254Views
เก็บตกบรรยากาศ Pakk Taii Design Week 2024 เทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้
จบไปแล้วสำหรับ ‘เทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้’ หรือ ‘PAKKTAII DESIGN WEEK 2024’ หลังจากงานเมื่อปีก่อนซึ่งกระแสตอบรับล้นหลาม ด้วยสเน่ห์มนต์ขลังของภาคใต้ที่ไม่เหมือนใคร ในส่วนของงานใรปีนี้ก็มีกระแสมาแรงไม่แพ้กัน โดยในปีนี้มาในธีม ‘The South’s Turn : ถึงทีใต้ ได้แรงอก’ ซึ่งรวมเหล่านักออกแบบ และนักสร้างสรรค์ ทั้งในและนอกพื้นที่ มาสร้างผลงานในพื้นที่เมืองเก่าสงขลา ตลอด 9 วัน ตั้งแต่วันที่ ระหว่าง 17-25 สิงหาคม 2567 จะได้แรงอกแค่ไหน วันนี้เราจะพาไปรีแคปงานไฮไลต์ที่น่าสนใจกัน !
Pakk Taii Design Week 2024 เทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้
กลุ่มงานสร้างสรรค์หลักของปีนี้ประกอบด้วย 6 กลุ่มผลงาน โดยใช้แรงบันดาลใจจากเรื่องราวความเป็นปักษ์ใต้มาพัฒนาต่อยอดให้เห็นถึงศักยภาพในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ด้านอาหาร (Gastronomy) ภาพยนตร์ (Film) ศิลปะและงานฝีมือ (Art & Crafts of Living South) และงานพัฒนาเมือง (Livable City Project) ด้วยความร่วมมือจากเหล่านักสร้างสรรค์และเครือข่ายผู้ขับเคลื่อนเมืองในภาคใต้ (Pakk Taii Neighbor) ในบรรยากาศเทศกาลสร้างสรรค์ (Festival Vibe) เรียกได้ว่าดูกันไม่หวาดไม่ไหวเลยทีเดียว
Key Visual อัตลักษณ์ปักษ์ใต้ โดย SoulSouth Studio
เปรียบเสมือนภาพแรกที่จะทำให้ผู้ชมเห็นภาพงานในปีนี้คือ การออกแบบ Key Visual (KV) เพื่อสื่อสารคอนเซปต์หลักของเทศกาล โดย ‘SoulSouth Studio’ ถอดรูปแบบสินทรัพย์และทรัพยากรทางภาคใต้
โดยเฉพาะทะเล ภูเขา หรือมรดกทางวัฒนธรรม ทั้งจีน ไทย หรือมุสลิม ผสานกับธีม ‘The South’s Turn’ คือการหวนคืนสู่ปักษ์ใต้ เป็นงานภาพกราฟิกในลักษณะรูปทรงเรขาคณิต 14 ช่อง แทนภาคใต้ 14 จังหวัด ร่วมกับฟอนต์รูปตัว ‘S’ ให้เหมือนกับการม้วนตัวของเกลียวคลื่นในทะเลใต้ คล้ายเป็นการ ‘กลับมา’ และ ‘ออกไป’ (จากบ้านเกิด) อีกด้วย
ลูกเล่นสำคัญอีกอย่างคือการเลือกใช้โทนสี โดยใช้สีสันที่สดใสมีชีวิตชีวา และมีความหมายถึงความเป็นปักษ์ใต้ เช่น สีเหลืองมาจาก ‘แกงกะทิ’ สีส้มจาก ‘เครื่องแกง’ ต่าง ๆ สีน้ำตาลเข้มจาก ‘แกงไตปลา’ หรือ ‘สีฟ้า’ จากท้องทะเล ร่วมกับรูปทรงที่มีการลดทอนจากองค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรมอย่าง ‘วัด’ หรือ ‘มัสยิด’ ลวดลายของ ‘ผ้าปาเต๊ะ’ รวมถึงของขึ้นชื่ออย่าง ‘สะตอ’
