272Views
คุยกับ Yuri Suzuki ผู้สร้างประติมากรรมเสียง กับผลงาน Metropolitan Symphony ที่ One Bangkok
หากพูดถึงงานศิลปะ “ประติมากรรม” หลายคนคงจะนึกถึงรูปปั้นหรืองานศิลปะที่ตั้งอยู่กลางพื้นที่ใหญ่ๆ ให้ผู้คนเดินชมความงามได้รอบๆ แต่จะเป็นยังไงนะ ถ้าประติมากรรมจะถูกออกแบบมาให้ผู้ชมมีส่วนร่วมได้มากกว่านั้น?
Art of จึงขอพาไปพบกับประติมากรรมเกี่ยวกับ “เสียง” ที่ไม่ได้มีแค่ความสวยงามเท่านั้น แต่ยังสามารถเป็นสื่อให้ผู้คนมีส่วนร่วมกับผลงานด้อีกด้วย ผลงานนี้มีชื่อว่า “Metropolitan Symphony (大都会交響楽)” ออกแบบโดยคุณ “ Yuri Susuki (ยูริ ซูซูกิ) ” นักออกแบบและศิลปินระดับโลกชาวญี่ปุ่น โดยผลงานตั้งอยู่ที่ด้านหน้าอาคาร The Wireless House ในโครงการ One Bangkok บนถนนวิทยุ กรุงเทพฯ นี้เอง
ผลงาน “Metropolitan Symphony” ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเครื่องเป่าต่างๆ ในวงดนตรีออร์เคสตรา โดยถูกออกแบบมาให้เป็น “Interactive sound sculpture” ที่ผู้คนสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผลงานได้ โดยการส่งเสียงหรือฟังเสียงผ่านท่อเครื่องเป่าขนาดยักษ์ ซึ่ง ผลงาน Metropolitan Symphony นั้นไม่ได้มีเพียงชิ้นเดียว แต่มีถึง 2 ชิ้น ที่ตั้งอยู่บนตำแหน่งที่ต่างกันในโครงการ One Bangkok
โดยชิ้นหนึ่งตั้งอยู่ที่ด้านหน้าโครงการ The Wireless House (โครงการอนุรักษ์อาคารสถานีวิทยุโทรเลข) ส่วนอีกชิ้นหนึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ที่ล๊อบบี้อาคาร Tower 3 เป็นการชั่วคราว และจะถูกย้ายไปที่อาคาร Post 1928 ในอนาคต ซึ่งเป็นตำแหน่งดั้งเดิมของ “อาคารสถานีวิทยุโทรเลขแห่งแรกของประเทศไทย” นั่นเอง
ความพิเศษสุดก็คือ ผลงานทั้งสองชิ้นสามารถส่งเสียงหากันได้ด้วยเหมือนกับวิธีการ “โทรเลข (Telegraph)” ในสมัยก่อน ผลงานนี้จึงเป็นเหมือนหัวใจที่เชื่อมโยงสถานที่ในประวัติศาสตร์ดั้งเดิมในอดีต เข้ากับโครงการอนุรักษ์แห่งใหม่เข้าด้วยกัน และยังสะท้อนเสียงของเมืองกรุงเทพมหานครที่อยู่ในบรรยากาศรอบๆ โครงการอีกด้วย
ทีม Art of มีโอกาสไปเยี่ยมชมผลงานนี้ และได้พูดคุยกับคุณ Yuri Susuki อีกด้วย ถึงเรื่องราวแรงบันดาลใจ และการเดินทางในการสร้างผลงานเกี่ยวกับเสียง ตั้งแต่อดีตจนมาถึงผลงานล่าสุดนี้ ที่บอกได้เลยว่าน่าตื่นเต้นและไม่ธรรมดาเลยจริงๆ
Yuri Susuki (ยูริ ซูซูกิ) นักออกแบบ ศิลปิน และนักดนตรี
Yuri Susuki (ยูริ ซูซูกิ) เป็นนักออกแบบ และศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานเกี่ยวกับเรื่องเสียงโดยเฉพาะ เขาสนใจและทดลองอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอว่า “เสียง” ส่งผลอย่างไรกับผู้คน โดยเฉพาะด้านความคิดและจิตใจ Yuri Susuki เรียนจบสาขาการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product Design) ที่ญี่ปุ่น รวมถึงที่ Royal College of Art ในลอนดอน
เขาเคยได้ทำงานหลากหลายแขนง ซึ่งล้วนมีความเกี่ยวข้องกับเสียงและเทคโนโลยี ทั้งนั้น เช่น งานออกแบบเครื่องดนตรี และประสบการณ์เกี่ยวกับดนตรีให้กับองค์กรมากมายเช่น Yamaha, Google, Panasonic และ Disney ในภายหลังเขาก็เริ่มออกแบบผลงานศิลปะเกี่ยวกับเรื่องเสียงที่จัดแสดงตามสถานที่ต่างๆ อีกทั้งยังสร้างสรรค์ผลงานดนตรีของตัวเองในฐานะศิลปินอีกด้วย
