1600Views
10 เรื่องน่ารู้ของมรดกโลกศรีเทพ โบราณสถานเก่าแก่ 1,700 ปี
ไม่นานมานี้ หลาย ๆ คนคงจะเห็นภาพโบราณสถานขนาดใหญ่โตอลังการ ที่ชื่อว่า ‘เมืองโบราณศรีเทพ’ ผ่านตากันมาบ้าง ด้วยรูปลักษณ์ที่ดูคล้ายกับพีระมิด หรือมาชูปิกชูก็ไม่ปาน แต่ใครจะเชื่อว่าสถานที่นี้ตั้งอยู่ในประเทศไทยนี่เอง และได้กลายเป็นหมุดหมายสำคัญที่หลาย ๆ คนอยากจะไปเยี่ยมชมสักครั้งในชีวิต
โบราณสถานแห่งนี้ได้รับความสนใจมาก เพราะเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา เพิ่งจะได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกจากยูเนสโก ซึ่งถือเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 7 ในประเทศไทยแล้ว โดยมีชื่อเต็ม ๆ ว่า ‘เมืองโบราณศรีเทพ และโบราณสถานสมัยทวารวดีที่เกี่ยวข้อง’ (The Ancient Town of Si Thep and its Associated Dvaravati Monuments)
‘เมืองโบราณศรีเทพ’ ตั้งอยู่ในอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้รับการค้นพบมาตั้งแต่ พ.ศ. 2447 แต่เชื่อกันว่าเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่เจริญรุ่งเรืองต่อเนื่องกันถึง 3 ยุค ตั้งแต่ราว 1,700 ปีมาแล้ว ถือเป็นเมืองที่มีความโดดเด่นทั้งด้านศิลปกรรม สถาปัตยกรรม และวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก
นอกจากความอลังการด้วยสถูปขนาดใหญ่ ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ หรือชิ้นส่วนประติมากรรมแล้ว ยังมีเรื่องราวอื่น ๆ อีกที่น่าสนใจมากเช่นกัน เชื่อว่าสำหรับใครที่กำลังสนใจจะไปหรือวางแผนจะไป เมื่อได้อ่านจะต้องเข้าใจมากขึ้นแน่นอน
1. เพราะอะไรถึงได้รับเลือกเป็นมรดกโลก ?
โดยทั่วไป การยื่นขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก จะต้องได้รับการประเมินตามข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการได้วางเอาไว้ สำหรับเมืองโบราณศรีเทพ จริง ๆ แล้วได้รับการเสนอชื่อ ในการพิจารณามาตั้งแต่ พ.ศ. 2562 และในที่สุดก็ได้รับการขึ้นทะเบียนในปีนี้
ซึ่งการพิจารณาในการตั้งเป็นมรดกโลกของเมืองโบราณศรีเทพนั้น ก็เข้าเกณฑ์ที่สำคัญหลายข้อ เช่น เป็นสถานที่ที่เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย แต่พัฒนาจนเป็นรูปแบบเฉพาะตัว การเป็นเมืองอันเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยน และการนับถือศาสนาที่หลากหลายแต่กลมกลืนในช่วงเวลาเดียวกัน และสุดท้ายนั่นก็คือ ที่แห่งนี้เป็นหลักฐานที่สมบูรณ์ที่แสดงการมีอยู่ของวัฒนธรรมทวารวดีซึ่งได้สาบสูญไปแล้ว
2. 3 โบราณสถาน 3 วัฒนธรรม
จริง ๆ แล้วในพื้นที่เดียวกัน มีโบราณสถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกถึง 3 แห่งด้วยกัน นั่นคือ ‘เมืองโบราณศรีเทพ’ ‘โบราณสถานเขาคลังนอก’ และ ‘เขาถมอรัตน์’ ซึ่งเขานี้เป็นภูเขาที่อยู่ห่างออกไปจากตัวเมืองราว 20 กิโลเมตร ใน 3 พื้นที่นี้ ประกอบไปด้วยโบราณสถาน สระน้ำโบราณ คูน้ำ และคันดิน ที่เป็นเศษซากของเมืองโบราณในอดีต