Samila Odyssey สมิหลาเชิงซ้อน by D1839 & PSUIC
อีกหนึ่งงานสำคัญที่บอกเล่าเรื่องราวของเมืองเก่าสงขลา นั่นคือ ‘Samila Odyssey สมิหลาเชิงซ้อน’ ซึ่งนำเสนอผลงานภาพถ่ายผ่านประวัติศาสตร์ของเมือง โดยใช้พื้นที่ของ ‘โรงเรียนสตรีวชิรานุกูล’ ซึ่งแทรกตัวอยู่ในเมืองเก่าสงขลา เล่าเรื่องของ ‘ร้านไทยศิลป์’ ร้านถ่ายผ่านริมหาดสมิหลา ในช่วง พ.ศ. 2500 หรือราว 60 ปีที่แล้ว ที่ใช้เทคนิคการทำภาพเชิงซ้อน (Combination Printing) ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ จากการสร้างสรรค์ของ ‘โกขาว (สวัสดิ์ เชิญสวัสดิ์)’ นำไปสู่เอกลักษณ์อันเป็นที่จดจำของผู้คนที่มาเที่ยวสงขลาในช่วงเวลานั้น
จากการค้นพบสู่การเกิดใหม่ ภาพเชิงซ้อนเหล่านั้น กลายมาเป็นงานศิลปะร่วมสมัย ทีมงานตามหาและรวบรวมภาพถ่ายของผู้คนจากที่ต่าง ๆ ที่ได้เก็บภาพถ่ายเหล่านั้นเอาไว้ มองเห็นความงดงามจากสิ่งเก่าที่เราอาจจะหลงลืมไปในปัจจุบัน มาร้อยเรียง และจัดแสดงในนิทรรศการนี้ ร่วมกับงานภาพถ่ายของช่างภาพท้องถิ่น งานศิลปะจัดวาง (Installation art) และละครเวที ถือเป็รอีกหนึ่งงานที่นำเสนอสงขลาในมุมมองที่แปลกแตกต่าง และน่าสนใจ
มะเทเบิ้ล by Yala Icon
หากพูดถึงภาคใต้ ก็ต้องนึกถึงอาหารท้องถิ่นที่มีรสจัดถึงใจ วัตถุดิบที่สดใหม่และมีคุณภาพ รวมถึงความผสมผสานวัฒนธรรมไทย จีน มุสลิม ปีนี้ทีม ‘Yala Icon’ จึงนำเสนอ ‘มะเทเบิ้ล’ มาในรูปแบบของ ‘นิทรรศการทานได้’โดยรวบรวมวัฒนธรรมการกินแบบชาวปักษ์ใต้ ครบทั้งสำรับคาวหวานกว่า 135 เมนู จาก 11 ชุมชน ทั้งปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา พัทลุง และตรัง
ด้วยสโลแกน ‘อาหารใต้รสมือแม่ แน่นอนว่ากินแล้วมีความสุข’ เพราะคำว่า ‘มะ’ ในภาษาใต้หมายถึง ‘แม่’ จึงใช้คำนี้เรียกแทนรสมือแม่ เพื่อสื่อความเป็น Home Cooking ที่เรียบง่าย แต่สร้างแรงบันดาลใจให้คนอยากกลับไปทำกินเองที่บ้าน กับเมนูที่ไม่ซ้ำกันตลอด 9 วัน
‘มะเทเบิ้ล’ ได้ใช้พื้นที่ระหว่างตึกแถวของถนนนครนอกที่เปิดสู่ทะเลสาบสงขลา มองเห็นท้องฟ้า ภูเขา และท่าเรือ และได้ ‘ปกรณ์ อาร์คิเทค’ (Pakorn Architect) มาร่วมออกแบบโรงอาหารชั่วคราว ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากรูปทรงของตึกแถวจีนยุคแรกของสงขลา
