Skip to content Skip to sidebar Skip to footer

Parimroj ผู้เนรมิตโลกแห่งรอยยิ้มให้กับทุกปัญหาผ่าน ‘เจ้าก้อน’ ที่ค่อยๆ เติบโตพร้อมออกผจญภัยยังต่างแดน

ตัวเราในโลกจริง อาจไม่ใช่ตัวจริงในโลกที่เราสร้างสรรค์ขึ้นมา ศิลปินที่ Art of รู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ตอบรับการสัมภาษณ์พูดคุยในครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งศิลปินที่ทำให้ความนามธรรมนั้นถูกคลี่คลายออกมาเป็นสิ่งที่จับต้องได้ ด้วยอาศัยประสบการณ์และภูมิหลังของตัวเองในการถ่ายทอดและสรรสร้างคาแรคเตอร์ที่พร้อมจะเบ่งบานไปยังทุกที่ที่สามารถไปได้

คุณไอติม (ภริมโรจน์ ภิญโญ) หรือ Parimroj ผู้เป็นเจ้าของบริษัทออกแบบ PRJ Design Studio และเป็นผู้สร้าง “เจ้าก้อน” ที่มีดวงตาเปล่งประกายและมีโอกาสไปปรากฎตัวยังที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานวาด Painting ที่ได้กลายเป็นหนึ่งในคอลเลคชันของนักสะสมหลายๆ คน, งาน Sculpture ตั้งแต่ขนาดเล็กเท่ามือโอบไปจนถึงขนาดที่ใหญ่กว่าตัวคน

ตลอดจนงาน Solo ในการออกแบบพื้นที่และแสดงผลงานศิลปะของ Metro Art ที่ได้เป็นผลงานหนึ่งในศิลปินคู่แรกที่จัดภายใน Metro Mall สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินพหลโยธิน จนกระทั่งล่าสุดก็ได้ไป Collapse กับ Terminal21 ทั้งสี่สาขากับแคมเปญ MIDYEAR WONDER SALE ที่ผ่านมา

บทสัมภาษณ์นี้ จะพาเพื่อนๆ ไปเปิดประสาทการรับรู้เพื่อเข้าสู่โลกแห่งรอยยิ้ม บนทางเดินที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบดอกพริมโรสหรือดอกไม้ใดๆ แต่พร้อมที่จะผสานเข้ากับผู้มาเยือนด้วยเหตุผลของการมีอยู่และตัวตนของศิลปินที่บรรจงร้อยเรียงเรื่องราวนี้จากสิ่งรอบตัวที่พบเห็นอย่างก้อนเมฆ ฟองอากาศ หรือหอยเชอรี่ จนกระทั่งออกมาเป็นผลงานนับร้อยนับพันชิ้น

ลุคภายนอกที่ดูมั่นใจ แต่เก็บซ่อนความอ่อนโยนและปกป้องความอ่อนแอเอาไว้

ไม่ง่ายนักกับการเปิดบทสนทนาเพื่อสร้างความใกล้ชิดกันหลังจากที่ Art of ได้เห็นหน้าค่าตาของศิลปินอย่างจริงจังเป็นครั้งแรก แต่กลับกลายเป็นว่าโลกของศิลปินกับพื้นที่ของ Art of ได้เชื่อมต่อถึงกันอย่างรวดเร็ว คุณติม (ไอติม) ได้เล่าถึงความชอบและไลฟ์สไตล์การแต่งตัวว่า “ปกติจะสวมแว่นตาดำจนเคยชินเวลาต้องแต่งตัวไปออกงานหรือไปพบปะกับคนอื่น เหตุผลหนึ่งคือช่วยบดบังความเหนื่อยล้าผ่านดวงตาที่ถูกใช้งานจนดึกดื่นหรือบางวันเกือบเช้า”

“แต่อีกเหตุผลหนึ่งก็ช่วยสร้างความมั่นใจไปพร้อมกับ Mood ของเสื้อผ้าที่ตัวเองชอบแต่งโดยจะเน้นสีดำเป็นหลัก เพราะส่วนตัวมองเห็นถึงความสมบูรณ์แบบ ความแข็งแกร่ง และภาพรวมที่ดูสบายใจและมั่นใจ หลังจากที่ได้ลองมาเลยพบว่ารูปแบบนี้เป็นการนำเสนอตัวตนของตัวเองในเวอร์ชันที่คิดว่าเป็นเรามากที่สุด”

