853Views
Dieter Rams นักออกแบบผู้สร้างนักออกแบบ
หากจะมีนักออกแบบผลิตภัณฑ์ซักคนที่ถูกขนานนามว่ายิ่งใหญ่ที่สุด สร้างสรรค์ผลงานที่เป็นอมตะที่สุด และ สร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักออกแบบผลิตภัณฑ์ทั่วโลกมากที่สุด ก็คงจะหนีชื่อของ ‘Dieter Rams’ ไปไม่ได้ ถึงแม้ชื่อของเขาอาจไม่โด่งดังในหมู่คนทั่วไป แต่ด้วยผลงานมากมายและ แนวคิดของเขาเนี่ยแหละที่จุดประกายอยู่เบื้องหลังผลิตภัณฑ์ของ Apple และของใช้ต่างๆ ทั่วโลก
ในวันนี้ Art of ก็จะมาเล่าชีวิต และผลงานของผู้บัญญัติหลัก 10 ข้อของการออกแบบที่ดี ผู้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ แนวคิด และสร้างนักออกแบบที่ดีมากมายทั่วโลกอย่าง Dieter Rams นักออกแบบ และสถาปนิกประจำเดือนพฤษภาคม ในซีรีย์ Designer of the Month กันเลย
สิ่งของควรเรียบง่ายและ ตรงไปตรงมา
Dieter Rams เกิดเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 1932 ในเมือง Wiesbaden ประเทศเยอรมนี ในช่วงท่ามกลางไฟสงคราม ทำให้เขาใช้ช่วงเวลาวัยเด็กคลุกอยู่ในโรงงานไม้ของคุณปู่ ซึ่งนั่นทำให้เขาได้รับบทเรียนบทแรกของการสร้างงานที่ดีก็คือ “สิ่งของควรเรียบง่ายและตรงไปตรงมา”
หลังจากที่สงครามสิ้นสุดลงเมื่อเขาอายุได้ 15 ปี เขาก็ได้สมัครเข้าเรียนที่ Wiesbaden college ในสาขาสถาปัตยกรรมและออกแบบภายใน เขาใช้เวลา 2 เทอมอยู่ที่นั่น แล้วออกไปฝึกงานเป็นช่างไม้อยู่ 3 ปี ก่อนที่จะกลับมาศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยอีก 2 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่แนวความคิดแบบ German Modernism และ Bauhaus กำลังรุ่งเรือง
แนวความคิดเหล่านั้นได้หลอมรวมเข้ากับตัว Dieter และกลายเป็นตัวกำหนดทิศทางการคิดงานของเขา เช่น Functionalism ที่โฟกัสไปที่การใช้สอย และไม่นิยมการประดับตกแต่ง ก่อนที่เขาจะจบการศึกษาด้านเอกการออกแบบภายในในปี 1953 และเริ่มทำงานเป็นสถาปนิกในบริษัทของ Otto Apel ที่เมือง Frankfurt
กำเนิดตัวพ่อ Functionalist เจ้าของผลงานสุดอมตะของ Braun มากกว่า 500 ชิ้น
หลังจากนั้นได้ 2 ปี Dieter ก็ได้ย้ายมาทำงานให้กับ Braun แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าในเมืองเดียวกันในตำแหน่งสถาปนิก เพื่อออกแบบออฟฟิศ และงานแสดงสินค้าต่างๆ ของบริษัท เนื่องจากแนวทางการออกแบบ Functionalist ของเขาเข้ากับวิสัยทัศน์แบบใหม่ของ Erwin Braun หนึ่งในลูกชายเจ้าของบริษัท
ทำให้เขาได้เริ่มออกแบบผลิตภัณฑ์ร่วมกับเหล่านักออกแบบของที่นั่น และพัฒนาเอกลักษณ์ในผลงานของเขาขึ้นมา จนเรียกได้ว่าเขาเป็นผู้ปฏิวัติวงการเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านเลยก็ว่าได้ จนในที่สุดเขาก็ได้รับตำแหน่งเป็น Head of Design ของที่นั่นตั้งแต่ปี 1961 จนมาถึงปี 1995
