีเอิร์ธโทนที่ดูผ่อนคลาย ภายใต้การตัดเย็บที่เป็นทรงลงตัว เพิ่มความขี้เล่นด้วยการใช้พื้นผิวที่หลากหลายระหว่าง แจ็คเก็ต กางเกงขายาว และกระโปรงต่างๆ ในขณะที่การใช้ขนสัตว์ที่สร้างชื่อให้เขากับ Fendi นั้นถูกนำมาใช้อย่างระวังโดยมีเพียงแค่ 2 ชุดเท่านั้น
คาร์ลได้ขอไว้ก่อนที่จะเสียชีวิตว่าเขาไม่ต้องการงานศพอย่างเป็นทางการ เขาต้องการให้เผา แล้วนำเถ้าไปโปรยเคียงข้างกับแม่ และคนรักของเขาในสถานที่ลับ ส่วนในโชว์ทั้งสองนั้นก็ได้มีการขอให้ยืนไว้อาลัยเป็นเวลาสั้นๆ พร้อมกับการ์ดเล็กๆ ที่มีข้อความวางอยู่บนเก้าอี้ผู้ชม
ถึงแม้ว่าคาร์ลจะเคยพูดว่าไม่ชอบให้ใครแสดงความเศร้าต่อการจากไปของเขา แต่ก็อดไม่ได้ที่จะมีนางแบบ และผู้ชมร้องไห้ต่อการจากไปของบุคคลผู้เป็นตำนานอันเป็นที่เคารพของวงการแฟชั่น
เขียนโดย รวีศิลป์ อัศวกิตติประภา
source:
https://www.biography.com/history-culture/karl-lagerfeld
https://en.wikipedia.org/wiki/Karl_Lagerfeld
https://www.businessoffashion.com/people/karl-lagerfeld
https://www.britannica.com/biography/Karl-Lagerfeld
https://www.vogue.com/article/in-vogue-the-1990s-podcast-episode-4-karl-lagerfeld-the-creative-director
https://www.harpersbazaar.com/uk/fashion/shows-trends/a26442585/karl-lagerfeld-final-collection-fendi
https://www.vogue.co.uk/article/karl-lagerfeld-final-show-fendi-autumn-winter-2019