“กว่าจะมาเป็นผมที่ยอมรับตัวเองในหลายๆ เรื่องในวันนี้ มันไม่ง่ายและใช้เวลานานพอสมควร แม้จะเสียดายช่วงเวลาบางช่วงที่ยังหาสิ่งที่ตัวเองอยากทำไม่เจอ แต่จุดเริ่มต้นของการวาดรูปเล่นเมื่อตอนเด็กแข่งกับเพื่อนด้วยจินตนาการตามกระสาเด็กที่อยากเอาชนะกัน ก็ได้พาให้ผมตัดสินใจเลือกเรียนทางด้านงานโฆษณา ในคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาออกแบบกราฟิกและโฆษณา ของมหาวิทยาลัยบูรพา จากนั้นชีวิตก็ยังวนเวียนอยู่กับงานที่ใช้ความ Creative มาโดยตลอดครับ”

“ดังนั้นสำหรับผมนะการแต่งตัวก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่อยากนำเสนอด้วยเช่นกัน นับเป็นการเสริมสร้างบุคลิกภายนอกที่ส่งผลให้ภายในของตัวผมนิ่งขึ้น และจากการทำซ้ำไปเรื่อยๆ นี้ยังส่งผลถึงการคิดงานของผมด้วยที่จะใช้ Comfort zone เป็นแกนเพื่อให้ผมสามารถวิ่งเล่นไปในโลกนุ่มๆ ที่ล้มไปทางไหนก็ไม่เจ็บ เพราะผมสร้างมันขึ้นมาเพื่อปลอบโยนตัวเอง อยากทำอะไรก็ทำ ไม่ว่าจะวิ่ง จะกระโดด หรือตะโกนออกไป พอหายเหนื่อยก็กลับมายิ้มให้กับทุกสิ่งบนโลกใบนี้ได้อีก นี่อาจจะเป็นตัวตนของผมข้างใน หรือที่ผมเรียกมันว่า JAOGON WORLD หรือโลกของเจ้าก้อน ที่จะปกปิดความอ่อนแอด้วยความแข็งแรงนั่นเอง”

ระเบียบแบบแผนและที่มาของงาน ที่ถูกจัดวางเพื่อตอบโจทย์ให้ได้มากที่สุด

เมื่อได้ถามถึงผลงานตั้งแต่งานวาดที่คุณติมทำมาโดยตลอดจนกระทั่งออกมาเป็นคาแรคเตอร์ ‘เจ้าก้อน’ ไม่ว่าจะเป็นที่มาหรือกระบวนการที่กลายเป็นสิ่งที่นำไปต่อยอดอยู่เรื่อยๆ คุณติมได้เล่าว่า “ในตอนนี้ผมเองจะเป็นคนที่ค่อนข้างมีระเบียบและคิดอยู่เสมอว่างานที่เราจะทำ ทำเพื่อใคร และทำเพื่อวัตถุประสงค์ใด ดังนั้นเจ้าก้อนเองก็น่าจะเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ผมค่อยๆ ทำแล้วเรียนรู้ไปกับมัน จากก้อนเมฆที่เราเคยเห็นบนท้องฟ้าในสวนแล้วจินตนาการไปต่างๆ นานาในวันนั้นได้กลายมาเป็นตัวละครพร้อมกับมีโลกเป็นของตัวเอง โลกที่มีแต่รอยยิ้มและความสดใสอยู่เสมอ”

“เมื่อความชัดเจนมันมีมาตั้งแต่เริ่ม
การจะพลิกแพลงหรือการสร้างผลงานขึ้นมาให้ตอบโจทย์กับผู้ที่ได้พบเห็น
จึงง่ายกว่าไปเริ่มจากศูนย์ในทุกๆ งาน”

