561Views
Antoni Gaudi ผู้สร้างอิสรภาพทางสถาปัตยกรรมผ่านความเป็นธรรมชาติ
หากใครมีโอกาสได้ไปเมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน จะต้องได้ไปเยี่ยมชมมหาวิหาร Sagrada Familia สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่ไม่ว่าจะไปกี่ครั้งก็ยังสร้างไม่เสร็จซักที รวมถึงเหล่าอาคารบ้านเรือนที่หน้าตาเหมือนสิ่งมีชีวิต และมีสีสันสดใสที่กระจายอยู่ทั่วเมือง ซึ่งเจ้าของผลงานนี้ก็คือ สถาปนิก และนักออกแบบชาวคาตาลันที่ชื่อว่า Antoni Gaudi นั่นเอง
ในวันนี้ Art of ก็จะมาเล่าเรื่องเกี่ยวกับชีวิต รวมถึงผลงานของผู้บุกเบิก และวางรากฐาน Modernisme นักสร้างสรรค์ผลงานที่นำความเป็นธรรมชาติเข้ามาสู่งานสถาปัตยกรรมในแบบที่ไม่เหมือนใคร และยากจะหาใครเหมือนอย่าง Antoni Gaudi นักออกแบบ และสถาปนิกประจำเดือนมิถุนายน ในซีรีย์ Designer the month กันเลย
ความคิดริเริ่มใหม่ๆ ล้วนประกอบขึ้นมาจากการย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้น
Gaudi (เกาดี) เกิดเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ.1852 ที่เมือง Reus เขตคาตาโลเนียใกล้ชายฝั่งทะเลเมดิเตอเรเนียน เกาดีเติบโตมาจากครอบครัวช่างทองแดงที่เน้นทำพวกของใช้ในบ้านอย่างหม้อ ไห หรือ กาน้ำ ทำให้เขาได้เรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับมวล พื้นที่ว่าง และการเปลี่ยนรูปร่างของวัสดุในรูปแบบสามมิติจากการเป็นผู้ช่วยของคุณพ่อ และคุณปู่
ในวัยเด็กเกาดีมีร่างกายที่อ่อนแอทำให้เขาให้เวลาส่วนใหญ่ที่บ้าน นอกจากการช่วยงานในสตูดิโอของครอบครัวแล้วนั้น เขาก็ยังใช้เวลาไปกับการศึกษาเรื่องราว รูปแบบ และกระบวนการต่างๆ ของ ‘ธรรมชาติ’ ซึ่งสิ่งเหล่านี้แสดงออกอย่างชัดเจนมากในผลงานของเขาในภายหลัง จนมีคำกล่าวด้วยตัวเองว่า “ความคิดริเริ่มใหม่ๆ ล้วนประกอบขึ้นมาจากการย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้น”
เกาดีเรียนจบด้านสถาปัตยกรรมที่ Llotja School และ Barcelona School of Architecture ในปี 1878 แต่ผลการเรียนของเขาไม่ค่อยดีนัก เรียกได้ว่าเกือบเรียนไม่จบเลยทีเดียว ในวันจบการศึกษาอาจารย์ของเกาดีได้พูดกับเขาว่า “ผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเราให้ปริญญากับอัจฉริยะ หรือ คนบ้า กาลเวลาเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์”
สไตล์งานของเกาดีพัฒนามาหลากหลายรูปแบบก่อนที่จะเป็นอย่างที่คุ้นตากัน ในช่วงที่เรียน และหลังจากเรียนจบ งานของเขาจะเป็นสไตล์วิกตอเรียนที่เล่นลวดลายจากพวกดอกไม้ ใบไม้ต่างๆ และพัฒนาอย่างรวดเร็วมาเป็นงานสไตล์ Moorish (ชาวสเปนที่นับถือศาสนาอิสลามที่บ้านเราเรียกว่าแขกมัวร์) ที่เป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะแบบมุสลิม และงานฝั่งตะวันตก โดยจะใช้งานกระเบื้องเซรามิก อิฐ หรือหิน ทำเป็นลวดลายเรขาคณิต เช่น Casa Vicens