โดยในเมืองโบราณมีหลักฐานที่ปรากฏทับซ้อนกันถึง 3 ยุคสมัย ยุคแรกคือ ‘วัฒนธรรมก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย’ เมื่อ 1,700 ปีที่แล้ว ต่อมาคือ ‘วัฒนธรรมทวารวดี’ ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 11 – 17 และสุดท้าย ‘วัฒนธรรมเขมร’ ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 16 จนถึงเมืองล่มสลายเมื่อ 700 ปีก่อน
3. เมืองนอก เมืองใน
ตัวเมืองโบราณศรีเทพเอง ประกอบด้วยพื้นที่ 2 ส่วน คิดเป็นพื้นที่ราว 4.7 ตารางกิโลเมตร ได้แก่ ‘เมืองใน’ มีผังรูปวงกลม ส่วนนี้เก่ากว่า และตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตก ส่วน ‘เมืองนอก’ ซึ่งเป็นส่วนขยายจากเมืองในไปทางตะวันออก มีผังรูปสี่เหลี่ยมมุมมน
ลักษณะผังแบบนี้ถือเป็นผังเมืองโบราณแห่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เป็น ‘เมืองแฝด’ และแสดงให้เห็นถึงการขยายตัวของเมืองอย่างชัดเจน รวมถึงการใช้งานคูน้ำ คันดิน และประตูเมือง ซึ่งต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 1,500 ปี
4. คน สุนัข ช้าง
หลักฐานที่เก่าแก่มาก ๆ ของอย่างหนึ่งเมืองศรีเทพ ก็คือหลุมฝังศพของผู้คนในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งกระจายอยู่ในตัวเมืองศรีเทพ นอกจากโครงกระดูก ยังพบภาชนะดินเผา เครื่องประดับทำจากหินมีค่า เครื่องมือที่ทำจากสำริดและเหล็ก ที่สำคัญคือพบการฝังสัตว์ร่วมกับคนด้วย เช่น สุนัข และช้าง โดยเฉพาะสุนัข
หากมองง่าย ๆ คือแสดงให้เห็นว่าคนกับสุนัขเป็นเพื่อนกันมากว่าพันปีมาแล้ว แต่หากศึกษาลึกซึ่งกว่านั้น สุนัข ถือเป็นสัตว์ที่เป็นสื่อนำพาวิญญาณของเจ้าของไปสู่โลกหลังความตายของคนในยุคก่อนประวัติศาสตร์
5. หลากความเชื่อที่อยู่กันอย่างกลมกลืน
ศรีเทพเป็นเมืองที่โดดเด่นในเรื่องของความเชื่อ ในช่วงเวลา 1,700 ปี มีการนับถือที่หลากหลายมากในพื้นที่และช่วงเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะศาสนาที่รับมาจากอินเดีย ไม่ว่าจะเป็น ‘ศาสนาพุทธ’ หรือ ‘ศาสนาฮินดู’ ร่วมกับการนับถือสิ่งเหนือธรรมชาติของคนในท้องถิ่นตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์
ความหลากหลายนี้ถือเป็นลักษณะที่โดดเด่นมากของวัฒนธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (เพราะในยุโรปไม่ค่อยเห็น) ซึ่งข้อมูลเหล่านี้รู้ได้จากหลักฐานทางศิลปะที่พบในเมืองศรีเทพเอง อย่าง ‘ธรรมจักร’ จากพุทธศาสนาแบบเถรวาท หรือ ‘สถูปเขาคลังนอก’ ที่สะท้อนการนับถือพุทธศาสนาแบบมหายาน
นอกจากนี้ยังมี เทวรูป ‘พระกฤษณะ’ อวตารของพระวิษณุ จากความเชื่อของลัทธิไวษณพในศาสนาฮินดู หรือ ‘ศิวลึงค์’ จากลัทธิไศวะที่นับถือพระศิวะ และพิเศษที่สุดคือ เทวรูป ‘พระสูรยะ’ หรือพระอาทิตย์ เทพของลัทธิเสาระ
6. เขาถมอรัตน์ จากเขาศักดิ์สิทธิ์ สู่พุทธสถาน
เขาถมอรัตน์ เป็นภูเขาลูกโดด ตั้งอยู่อีกฝั่งของแม่น้ำป่าสัก ห่างจากตัวเมืองศรีเทพประมาณ 20 กิโลเมตร เคยถือเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนศรีเทพในยุคเริ่มแรกมาก่อน จนภายหลังที่เมืองศรีเทพรับคติการนับถือศาสนาจากอินเดีย เขาถมอรัตน์ก็ถูกแปลงเป็นศาสนสถาน และยังคงสถานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำเมือง สังเกตได้จากศาสนสถานต่าง ๆ ในเมืองศรีเทพ ล้วนหันหน้าเข้าหาภูเขานี้ทั้งหมด