“นี่ยังไม่นับไปถึงองค์ประกอบอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ไม่ใช่แค่ตัวชิ้นงาน เช่นการไปจัดแสดงผลงาน การจัดหาสถานที่ หรือแม้แต่การติดต่อพูดคุยกับผู้ที่ชักชวนให้นำงานไปติดตั้ง ล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยทักษะการวางแผนและเตรียมพร้อมเพื่อให้ทุกอย่างเสร็จสิ้นเรียบร้อยซึ่งผมเองก็ต้องค่อยๆ เรียนรู้และค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไปพร้อมกับใช้ความ Creative เข้าช่วย จนตอนนี้ก็พอจับทางได้ และเคยชินจนเป็นนิสัยของตัวเองไปแล้ว”

ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าเจ้าก้อนจะช่วยให้คนเปลี่ยนทัศนคติความชอบได้

หลายคนอาจจะพอทราบดีว่ามันมีความกลัวในสิ่งของหรือรูปทรงบางอย่าง เช่น โรคกลัวรู (Trypophobia) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคที่เกี่ยวกับความกลัว (Specific Phobia) โดยผู้ที่เป็นอาจจะมีอาการกระอักกระอ่วน ไม่สบายใจ อึดอัดแบบควบคุมตัวเองไม่ได้ จนถึงขั้นคลื่นไส้อาเจียน โรคเหล่านี้เป็นโรคทางจิตเวชที่เกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุผล และบางรายอาจต้องเข้ารับการรักษากับจิตแพทย์เลยทีเดียว

แต่เหตุผลที่ได้คุยกันเรื่องนี้อาจเพราะคนสัมภาษณ์เป็นคนที่ไม่ค่อยชอบของที่มีพื้นผิวเป็นมันเมือกๆ แต่กลับรู้สึกว่าเจ้าก้อนไม่ได้ทำให้รู้สึกแบบนั้น คุณติมบอกว่า “เคยมีคนเล่าให้ฟังเหมือนกันว่าจะมีบางคนที่กลัวสิ่งของทรงกลม อย่างพวกฟองอากาศ จุด หรือรูต่างๆ แต่น่าแปลกที่คนเหล่านั้นพอได้เห็นเจ้าก้อนในรูปลักษณ์อิริยาบถต่างๆ กลับไม่รู้สึกว่ามันน่ากลัว แต่นี่น่าจะเป็นครั้งแรกที่ได้สื่อสารกับคนที่รู้สึกจริงๆ”

“กว่าจะมาเป็นเจ้าก้อน ตอนแรกผมคิดชื่อแค่คำว่า ‘ก้อน’ นะ จากรูปลักษณ์ที่ว่าเกิดจากก้อนๆ มารวมกัน แต่หลังจากนั้นก็มีคนเริ่มสร้างคำให้ เช่น ไอ้ก้อน ไอ้ต้าว ต้าวก้อน ก้อนขี้ และอื่นๆ อีกเยอะ ผมก็มองว่าตลกดี และดีใจนะที่มีคนชอบจนมีคำเรียกแปลกๆ มาเต็มเลย”

“ผมเองก็ได้ไปค้นหาคำตอบเหมือนกันถึงความเชื่อมโยงกันของก้อนๆ ที่บางคนชอบแต่บางคนกลัว ด้วยนิสัยส่วนตัวที่มีความเนิร์ดติวตัวหน่อยๆ ก็พบว่ามันน่าจะเกิดจากหลายปัจจัยประกอบเข้าด้วยกันมากกว่าเพียงแค่พื้นผิวหรือรูปทรง ทำให้ผมนึกถึงสิ่งที่ใกล้ตัวอย่างพวกสัตว์เลื้อยคลานหรือสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่หลายคนอาจจะไม่ชอบ เช่นกบหรือคางคก ส่วนตัวผมโอเคนะ ไม่ได้รังเกียจอะไร แต่สำหรับบางคนนี่เห็นไม่ได้เลยจริงๆ แต่มันจะมีบางสายพันธุ์ที่มีลวดลายและสีสันฉูดฉาดบนพื้นผิวตะปุ่มตะป่ำของมันไม่เหมือนคางคกที่เราเจอทั่วไป ดูแล้วมันมีความสวยงามแฝงอยู่ในนั้นและไม่ทำให้ดูน่าขนลุก ส่วนตัวผมชอบนะ”