ต่อมาในช่วงปี 1880-1900 เกาดีสนใจ และต้องการที่จะทดลองความเป็นไปได้ทางโครงสร้างใหม่ๆ กับงานแบบสถาปัตยกรรมยุคเก่า เช่น สไตล์โกธิคในงาน Episcopal Palace และ สไตล์บาโรคกับงาน Casa Calvet ซึ่งจะเรียกว่าเป็น Neo-Gothic หรือ Neo-Baroque ก็ได้ ซึ่งหลังจากนั้นเขาก็ได้ออกจากกรอบงานแบบดั้งเดิมแต่ยังคงเก็บเรื่องของธรรมชาติ และความเชื่อทางศาสนาของเขาไว้ โดยแสดงผ่านทางโครงสร้าง และวัสดุ ไม่ว่าจะเป็นโบสถ์ Colonia Güell Church หรือ สวน Güell Park
ลักษณะเด่นของโครงสร้างแบบเกาดี คือ การไม่ใช้ค้ำยันภายนอก และภายใน แต่จะใช้เสาตรงควบคู่กับเสาเอียงเพื่อรับแรงในแนวทะแยง และใช้กระเบื้องแบบบางซ้อนลามิเนตกันเพื่อทำโครงสร้างทรงโค้งแบบ Catenary Arch ทรงเส้นโค้งที่เกิดจากการทิ้งน้ำหนักตามธรรมชาติของวัสดุที่เป็นเส้นห้อยลงมาแต่นำมากลับด้านกัน แนวคิดเหล่านี้เกาดีได้มาจากการสังเกต และทำความเข้าใจลักษณะของต้นไม้ซึ่งตัวอย่างงานที่เห็นได้ชัดก็คือ Casa Batlló และ Casa Milá นั่นเอง
สถาปนิกแห่งความศรัทธาของชาวคาตาลัน
เกาดีมีส่วนสำคัญอย่างมากในการฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ และอำนาจทางการเมืองของชาวคาตาลัน (กลุ่มคนอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของสเปนซึ่งรวมบาร์เซโลนาด้วย) ที่ถูกกดขี่มาอย่างยาวนานโดนรัฐบาลจากแคว้นคาสตีลที่มีกรุงมาดริดเป็นศูนย์กลาง ซึ่งสัญลักษณ์สำคัญของการเคลื่อนไหวครั้งนี้ก็คือ Sagrada Família มหาวิหารประจำเมืองบาร์เซโลนาที่จะกลายเป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเขา
เกาดีได้รับมอบหมายให้ทำงานนี้ตั้งแต่ปี 1883 และเมื่อยิ่งทำงานนี้เขาก็ยิ่งเกิดศรัทธาในศาสนามากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากปี 1910 เกาดีละทิ้งงานทั้งหมด และย้ายมาอยู่ที่ไซต์งานที่เขาได้สร้างเป็นห้องทำงานจนถึงปี 1926 ปีที่เขาเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุรถรางชนในขณะที่เขากำลังเดินกลับไปที่มหาวิหารเหมือนทุกวันในวัย 74 ปี
ในพิธีศพของเกาดีชาวบาร์เซโลนาเกือบทั้งเมืองต่างออกมาแสดงความอาลัยตลอดการเดินทางไปยังสุสานของสถาปนิกผู้ยิ่งใหญ่ของพวกเขา และหลังจากการเสียชีวิตของเกาดีมหาวิหารนี้ก็ยังถูกสร้างต่อไปจนถึงทุกวันนี้โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2026 ซึ่งหากแล้วเสร็จมหาวิหารนี้จะกลายเป็นวิหารที่สูงที่สุดในโลก นับเป็นเวลาถึง 100 ปีหลังจากที่เกาดีเสียชีวิตเลยทีเดียว
