Skip to content Skip to sidebar Skip to footer

Frank Gehry สถาปนิกผู้สร้าง Guggenheim Museum Bilbao หนึ่งในงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งยุค

หากจะมีชื่อสถาปนิกที่เหล่านักเรียนเตรียมสอบเข้าคณะสถาปัตยกรรมต้องจำเข้าไปสอบก็ต้องมีชื่อของ Frank Gehry อยู่ในนั้นอย่างแน่นอน เพราะเขาคือหนึ่งในสถาปนิกที่ทรงอิทธิพลในงานออกแบบสถาปัตยกรรมยุคใหม่ และเป็นสถาปนิกคนเดียวที่อยู่ใน Time100 Leadership series ปี 2023 ซึ่งเป็นชุดบทสัมภาษณ์ของเหล่าผู้ที่มีอิทธิพลสูงสุดในด้านต่างๆ ของโลกโดยนิตยสาร Time

วันนี้ Art of จะมาเล่าเรื่องชีวิต และ เบื้องหลังผลงานของ Frank Gehry นักออกแบบประจำเดือนกุมภาพันธ์ในซีรี่ย์ Designer of the month หนึ่งในสถาปนิกผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคสมัยใหม่ ผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่วงการสถาปัตยกรรม


จากของเล่นจากเศษไม้ สู่การเป็นคนขับรถบรรทุก ทหาร และ สถาปนิก

Frank Gehry (แฟรงค์ เกห์รี) เกิดเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ปี 1929 ที่เมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา ในวัยเด็กเกห์รีได้รับการส่งเสริมเรื่องความคิดสร้างสรรค์มาจากคุณยายของเขา Leah Caplan โดยทั้งคู่จะใช้เศษไม้ และ เศษอุปกรณ์เล็กๆ จากร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้างของคุณตามาสร้างเป็นเมืองเล็กๆ จินตนาการเรื่องราวถึงบ้าน และเมืองในอนาคต บนพื้นห้องนั่งเล่น

ในปี 1947 ครอบครัวของแฟรงค์ได้ย้ายถิ่นฐานเข้ามาที่แคลิฟอเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเขาในวัย 18 ปีก็ได้เริ่มทำงานขับรถบรรทุก และเรียนที่มหาวิทยาลัยประจำเมือง Los Angeles City College ไปด้วย ซึ่งเขาได้ทดลองทำอะไรหลายอย่างมากมายเพื่อหาสิ่งที่เขาชอบ ตั้งแต่ วิทยุกระจายเสียง ไปจนถึง วิศวะเคมี

หลังจากที่ได้ทบทวนกับตัวเองว่าชอบอะไรสิ่งที่เขานึกขึ้นมาได้ คือ ความทรงจำวัยเด็กที่เขาเล่นสร้างเมืองกับคุณยาย และช่วงเวลาที่แม่พาไปดูงานศิลปะในพิพิธภัณฑ์ เขาเลยตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยเดิม และเริ่มเรียนเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมที่ University of Southern California จนเรียนจบในปี 1954

แต่หลังจากเรียนจบเขาก็ห่างจากวงการสถาปนิก และได้ไปทำอาชีพต่างๆ ซึ่งเขายังเคยเป็นทหารของกองทัพสหรัฐฯ ด้วย หลังจากนั้นในปี 1956 ครอบครัวของเขาก็ได้ย้ายมาที่ เคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ซึ่งเขาได้เรียนต่อเรื่องการวางผังเมือง แต่ก็ตัดสินใจออกก่อนเรียนจบ เพราะว่าแนวความคิดของเขาที่เรื่องสถาปัตยกรรมมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคมนั้นสวนทางกับอาจารย์ที่ออกแบบวังให้กับเผด็จการคิวบา ฟุลเกนซิโอ บาติสต้า


จากบ้านเพื่อน สู่ตำนาน Guggenheim Museum

เกห์รีเริ่มต้นอาชีพการเป็นสถาปนิกตอนที่เขากลับมาที่แคลิฟอเนียในบริษัท Victor Gruen Associates ที่เขาเคยฝึกงานช่วงปริญญาตรี ในขณะที่เขาอายุ 28 ปีเขาก็ได้ทำโปรเจคแรกเต็มตัว คือ David Cabin บ้านของคนรู้จักของภรรยาของเขา ซึ่งจะเริ่มเห็นถึงลักษณะเด่นที่เขาชอบใช้ในผลงานหลังจากนี้ ทั้งคานที่ยื่นออกมาภายนอก งานฝ้าเปิดโชว์คาน โดยมีที่มาจากงานสถาปัตยกรรมแบบญี่ปุ่นที่เขาสนใจในช่วงนั้น

