751Views

ชีวิตจริงของผู้หญิงทำไฟ คุยกับเวทมน – คีตารัตน์ แร่ทอง เบื้องหลังอาชีพงานออกแบบและควบคุมไฟคอนเสิร์ต
หากใครที่ชื่นชอบการไปดูการแสดงดนตรีหรือคอนเสิร์ตแบบสดๆ ก็คงจะทราบกันดีว่า แต่ละโชว์ก็เหมือนกับผลงานศิลปะที่สร้างอารมณ์ความรู้สึกให้กับผู้ชม ทุกองค์ประกอบตั้งแต่ ดนตรี เสียงร้อง ฉาก และไฟ ต่างถูกออกแบบมาอย่างดี เพื่อช่วยกันส่งเสริมให้เกิดผลงานที่ตราตรึงใจผู้ชมที่สุด
“งานไฟคอนเสิร์ตก็เป็นการถ่ายทอดสื่อสารอารมณ์ของเพลง
เป็นงานศิลปะอย่างหนึ่ง แต่ละสี แต่ละการเคลื่อนไหว เราตั้งใจคิดมาอย่างดีแล้ว”
หนึ่งในคำพูดของ ‘เวทมน’ ที่นิยามตัวเองว่าเป็น ‘ผู้หญิงทำไฟ’
วันนี้ Art of จะพาไปพบกับเรื่องราวเบื้องหลัง ‘งานไฟคอนเสิร์ต’ จาก ‘ชีวิตจริงของผู้หญิงทำไฟ’ ของคุณ เวทมน – คีตารัตน์ แร่ทอง ในวัย 29 ย่าง 30 ปี ผู้หญิงที่ทำงานควบคุมไฟและออกแบบไฟในคอนเสิร์ต รวมถึงหลายคนอาจเคยเห็นคลิปวีดีโอเบื้องหลังการทำงานของเธอในช่องทางต่างๆ ในช่วงปีที่ผ่านมา แต่เบื้องหลังของ ‘เบื้องหลังงานไฟ’ ที่ทุกคนเห็นนั้น ก็มีเรื่องราวมากกว่าที่คิด
หลังจากได้พูดคุยกับคุณเวทมน ก็บอกได้เลยว่าอาชีพ ‘คนทำไฟ’ ก็เหมือนเป็น ‘ศิลปิน’ ของศิลปะอีกแขนงหนึ่งที่มีส่วนสำคัญไม่แพ้ส่วนอื่นๆ เลย
ติดตามและไปชมเรื่องราวเบื้องหลังงานไฟกับคุณเวทมนได้ที่ Tiktok หรือ Instagram

ช่วยแนะนำตัวเองหน่อย
ชื่อเวทมนค่ะ ชื่อจริง คีตารัตน์ แร่ทอง ตอนนี้อายุ 29 ปี ใกล้จะ 30 ปีแล้ว ส่วนในช่องทางออนไลน์ จะแนะนำตัวเองว่าเป็น ‘ผู้หญิงทำไฟ’ เพราะมีผู้หญิงที่ทำงานในสายนี้น้อยมากๆ ค่ะ เลยอยากจะบอกทุกให้รู้ว่าเราเป็นผู้หญิงแต่เราก็ทำสิ่งนี้ได้นะ
เส้นทางสู่อาชีพ Lighting designer, Lighting operator
เวทมนจบจากหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาศิลปะการแสดง เอกละครเวทีค่ะ ตอนช่วงทำงานแรกๆ เคยทำอยู่บริษัททำอีเวนต์บ้าง หลังจากนั้นได้เริ่มมาทำไฟคอนเสิร์ตอย่างที่ทุกคนเห็นกันประมาณปีครึ่งแล้วค่ะ ซึ่งตั้งแต่ทำงานมา รู้สึกว่างานนี้เป็นงานที่ชอบที่สุด สนุกที่สุดเลย
ในสายงาน Lighting ได้เริ่มจากการเป็น Lighting operator ก่อน และเพิ่งได้มาจับงานออกแบบ เป็น Lighting designer ที่มีผลงานที่เราทำจริงๆ ช่วงครึ่งปีหลังมานี้เองค่ะ โดยเริ่มจากงานโชว์เล็กๆ ก่อนให้พอเห็นแนวทาง ซึ่งก็ได้ลองทำให้โชว์หลากหลายแนวดนตรีมาก สุดท้ายก็พบว่าชอบทำไฟให้ ‘T-POP’ ที่สุดเลยค่ะ

