151Views
พาชมการประกวดสถาปัตยกรรมระดับเอเชีย TADA 2024 – TOSTEM Asia Design Award 2024
TADA หรือ TOSTEM Asia Design Award เป็นงานประกวดสถาปัตยกรรมเพื่อการอยู่อาศัยโดยเฉพาะ จัดขึ้นโดยแบรนด์ TOSTEM ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำเรื่องนวัตกรรมกรอบประตู หน้าต่างอลูมิเนียมจากประเทศญี่ปุ่นที่มีประวัติมายาวนานมากกว่าร้อยปี
สำหรับการตัดสินรางวัล จะคำนึงถึงหลายประเด็น เช่น การมีความคิดสร้างสรรค์และรายละเอียดที่พิถีพิถัน การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์จาก TOSTEM ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การออกแบบที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมท้องถิ่นนั้นๆ การมีภาษาทางสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ และการออกแบบที่คำนึงถึงความยั่งยืนอีกด้วย
และในปีนี้ TADA 2024 ก็ได้เปิดรับสมัครผลงานจากสถาปนิกทั่วเอเชีย ทั้งประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ไต้หวัน และประเทศไทย โดยงานประกาศรางวัลจัดขึ้นที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
ในงานยังมีการเชิญผู้บรรยายพิเศษ ซึ่งก็คือสถาปนิกชื่อดัง คุณ “Akihisa Hirata” ผู้มีผลงานอาคารรูปทรงแปลกตาและการใช้งานที่น่าสนใจ ที่หลายคนอาจเคยไปชมมาแล้วอย่าง Tokyu Plaza Harajuku โดย คุณ Akihisa ได้มาเล่าถึงแนวคิดในผลงานต่างๆ อีกด้วย
ผลงานที่ถูกส่งเข้าประกวดล้วนมีความหลากหลาย ทั้งโจทย์และสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศของแต่ละพื้นที่ก็มีส่วนทำให้ผลงานมีความเฉพาะตัว ผลงานของผู้ชนะทุกคนจึงมีเรื่องราวน่าสนใจ โดยวันนี้จะพาไปดูผลงานของผู้ชนะจากประเทศไทยทั้ง 3 งาน และบรรยากาศงาน TADA 2024 กัน
รางวัล Building of the Year: Dog / Human โดย Ekar Architect
- รางวัล Building of the Year: Dog / Human
- ผู้ออกแบบ: Ekaphap Duangkaew, Ekar Architect
- สถานที่: นครปฐม
รางวัลใหญ่ที่สุดของปีนี้เป็นของบ้านของ ‘คน’ ที่ต้องการอยู่ร่วมกับ ‘สุนัข’ อย่างอบอุ่นที่สุด ทุกรายละเอียดการออกแบบจึงเป็นเหมือนการรวมโลกทั้งสองใบไว้ด้วยกัน ทั้งการจัดผังพื้น การออกแบบความสูง และการเลือกวัสดุ ต่างตอบโจทย์พฤติกรรมของทั้งคนและสุนัขอย่างลงตัว
พื้นที่ ‘ธรรมชาติ’ เป็นส่วนสำคัญของบ้านหลังนี้ ที่ทั้งคนและสุนัขได้ใช้เวลาร่วมกัน จึงมีการใช้กรอบบานอลูมิเนียมประตูและหน้าต่างของ TOSTEM ที่เชื่อมต่อภายในภายนอกได้อย่างไร้รอยต่อ
รางวัล Special Mention for Sustainable Living: 3 Gen House โดย Architect49 (Chiangmai)
- รางวัล Special Mention for Sustainable Living: 3 Gen House
- ผู้ออกแบบ: Rattawut Chansritrakul, Kittitha Nilsuwan Architect49 (Chiangmai)
- สถานที่: เชียงใหม่
บ้านที่ผสมผสานความต้องการที่แตกต่างของทั้ง 3 รุ่น คือ รุ่นปู่ย่า พ่อแม่ และลูกชาย 3 คน ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน โดยแต่ละส่วนมีความเป็นส่วนตัว แต่ก็มีความอบอุ่นในรั้วบ้านเดียวกัน นอกจากนี้ในหลายๆ ส่วนยังออกแบบตามความเชื่อของ “ล้านนา” ตามบริบทที่ตั้งอีกด้วย