ผลงานของเกาดีมากมายได้รับการยกย่องเป็นมรดกโลกจาก UNESCO ทั้งความโดดเด่นในเรื่องของรูปทรง พื้นผิว และสีสัน การคิดงานทรงเรขาคณิต และโครงสร้างที่ซับซ้อนจนทำให้อาคารกลายเป็นรูปทรงแบบธรรมชาติที่สอดคล้องกับกฎของธรรมชาติจนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่ไม่มีใครเหมือน และเป็นหัวหอกของสไตล์สถาปัตยกรรมแบบ Modernisme ซึ่งเรียกอีกอย่างว่า Catalan modernism หรือ Catalan art nouveau และเป็นส่วนสำคัญกับวัฒนธรรมสมัยใหม่ของชาวคาตาลัน
มหาวิหาร Sagrada Família
ชื่อเต็มๆ ของมหาวิหารนี้ คือ Basílica i Temple Expiatori de la Sagrada Família แปลได้ว่า วิหารแห่งการไถ่บาปของครอบครัวอันศักดิ์สิทธิ์ โดยสร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติให้แก่ครอบครัวของพระเยซูคริสต์ซึ่งอาจฟังดูแปลกหูซักหน่อยกับชื่อของโบสถ์ที่มักจะตั้งตามชื่อของนักบุญ เกาดีทุ่มเทเวลาเกือบทั้งชีวิตเพื่อโปรเจ็คนี้แต่เป็นที่น่าเสียดายที่เขาเสียชีวิตในขณะที่โครงการนี้ยังสร้างไม่ถึงหนึ่งในสี่ ซึ่งศพของเขาได้ถูกฝังอยู่ที่นี่ด้วย
สำหรับวิหารนี้จริงๆ แล้วเกาดีไม่ได้งานตั้งแต่แรก เขาได้รับไม้ต่อมาจาก Francisco de Paula del Villar ที่ถอนตัวไปในปี 1883 โดยเขาเก็บแปลนวิหารแบบละตินไว้ แต่เปลี่ยนทิศทางการออกแบบมาเป็นสไตล์ที่ผสมผสานงานสไตล์โกธิค อาร์ตนูโว และ Catalan Modernism เข้าไว้ด้วยกัน ในแง่ของโครงสร้าง เกาดีได้ใช้โครงสร้างแบบเสาเอียงที่เขาพัฒนาขึ้นร่วมกับโครงสร้างทรงโค้งเพื่อลดการใช้ค้ำยัน ลักษณะคล้ายการแตกกิ่งก้านของต้นไม้ ทำให้ภายในของวิหารมีสภาพคล้ายป่า
สาเหตุสำคัญว่าทำไมวิหารนี้ถึงใช้เวลาสร้างอย่างยาวนานถึง 100 ปีก็เป็นเพราะในช่วงสงครามกลางเมืองของสเปนปี 1936 กลุ่มอนาธิปไตยได้บุกเข้าไปจุดไฟเผาห้องทำงานของเกาดีในไซต์งานทำให้แบบหลายๆ ส่วนถูกทำลาย จนกระทั่งในปี 1939 Francesc de Paula Quintana ก็เข้ามารับหน้าที่ต่อโดยพยายามดำเนินการต่อจากบันทึก แบบแปลน และรูปถ่ายต่างๆ ที่เหลืออยู่จนการก่อสร้างกลับมาดำเนินการอีกครั้งในช่วงปี 1950 และยิ่งสร้างเร็วขึ้นเรื่อยๆ จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทั้งในด้านคอมพิวเตอร์ และเทคนิคการก่อสร้างสมัยใหม่
มหาวิหาร Sagrada Família มียอดทั้งหมด 18 ยอด โดยมาจากอัครสาวกทั้ง 12 คน ผู้นิพนธ์พระวรสารทั้ง 4 ท่าน องค์พระแม่มารี และยอดที่สูงสุดคือพระเยซูคริสต์ สูงอยู่ที่ 172.5 เมตรซึ่งเตี้ยกว่ายอดเนินเขา Montjuïc ในบาร์เซโลนาเนื่องจากเกาดีเชื่อว่าผลงานของเขาไม่ควรยิ่งใหญ่เกินกว่าของพระเจ้า ในแต่ละยอดต่างๆ จะถูกประดับประดาไปด้วยประติมากรรมที่เป็นสัญลักษณ์ของนักบุญ เช่น นกอินทรีของนักบุญจอห์น หรือสิงโตมีปีกของนักบุญมาระโก นอกจากนี้บนยอดที่ต่ำกว่าจะเป็นของจากพิธีศีลมหาสนิทอย่าง แก้วน้ำ พวงองุ่น และ ฟ่อนข้าวสาลี
