1142Views
Philippe Starck นักออกแบบผู้สร้างความแปลกใหม่ที่ไม่ลืมใส่ใจความเป็นมนุษย์
หากจะมีนักออกแบบผลิตภัณฑ์สักคนที่คนทั่วไปรู้จัก ชื่อของ Philippe Starck ต้องติดอยู่ในอันดับต้นๆ แน่นอน และต่อให้ไม่รู้จักก็เชื่อว่าเกือบทุกคนน่าจะเคยเห็นผลงานของเขา ด้วยสไตล์ผลงานที่แตกต่าง สะดุดตา และ ชวนตั้งคำถามซะเหลือเกิน อย่างที่คั้นผลไม้รูปร่างเหมือนยานอวกาศ “Juicy Salif” นั่นเอง
ในปี 2024 นี้ Art of จะขอเปิดคอนเทนต์ซีรีส์ใหม่ Designer of the month โดยจะเล่าเรื่องผลงาน และชีวิตของนักออกแบบและสถาปนิกผู้อยู่เบื้องหลังผลงานดังตามเดือนเกิดของแต่ละคนในทุกๆเดือนตลอดทั้งปี โดยจะขอเริ่มจาก Philippe Starck นักออกแบบผลิตภัณฑ์ และ สถาปนิกประจำเดือนมกราคมกันเลย
จากใต้โต๊ะเขียนแบบของพ่อสู่การเป็นนักออกแบบระดับโลก
Philippe Starck เกิดเมื่อวันที่ 18 มกราคม ปี 1949 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยเขาได้รับแรงบันดาลใจในการเป็นนักออกแบบมาจากพ่อผู้เป็นวิศวกรการบินที่คิดประดิษฐ์นวัตกรรมใหม่ๆ อยู่เสมอ เรียกได้ว่าเขาโตมากับโต๊ะเขียนแบบของพ่อในโรงงานเครื่องบินก็ว่าได้ และได้รับบทเรียนแรกจากพ่อว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างควรได้รับการจัดวางอย่างงดงามและถูกต้องแม่นยำ”
สตาร์กจบการศึกษาทางด้านสถาปัตยกรรมภายในและการออกแบบจากมหาวิทยาลัย École Camondo ที่กรุงปารีส ต่อมาในปี 1969 เขาก็ได้ออกแบบโครงสร้างเป่าลมขึ้นโดยเป็นการรวมความสนใจที่เขามีในช่วงแรกเกี่ยวกับเรื่องวัสดุและเรื่องพื้นที่อาศัย ซึ่งผลงานชิ้นนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากในงาน Salon de l’Enfance หรือ งานนิทรรศการสำหรับวัยเด็ก
ผลงานของสตาร์กช่วงแรกจะเป็นงานตกแต่งภายใน และ สถาปัตยกรรม ตามที่เขาร่ำเรียนมา ผลงานสร้างชื่อของเขาในยุคแรก คือ ไนท์คลับในกรุงปารีส La Main Bleue และ Les Bains-Douches ต่อมาเขาก็เริ่มมีชื่อเสียงในระดับสากลจากผลงานอพาร์ตเมนต์ของ François Mitterrand ประธานาธิบดีของฝรั่งเศส และ งานร้านอาหารในต่างประเทศทั้ง โตเกียว มาดริด และ นิวยอร์ก
ก้าวเท้าเข้าสู่วงการออกแบบผลิตภัณฑ์
ด้วยความสามารถและความสนใจที่หลากหลายทำให้ระหว่างที่ทำงานด้านตกแต่งภายในและสถาปัตยกรรม เขาก็เปิดบริษัทออกแบบผลิตภัณฑ์ควบคู่ไปด้วย โดยใช้ชื่อว่า Starck Product ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็น Ubik ตามนิยายชื่อดังของ Philip K. Dick