ในช่วงตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา เขาได้เริ่มสร้างงาน Public Art หรือ งานศิลปะในที่สาธารณะ ที่มีเสียงเป็นองค์ประกอบสำคัญ ซึ่งนำมาถึงผลงาน Metropolitan Symphony ที่ One Bangkok นี้ด้วย
ต่อไปเป็นบทสัมภาษณ์พูดคุยกับคุณ Yuri Susuki ที่เชื่อว่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้หลายคน โดยเฉพาะใครที่สนใจผลงานแบบสื่อผสม (Mixed media)
ในฐานะที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องเสียงโดยเฉพาะ ถ้าจินตนาการว่าตัวคุณเองเป็นเสียง คุณจะเป็นเสียงแบบไหน
“ผมคิดว่าผมน่าจะเป็นเหมือนเสียงที่มีความประดิษฐ์ (Artificial sound) และมีความเป็นอิเล็กทรอนิกส์หน่อย เพราะผมโตมาในเมืองโตเกียว ซึ่งเป็นเมืองที่เทคโนโลยีเจริญก้าวหน้ามาก อาจไม่ค่อยมีพื้นที่สีเขียวเยอะเท่าไหร่ ส่วนตัวผมเองก็เป็นศิลปินสร้างผลงานดนตรีด้วยครับ ดนตรีก็จะเป็นลักษณะนั้นเหมือนกัน”
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราได้เห็นผลงานที่เป็นรูปร่าง Horn (เครื่องเป่า) ของคุณอยู่หลายงาน จากงานแรกจนถึงปัจจุบัน มีความเปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้าง
Sonic playground (2018) by Yuri Suzuki at the High Museum of Art Atlanta
“ผมทำงาน Sound sculpture (ประติมากรรมเกี่ยวกับเสียง) มาประมาณ 5-6 ปีแล้ว งานลักษณะนี้เริ่มต้นมาจากงานแรกคือ “Sonic playground (2018)” ที่ the High Museum of Art Atlanta ตอนนั้นผมไม่เคยทำงาน Public Art (งานศิลปะสาธารณะ) มาก่อนเลย งานนั้นจึงถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ได้มาทำงานด้านนี้มากขึ้น”
Sonic Boom (2021) by Yuri Suzuki in London
“ผมสนใจเรื่อง ‘เสียง’ มาตลอดอยู่แล้ว ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่สื่อสารกับคนได้โดยตรงเลย ต่อมาก็มีงาน ‘Sonic Boom (2021)’ ซึ่งทั้งสองงานเป็นงานที่เน้นเรื่องเสียงเป็นหลัก พอมาถึงปัจจุบัน ผมมีความสนใจเรื่องเสียงของ Ambience (บรรยากาศ) รอบตัวมากขึ้น มากกว่าการตั้งใจสร้างเสียงขึ้นมา ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนในผลงานดนตรีของผมด้วยเหมือนกัน”
ผลงาน Metropolitan Symphony ที่ One Bangkok มีความพิเศษยังไงบ้าง
“สำหรับสถานที่อย่าง One Bangkok ที่เป็นพื้นที่ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาใหม่ ผมมองว่างานนี้เป็นงานที่ผมมองไปถึงอนาคตไกลๆ เลย ผมตั้งใจให้มันเป็นผลงานที่ยั่งยืน และตั้งอยู่ตรงนี้ไปได้อีกนาน อย่างน้อยก็มากกว่า 30 ปีข้างหน้าแน่ๆ งานชิ้นนี้ไม่ได้เป็นแค่ Public Art แต่ยังสะท้อนเสียงบรรยากาศที่อยู่รอบๆ โครงการด้วย ผู้คนสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผลงานนี้ ทั้งด้วยการส่งเสียง ฟังเสียง หรือนั่งพักผ่อนบนนี้ก็ยังได้ เป็นเหมือนการสร้างคอมมูนิตี้เล็กๆ ในพื้นที่ขึ้นมา”