เกาดีได้ออกแบบภายนอกของวิหารตามเรื่องราวของพระเยซูคริสต์ โดยแบ่งออกเป็นสามฝั่งได้แก่ ช่วงการประสูติทางทิศตะวันออกที่ถูกสร้างเสร็จก่อนช่วงสงครามกลางเมืองทำให้ตัวงานตรงความต้องการของเกาดีที่สุด ช่วงการตรึงกางเขนทางทิศตะวันตก ที่ถูกสร้างหลังจากการกลับมาก่อสร้างต่อตามแบบที่เกาดีทำไว้ตั้งแต่ปี 1917 ซึ่งแล้วเสร็จในปี 1976 และสุดท้ายคือช่วงหลังฟื้นคืนชีพที่ทิศใต้ ที่เริ่มก่อสร้างในปี 2002 ที่จะกลายเป็นส่วนที่ใหญ่ที่สุดในสามฝั่งนี้
ผนังช่วงการประสูติจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเข้าทางด้านพระอาทิตย์ขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการกำเนิดใหม่ ประดับประดาไปด้วยองค์ประกอบที่แสดงถึงชีวิต และธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นประติมากรรมต้นไม้แห่งชีวิตที่อยู่ตรงกลาง เต่าที่ฐานของเสาสื่อถึงกาลเวลา กิ้งก่าที่เป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลง ไปจนถึงทุกอณูของพื้นผิวบนผนังที่แสดงถึงสไตล์ธรรมชาตินิยมของเกาดีได้เป็นอย่างดี
ผนังช่วงตรึงกางเขนจะตรงกันข้ามกับช่วงการประสูติ นอกจากการหันหน้าเข้าด้านพระอาทิตย์ตกเพื่อสื่อถึงความตายของพระเยซูแล้ว องค์ประกอบโดยรวมของฝั่งนี้จะมีความเรียบง่าย ดุดัน และแข็งกระด้าง เส้นตรงที่คม และแข็งเหมือนกระดูกเพื่อเล่าเรื่องเกี่ยวกับบาปของมนุษย์ และแสดงให้เห็นถึงความทุกข์ของพระเยซูเพื่อไถ่บาป
ในผนังช่วงการเกิดใหม่ที่เป็นส่วนสุดท้ายนั้นเมื่อแล้วเสร็จจะกลายเป็นทางเข้าหลักที่เข้าถึงโถงกลางของวิหาร สื่อถึงเส้นทางสู่พระเจ้า ตั้งแต่การก้าวผ่านความตาย การตัดสินครั้งสุดท้าย และสวรรค์ ซึ่งในขณะที่ออกแบบเกาดีก็รู้ตัวเองดีว่าเขาไม่มีทางจะอยู่ถึงส่วนนี้เสร็จ เขาจึงร่างแบบไว้คร่าวๆ เพื่อให้คนมารับไม้ต่อเท่านั้น
ประตูที่อยู่ในฝั่งนี้มีทั้งหมดเจ็ดบานตามพิธีศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ทางศาสนาคริสต์ เช่น พิธีศีลจุ่ม พิธีศีลมหาสนิท หรือ พิธีสมรส โดยที่จับประตูจะมีการสลักตัวอักษร A และ G เพื่อเป็นการระลึกถึงเกาดี ตามอักษรย่อของชื่อนามสกุลนั่นเอง
Casa Vicens
บ้านหลังนี้เป็นโปรเจ็คใหญ่งานแรกของเกาดี เขาได้รับโจทย์จาก Manuel Vicens นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ให้ออกแบบบ้านสำหรับครอบครัวในฤดูร้อนที่ Gràcia บาร์เซโลนา โดยจะแบ่งเป็นสองส่วน คือ สวนขนาดใหญ่ และตัวบ้าน บ้านหลังนี้ใช้เวลาการออกแบบตั้งแต่ปี 1878 – 1880 และก่อสร้างในปี 1883 – 1885