หลังจากนั้น 4 ปี เขาก็ย้ายไปทำงานกับสถาปนิก Andre Remondet ในปารีส ฝรั่งเศส และกลับมาเปิดบริษัท Gehry and Associates ที่ลอสแองเจลลิสในปี 1967 ซึ่งเขาก็สร้างผลงานมากมายหลากหลายประเภทโดยส่วนใหญ่มักจะเป็นพิพิธภัณฑ์ในแคลิฟอเนียที่เขาเติบโตมา เช่น Cabrillo Marine Aquarium และ California Museum of Science and Industry

ในที่สุดในปี 1989 เขาก็ได้รับรางวัล Pritzker Architecture Prize รางวัลทางด้านสถาปัตยกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และเริ่มได้รับงานในระดับนานาชาติที่ยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ทั้ง Cinematheque Francaise ที่ปารีส, The Dancing House ในปราก และ งานที่ส่งให้เขากลายเป็นตำนานอย่าง Guggenheim Museum ในสเปน ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น สุดยอดงานสถาปัตยกรรมแห่งศตวรรษที่ 20 และ เป็นหนึ่งในอาคารที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล

สไตล์งานของเกห์รีมักจะแสดงถึงความแปลกใหม่และท้าทายต่อรูปแบบดั้งเดิม ทั้งรูปทรงอาคาร และ การใช้วัสดุ หรือที่เรียกว่า Deconstructivism (ทำลายหรือออกนอกกรอบเดิม) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานสไตล์ Post Modern (แต่เขาก็ปฏิเสธเสมอว่าไม่ได้มีวิธีการคิดแบบนั้น) โดยงานของเขาจะเหมือนกับงานสถาปัตยกรรมที่ถูกบิดโค้ง ยืด ยุบ จนกลายงานประติมากรรมขนาดยักษ์ที่สร้างจากเหล็กและกระจกที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ชัดเจนมาก เรียกได้ว่าแค่เห็นก็รู้ได้เลยว่านี่คืองานของ “แฟรงค์ เกห์รี”


Guggenheim Museum Bilbao, Spain

ถ้าจะพูดถึงผลงานของ แฟรงค์ เกห์รี ก็ต้องพูดถึงผลงานที่ประสบความสำเร็จที่สุดตลอดกาลของเขาอย่าง Guggenheim Museum หอศิลป์และพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย ที่ริมแม่น้ำ Nervion เมือง Bilbao ในสเปน (ซึ่ง Guggenheim Museum มีหลายที่)

เกห์รี ได้โครงการนี้จากการชนะประกวดแบบแข่งขันในปี 1992 โดยเป้าหมายของลูกค้าคืออยากให้พิพิธภัณฑ์นี้เป็นศูนย์กลางของเขตพัฒนาเศรษฐกิจที่กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งต้องการจะเปลี่ยนจากเมืองอุตสาหกรรมเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยหวังจะให้เป็นแลนด์มาร์คเหมือนกับ Opera House ในซิดนีย์

เมื่อมองมาจากริมแม่น้ำตัวพิพิธภัณฑ์นี้จะมีรูปร่างคล้ายกับเรือกาลิออนจอดอยู่ที่ท่าเรือ เพื่อระลึกถึงอดีตของสถานที่แห่งนี้ที่เคยเป็นท่าเรือมาตั้งแต่ยุคอุตสาหกรรม แต่เรื่องที่คนไม่ค่อยรู้คือเกห์รีตั้งชื่อเล่นให้ผลงานนี้ว่า “ดอกไม้” ตามรูปแปลนที่เป็นรูปดอกไม้ที่บานออกจากห้องโถงกลาง โดยใช้เวลาสร้างแล้วเสร็จในเวลา 5 ปี

ถึงแม้งานที่ออกมาจะมีคนมองว่าเป็นงานสไตล์ Post Modern แต่ที่จริงแล้วเขาปฎิเสธงานสไตล์นั้นมากเพราะเหมือนไปลอกเลียนผสมปนเปกับงานสไตล์สถาปัตยกรรมอื่นๆ ซึ่งเขาชอบมองย้อนกลับไปหารูปร่างและรูปแบบที่ไกลกว่านั้น โดยอาคารนี้มีที่มาแรกเริ่มจากการเคลื่อนไหวที่สวยงามของปลา ถ่ายทอดออกมาในส่วนโค้งเว้าและประกายสะท้อนของแผ่นไทเทเนียมเหมือนเกล็ดปลาที่อยู่ภายนอก