“ผลงานยังมีความเชื่อมโยงกับ ‘The Wireless House’ โครงการอนุรักษ์อาคารสถานีวิทยุโทรเลข ที่ผลงานนี้ตั้งอยู่ข้างหน้าด้วย สะท้อนถึงความสำคัญของนวัตกรรมการสื่อสารในอดีต โดยผลงานนี้แบ่งออกเป็นสองชิ้น สองตำแหน่งในโครงการ และสามารถส่งเสียงหากันได้ เหมือนกับ ‘โทรเลข’ ในสมัยก่อนด้วย”
สังเกตว่า ผลงานนี้มีสีสันที่เรียบง่ายมากขึ้น ไม่จัดจ้านเหมือนกับผลงานก่อนๆ
Sonic Boom (2021) by Yuri Suzuki in London
“ใช่ครับ เพราะในแต่ละผลงาน ผมจะคำนึงถึงบริบทที่ตั้งด้วย อย่างเช่น สำหรับผลงาน Sonic Boom ที่ตั้งอยู่ในเมืองลอนดอน ผมมองว่าเมืองลอนดอนจะดูมีบรรยากาศของอากาศที่ดูเทาๆ ครึ้มๆ ไม่สดใสมาก งานนั้นจึงไปช่วยเพิ่มสีสันในพื้นที่ อีกปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงคือเรื่องความทนทาน Sonic Boom นั้นเป็นงานติดตั้งชั่วคราว อยู่แค่หนึ่งปี ในความเป็นจริงสีสันก็มีการจางหายไปบ้างด้วย”
Metropolitan Symphony II (2025) by Yuri Suzuki at One Bangkok
Metropolitan Symphony I (2025) by Yuri Suzuki at One Bangkok
“แต่สำหรับผลงานนี้ที่ One Bangkok อย่างที่บอกไปว่า ผมอยากให้ผลงานมีความทนทานและอยู่ไปได้อีกนาน จึงเลือกใช้เป็นวัสดุแสตนเลส และด้วยความที่กรุงเทพฯ ดูเป็นเมืองที่มีสีสันและมีชีวิตชีวาตลอดเวลา บริเวณนี้ก็มีต้นไม้และพื้นที่สีเขียว ผมจึงเลือกใช้สีที่เรียบง่ายลงมาด้วย เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศรอบๆ”
จากในแอคเคาท์ Instagram ของคุณ เห็นว่ามีความสนใจเรื่อง AI ด้วย
“สำหรับผม AI เป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก และช่วยต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ออกไปได้อีก ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเรื่องรูปทรง องค์ประกอบ หรือเป็นแรงบันดาลใจ ผมรู้ว่ามันฟังดูออกจะขัดแย้งและน่ากลัวหน่อยๆ แต่ผมว่ามันก็น่าตื่นเต้นมากๆ เหมือนกัน เราแค่ต้องพยายามหาทางอยู่กับมันให้ได้ ตอนนี้ผมก็ใช้ AI บ้างในเรื่องดนตรีของผมเหมือนกัน”
ในอนาคต มีอะไรที่อยากทดลองทำอีกบ้างไหม
“ผมสนใจเรื่อง ‘ประสบการณ์’ มากขึ้นเรื่อยๆ ประสบการณ์ที่มากกว่าการมองเฉยๆ บางทีอาจจะเป็นโปรเจกต์ที่ Public Art เข้าไปมีส่วนร่วมกับโครงการที่ใหญ่ขึ้น อย่าง Theme Park หรือ Expo ต่างๆ ซึ่งผมมองว่าเป็นงานเหล่านี้มีผลต่อเมืองมากๆ ในระยะยาว ตัวอย่างเช่น ในเมือง ‘ปารีส’ ที่หลายๆ อย่างถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับงาน Expo (The Exposition Universelle,1899 ) ในอดีต”
มีอะไรอย่างฝากถึงนักสร้างสรรค์ที่อยากทำงานแบบสื่อผสม (Mixed media) บ้าง
“บอกตรงๆ ว่า เส้นทางของผมที่ผ่านมาก็ไม่ได้ชัดเจนเป็นเส้นตรงหรือปกติเท่าไหร่ เพราะผมเริ่มจากการทำดนตรี แต่ผมลองทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ ถ้ามีโอกาสอะไรใหม่ๆ เข้ามา ผมก็ไม่ลังเลเลย จากศิลปินนักดนตรี กลายเป็นนักออกแบบ และตอนนี้ผมก็กลายเป็นศิลปินอีก ถ้าให้แนะนำสั้นๆ ก็คือ ลองทำทุกๆ อย่าง, Try Everything”
บทความและภาพโดย เบญญดา ถาวรเศรษฐ