ตลอดช่วงเวลาเกือบ 40 ปีนั้นเอง Dieter Rams ได้ฝากผลงานไว้มากกว่า 500 ชิ้นให้กับบริษัท ซึ่งเกือบทุกชิ้นได้กลายเป็นผลงานสุด Iconic ของวงการออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้งสิ้น ทำให้บริษัทผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ขายภายในประเทศมาตั้งแต่ยุค 60 อย่าง Braun ถูกยกระดับกลายมาเป็นแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าระดับโลกจนถึงปัจจุบัน เปลี่ยนจาก Made in Germany เป็น Designed in Germany ได้สำเร็จ
นอกจากนี้ Dieter Rams ก็ไม่ได้ทิ้งความสนใจที่เขามีต่องานเฟอร์นิเจอร์ ในปี 1959 เขาได้ร่วมออกแบบกับ Vitsœ บริษัทเฟอร์นิเจอร์ของเดนมาร์ก ไม่ว่าจะเป็นเก้าอี้ต่างๆ ไปจนถึง 606 ระบบชั้นวางของที่ผู้ใช้สามารถปรับเปลี่ยนตำแหน่งได้ ที่ยังคงผลิตขายจนมาถึงทุกวันนี้ และถึงแม้เขาจะเกษียณจาก Braun เขาก็ยังคงทำงานที่นี่ต่อไป
ดีไซน์เนอร์ผู้สร้างดีไซน์เนอร์ และ หลัก 10 ข้อของการออกแบบที่ดี
ในช่วงยุค 60 – 70 ผลงานของเขาและทีมเป็นที่นิยมอย่างมากเพราะสอดคล้องกับยุคสมัยที่กระแสงานแบบ Modern กำลังรุ่งเรือง แต่หลังจากนั้นไม่นานงานของเขาก็เริ่มจางหายไปจากตลาดด้วยกระแสของงานสไตล์ Funky และ Futuristic ที่หวือหวา ฉูดฉาด
แต่ต่อมาในช่วงยุค 80 ผลงานของเขาก็กลับมาอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้งในฐานะแรงบันดาลใจของ Jonathan Ive นักออกแบบของ Apple ซึ่งปรากฏให้เห็นตั้งแต่ iPod, iPhone และ iMac ในช่วงปี 2000 ทำให้งานของเขากลายมาเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น และเป็นผลงานระดับโลกที่ได้รับการพิสูจน์ผ่านกาลเวลามาแล้วว่านี่คือผลงานที่คลาสสิคและจะไม่มีวันเก่าไปตลอดกาล
Dieter เป็นแรงบันดาลใจให้กับนักออกแบบรุ่นใหม่อยู่เสมอ แต่อีกหนึ่งบทบาทที่คนไม่ค่อยรู้คือ เขาเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่ University of Hamburg ตั้งแต่ปี 1981 จนถึงปี 1997 และเคยเป็นถึงตำแหน่งประธานสภาการออกแบบแห่งประเทศเยอรมนีอีกด้วย
SK 4 Phonosuper โลงศพสโนว์ไวท์
ถ้าจะให้พูดถึงผลงานของ Dieter Rams ที่น่าสนใจทั้งหมดแล้วล่ะก็เราคงต้องขอแบ่งเป็นภาคแยกจำนวนมากดังนั้นตอนนี้เราจะขอยกเท่าที่ทำได้ไปก่อน ซึ่งของชิ้นแรกที่เราจะพูดถึงก็คือ “SK 4 Phonosuper”
SK 4 Phonosuper เป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียง ที่ Dieter ออกแบบร่วมกับ Hans Gugelot ในปี 1956 มีชื่อเล่นว่า Snow White’s Coffin ในช่วงที่เขาเริ่มต้นทำงานด้านออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ Braun เพื่อให้เป็นเครื่องเล่นที่มีราคาคุ้มค่า ใช้วัสดุที่ทันสมัย และการออกแบบที่เรียบง่าย ซึ่งเป็นการปฏิวัติวงการเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่ทำกันมาตั้งแต่อดีต ที่ทำมาจากไม้สีเข้มๆ มีฝาปิดทึบเครื่องเล่น ดูหนักทึบตัน