Bilbao Effect

อีกหนึ่งสิ่งที่เกห์รีภูมิใจในโปรเจ็คนี้ก็คือ อาคารนี้สร้างเสร็จตรงเวลาและอยู่ในงบประมาณ (ราวๆ 89 ล้านดอลลาร์) ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ยากมากกับงานออกแบบของเขาที่มีความแตกต่างจากงานสถาปัตยกรรมทั่วไป แต่ด้วยความตั้งใจในการคำนวณทุกชิ้นส่วนด้วยคอมพิวเตอร์อย่างละเอียดรวมกับการทำงานร่วมกับบริษัทก่อสร้างอย่างใกล้ชิดทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นมาได้

พิพิธภัณฑ์นี้ประสบความสำเร็จเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพราะนอกจากจะสามารถเปลี่ยนภาพลักษณ์ของเมืองได้สำเร็จอย่างงดงามแล้วนั้น โครงการนี้ยังสามารถนำเงินเข้าท้องถิ่นถึง 400 ล้านยูโรต่อปี เรียกได้ว่าสร้างเสร็จคืนทุนทันทีก็ว่าได้ ทำให้ทั่วโลกมีการลงทุนสร้างอาคารทางศิลปะและวัฒนธรรมที่สวยงามเพื่อนำเงินเข้ามาในพื้นที่ตามโมเดลความสำเร็จนี้ที่จะมีชื่อเรียกในภายหลังว่า Bilbao effect

แต่ก็ใช่ว่าตัวอาคารนี้จะถูกใจและดีกับทุกคนไปซะหมด เพราะก็มีคนบางกลุ่มที่คิดว่าผลงานชิ้นนี้มันโดดเด่นเกินกว่าพื้นที่โดยรอบไปมากจนเหมือนไม่ยึดโยงกันและแอบไม่ค่อยเหมาะกับการจัดแสดงผลงานศิลปะซะเท่าไหร่ นอกจากนี้ก็มีเรื่องที่หลายโครงการเอา Bilbao effect โมเดลไปใช้ แต่ก็ไม่ได้ผลตอบรับที่ดีและไม่คุ้มค่ากับเงินที่ลงทุนไป

อย่างไรก็ตามนี่ก็เป็นอาคารที่ได้จุดประกายเส้นทางใหม่และสร้างปรากฎการณ์ที่ไม่ธรรมดาที่เกิดขึ้นจากสถาปัตยกรรม ทำให้เกห์รีได้รับเสียงชื่นชมอย่างกว้างขวางและได้สร้างโอกาสให้เขาได้สร้างอาคารที่สวยงาม มีชื่อเสียง และประสบความสำเร็จอีกมากมาย กลายเป็นจุดเริ่มต้นของฉายา “สถาปนิกที่ออกแบบได้คุ้มค่าเงินและคืนทุนเร็วที่สุด” อีกด้วย


Walt Disney Concert Hall LA, USA

หากใครที่อยู่ในวงการสถาปัตยกรรมก็คงมีการเข้าใจผิดบ้างว่า Walt Disney Concert Hall ใน LA นั้นเกิดขึ้นหลังจากความสำเร็จของ Guggenheim Museum ที่ Bilbao ซึ่งจริงๆแล้วอาคารหลังนี้ถูกออกแบบมาก่อนหน้านั้นตั้งแต่ 1987-1991 แต่กว่าจะสร้างแล้วเสร็จก็ปาเข้าไปปี 2003 ล่าช้ากว่าแผนที่วางไว้ถึง 6 ปี ทั้งนี้ก็เพราะปัญหาเรื่องของการระดมทุน

เกห์รีไม่ได้คาดหวังว่าจะได้ทำโปรเจ็คนี้ตั้งแต่แรกเพราะว่างานของเขามักจะทำมาจากวัสดุราคาถูก และนำมาประยุกต์ใช้ให้แตกต่างออกไป ซึ่งสวนทางกับดิสนีย์ที่มักจะเป็นโครงการที่ต้นทุนสูงและมีสไตล์ที่หรูหรา แต่เขาก็ได้รับเลือกจาก Lillian Disney ภรรยาของ Walt Disney ซึ่งเธอได้บริจาคเงินให้กับงานนี้ถึง 50 ล้านดอลลาร์ เพื่อระลึกถึงสามีที่จากไปของเธอ