โปรเจ็คนี้เกาดีออกมาแบบให้มีโครงสร้างที่เรียบง่าย แต่ได้รับการตกแต่งอย่างพิถีพิถันโดยเฉพาะการใช้กระเบื้องเซรามิกแบบในสถาปัตยกรรม Mudéjar ส่วนหนึ่งของงานแบบ Moorish ที่หลอมรวมงานแบบอิสลามเข้ากับงานตะวันตก และเนื่องจากช่วงที่ออกแบบนั้นเขาสนใจงานของทางตะวันออก การออกแบบจึงมีส่วนผสมจากทาง อินเดีย เปอร์เซีย และญี่ปุ่นด้วย ซึ่งการผสมผสานทั้งหมดนี้ไม่ว่าจะเป็นการใช้หินเป็นฐานกำแพง กระเบื้องสี กรอบหน้าต่างไม้ เหล็กดัดตามรั้ว และราวบันไดก็ได้กลายเป็นลักษณะเด่นของงานแบบ Modernisme หรือ Catalan modernism ในเวลาต่อมา
ผนังของบ้านหลังนี้จะเป็นการตัดสลับระหว่างการใช้หิน และก่ออิฐ ปูกระเบื้องสีเขียวกับขาวเป็นลายหมากรุกแต่ที่พิเศษก็คือ เหล่าลวดลายดอกไม้สีเหลืองที่กระจายอยู่ทั่วบ้านทั้งบนกระเบื้อง งานหล่อนูนสูง หรือ ซุ้มประตูเหล็กดัด ซึ่งเกาดีได้แรงบันดาลใจมาจาก Moorish Carnation ดอกคาร์เนชั่นของชาวมัวร์ที่บานอยู่ในบริเวณบ้านก่อนการก่อสร้าง
สำหรับการตกแต่งภายใน เกาดีกั้นห้องต่างๆ ด้วยห้องหกเหลี่ยมเล็กๆ แทนการมีโถงทางเดินกลางเพื่อให้ห้องเงียบสงบเวลาปิดประตู ในแต่ละห้องจะใช้ไม้เป็นวัสดุหลักสลับกับการใช้กระเบื้อง ซึ่งนอกจากลายดอกไม้สีเหลืองที่กระจายอยู่ทั่วบ้านแล้ว ในแต่ละห้องก็จะมีการแทรกรายละเอียดจากธรรมชาติอื่นๆ เข้าไปด้วย เช่น เชอร์รี่ และเปลือกหอยในห้องทานอาหาร และนกพันธุ์ต่างๆ ตรงกรอบประตูระเบียง
หนึ่งในห้องที่พิเศษที่สุดของบ้านหลังนี้ คือ ห้องสูบบุหรี่ โดยเฉพาะเพดานของห้องที่ถูกสร้างเป็นแบบมูการ์นา (Muqarnas) โครงสร้างโดมคล้ายรวงผึ้งที่พบในสถาปัตยกรรมแบบอิสลามที่เกาดีนำมาทำให้เป็นเหมือนหินงอกหินย้อย ส่วนผนังถูกปูด้วยกระเบื้องเปเปอร์มาเช่ลายดอกได้ซ้อนทับกันในสีน้ำเงิน เขียว และทอง ในขณะที่ประตูออกไปที่สวนจากห้องนี้ถูกทำด้วยไม้ขัดแตะสไตล์จีนผสมกับเทคนิคกระจกสีแบบยุโรป
ในปัจจุบันนี้บ้านหลังนี้ถูกเปลี่ยนให้เป็นพิพิธภัณฑ์หลังจากการรีโนเวทครั้งใหญ่ ทั้งการติดตั้งลิฟต์ และการเปลี่ยนบันไดดั้งเดิมถูกเปลี่ยนเป็นบันไดสมัยใหม่ที่ปลอดภัยกว่า ทำให้งานบางส่วนถูกย้ายออกไปไว้ในห้องต่างๆ ในบ้านแทน นอกจากนี้ผลงานของเกาดีตั้งแต่งานกระเบื้อง บานไม้ โคมไฟ เฟอร์นิเจอร์ ไปจนถึงภาพวาดที่เขาเลือกมาในบ้านถูกนำไปซ่อมแซมเพื่อให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ และใกล้เคียงกับของดั้งเดิมที่สุด
Casa Milà