“พอได้หันมามองเจ้าก้อนเลยคิดว่าก็พบว่าคล้ายกันบางอย่าง ถึงแม้จะมีลำตัวที่สามารถเปลี่ยนแปลงไปตามสถานที่และสภาพแวดล้อม แต่ผมว่าเจ้าก้อนมีความแตกต่างที่ดูโดดเด่น คือ

  • ฟอร์มที่เหมือนบับเบิ้ลมาต่อกัน ที่ตอนแรกผมตั้งใจวาดให้ดูเยิ้มๆ เหมือนไอติม แล้วค่อยๆ พัฒนามาเรื่อยๆ จนกลายเป็นฟรีฟอร์มที่สามารถเพิ่มและลดได้ไม่สิ้นสุด
  • สีสันที่คนจดจำได้มากที่สุดคือสีชมพูสด ที่ผมไปเห็นจากหอยเชอรี่ในสวน แล้วเห็นมันอยู่รวมกันเป็นก้อนๆ ด้วย ดูแล้วมันก็น่ารักดีเลยนำมาใช้แล้วคนชอบ ถึงขนาดว่าเคยลองเปลี่ยนสีให้ตรงกับสี CI ของแบรนด์ที่เราไป Collapse ด้วย แต่ลูกค้าก็บอกว่าใช้สีเดิมดีกว่า เพราะคนน่าจะชอบและจำได้
  • บรรดาเพื่อนพ้องในโลกของเจ้าก้อน ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ หรือองค์ประกอบอื่นที่มีสีสันอันหลากหลาย แต่ทุกอย่างจะมีความเข้มของสีที่มากพอจะดึงดูดสายตาคนให้จ้องมอง พร้อมแววตาที่เปล่งประกายและเปี่ยมไปด้วยรอยยิ้มแห่งความสดใสเสมอ


สำหรับเจ้าก้อนเองแล้วมันก็อยู่ของมันอย่างนั้น แต่คนที่ได้มองกลับมี Reaction ตอบกลับมาเองในสภาวะต่างๆ อาจจะไม่รู้สึกถึงความอึดอัดขนาดนั้น ความกลัวที่เคยมีอาจจะลดลง หรือได้เปลี่ยนมุมมองจากคนที่ไม่ชอบเลยกลายเป็นได้ค้นพบว่ายังมีอีกหลายมุมหลายด้านที่ตัวเองสามารถเข้าถึงได้ก็ได้นะ พอได้ยินแบบนี้ผมก็ดีใจและรู้สึกดีที่เจ้าก้อนได้ส่งพลังไปยังคนอื่นได้จริงๆ”

แรงบันดาลใจ และแรงขับเคลื่อนในการสร้างผลงานใหม่ๆ

ในเมื่อ Art of ได้พูดคุยกับคุณติมถึงเรื่องการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างชิ้นงานกับผู้ชม คุณติมยังเล่าต่อว่า “ปกติผมเป็นคนพูดเยอะนะ ชอบอธิบายและบอกเล่าเรื่องราวให้คนอื่นฟัง แต่ก็พบว่าอาจจะไม่ใช่ทุกคนที่พร้อมจะรับฟังเราอย่างตั้งใจตั้งแต่ต้นจนจบ ก็ทำให้เราเรียนรู้และปรับเปลี่ยนตัวเองมาเรื่อยๆ เหมือนอย่างที่บอกไปว่าผมในวันนี้ก็มีมุมมองและแนวทางการทำงานรวมถึงการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปเยอะมาก ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการคิดงาน การได้อธิบายผลงาน หรือการไปออกงานต่างๆ ทุกอย่างผมจะต้องเตรียมพร้อมและวางแผนเสมอเพื่อให้เกิดข้อผิดพลาดน้อยที่สุด”

“แต่สิ่งหนึ่งที่ผมใช้เวลาพอสมควรคือการค้นหาแนวทางของตัวเองและแรงผลักดันในการทำงาน ผมเคยไปนึกเปรียบเทียบกับศิลปินที่สร้างผลงานเพลง ซึ่งก็เป็นงานศิลปะอีกหนึ่งแขนงที่ผมเองเคยคิดว่าคนทำเพลงสามารถทำให้คนเสพงานรับรู้และเข้าถึงผลงานได้ง่ายกว่าคนวาดภาพ เพราะการรับสาส์นที่เปี่ยมด้วยอารมณ์ผ่านบทเพลงผ่านการฟังอาจจะง่ายกว่าการตีความโจทย์จากภาพซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าคนเห็นจะรับรู้ผ่านตาเนื้อได้เท่ากันหรือไม่และตรงกับสิ่งที่ศิลปินต้องการจะสื่อออกไปหรือเปล่า”