การตีความเพลงและการแสดง ออกมาเป็น Lighting
ในคอนเสิร์ตใหญ่จะมี Art director หรือ Production designer ให้โจทย์มาก่อนค่ะ ว่าโชว์นี้อยากได้ความรู้สึกประมาณไหน เช่น เพลงนี้ขอสนุกๆ เพลงนี้ขอแบดๆ ให้ทาง Lighting เอามาคิดต่อ
จากนั้นเราก็ต้องตีความต่อว่าแต่ละเพลงของศิลปินมีเอกลักษณ์ยังไงบ้าง ตีความดนตรีไปจนถึงความหมายของเพลง บางครั้งดนตรีอาจจะสนุก แต่ความหมายเศร้าก็มี ก็ต้องมาคิดต่อว่าเราจะผสมผสานหาสมดุลในเพลงนี้ได้ยังไง ดังนั้นจะเห็นเลยว่าเวลาไปคอนเสิร์ต คนดูถ่ายรูปออกมา แต่ละเพลงจะดูไม่ซ้ำกันเลย
อย่างเรื่องของ สีไฟ ถ้าสีถูกเอามาใช้แบบตรงๆ สีชมพูอาจจะสื่อถึงความรัก แต่ถ้าคอนเสิร์ตเพลงรักใช้สีชมพูทุกเพลง คนดูก็จะเลี่ยนแน่ๆ ในการทำไฟคอนเสิร์ต เราจึงจะมองโชว์เป็นเหมือนงานศิลปะ มากกว่า เช่น Lighting designer อาจจะตีความแล้วจับคู่สีชมพูกับเขียว ฟ้ากับเหลือง ก็ได้ ถึงแม้ในบางความหมาย สีเขียว อาจจะมีความหมายที่ไม่ดี แต่ในบางมุมอาจจะตีความเป็นอย่างอื่นก็ได้
ส่วนถ้าเป็นงานคอนเสิร์ตเฟสติวัล อันนี้จะค่อนข้างอิสระกว่า บางวงอาจจะมีทีมไฟของตัวเอง บางวงอาจจะใช้ทีมกลางของเฟสติวัลก็มี