ทีมออกแบบ SK 4 ในระยะแรกได้ลองใช้แผ่นเหล็กเป็นฝาปิดแต่ว่ามันส่งผลต่อเสียง พวกเขาจึงเปลี่ยนมาเป็น Perspex แผ่นพลาสติกแบบใสที่ไม่ส่งผลกระทบแทน นอกจากนี้มันยังสามารถโชว์ให้เห็นความสวยงามภายในได้ด้วย แผ่นเหล็กที่พับรอบชิ้นงานได้เปิดส่วนล่างไว้เพื่อใช้ซ่อนสายไฟแทนที่จะปล่อยไว้ด้านหลังเฉยๆเหมือนเครื่องรุ่นก่อนๆ ซึ่งหลังจากที่ผลงานนี้ออกมาสู่ตลาดบริษัทต่างๆ ก็เริ่มทำตามกันทันที
เครื่อง SK 4 ถูกพัฒนาต่อมาอีกหลายรุ่น จนในปีต่อมา SK 55 ก็ได้ชนะรางวัล Milan Triennale prize ครั้งที่ 10 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผลงานจากเยอรมันชนะรางวัลการออกแบบ เพราะว่าชื่อเสียงของประเทศเยอรมันจะเป็นเรื่องของคุณภาพมากกว่าเรื่องความสวยงาม
วิทยุพกพา T3 บรรพบุรุษของ iPod
T3 หรือ Transistor 3 คือ วิทยุพกพาที่ Dieter ออกแบบในปี 1958 โดยเป็นวิทยุเครื่องแรกๆ ที่ใช้ระบบทรานซิสเตอร์ ซึ่งเล็กกว่า และประสิทธิภาพดีกว่าวิทยุแบบหลอดในยุคนั้น
T3 เป็นที่นิยมในยุคนั้นเนื่องจากการใช้วัสดุพลาสติกที่ทั้งทน เบา และด้วยรูปร่างหน้าตาที่เรียบง่าย สะอาดตา ทำให้นี่เป็นหนึ่งในผลงานที่ประสบความสำเร็จของ Braun วิทยุเครื่องนี้ได้รับคำชื่นชมอย่างมากทั้งในแง่ของนวัตกรรม การพกพา และเป็นแรงบันดาลใจให้กับเหล่าวิทยุ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบพกพาในยุคหลังๆ มากมาย และแน่นอนรวมไปถึง iPod ด้วย
iPod ทั้ง 4 รุ่นแรกที่ได้รับการออกแบบโดย Jonathan Ive ตั้งแต่ช่วงปี 2000 ล้วนได้รับแรงบันดาลใจมาจาก T3 ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นสัดส่วน สี เหลี่ยมมุม ตำแหน่งการวางจอที่มาแทนที่ลำโพง รวมไปถึงการหมุนเพื่อควบคุมฟังชั่นต่างๆ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่าวิสัยทัศน์ และแนวความคิดที่เรียบง่าย มุ่งเน้นไปที่การใช้งานของ Dieter Rams นั้นไร้กาลเวลาอย่างแท้จริง
หลัก 10 ข้อของการออกแบบที่ดี
ในช่วงเวลาที่ทำงานนั้นหลายครั้งเขาก็เกิดคำถามขึ้นในใจ “งานออกแบบของฉันเป็นงานออกแบบที่ดีหรือเปล่า?” ซึ่งเขาได้ตอบคำถามข้อนั้นด้วยตัวเองจนกลายมาเป็นหลักการออกแบบที่ดีทั้ง 10 ข้อ เพื่อใช้ในการตรวจสอบผลงานของตัวเอง และกลายเป็นสิ่งที่เหล่านักออกแบบผลิตภัณฑ์ทุกวันนี้ก็ยังคงใช้อยู่
ข้อที่ 1 งานออกแบบที่ดี คือ นวัตกรรม
การพัฒนาทางเทคโนโลยีใหม่ๆ นั้นเปิดโอกาสให้กับงานออกแบบอยู่เสมอ และนวัตกรรมการออกแบบย่อมมาคู่นวัตกรรมทางเทคโนโลยีอยู่ตลอด นั่นทำให้ตราบใดที่มนุษย์ยังไม่หยุดพัฒนา จินตนาการแห่งการออกแบบก็จะไม่มีวันหมดลง
ข้อที่ 2 งานออกแบบที่ดี คือ การทำให้ผลิตภัณฑ์มีประโยชน์