อาคารสไตล์ Modernisme แบบ Catalan art nouveau นี้มีอีกชื่อในภาษาสเปนว่า La Pedrera แปลว่า เหมืองหิน ตามหน้าตา และวัสดุหลักที่ใช้ เกาดีได้รับการว่าจ้างจากคู่สามีภรรยา Pere Milà และ Roser Segimón โดยตั้งใจให้เป็นบ้านของตัวเองหนึ่งชั้น และที่เหลือปล่อยเป็นอพาร์ตเมนต์ให้เช่า โดยเริ่มต้นออกแบบในปี 1906 และสร้างเสร็จในปี 1912 ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ยังเปิดให้เช่าอยู่ และโปรเจคนี้นี่เป็นโปรเจ็คที่พักอาศัยสุดท้ายในชีวิตของเกาดี
Casa Milà ประกอบด้วยอาคาร 2 หลังล้อมรอบลาน 2 ลาน เพื่อให้ทุกห้องทั้ง 9 ชั้นได้รับแสงอาทิตย์อย่างทั่วถึง ส่วนที่น่าสนใจที่สุดส่วนหนึ่งของตึกนี้ คือ หลังคาที่มีทั้งช่องรับแสง ทางเข้าออกบันได ช่องลม และปล่องไฟ โดยทั้งหมดนี้ได้รับการออกแบบให้มีหน้าที่นอกจากทางสถาปัตยกรรมแต่ยังเป็นประติมากรรมที่รวมเข้ากับตัวอาคารด้วย
ผนังภายนอกหินปูนขนาดใหญ่ที่สามารถค้ำน้ำหนักได้ด้วยตัวเอง คือ จุดเด่นสำคัญของอพาร์ตเมนต์นี้ เรียกได้ว่าเป็นนวัตกรรมเชิงโครงสร้างเลยก็ว่าได้ โดยเกาดีใช้คานเหล็กโค้งเชื่อมเข้ากับโครงสร้างภายในของแต่ละชั้นแทนที่จะใช้ผนังรับน้ำหนักเพื่อให้ทำช่องเปิดได้มากขึ้น รับแสงเข้าห้องได้มากขึ้น และนอกจากนั้นเทคนิคนี้ทำให้เจ้าของห้องสามารถเพิ่ม และรื้อผนังภายในเพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการตกแต่งภายในได้โดยไม่กระทบต่อความมั่นคงของอาคาร
จุดเด่นของการตกแต่งภายในของ Casa Milà คือ เพดานพลาสเตอร์นูนต่ำที่พริ้วไหวทั้งในส่วนกลาง และห้องส่วนตัว โดยในบริเวณโถงกลางทั้งสองแห่งจะมีการลงสีน้ำมันสดใสเป็นลายดอกไม้ และเรื่องเล่าเกี่ยวกับเทพเจ้าแทรกอยู่ โดยเกาดีตั้งใจออกแบบบริเวณโถงบันไดให้มีความโดดเด่นเป็นพิเศษเพื่อให้คนในอพาร์ตเมนต์ใช้บันไดมากขึ้นแทนที่จะใช้ลิฟต์เพื่อให้ทุกคนรู้จักกันหมด
เกาดีได้ประยุกต์ใช้โครงสร้างโค้งแบบ Catenary Arch เพื่อรองรับหลังคาทั้งหมดโดยจะมีความสูงต่ำกว้างแคบไม่เท่ากันตามรูปทรงที่เหมือนกับเนินเขาใหญ่น้อยของดาดฟ้า ทำให้บริเวณโครงใต้หลังคานี้เหมือนกับการอยู่ใต้ซี่โครงของสัตว์ขนาดยักษ์ นอกจากนี้เขาได้เปลี่ยนวัสดุที่เขาเคยใช้กับโครงสร้างแบบนี้จากไม้เป็นอิฐ และก่อตามเทคนิคแบบโบราณจากยุคศตวรรษที่ 14 ที่เรียกว่า Timbrel หรือเรียกอีกอย่างว่า Catalan vault
ในปัจจุบันอาคารหลังนี้ได้ถูกซ่อม และปรับปรุงบริเวณชั้นล่าง และพื้นที่ใต้หลังคาให้กลายเป็นพื้นที่จัดงานนิทรรศการ ศูนย์การเรียนรู้ ร้านค้า ไปจนถึงที่ตั้งสำนักงานต่างๆ ในขณะที่บริเวณพักอาศัยที่ปล่อยให้เช่าก็ยังคงดำเนินกิจการไปตามเดิม โดยบางครอบครัวอาศัยอยู่ที่นี่มายาวนานมากกว่า 70 ปีเลยทีเดียว
เขียนโดย รวีศิลป์ อัศวกิตติประภา