เครื่องมือที่ใช้ในการออกแบบ
เราจะได้ Light plot หรือ ผังไฟเวทีมาก่อน ซึ่งจะทำให้เห็นตำแหน่งไฟ ชนิด และจำนวนไฟต่างๆ ให้ทุกฝ่ายรับรู้ตรงกัน จากนั้นเราก็จำลองไฟทั้งหมดในโปรแกรมเป็น 3D ให้ลูกค้าเห็นภาพ ซึ่งภาพนี้จะใกล้เคียงกับความเป็นจริงมาก อย่างน้อยๆ ก็ 80 เปอร์เซ็นต์ สุดท้ายอาจจะมีการมีปรับเปลี่ยนหน้างานบ้างตามสถานการณ์
จากที่เห็นในวีดีโอ จะมีการควบคุมด้วยมือแบบเรียลไทม์เยอะมาก เป็นแบบอัตโนมัติบางส่วนไหม และทำไมต้องคุมมือเองด้วย
จะแบ่งออกมาเป็น 2 แบบ ถ้าเป็นในงานคอนเสิร์ตใหญ่ หลายงานจะมีสิ่งที่เรียกว่า ‘Timecode’ ที่จะเป็นเวลาที่รันระบบของแต่ละเพลงไว้วินาทีต่อวินาทีเลย ซึ่งทีมไฟจะมีการออกแบบไฟทุกๆ อย่างประสานเข้ากับแต่ละเพลงไว้ก่อนเสร็จแล้วทุกวินาที เมื่อถึงตอนคอนเสิร์ตจริง แค่เรากด play ให้ไฟทั้งหมดก็จะรันไปตามที่ออกแบบไว้
ในอีกแบบที่จะเห็นในคลิปของเวทมนบ่อยๆ คือในกรณีที่คอนเสิร์ตไม่มี Timecode โดยไฟทุกอย่างจะถูกออกแบบไว้แล้วเหมือนกันจากในโปรแกรม แต่ต้องมีคนควบคุมไฟคอยกดให้ไฟรันไปแบบเรียลไทม์ เปรียบเทียบคล้ายๆ กับการพรีเซนต์งาน ที่เราทำสไลด์เตรียมไว้ แต่ต้องมีคนคอยกดสไลด์ให้เปลี่ยนไปตามเวลาจริงหน้างาน เราไม่สามารถปล่อยให้สไลด์รันไปเองได้ ซึ่งในแบบนี้เราก็ต้องมีการซักซ้อม ทำความคุ้นเคยกับเพลง จังหวะเพลงแบบไหน เราก็ต้องกดไฟออกมาให้ทัน
ในแบบหลังมักจะพบในคอนเสิร์ตเฟสติวัลที่โชว์มีความยืดหยุ่นมากกว่า ส่วนในคอนเสิร์ตใหญ่บางงานก็มีการใช้วิธีแบบหลังเหมือนกัน แต่คนที่ควบคุมไฟก็ต้องมีความคุ้นเคยกับเพลงมากๆ ต้องแม่นยำมากๆ
หลายที่คนดูคลิปแล้วอาจจะเข้าใจผิดว่าเวทมนคิดและกดไฟทุกอย่างแบบสดๆ ตรงนั้น ซึ่งในความเป็นจริงมันเป็นไปไม่ได้ เราไม่ได้เป็นทศกัณฑ์ที่มี 10 มือ (ฮ่าๆ) เรากดจริงประมาณ 2-3 ปุ่มค่ะ

ในการทำงาน มีอุปสรรคและบทเรียนอะไรบ้าง
ในงานเบื้องหลัง ต่อให้เรียนรู้มาเท่าไหร่ ทำงานมานานเท่าไหร่ ก็จะเจอปัญหาใหม่ๆ ทุกวัน ส่วนถ้าเรื่องที่ทำให้เติบโตจริงๆ น่าจะเป็นเรื่องการทำงานกับคนค่ะ เพราะต้องทำงานกับทีมงานที่หลากหลายมาก ทำให้ต้องเรียนรู้ปรับตัวอยู่ตลอด เราต้องรู้วิธีสื่อสารกับคนอื่นเพื่อให้งานออกแบบไฟของเราออกมาเป็นอย่างที่เราต้องการที่หน้างานจริง

มีอะไรบ้างเกี่ยวกับงาน Lighting ที่คนอื่นอาจไม่เคยรู้ หรือเข้าใจผิดอยู่
อย่างแรกเลย จะมีหลายคนที่คิดว่างานออกแบบไฟนั้นไม่จำเป็น สามารถตั้งโหมดอัตโนมัติได้ หรือใช้ AI แทนก็ได้ แต่ในความเป็นจริง งานไฟก็เป็นการถ่ายทอดสื่อสารอารมณ์ เป็นงานศิลปะอย่างหนึ่ง แต่ละสี แต่ละการเคลื่อนไหว เราตั้งใจคิดมาอย่างดีแล้ว ถึงแม้ในบางงาน เวลาจริงจะกดให้รันไปตามที่ออกแบบไว้ แต่มันคือ Auto program แต่ไม่ใช่ Auto design นะ
งานไฟอาจเป็นสิ่งที่หลายคนไม่ค่อยนึกถึงในคอนเสิร์ต แต่หากมีไฟเสียหรือกระพริบสักดวง กลับเป็นสิ่งที่เห็นชัดเจนที่สุดเลย ไม่ว่าจะได้งบประมาณมาเท่าไหร่ ทีมไฟส่วนใหญ่ก็ตั้งใจทำงานให้ออกมาดีที่สุดเสมอ เพราะทุกคนใจรักในงานมากๆ

