220Views
เรื่องราวของตัวต่อ LEGO (เลโก้) ของเล่นชิ้นเล็กที่สร้างจินตนาการยิ่งใหญ่
เชื่อว่าหลายคนไม่น้อยโตมากับเจ้าตัวต่อพลาสติกสี่เหลี่ยมมีตุ่มชิ้นน้อยๆ นี้ และจะต้องเคยเหยียบโดนจนเจ็บตัวกันบ้าง เจ้าตัวต่อนี้ก็คือ “LEGO” นั่นเอง ของเล่นยอดนิยมสำหรับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่อยู่มาอย่างยาวนาน
LEGO เป็นของเล่นที่เสริมสร้างจินตนาการ มีการคอลแลบกับแบรนด์ดังมากมาย และยังต่อยอดกลายเป็นสวนสนุกอย่าง LEGOLAND อีกด้วย และในวันนี้เราจะมาพูดถึงจุดเริ่มต้นกับเกร็ดเล็กน้อยที่ไม่เล็กของมันกัน
เริ่มจากการสร้างของเล่นไม้ให้ลูก
LEGO เคยเป็นเพียงโรงงานไม้เล็กๆ แห่งหนึ่งในเมือง Bilund ประเทศเดนมาร์ก โดยมีคุณ Ole Kirk Christiansen เป็นผู้ก่อตั้ง แต่ด้วยพิษเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี 1932 ทำให้กิจการต้องปิดตัวลง
หลังจากการเสียชีวิตของภรรยาทำให้คุณ Ole ต้องดูแลลูกชายทั้ง 4 คนตามลำพัง เขาจึงได้เริ่มทำของเล่นไม้จากโรงงานของตัวเองให้ลูกทุกคนเล่น และนั่นก็ได้จุดประกายการเริ่มต้นทำธุรกิจของเล่นของเขา จนได้กลับมาตั้งบริษัทใหม่โดยมีชื่อว่า LEGO ซึ่งมาจากการรวบคำว่า “Leg” และ “Godt” ในภาษาเดนมาร์ก ที่แปลว่า “เล่น” และ “ดี” นั่นเอง
จาก “ไม้” สู่ “พลาสติก”
ของเล่น LEGO ยุคแรก ก็คือ โยโย่ รถบรรทุก และ เป็ดล้อเลื่อน โดยทั้งหมดทำมาจากไม้ตามความเชี่ยวชาญเดิมของคุณ Ole ถึงแม้กิจการจะไปได้สวย แต่เขาก็ยังตามหาความเป็นไปได้ใหม่ๆในการผลิตของเล่น และแล้วเขาก็ได้พบกับเทคโนโลยีการฉีดพลาสติกในปี 1946 และได้ผลิตรถของเล่นขึ้นในไม่กี่ปีต่อมา ซึ่งนับเป็นของเล่นพลาสติกชิ้นแรกของ LEGO
รู้หรือไม่ว่า ตัวต่อ LEGO ไม่ได้เป็นของ LEGO ตั้งแต่แรก !?
จริงๆ แล้วตัวต่อพลาสติกที่เราคุ้นเคยกันถูกคิดค้นโดยคุณ Hilary page จากบริษัท Kiddicraft ในประเทศอังกฤษ โดยใช้ชื่อว่า “Self-Locking brick” ซึ่งคุณ Ole ได้เป็นตัวอย่างจากเซลล์ที่ขายเครื่องฉีดพลาสติกในตอนนั้นแล้วถูกใจอย่างมาก จนได้นำมาพัฒนาต่อเป็นของตัวเอง จากนั้นจึงเรียกว่า “Automatic Binding brick” และวางขายในปี 1949
ตุ่ม และ ท่อ (Stud and Tube)
ตัวต่อของ LEGO และ Kiddicraft ในช่วงแรกยังเป็นเพียงตัวต่อที่แค่วางซ้อนกันได้ แต่ไม่สามารถประกอบกันได้แน่นพอให้เด็กๆ ยกไปเล่นที่อื่น หรือโชว์ผลงานกับครอบครัวได้ คุณ Ole และ คุณ Godtfred Kirk จึงได้นำจุดนี้มาพัฒนาต่อจนประสบความสำเร็จในปี 1958 โดยใช้ชื่อเทคนิคนี้ว่า “Stud and Tube”
เทคนิค Stud and Tube คือการเพิ่มท่อภายในตัวต่อแต่ละชิ้นเพื่อเพิ่มมุมบีบเวลาต่อกับตุ่มด้านบน ซึ่งความลับอยู่ที่ตุ่มด้านบนจะมีขนาดใหญ่กว่าช่องที่จะสวมเล็กน้อย รวมถึงอาศัยคุณสมบัติความยืดหยุ่นของพลาสติกเพื่อให้สามารถสร้างแรงบีบที่แน่นแต่ก็ยังคงถอดออกจากกันได้ง่าย