“แต่ตอนนี้ผมไม่ได้คิดแบบนั้นแล้ว เพราะเข้าใจว่าความยากง่ายมันต่างกันและเปรียบเทียบกันไม่ได้ เมื่อคิดได้แบบนั้นผมก็เริ่มมองหาสิ่งที่ทำได้ รวมถึงโอกาสต่างๆ ที่มีเข้ามาด้วย ยิ่งสมัยนี้ที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับทุกคนมากก็ทำให้การสื่อสารมันสะดวกมากขึ้น มีคนติดตามผลงานได้ง่ายมากขึ้น”

“แต่สิ่งที่พิเศษมากคือทุกฟีดแบกจากคนติดตามผลงานที่ส่งมาถึงผม มันสร้างกำลังใจให้ศิลปินต่างจังหวัดแบบผมจริงๆ นะ ผมเลยรู้สึกยินดีมากทุกครั้งหากมีคนทักมาหา และก็จะพยายามตอบและอ่านข้อความที่คนเขียนถึงเสมอผมเลยคิดว่าโชคดีที่ยุคนี้มีสิ่งเหล่านี้ ถ้าเราใช้ให้เป็นและใช้ให้ถูก ผมเชื่อว่าจะไม่ทำให้เราอดตายหรอก ยังไม่นับที่เดี๋ยวนี้ก็มีศิลปินใหม่ๆ เกิดขึ้นมาก คนที่ชื่นชอบและติดตามผลงานก็มีมากขึ้น ยิ่งทำให้วงการนี้เติบโตไปได้อีกไกล”

ก้าวต่อไปของเจ้าก้อน และ Parimpoj

เมื่อได้ถามถึงการวางแผนหรือสิ่งที่อยากทำต่อไปในอนาคต คุณติมเล่าว่า “ผมว่าผมใช้เวลาไปเยอะนะ กับการฝึกฝนอะไรที่ตัวเองไม่ถนัด แต่มันก็ทำให้เราได้รู้อะไรอีกหลายอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้กระดาษและอุปกรณ์วาดที่ทำให้ผลงานอยู่ได้คงทนเพราะนักสะสมก็ต้องการให้ชิ้นงานที่คงอยู่ต่อไปได้ในระยะยาว แต่ผมเริ่มมาคิดว่าทำไมศิลปินที่โด่งดังในต่างประเทศหลายคนถึงสามารถนำผลงานไปต่อยอดได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด อย่างดอกไม้มุราคามิ หรือลายจุดบนฟักทองของยาโยอิ ทั้งๆ ที่จุดเริ่มต้นจริงๆ แล้วเจ้าตัวอาจจะไม่ได้ตั้งใจให้สิ่งที่ตัวเองทำแปรเปลี่ยนไปอย่างที่ปรากฏในทุกวันนี้ก็ได้ แต่กลับกลายเป็นภาพจำและทุกคนพูดถึง”

“ผมเองคิดว่าสำหรับผม ผมก็อยากจะเติบโตขึ้นนะ และตั้งใจว่าต่อไปจะใช้ความเป็นตัวเองมากขึ้นอาจจะในนามของ Parimroj ไม่ใช่เพียง PRJ ที่ยังไม่ยอมรับตัวเองอย่างเต็มที่เหมือนแต่ก่อน อยากทำสตูดิโอที่มีทั้งงาน Mass Commercial หรืองาน Collapse กับ Brand และอยากโฟกัสไปยังงาน Solo ของตัวเองที่ดูเป็นสากลมากขึ้น ได้กระจายงานของตัวเองไปยังต่างแดนให้คนรู้จักเพิ่มขึ้น”