ผลิตภัณฑ์นั้นถูกซื้อมาเพื่อใช้งาน และต้องสร้างความพึงพอใจให้กับผู้ใช้เสมอ ไม่ใช่ในแง่ของการใช้งานทางกายภาพอย่างเดียว แต่รวมไปถึงด้านจิตวิทยา และ แง่ความงามอีกด้วย การออกแบบที่ดีนั้นจะเน้นย้ำถึงคุณประโยชน์ของตัวผลิตภัณฑ์เองโดยไม่สนใจสิ่งต่างๆ ที่อาจลดคุณค่าของตัวมัน
ข้อที่ 3 งานออกแบบที่ดี คือ ความงาม
ความงามนั้นส่งผลต่อคุณประโยชน์ในการใช้งานอย่างมาก เนื่องจากผลิตภัณฑ์เป็นสิ่งที่คนใช้ในทุกๆ วัน ทำให้มันมีผลต่อตัวผู้ใช้และความเป็นอยู่ที่ดีของพวกเขา นั่นทำให้ของที่ถูกคิดมาอย่างดีเท่านั้นจึงจะเป็นสิ่งที่สวยงามได้
ข้อที่ 4 งานออกแบบที่ดี คือ การทำให้ผลิตภัณฑ์เข้าใจง่าย
การออกแบบที่ดีจะอธิบายโครงสร้าง และการใช้งานของตัวมันเองได้ ผลิตภัณฑ์ที่ดีต้องสื่อสาร และแสดงถึงวิธีการใช้งานของตัวมันเองโดยอาศัยแค่สัญชาตญาณของผู้ใช้
ข้อที่ 5 งานออกแบบที่ดี คือ การถ่อมตัว
ผลิตภัณฑ์ถูกสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองต่อวัตถุประสงค์การใช้งานเหมือนกับเครื่องมือ ไม่ใช่ของตกแต่ง หรือ งานศิลปะ ดังนั้นงานออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ดีควรจะเป็นกลาง เพื่อให้เหลือพื้นที่สำหรับผู้ใช้ได้แสดงตัวตนออกของตัวเองออกมาได้
ข้อที่ 6 งานออกแบบที่ดี คือ ความซื่อสัตย์
งานออกแบบที่ดีต้องไม่ทำให้ผลิตภัณฑ์ดูมีนวัตกรรม ทรงพลัง หรือ มีคุณค่าเกินความเป็นจริงของตัวมันเอง และต้องไม่บิดเบือนผู้บริโภคด้วยคำสัญญาที่ไม่สามารถทำให้ได้
ข้อที่ 7 งานออกแบบที่ดี คือ การอยู่ได้ยาวนาน และคงทน
งานออกแบบที่ดีต้องหลีกเลี่ยงการดูทันสมัย ล้ำสมัย และล้าสมัย ผลิตภัณฑ์ต้องถูกสร้างมาเพื่อใช้งานระยะยาว แม้กระทั่งในสังคมปัจจุบันที่เป็นยุคแห่งการเสีย ทิ้ง และเปลี่ยนใหม่
ข้อที่ 8 งานออกแบบที่ดี คือ ความละเอียดถี่ถ้วนจนถึงรายละเอียดสุดท้าย
งานออกแบบที่ดีต้องไม่มีอะไรที่ปล่อยปละละเลยหรือเปิดช่องว่าง ความใส่ใจและความแม่นยำในกระบวนการออกแบบทั้งหมดคือการแสดงความเคารพอย่างแท้จริงต่อตัวผู้ใช้
ข้อที่ 9 งานออกแบบที่ดี คือ การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
การออกแบบมีส่วนสำคัญต่อการปกป้องสิ่งแวดล้อมอย่างมาก เพราะสามารถวางแผนอนุรักษ์ทรัพยาการ ลดมลภาวะทั้งทางกายภาพ และทางสายตาได้ตลอดการวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์
ข้อที่ 10 งานออกแบบที่ดี คือ การออกแบบให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
“Less, but better” น้อยแต่ดีกว่า งานออกแบบที่ดีต้องเรียบง่ายที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ไม่สร้างภาระหน้าที่ส่วนเกินให้กับผลิตภัณฑ์ และการออกแบบที่ดีจะต้องช่วยยกระดับการใช้งานซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของตัวผลิตภัณฑ์
เขียนโดย รวีศิลป์ อัศวกิตติประภา
source: Domusweb | Vitsoe | The School of Life | Medium | Medium | Design Musuem | Braun | Montecristo | Braun Audio