Skip to content Skip to sidebar Skip to footer

Sceneries at Libong: กลมกลืน หรือ ปลอมปน?

ปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็ยังเป็นปัญหาที่ไม่หมดไป บางครั้งปัญหาเหล่านี้เราเห็นกันบ่อยครั้งจนชินชา และยอมให้มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตโดยไม่รู้ตัวหรือเปล่านะ? และในหลายครั้ง งานศิลปะได้เป็นสื่อหนึ่งในการช่วยเล่าเรื่องให้เข้าถึงใจคน และตระหนักถึงปัญหามากขึ้น

โดยผลงานคอลัมน์ Art of Showcase คอลัมน์ที่รวมเรื่องเล่าจากผลงานศิลปะและงานออกแบบจากนักศึกษา ในวันนี้ มาจากคุณชลากร บุญอิต หรือ ปลายฟ้า นิสิตที่พึ่งสำเร็จการศึกษาจากภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เธอมาพร้อมกับผลงาน “Sceneries at Libong: กลมกลืน หรือ ปลอมปน?” ชิ้นงานแขวนผนังที่ผสมผสานเทคนิคการปักกับวัสดุเก็บตก (Found Material) จากชายทะเลเกาะลิบง โดย Art of จะพาไปพูดคุยกับคุณปลายฟ้า ถึงเบื้องหลังของผลงานชิ้นนี้กัน

Sceneries at Libong เป็นผลงานปักที่แสดงภาพของระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งเกาะลิบง เช่น ระบบนิเวศหญ้าทะเล แนวปะการัง หาดทราย หาดหิน และป่าชายเลน เพื่อนำเสนอความหลากหลายทางชีวภาพผ่านวัสดุเก็บตกจากธรรมชาติ และกระตุ้นให้เกิดการตระหนักรู้ถึงปัญหาขยะทะเลที่ปลอมปนอยู่

ด้วยเทคนิคการปักลอกเลียนรูปแบบธรรมชาติ และปักขยะไปอย่างแนบเนียนตามจุดต่างๆ ของระบบนิเวศ  ผลงานนี้มีสีสัน และองค์ประกอบที่สวยงาม จนหากไม่ตั้งใจดูดีๆ ก็อาจมองข้ามขยะเหล่านี้ไปได้อย่างง่ายดาย เหมือนที่บ่อยครั้งเรามองข้ามปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมไป

ทำไมถึงเลือกเล่าเรื่องเกี่ยวกับขยะทะเล

เลือกหัวข้อนี้เพราะมีความสัมพันธ์กับชายหาดและทะเลตั้งแต่เด็ก เพราะที่บ้านชอบไปเที่ยวทะเล และกิจกรรมหลักเวลาไปชายหาดคือไปเดินดูว่ามีอะไรที่ถูกพัดมาตามหาดบ้าง แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปทำให้เห็นสภาพของชายหาดที่แย่ลงเรื่อยๆ ด้วยขยะทะเล (Marine Debris) เป็นหนึ่งปัญหาสำคัญที่ทำลายระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง แต่ปัญหานี้ดูใหญ่เกินที่จะแก้สำหรับหลายๆ คน ทำให้เกิดความชินชาไปกับภาพของขยะที่กลมกลืนไปกับชายทะเล แต่แท้จริงแล้วมันคือการ “ปลอมปน” ภัยอันตรายที่แฝงตัวไปกับความสวยงามของชายทะเล

ทำไมต้องเป็นที่เกาะลิบง

เกาะลิบงมีความน่าสนใจในด้านระบบนิเวศที่หลากหลาย ด้วยเหตุผลด้านภูมิประเทศและที่ตั้ง ทำให้มีบางส่วนของเกาะเป็นชายเลน ชายหาดประเภทต่างๆ และมีแนวปะการังใกล้บริเวณเกาะ นอกจากนี้ยังเป็นเกาะที่มีแหล่งหญ้าทะเลใหญ่ที่สุดในประเทศไทยด้วย ระบบวิเวศที่หลากหลายยังทำให้พบของแปลกปลอมที่หลากหลายไปด้วย

ทำไมถึงเลือกเทคนิคการปัก

เป็นคนที่ชอบงานฝีมืออยู่แล้ว และเห็นประโยชน์ของเทคนิคการปักที่สามารถปรับใช้ได้กับวัสดุหลายรูปแบบ จากการที่ยึดหรือตรึงวัสดุสิ่งของได้เป็นอย่างดี รวมถึงยังสามารถทำให้เกิดเป็นมิติความลึกและพื้นผิวที่แตกต่างกันไปบนชิ้นงานด้วยเทคนิคที่หลากหลาย จึงเลือกใช้การปักเป็นเทคนิคในการนำเสนองาน