ความตั้งใจของเกห์รี คือ การสร้างห้องนั่งเล่นของเมืองนี้เพื่อให้คนเข้าถึงดนตรีได้มากขึ้น ที่ที่ทำให้คนรู้สึกสบายใจที่จะเข้ามาและผ่อนคลาย ให้ผู้คนรู้สึกเป็นตัวของตัวเองและที่นี่เป็นสถานที่ของพวกเขา โดยเขาได้ออกแบบให้มีบันไดทางเข้าขนาดใหญ่เชื่อมกับถนนโดยรอบเพื่อสร้างความรู้สึกที่เปิดรับเป็นสถานที่สาธารณะที่เปิดสำหรับทุกคน

ส่วนความตั้งใจในแง่สถาปัตยกรรมนั้น เขาอยากให้ภายนอกเป็นหินเพราะว่ามันสวยงามและดูอบอุ่นกว่าโลหะโดยเฉพาะในเวลากลางคืนที่ทำให้อาคารดูหม่นๆ ซึ่งเค้าเห็นจากงานของเขาแล้วที่ Bilbao แต่ทางทีมวางแผนก็ได้เห็นตัวอย่างที่สำเร็จจากที่นั่นเช่นกันจึงขอให้เปลี่ยนแผ่นสแตนเลสสตีลแทนเหตุเพราะปัญหาเรื่องงบประมาณ ซึ่งเกห์รีตัดสินใจยากมากในเรื่องนี้แต่การร้องขอของเขาก็ไม่เป็นผลจึงออกมาเป็นอย่างที่เห็นทุกวันนี้และกลายเป็นเอกลักษณ์สำคัญของที่นี่


นำเสนอความเท่าเทียมจากภายในสู่ภายนอก

เช่นเดียวกับผลงานอื่นๆ Walt Disney Concert Hall ได้รับการออกแบบจากภายในสู่ภายนอก ฮอลล์คอนเสิร์ตขนาดใหญ่ 2,265 ที่นั่ง จัดวางแบบ Vineyard-style seating ผังที่นั่งที่จะล้อมรอบวงออเคสตราเพื่อให้ผู้ชมได้ใกล้ชิดกับการแสดง นอกจากนี้เขายังได้เอาที่นั่งชั้นพิเศษหรือที่นั่ง Box และ Balcony ออก (ที่เราเห็นตามภาพยนตร์ที่เป็นระเบียงเล็กๆ บนชั้นลอย) เพื่อลดการแบ่งชั้นทางสังคมไม่เหมือนแบบดั้งเดิม และด้วยโครงสร้างเหล็กสมัยใหม่ทำให้ไม่มีเสาบังในฮอลล์

จุดสำคัญที่สุดของฮอลล์นี้ก็คือ ออร์แกนขนาดยักษ์ที่เกห์รีออกแบบร่วมกับที่ปรึกษาด้านออร์แกนโดยใช้เวลาพัฒนามากกว่าสองปีโดยใช้ท่อเสียงภายนอกมากถึง 6,134 ท่อ ซึ่งเกห์รีตั้งชื่อว่า “เฟรนช์ฟราย” ตามหน้าตาของมัน แต่ก็น่าเสียดายที่ออร์แกนหน้าตาสุดล้ำนี้ไม่สามารถนำไปใช้ในการแสดงจริงได้

เมื่อสร้างแล้วเสร็จ Walt Disney Concert Hall ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีและช่วยคืนชีวิตชีวาให้กับย่านใจกลางเมือง แต่ก็น่าเสียดายที่ Lillian Disney ไม่มีโอกาสได้เห็นอนุสรณ์ถึงสามีเธอหลังนี้ อีกเรื่องหนึ่งที่น่าเสียดายก็คืออาคารหลังนี้ที่ตั้งใจจะลดความเหลื่อมล้ำให้คนเข้าถึงศิลปะง่ายขึ้นกลับกลายเป็นการตอกย้ำตั้งแต่งานเปิดอาคารที่ถูกจัดอย่างฟุ่มเฟือย