LEGO ได้จดสิทธิบัตรเทคนิคนี้ทันที และภายหลังก็ได้ซื้อลิขสิทธิ์ตัวต่อของ Kiddicraft เพื่อความปลอดภัยทางกฎหมายในอนาคต
กำเนิด LEGO System จากอดีตถึงอนาคต
คุณ Godtfred รับหน้าที่ดูแลกิจการต่อหลังจากคุณ Ole เสียชีวิต และเขาได้คิดคอนเซป LEGO System ขึ้นในปี1955 ซึ่งจะเป็นระบบที่พลิกอนาคตของตัวต่อ LEGO ไปตลอดกาล โดยมีหลักการว่า “LEGO ทุกชิ้นทุกแบบต้องต่อกันได้พอดี ไม่ว่าชิ้นส่วนนั้นจะซื้อมานานแค่ไหนก็ต้องประกอบกับชิ้นส่วนในอนาคตได้ เพื่อรักษาคุณค่าของ LEGO แต่ละชิ้นให้คงอยู่ตลอดไป”
หลังจากนั้น 5 ปี LEGO System ก็ถูกพัฒนาต่อจนกลายเป็นชุดตัวต่อ LEGO Town โดยแต่ละชุดตัวต่อสามารถมาประกอบรวมกันกลายเป็นเมืองได้แล้วได้ขยายความต่อไปอีกจนเกิดเป็นสวนสนุก LEGOLAND ในหลายปีต่อมา
Dagny Holm ผู้หญิงเบื้องหลังงานสร้างสรรค์ LEGOLAND
Dagny Holm คือหลานสาวของคุณ Ole นั่นเอง โดยในปี 1963 เธอได้รับหน้าที่ดูแลการออกแบบสำหรับ LEGOLAND Park ที่ Billund ความสามารถของเธอไม่ธรรมดา เพราะเธอ “คิด” เป็นตัวต่อ LEGO แม้แต่ในชีวิตประจำวัน เธอก็เคยเล่าว่าระหว่างนั่งรถไฟ เธอจินตนาการถึงสิ่งต่างๆ ว่า “ต้องใช้ตัวต่อกี่ชิ้นถึงจะสร้างจมูกนี้ได้” หรือ “ต้องใช้กี่ชิ้นถึงจะสร้างใบหน้านั้นได้”
และที่ LEGOLAND เธอก็ได้สร้างโมเดลจำลอง ก่อนโมเดลจะถูกขยายขนาดกลายเป็น เมือง ปราสาท สัตว์ และตัวละครต่างๆ และในปี 1967 เธอก็ได้ออกแบบรถไฟ LEGO ให้สวน Tivoli ที่โคเปนเฮเกนอีกด้วย ซึ่งต่อมาได้แสดงใน Macy’s Thanksgiving Day Parade ที่นิวยอร์ก และกลายเป็นส่วนหนึ่งของ LEGOLAND ที่ยังคงดึงดูดนักท่องเที่ยวจนถึงทุกวันนี้
ความสำเร็จของ LEGO จนปัจจุบัน
ด้วยชื่อเสียงที่ดีและพื้นฐานสินค้าที่แข็งแกร่ง ทำให้ LEGO สามารถต่อยอดทางการตลาดได้ง่ายและกว้างขวาง เช่น การทำของเล่นให้กับภาพยนตร์หรือซีรีย์ดังต่างๆ หรือการสร้าง LEGOLAND ที่เป็นทั้งสถานที่สร้างความสุขให้กับผู้คนแล้วยังสามารถใช้เป็นพื้นที่พรีเซนต์และขายสินค้าได้ด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้ LEGO ยิ่งประสบความสำเร็จไปทั่วโลกจนในทุกวันนี้ และได้กลายเป็นทั้งเกมส์และภาพยนตร์เองด้วยหลายต่อหลายเรื่อง
ในปีนี้ LEGO มีอายุเลย 90 ปีแล้ว และยังเป็นบริษัทของเล่นที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีเจ้าของคือทายาทรุ่นที่ 3 คุณ Kjeld Kirk ลูกชายของคุณ Godtfred Kirk นั่นเอง ด้วยวิสัยทัศน์และความใส่ใจในคุณภาพของผลงานที่สืบทอดต่อกันมาทำให้ LEGO ยังคงครองตำแหน่งของเล่นแห่งศตวรรษต่อไป เป็นของเล่นคู่จินตนาการของผู้คนทั่วโลกมาจนถึงปัจจุบัน
เขียนและเรียบเรียงโดย
รวีศิลป์ อัศวกิตติประภา , เบญญดา ถาวรเศรษฐ