“มาคิดๆ ดูผมอาจจะเริ่มช้าไปหน่อย แต่ยังดีที่ไม่ช้าไปกว่านี้ เข้าใจว่าทุกอย่างมันยากและมีกระบวนการอีกเยอะ ยกตัวอย่างเช่นผมอยากให้เจ้าก้อนไปปรากฏตัวแบบใหญ่เท่าตึกที่คนเห็นได้ชัดก็คงไม่ง่ายเพราะไหนจะเรื่องการทำ การขนส่ง การติดต่อสถานที่ การประสานงานและปัจจัยอื่นๆ”

“ทุกอย่างผมว่ามันต้องใช้เวลา การวางแผนของผมอาจจะใช้เวลายาวนานไปอีกเป็นสิบๆ ปี กว่าจะสำเร็จ งานวาดของผมอาจจะต้องกลับมาโฟกัสว่าเราวาดไปทำไม เพื่อใคร มากกว่าแค่การบอกว่างานสวย มันต้องมีความหมายมากกว่านั้น ต้องวิเคราะห์ดีๆ ว่าเรามีข้อดี ข้อเสียอะไรบ้างแล้วจะไปจับกลุ่มตลาดโลกได้ยังไง เพราะถ้าผมไปโฟกัสว่างานของผมมีคนชมว่าน่ารัก สักวันมันก็ต้องมีวันที่ดูน่าเบื่อ ผมไม่อยากให้เป็นแบบนั้น ผมอยากทำอะไรที่มีความหมายและมีคุณค่ามากไปกว่านั้น”

“ถ้าคิดว่าทำได้ ผมว่าก็ต้องทำได้
สุดท้ายถ้าทำไม่ได้อย่างน้อยในไทยก็มีคนที่รู้จัก Parimpoj มีคนรู้จักเจ้าก้อนแล้ว
แต่แค่ไปสู้ศิลปินต่างชาติไม่ได้ก็แค่นั้นเอง และเราก็ได้ลองทำแล้ว”

แนวคิดดีๆ ที่เป็นสิ่งไม่ตาย ที่อยากฝากไว้ให้กับทุกคน

ก่อนจบการสัมภาษณ์ Art of ได้ให้คุณติมฝากอะไรกับคนอ่าน คุณติมบอกว่า “ตอนที่ผมเห็นคำถามนี้ เอาจริงคือผมไม่รู้จะแชร์อะไรให้คนอ่านได้เลย เพราะยุคนี้ทุกอย่างสามารถค้นหาได้หมด สมัยผมยังต้องไปหาข้อมูลจากการค้นคว้าอ่านหนังสือและใช้เวลานานมากกว่าจะได้มา ชุดความรู้เราจึงค่อนข้างเก่า แต่ถ้าให้แชร์จริงๆ … ผมว่าเรื่องเทคโนโลยี ทุกวันนี้มีตัวช่วยในการสร้างงานเยอะมาก ถ้าเราใช้มันเป็น Tools ให้ดี เราจะได้ผลงานใหม่ๆ ออกมาอีกเยอะและเร็วมาก”

แต่มีข้อความบางช่วงที่คุณติมพูดออกมาอย่างเต็มปาก จากประสบการณ์ของตัวเองจากใจจริงว่า

“อย่าพลาดหนึ่งวันของอายุ”

“อย่างเช่นวันนี้ผมจะสัมภาษณ์ Art of ก็ต้องคิดแล้วว่าฉันจะพูดยังไงให้ออกมาแล้วไม่กลายเป็น Digital footprint ของตัวเองที่พอได้ย้อนกลับมาดูแล้วคิดว่า ฉันพูดอะไรไป ดังนั้นอย่าพลาดทำงานที่ไม่ใช่ตัวเอง อย่าเสียเวลาชีวิตของเราไปเฉยๆ ถ้ามีเทคโนโลยีช่วยเราขนาดนี้ ขอให้ใช้มันให้เกิดประโยชน์ แล้วก็พุ่งไปเลยตามแผนที่วางไว้”

“เพราะหนึ่งวันที่ผมพลาดมาแล้ว
แม้จะเป็นบทเรียนที่ดี
แต่ก็ไม่อยากให้ใครต้องพลาดแบบผมอีก”

ช่องทางการติดตาม

© 2021 Art of. All rights reserved.

  083-138-5607
contact@artofth.com

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save