ถ้าจะให้บอกว่าแนวทางการออกแบบผลิตภัณฑ์ของสตาร์กแบบเข้าใจง่ายๆ ก็คงจะเป็นแบบ “ประชานิยม” โดยเขาจะเน้นตั้งราคาให้คนทั่วไปเอื้อมถึง เน้นการขายแบบจำนวนมาก หลีกเลี่ยงผลงานที่สวยงามเฉยๆ การเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงสถานะที่ร่ำรวย และ ชีวิตที่หรูหรา
เป้าหมายของสตาร์ก คือ การพัฒนาชีวิตของผู้คนโดยการแทรกอารมณ์ขันและสิ่งที่คาดไม่ถึงเข้าไปในชีวิตประจำวัน ทำให้ผลงานของเขามักจะเป็นพวกของใช้ในบ้านทั้ง เฟอร์นิเจอร์ แปรงสีฟัน และ ของใช้ในครัว ซึ่งทั้งหมดนี้ยิ่งสะท้อนถึงบุคลิกที่ร่าเริงสดใส และ เป็นความเป็นคนใส่ใจในรายละเอียดตามแบบพ่อของเขา
งานออกแบบผลิตภัณฑ์ของสตาร์กมักจะเป็นรูปทรงแบบธรรมชาติและมีเส้นสายลื่นไหลเหมือนการผลงานออกแบบภายในของเขา ซึ่งหลายครั้งที่หน้าตาของมันมักจะดูแปลกตา แต่ภายใต้รูปลักษณ์ภายนอกที่ไม่เหมือนใครกลับซ่อนความเป็นมนุษย์เอาไว้อย่างน่าสนใจหลายอย่าง ซึ่งจะขอยกไปเล่าในช่วงตัวอย่างผลงาน
ที่คั้นน้ำผลไม้ Juicy Salif
หากพูดถึงชื่อ ฟิลิปป์ สตาร์ก ก็คงจะไม่พูดถึงผลงานไอค่อนของวงการงานออกแบบผลิตภัณฑ์อย่าง Juicy Salif ที่คั้นน้ำผลไม้หน้าตาเหมือนยานอวกาศที่หลุดมาจากในหนังไซไฟไปไม่ได้
จุดกำเนิดของเจ้าเครื่องคั้นผลไม้หน้าตาสุดแปลกนี้เกิดขึ้นตอนที่เขากำลังนั่งกิน Calamari (ปลาหมึกชุบแป้งทอด) ที่ร้านอาหารอิตาเลี่ยน ในจังหวะที่พนักงานเอามะนาวมาเสิร์ฟให้ เขาก็ได้เกิดไอเดียและสเกตช์ดราฟแรกที่หน้าตาเหมือนปลาหมึกหนวดยาวลงไปบนกระดาษเช็ดปากที่และได้เอาไปนำเสนอให้กับ Alessi เจ้าของบริษัทเครื่องครัวที่กำลังว่าจ้างเขาอยู่ทั้งอย่างนั้น จนกลายเป็นหนึ่งสินค้าที่ประสบความสำเร็จที่สุดตลอดกาลของ Alessi
Juicy Selif เริ่มต้นผลิตในปี 1990 โดยทำมาจากอลูมิเนียมหล่อขัดเงาสวยงาม แต่ว่าด้วยผิวที่เงานี้เองที่ทำให้เกิดการกัดกร่อนจากกรดของพวกมะนาวและส้มส่งผลให้เกิดรสชาติที่ไม่พึงประสงค์ขึ้นและต้องล้างด้วยมือเท่านั้น ถึงแม้ว่าจะมีปัญหาเรื่องการใช้งานมากมายแต่เจ้าที่คั้นผลไม้นี้ก็ได้ทำหน้าที่อย่างที่สตาร์กตั้งใจไว้ คือ การเป็นตัวเริ่มต้นบทสนทนา และการสร้างเสียงหัวเราะ
จากเสียงตอบรับเรื่องรสชาติที่เปลี่ยนไปและความปลอดภัย Juicy Selif ก็ได้เปลี่ยนวัสดุที่ใช้และผลิตเวอร์ชั่นสีต่างๆ ออกมา แต่คนที่เอาเจ้าสิ่งนี้ไปใช้จริงก็คงมีน้อยมากเพราะส่วนมากมักจะเอาไปสะสมมากกว่า ซึ่งจากรายงานยอดขายจนมาถึงปี 2003 พบว่ามันถูกขายไปถึง 500,000 ชิ้นเลยทีเดียว และทุกวันนี้มันก็ยังคงผลิตขายอยู่