ช่วยเล่าถึงเบื้องหลัง ความสนุก ความประทับใจและความท้าทายของโปรเจ็คนี้

ความสนุกของโปรเจ็คนี้คือ ได้ไปเที่ยวค่ะ โดยเฉพาะเกาะลิบงที่ไปอยู่ร่วม 10 วัน ทุกวันคือต้องตื่นเช้าไปเก็บของตามชายหาดสองสามชั่วโมง ซึ่งสนุกมากๆ เลยค่ะ เพราะเจอของหลายแบบมาก นอกจากนั้นยังได้ทำความรู้จักกับคนในชุมชน เห็นมุมมองต่างๆ ของเขา และที่สำคัญเลย คือมุมมองของตัวเราเองที่มีกับขยะได้เปลี่ยนไป จากวันแรกๆ ที่สังเกตเห็นขยะได้อย่างรวดเร็ว แต่วันหลังๆ ที่อยู่กับหาดไปนานๆ เริ่มเดินผ่านบ้างหรือไม่สังเกตจากความชินชาของตัวเราเอง ซึ่งถือเป็นจุดสำคัญที่นำมาใช้เป็น concept ของงานนี้เลยค่ะ

สนุกที่สองคืองานนี้ทำงานกับของหลากหลายแบบที่มีรูปทรงหรือจุดเด่นที่ต่างกันไปค่ะ ทำให้ต้องคิดหาเทคนิคใหม่มาปรับใช้กับของชิ้นนั้น ส่วนความท้าทายจริงๆ จะอยู่ในส่วนของการขมวดสิ่งที่ต้องการจะสื่อและนำเสนอออกแบบออกมาให้คนที่เห็นชิ้นงานแล้วเข้าใจได้ง่ายและชัดเจนค่ะ

หากมีเวลาทำโปรเจ็คมากกว่านี้ อยากพัฒนาอะไร หรือทำอะไรเพิ่มเติม

หากมีเวลามากกว่านี้คงอยากจะเพิ่มรายละเอียดหรือบางจุดของงานให้เต็มขึ้นค่ะ หรือว่าแก้องค์ประกอบบางส่วนที่ยังรู้สึกขัดใจอยู่ รวมถึงอยากจะฝึกหรือใช้เทคนิคปักที่หลากหลายมากขึ้นในชิ้นงานค่ะ หรือบางทีอาจจะรวมชิ้นงานทั้งห้าเป็นผืนเดียวกันค่ะถ้าเป็นไปได้

ในอนาคต มีแผนจะนำผลงานไปพัฒนาต่อไหม

ก็มีแผนพัฒนาต่อค่ะ อาจจะเป็นการลองไปเก็บของจากที่อื่นๆ บ้าง ซึ่งก็อาจจะทำให้เห็นถึงความหลากหลายมากขึ้น เพราะแต่ละที่ของที่ได้มาก็จะแตกต่างกันไปค่ะ และอยากทำให้งานเข้าถึงคนทั่วไปมากขึ้นด้วยการปรับขนาดงานให้เล็กลงค่ะ เหมือนเป็นสิ่งเตือนใจเล็กๆ สำหรับใครหลายๆ คนที่มีงานของเราให้อย่าลืมนึกถึงทะเลค่ะ ส่วนแผนใหญ่สุดตอนนี้ก็อาจจะเป็นด้านการนำความรู้ด้านการผสมผสานงานปักกลับคืนสู่ชุมชนค่ะ อาจะด้วยการแบ่งปันสิ่งที่เราได้มาเพื่อให้เขานำไปต่อยอดต่อไปค่ะ

มีอะไรอยากฝากถึงคนอ่าน

เวลาที่ทุกคนไปชายหาดก็อยากให้มองภาพนั้นดีๆ และลองตั้งคำถามกับตัวเองว่า ภาพจำของขยะตามชายทะเลที่เห็นทุกครั้งเวลาเราไปนั้น เป็นความกลมกลืนที่ควรชินชาหรือเปล่า?


ภาพและเนื้อหา ได้รับการอนุญาตจากเจ้าของผลงาน

© 2021 Art of. All rights reserved.

  083-138-5607
contact@artofth.com

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save