ด้านบนของเขาถมอรัตน์ เป็นที่ตั้งของถ้ำ มีภาพสลักนูนต่ำบนผนัง เช่น พระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ ธรรมจักร และสถูป อายุราว 1,200 ปี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการดัดแปลงภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ให้กลายเป็นศาสนสถานในศาสนาพุทธ
ปัจจุบันถ้ำเปิดให้เข้าชมได้แล้ว แต่ถ้าใครจะไปต้องเผื่อเวลาหน่อย เพราะทางเดินขึ้นมีระยะกว่า 1.5 กิโลเมตร
7. สถูปเขาคลังนอก
อีกหนึ่งโบราณสถานที่เรียกได้ว่าเป็นภาพจำของศรีเทพ คือ สถูปเขาคลังนอก เป็นสถูปก่อด้วยศิลาแลงขนาดใหญ่ ผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างยาว 64 เมตร และสูงถึง 20 เมตร ถือเป็นสถูปในวัฒนธรรมทวารวดีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดดเด่นด้วยฐานสองชั้น บันไดทางขึ้นที่ลาดเทลงมาทั้งสี่ด้าน การออกแบบฐานที่มีการย่อเก็จ และประดับด้วยอาคารจำลอง ลักษณะเป็นซุ้มเล็ก ๆ ลดหลั่นกันรอบองค์สถูป
ความโดดเด่นอีกอย่าง อยู่ที่คอนเซปต์การออกแบบ นั่นก็คือ ‘ผังแบบมณฑล’ ซึ่งเป็นคติการจำลองสวรรค์ของพุทธศาสนามหายาน คือเป็นลักษณะแผ่ออกไปทั้ง 4 ทิศ เพื่อสร้างบริเวณอันศักดิ์สิทธิ์ของศาสนสถาน หลายคนอาจจะคุ้นตากับ ‘สถูปบุโรพุทโธ’ ในเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย ที่ออกแบบด้วยแนวคิดเดียวกัน
8. พระสูรยะ เอกลักษณ์เมืองศรีเทพ
หนึ่งในประเด็นที่โดดเด่นของศรีเทพ คือ ‘พระสูรยะ’ หรือเทพแห่งดวงอาทิตย์ ในศาสนาฮินดู และถือเป็นเทพหลักของลัทธิเสาระ ที่ได้รับความนิยมนับถือในเมืองศรีเทพ เห็นได้จากการพบเทวรูปพระสูรยะถึง 4 องค์ ซึ่งถือว่ามากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลักษณะของพระสูรยะ สังเกตได้จากการสวมหมวกทรงกระบอก สวมเสื้อชายยาวคลุมถึงขา อาจมีเครื่องประดับหรือไว้หนวดเครา ต่างจากเทพองค์อื่นในศาสนาฮินดู
9. พระกฤษณะ ที่มาของชื่อทวารวดี ?
นอกจากเทวรูปพระสูรยะ ยังพบเทวรูป ‘พระกฤษณะ’ ซึ่งถือเป็นอวตารปางที่ 8 ของพระวิษณุ จากมหากาพย์มหาภารตะ โดยพบถึง 2 องค์ ร่วมกับเทวรูปพระวิษณุ อีก 2 องค์ โดยเทวรูปพระกฤษณะอยู่ในท่า ‘ยกเขาโควรรธนะ’ คือยืนเอียงลำตัว แขนด้านหนึ่งยกขึ้นเป็นเอกลักษณ์
พระกฤษณะนี้เอง ที่ตามตำนานครองเมืองชื่อ ‘ทวารกา’ อันเป็นที่มาของชื่อ ‘ทวารวดี’ อีกด้วย การพบเทวรูปพระกฤษณะในศรีเทพ อาจเป็นเครื่องยืนยันถึงความเป็นศูนย์กลางของเมืองศรีเทพในวัฒนธรรมทวารวดีก็เป็นได้
10. แผ่นทองคำที่รอวันกลับคืนมาตุภูมิ
ศรีเทพยังมีหลักฐานการค้นพบ ‘ทองคำ’ ในลักษณะแผ่นทองคำดุนลวดลายเป็นภาพต่าง ๆ เช่น ภาพพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ หรือเทพในศาสนาฮินดูอย่าง พระวิษณุ พระโสมะ (เทพแห่งดวงจันทร์) แผ่นทองคำเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความมั่งคั่งของศรีเทพในดินแดน ‘สุวรรณภูมิ’ ในการเป็นศูนย์การทางการค้าขายแลกเปลี่ยน และวัฒนธรรม
แต่น่าเสียดายมากที่แผ่นทองคำเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย เพราะหลายชิ้นถูกจัดแสดงอยู่ในหอศิลป์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงพระพุทธรูป และเทวรูปพระสูรยะด้วย
เขียน: ปฐมฤกษ์ วงศ์แสงขำ (Pradhom)
Source: UNESCO, กรมศิลปากร