โปรเจ็คที่ประทับใจ หรือมีความหมายกับจิตใจ
น่าจะเป็นคอนเสิร์ตใหญ่ของ Proxie: The Final Fantasy Concert (2024) ค่ะ มีหลายเหตุผลเลยที่ทำให้ประทับใจ อย่างแรกเลย งานนี้จัดที่อิมแพคอารีน่า ซึ่งเป็นฮอลล์คอนเสิร์ตในฝันเลย เหมือนที่ศิลปินอยากมาแสดงที่นี่ การที่ได้มาทำไฟที่นี่ก็เป็นความฝันของเวทมนเหมือนกัน
โดยเฉพาะงานนี้ที่เราได้ออกแบบไฟด้วย เป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับคนที่เป็นฟรีแลนซ์อย่างเรา การออกแบบไฟในฮอลล์ใหญ่ มีความสูงขนาดนี้ ทำให้เราสร้างสรรค์ได้เต็มที่และสนุกมากๆ

อีกเหตุผลนึงคือ เราผูกพันกับวง Proxie มากๆ เราเห็นวงนี้ตั้งแต่สมัยวงเดบิวต์ใหม่ๆ ที่งาน T-POP Fest และตอนนี้เราก็ได้วนมาเจอพวกเขาใหม่ เดินทางเข้ามาที่อิมแพคอารีน่า เหมือนกัน จากวันนั้นถึงวันนี้ทั้งเราและพวกเขาก็เติบโตขึ้นมาก
ถ้ามีโอกาสทำงานให้ศิลปินคนไหนก็ได้ หรืออีเวนต์ไหนก็ได้
ถ้าฟุ้งๆ เลย ชีวิตนึงอยากทำไฟให้ Taylor Swift เพราะรู้สึกว่าเพลงเขามีหลายมิติ และหลากหลายแนวมากๆ น่าจะทำอะไรได้เยอะมาก หรือถ้านึกถึงงานในประเทศไทย ก็อยากลองไปทำงาน outdoor ที่ Big Mountain ดูสักครั้ง และสุดท้ายแล้วก็ชอบที่จะทำงานให้ T-POP มากๆ เพราะเหมือนเราผูกพันและเติบโตมาด้วยกัน
ถ้าออกแบบโชว์ที่เล่าเรื่องของตัวเอง คิดว่าจะมี Lighting แบบไหน
คิดว่าเป็นฉากที่มีเส้นทางถนนเปลี่ยว มีเสาไฟที่มีแสงสว่างเป็นจุดๆ เพราะในชีวิตของเรา เราเป็นคนมีเพื่อนไม่เยอะด้วย เราต้องเดินผ่านทางเดินที่มืดมิดมีอุปสรรคกว่าจะไปถึงตรงเสาไฟที่มีแสงสว่าง และเมื่อไปถึงแล้ว บางเสาไฟก็อาจจะเป็นไฟที่กระพริบอีกด้วย
ถ้ามีเพลงประกอบคงจะเป็นเพลง ‘ครึ่งหลัง’ กับเพลง ‘ความเชื่อ’ ของวง Bodyslam เพราะมีเคยมีโอกาสได้ไปทำเบื้องหลังในคอนเสิร์ตที่มีวงนี้เล่นตอนช่วงที่เรากำลังสับสนกับชีวิตมาก และสองเพลงนี้ทำให้เรามีกำลังใจขึ้นมาก ซึ่งเนื้อเพลงทั้งสองเพลงดีมากๆ ค่ะ แนะนำให้ไปฟังกัน