พื้นที่ตรงกลางเป็นคอร์ทสวนกว้างและบ่อน้ำที่ให้ความร่มรื่น และยังเป็นพื้นที่ให้แต่ละครอบครัวสามารถมาทำกิจกรรมร่วมกัน โดยพื้นที่กึ่งภายในภายนอกนี้คล้ายกับ พื้นที่ “เติ๋น” และ “ชานเรือน” ของวัฒนธรรมล้านนานั่นเอง
ภาพรวมของบ้านดูสงบนิ่ง บางเบา และมีการใช้วัสดุธรรมชาติต่างๆ ที่ให้ความรู้สึกอบอุ่น อีกทั้งสีและกรอบบานอลูมิเนียมของ TOSTEM ก็ดูกลมกลืนไปกับแผ่นไม้และระแนงไม้ของบ้านอย่างลงตัว
Special Mention for Sustainable Living: TNOP House โดย IS Architect
- รางวัล Special Mention for Sustainable Living: TNOP House
- ผู้ออกแบบ: Pawin Tharatjai, IS Architect
- สถานที่: เชียงราย
บ้านที่ผสมผสานความทันสมัยเข้ากับเรือนไม้แบบพื้นถิ่น สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศของเชียงราย การยกพื้นสูงทำให้คิดถึงบ้านทรงไทยดั้งเดิม แต่ในผลงานนี้มีการปรับให้เข้ากับยุคสมัยด้วยการยกบ้านเป็นสองชั้นเพิ่มพื้นที่ใช้สอย และยังช่วยให้แต่ละห้องมองเห็นวิว สมเป็นบ้านพักตากอากาศอีกด้วย
มีการเลือกใช้วัสดุผสมผสานทั้งไม้แบบดั้งเดิม และใช้กรอบบานอลูมิเนียมสมัยใหม่ของ TOSTEM เพื่อทำประตูหน้าต่าง ที่มีสีและผิวสัมผัสที่ไม่โดดจากสีไม้ธรรมชาติมากจนเกินไป ช่วยสร้างบรรยากาศที่ดี สามารถมองไปยังทิวทัศน์ได้อย่างกว้างขวาง แต่ก็ยังปิดกั้นเสียงและป้องกันแมลงต่างๆ ได้ดีอีกด้วย
การบรรยายพิเศษจากคุณ คุณ Akihisa Hirata
สำหรับบรรยากาศในงาน มีคุณ Akihisa Hirata มาเล่าให้ฟังถึงแนวความคิดในการออกแบบสถาปัตยกรรมต่างๆ อีกด้วย
ซึ่งหากดูด้วยตา อาจจะรู้สึกว่าเป็นผลงานของเขามีความล้ำสมัยมาก แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในผลงานต่างๆ เขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากการเติบโตของสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติ จึงจะเห็นว่ารูปทรงของอาคารมีการงอก – กร่อน – ยื่น – แตก ผสมอยู่ในนั้น ซึ่งเป็นลักษณะที่เราสามารถเห็นได้ทั่วไปในธรรมชาติ
เช่น ในอาคาร Tokyo Plaza Harajuku นี้ รูปทรงเหมือนกล่องสี่เหลี่ยมที่ยังไม่สมบูรณ์ แต่กำลังเติบโตขึ้นเหมือนต้นไม้ที่งอกขึ้นมาจากดินนั่นเอง โดยพื้นที่ด้านบนดาดฟ้าก็มีการปลูกต้นไม้จริงๆ อีกด้วย เป็นทั้งการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เปิดเป็นพื้นที่สาธารณะให้กับผู้ใช้ได้มาพักผ่อน จิบกาแฟชมวิวในธรรมชาติท่ามกลางบรรยากาศเมือง
คุณ Akihisa Hirata ยังได้บรรยายถึงผลงานอื่นๆ ของเขา ที่ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน และยังร่วมแลกเปลี่ยนกับเหล่าผู้ออกแบบจากประเทศต่างๆ หลังงานบรรยายอีกด้วย
ในงานยังมีสถาปนิกจากทั่วเอเชียที่ได้มาร่วมพิธีรับรางวัลที่ประเทศญี่ปุ่น ทุกๆ ผลงานเป็นงานบ้านที่มีไอเดียหลากหลายน่าสนใจ แต่ละหลังก็มีความเฉพาะตัวของตนเองตามแต่ลักษณะสภาพสถานที่ตั้งของบ้านหลังนั้นๆ สถาปนิกแต่ละคนเหมือนได้มาพูดคุยพบปะแลกเปลี่ยนกันอย่างเป็นกันเอง