Dancing House Prague, Czech Republic

เล่าเรื่องเมกะโปรเจ็คมามากแล้ว ขอแวะมาที่โปรเจคเล็กๆ กันบ้าง โดย Dancing House เป็นโครงการริมแม่น้ำ Vltava ในกรุงปราก สาธารณะรัฐเชค โดยเป็นการออกแบบร่วมกันกับเกห์รีกับสถาปนิกชาวเช็ก Vlado Milunić โดยได้ออกแบบเสร็จในปี 1992 และสร้างเสร็จในปี 1996

ตัวสถานที่ตั้งของอาคารนี้เป็นพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ คือ เป็นหนึ่งในจุดที่โดนอเมริกาทิ้งระเบิดใส่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ตอนนั้นเช็กเป็นส่วนหนึ่งกับพรรคนาซีเยอรมัน) เรื่อยมาจนถึงการปฏิวัติกำมะหยี่ที่ทำให้เช็กเปลี่ยนการปกครองมาเป็นประชาธิปไตย ซึ่ง Václav Havel ผู้ชนะการเลือกตั้งและเจ้าของที่ดินตรงนี้ก็ตัดสินใจจะใช้ที่ดินตรงนี้สร้างเป็นศูนย์วัฒนธรรมซึ่งก็ถูกล้มเลิกไปและถูกสร้างเป็นโรงแรมในเวลาต่อมาแทน

ในการประชุมครั้งแรก เกห์รี ได้ตกลงที่จะใช้ไอเดียตั้งต้นของ Milunić ที่จะแบ่งเป็นสองตึกที่ “หยุดนิ่ง” และ “เคลื่อนไหว” สื่อถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองของเช็กจากคอมมิวนิสต์เป็นประชาธิปไตย ก่อนที่ความพริ้วไหวและความมั่นคงนั้นจะถูกพัฒนาต่อมาเป็น Dancing House ตามนักเต้นชาวอเมริกันชาย-หญิง Fred Astaire และ Ginger Rogers ซึ่งชื่อ Ginger & Fred นั้นก็ได้กลายเป็นชื่อเล่นและชื่อของร้านอาหารในโรงแรมนี้


ไอคอนของตึกที่เหมือนจะเต้นได้

ตัวตึกที่สร้างจากคอนกรีตที่ขนานไปกับแนวแม่น้ำสื่อถึงความหยุดนิ่งนั้นเป็นตัวแทนของ Fred นักเต้นผู้ชาย ในขณะที่ตัวตึกที่กระจกดูเคลื่อนไหวนั้นเป็นตัวแทนของ Ginger นักเต้นผู้หญิง โดยตึกทั้งสองจะถูกเชื่อมโยงกันผ่านเส้นเหล็กโค้งที่พาดผ่านให้เห็นนอกอาคารเพื่อให้ตึกที่ดูนิ่งนั้นยังดูมีความเคลื่อนไหวไปด้วยกัน รวมไปถึงหน้าต่างที่ยื่นออกมาเพื่อให้ตัวผนังอาคารดูมีมิติมากขึ้นและแนวหน้าตาที่เล่นระดับไม่เท่ากันก็ช่วยทำให้คอนเซป Dancing House นั้นดูสมบูรณ์

แต่ก็แน่นอนว่ามีคนชอบก็ย่อมมีคนเกลียด Dancing House ถูกโจมตีว่าทำลายทัศนียภาพของกรุงปราก ทั้งในเรื่องของสไตล์งานและวัสดุที่ใช้ที่ไม่สอดคล้องกับบริบทของเมืองที่เป็นที่สถาปัตยกรรมแบบบาโรก, โกธิค และ อาร์ตนูโว

ในปัจจุบัน Dancing House เป็นหนึ่งในตึกที่มีชื่อเสียงที่สุดของกรุงปราก และชนะรางวัลทางสถาปัตยกรรมมาหลายสถาบันด้วยโครงสร้างที่ท้าทายและรูปทรงที่เป็นเอกลักษณ์ทำให้นี่เป็นอีกหนึ่งผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับ แฟรงค์ เกห์รี อย่างมาก


เขียนโดย รวีศิลป์ อัศวกิตติประภา

source:

https://www.britannica.com/biography/Frank-Gehry
https://en.wikipedia.org/wiki/Frank_Gehry
https://en.wikipedia.org/wiki/Guggenheim_Museum_Bilbao
https://en.wikipedia.org/wiki/Walt_Disney_Concert_Hall
https://en.wikipedia.org/wiki/Dancing_House

© 2021 Art of. All rights reserved.

  083-138-5607
contact@artofth.com

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save