ทำไมถึงเริ่มอัดวีดีโอตอนทำงานและโพสต์ลงเล่าเรื่องงานต่างๆ
ตอนแรกที่เริ่มทำเลย เป็นเพราะอยากมี Portfolio ที่เอาไว้ย้อนดูได้ง่าย และเอาไว้ตอบผู้ใหญ่ที่ถามเราว่า ‘เราทำงานอะไร’ เนื่องจากบทบาทของเราค่อนข้างอธิบายให้เขาเข้าใจได้ยาก รวมถึงอีกส่วนหนึ่งคือเราก็อยากให้คนทั่วไปรู้และเห็นคุณค่าว่ามีอาชีพนี้อยู่ด้วย มีทีมงานที่ทำสิ่งนี้อยู่ในเบื้องหลังการแสดง
ซึ่งก่อนถ่ายแต่ละครั้งเราจะต้องขออนุญาตทางทีมโปรดักชันและเราจะเลือกถ่ายสั้นๆ เพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น รวมถึงตั้งกล้องถ่ายเองโดยที่ต้องไม่รบกวนใครด้วย และต้องระวังเรื่องลิขสิทธิ์มากๆ
ได้รับผลการตอบรับยังไงบ้าง รู้สึกยังไง
รู้สึกว่าผลตอบรับในโลกออนไลน์เป็นเหมือนดาบสองคมเลย เวลาที่มีคนมาคอมเมนต์ให้กำลังใจเรา เราซาบซึ้งมากๆ และถ้าพิมพ์ตอบเราจะตั้งใจตอบจริงๆ แต่ในอีกด้านหลายครั้ง อาจมีคนคิดว่าเราไม่ตั้งใจทำงาน อยากเป็นคนดังมากกว่าอยากทำไฟ แต่จริงๆ เรารักสิ่งนี้มาก และแค่อยากแชร์ให้คนรับรู้ถึงอาชีพนี้มากขึ้น อยากให้เด็กๆ ที่มาติดตามดูเราได้รับแรงบันดาลใจและได้ประโยชน์

อยากแนะนำอะไรถึงคนที่อยากมาทำงานในวงการ Lighting หรือ โปรดักชันบ้าง
อยากให้คิดดีๆ ให้ถี่ถ้วนก่อน เพราะสิ่งที่ทุกๆ เห็นในคลิป มันก็เป็นด้านดีๆ ที่เราเลือกจะนำเสนอของอาชีพนี้ และกว่าจะมาถึงตรงนี้เราเจออุปสรรคเยอะมากๆ ถ้าคิดดีแล้วก็ให้เตรียมร่างกายและเตรียมใจให้พร้อม เพราะอาชีพทำไฟ โดยเฉพาะในประเทศไทย จากประสบการณ์ส่วนตัวคือเป็นอาชีพที่ใช้พลังงานและเวลาจากเราเยอะมากๆ ถ้าใครอยากเจอเพื่อนบ่อยๆ มีสัตว์เลี้ยงต้องดูแล อาจจะไม่เหมาะกับอาชีพนี้
ซึ่งคิดว่าไม่ใช่แค่ในวงการทำไฟ แต่สำหรับวงการเบื้องหลังโปรดักชันทั้งหมด ทั้งภาพยนตร์ ละคร และอื่นๆ ก็ยังประสบปัญหาเรื่องเวลาการทำงาน โดยถ้าเปรียบเทียบกับทีมงานโปรดักชันต่างประเทศที่เราเคยเจอ ทุกๆ คนจะมีเวลาการทำงานและเวลาพักที่แน่นอนมากๆ