ในปัจจุบันผลงานที่ประสบความสำเร็จสูงสุดของเขาชิ้นนี้ก็ได้เข้าไปอยู่ในนิทรรศการถาวรของพิพิธภัณฑ์ศิลปะและงานออกแบบชั้นนำทั่วโลกทั้ง MoMA และ The MET ในนิวยอร์ก จนไปถึง V&A ในลอนดอน ถูกใช้เป็นปกหนังสือเกี่ยวกับการออกแบบหลายเล่มและเป็นตัวอย่างของงานออกแบบอุตสาหกรรมที่โดดเด่นของยุคสมัยใหม่นี้
กาต้มน้ำ Hot Bertta
ถ้าไม่มีใครบอกมาก่อนก็คงไม่มีใครรู้ว่าเจ้าอลูมิเนียมหน้าตาคล้ายกระสุนสีเงินที่มีแท่งซิลิโคนสีเขียวปักอยู่ตรงยอดนี้ คือ “กาต้มน้ำ” Hot Bertta เป็นกาต้มน้ำที่สตาร์กออกแบบให้กับ Alessi อีกเช่นกัน โดยเริ่มต้นผลิตในปี 1989 ซึ่งจริงๆ แล้วนี่เป็นผลงานชิ้นแรกก่อนหน้า Juicy Selif เสียอีก
เนื่องจากนี่เป็นงานชิ้นแรกที่สตาร์กได้ทำให้กับ Alessi บริษัทเครื่องครัวเจ้าใหญ่ของอิตาลี เขาจึงได้ทุ่มกำลังทั้งหมดเพื่อสร้างความประทับใจ โดยเริ่มต้นจากเรื่องที่กาต้มน้ำเป็นสิ่งที่จะวางอยู่นิ่งๆ บนเตา หรือ โต๊ะ เช่นเดียวกับของที่อยู่รอบๆ
เขาจึงตั้งใจทำให้กาน้ำที่ดูนิ่งกลายเป็นรูปทรงที่ดูเคลื่อนไหวเพื่อให้ของที่อยู่รอบดูขยับไปด้วย ซึ่งเขาได้ลดทอนรูปทรงตามขนบของกาต้มปกติจนได้ออกมาเป็นรูปร่างที่เรียบง่ายที่สุดและหน้าตาเหมือนประติมากรรมยุคโพสต์โมเดิร์นขึ้นมา
ผลงานชิ้นนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากในแง่ของการเป็นจุดเริ่มต้นบทสนทนาถกเถียงพูดคุย แต่ทั้งหมดมักไปในทางลบ เนื่องจากว่ามันแทบใช้งานจริงไม่ได้ ทั้งไม่สามารถดูระดับน้ำในกาได้ ที่จับตั้งองศาเข้าหาตัวกาจนเสี่ยงมือโดนอะลูมิเนี่ยมร้อนๆ และ จากองศานั้นบวกกับปลายปากของกาที่สั้นทำให้เวลารินน้ำควันที่ออกมาขึ้นมาตีหน้าผู้ใช้
ในที่สุดการผลิต Hot Bertta ก็ถูกยกเลิกในปี 1997 หลังจากได้รับปัญหาเรื่องการใช้งานอย่างหนัก ซึ่งภายหลังสตาร์กก็ได้ให้สัมภาษณ์ว่านี่คือผลงานที่แย่และทำให้เขาละอายใจที่สุด เพราะเขาหมกมุ่นกับการสร้างความประทับใจมากเกินไปจนให้ความสำคัญแต่การสร้างประติมากรรมจนมองข้ามเรื่องการใช้งาน และนั่นทำให้เขาเห็นถึงของจำกัดในวิธีการออกแบบของเขาและค่อยๆ
แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้น Alessi ก็ได้บอกไว้ว่า “นี่คือผลิตภัณฑ์ที่ผิดพลาดแต่สวยงามที่สุดของบริษัท” และได้ขาย Hot Bertta ในการเป็นผลงานศิลปะและของขวัญแทน จนมาถึงปัจจุบันนี้กาต้มน้ำนี้ก็ยังถูกใช้เป็นตัวอย่างที่ล้มเหลวในการเรียนวิชาออกแบบเรื่องของรูปทรงและการใช้งาน และ เข้าไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์การออกแบบทั่วโลก
เก้าอี้ Louis Ghost Chair
อีกหนึ่งผลงานคลาสสิค(?) ของโลกการออกแบบยุคใหม่ที่ขาดไม่ได้เลยนั่นก็ คือ เก้าอี้ Louis Ghost Chair เก้าอี้ที่เปลี่ยนมุมมองและยกระดับเก้าอี้พลาสติกให้ขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกับเก้าอี้แบรนด์ราคาแพงต่างๆ ที่ทำจากไม้และโลหะ โดยเขาได้ออกแบบให้กับ Kartell แบรนด์เฟอร์นิเจอร์พลาสติกจากอิตาลีและเริ่มต้นผลิตในปี 2002
สตาร์กต้องการออกแบบให้แตกต่างจากเก้าอี้พลาสติกอื่นๆ ในยุค 70 โดยในปี 2000 นั้นได้มีวัสดุใหม่เกิดขึ้น คือ โพลีคาร์บอเนต ซึ่งมีความใสและแข็งแรงมาก ในระหว่างที่เขากำลังออกแบบเก้าอี้มีที่วางแขน ภาพที่ปรากฏขึ้นมาในหัวของเขาทันทีก็คือ เก้าอี้ Goût grec จากยุคของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16
เขาได้บอกในบทสัมภาษณ์ว่าจริงๆ แล้วเก้าอี้ตัวนี้ได้ออกแบบตัวเองเสร็จแล้วจากความทรงจำของชาวตะวันตกทุกคน เป็นภาพความคิดในหัวที่จางๆ เบลอๆ ลอยๆ เหมือนกับผี ซึ่งนั่นก็คือที่มาของชื่อ Louis Ghost นั่นเอง
Louis Ghost ทำขึ้นมาจากการฉีดพลาสติกโมลเดียว ทำให้เก้าอี้ตัวนี้ประหยัดทั้งต้นทุนและเวลาในการผลิต นอกจากนี้ด้วยการที่ไม่มีรอยต่อทำให้มันใช้ได้ทั้งข้างในข้างนอกอาคาร ไม่แตกหรือบิดจากความร้อน และ ทนต่อสภาพอากาศ จนสตาร์กได้บอกว่าเก้าอี้ตัวนี้เป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยมสำหรับ “งานออกแบบที่เหมาะสม ผลิตด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม ในราคาที่เหมาะสม”
จากความสำเร็จอย่างสูงทำให้ซีรีย์ Ghost Chair เกิดดีไซน์อื่นๆ ขึ้นในเวลาต่อมาทั้ง Charles Ghost Bar stool และ Victoria Ghost Chair นอกจากนี้เฟอร์นิเจอร์ชุดนี้ก็ได้ไปคอลแลปกับศิลปินอื่นๆอีกมากมาย ในปัจจุบันงานออกแบบซีรีย์นี้ก็ยังคงผลิตอยู่ โดยมีสีสันที่หลากหลายและทำด้วยวัสดุที่พัฒนาให้ดีต่อสิ่งแวดล้อมขึ้นเรื่อยๆ
เขียนโดย รวีศิลป์ อัศวกิตติประภา
source:
https://www.britannica.com/biography/Philippe-Starck
https://en.wikipedia.org/wiki/Juicy_Salif
https://msplainspoken.com/2016/11/03/hot-bertaa/
https://www.ft.com/content/9993d36e-7907-11e6-97ae-647294649b28
https://www.elledecor.com/shopping/furniture/a14000089/philippe-starck-louis-ghost-chair/