โครงสร้างขึ้นด้วยไม้เก่ามีความโปร่งเบาและรับลม หลังคามุงด้วยวัสดุทึบโปร่งสลับกัน ทำให้ดูมีความสมัยใหม่และน่าสนใจ รวมถึงเปิดพื้นที่สู่ทะเลเพื่อเชื่อมต่อกับถนน เป็นการนำวัฒนธรรมอาหารมาบรรจบกับสถาปัตยกรรมได้อย่างลงตัว
100 หรอย by Krua.co & Plural designs
นอกจากอาหารใต้อันเป็นเอกลักษณ์ ปัจจัยสำคัญคือการมีวัตถุดิบท้องถิ่นที่มีคุณภาพ และมีความเฉพาะตัวไม่ซ้ำที่ไหน สำหรับ ‘นิทรรศการ 100 หรอย (ร้อยหรอย)’ จะพาชมและชิม วัตถุดิบจากภาคใต้กว่า 100 ชนิด ซึ่งรวบรวมมาไว้ยังที่เดียว
เปิดประสบการณ์กับผลิตผลที่ส่งตรงจากต้นกำเนิด ไม่ว่าจะเป็นปลากุเลาเค็ม ข้าวสังข์หยด มะม่วงแช่อิ่ม น้ำบูดู หน่อเหรียงดอง หรือน้ำตาลจาก อันเป็นต้นกำเนิดความ ‘หรอย’ ของสาระพัดอาหารปักษ์ใต้
ไม่เพียงแต่นิทรรศการ แต่งยังมีเวิร์คชอปให้ได้ร่วมแบบจุใจ ไม่ว่าจะเป็น การพิมพ์ภาพปลาท้องถิ่นจากทะเลสงขลา โดยใช้เทคนิคเกียวทาคุ ศิลปะพิมพ์ภาพแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น ทอล์คและชิมกาแฟโรบัสต้าสะบ้าย้อย ต้นกำเนิดกาแฟโรบัสต้าของไทย ฟังเรื่องเล่าร่องรอยวัฒนธรรมจีนในสำรับปักษ์ใต้ ผ่านร้านอาหารเก่าแก่ในเมืองเก่าสงขลา เวิร์คชอปทำช็อกโกแลตบาร์จากโกโก้เมืองคอน ที่ได้รับการยอมรับในเวทีนานาชาติ และโชว์ทำอาหารเมี่ยงหนางวัวเคี่ยวกะทิ วัตถุดิบพิเศษจากภาคใต้ โดย เชฟน่านจาก KRUA.CO
นครโอเค by TITAN Project Space & Yimsamer
จากผลงานภาพวาดโปสเตอร์ขนาดใหญ่ โดย ‘นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล’ ศิลปินไทยเชื้อสายอินเดียจากเชียงใหม่ ซึ่งจัดแสดงอยู่ภายในตึกแถวของ ‘TITAN Project Space’ ถนนนครนอก ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของชุมชนเมืองเก่าสงขลา ตั้งแต่ปี 2016
ภาพคอลลาจขนาดใหญ่ที่ประกอบจากภาพบุคคล องค์ประกอบ และสถาปัตยกรรมของสงขลา ร่วมกับงาน Projection Mapping โดย ‘Yimsamer’ นักสร้างสรรค์งานมัลติมีเดียสมัยใหม่ ฟื้นชีวิตให้กับงานศิลปะชิ้นนี้
‘นครโอเค’ บอกเล่าเรื่องราวจากภาพวาดบนผืนผนัง ร่วมกับเสียงการให้สัมภาษณ์ของบุคคลร่วมสมัย ธุรกิจห้างร้านในท้องถิ่น ร่วมถึงเรื่องราวเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ ในเมืองเก่าสงขลาได้อย่างมีชีวิต เป็นการนำเทคนิคสมัยใหม่มาใช้กับงานแบบดั้งเดิมได้อย่างน่าสนใจและเข้าใจง่าย ทำให้ผู้ชมสามารถเข้าถึงชุมชนเมืองเก่าได้อีกระดับ
Samila Mermaid เรื่องเล่าของนางเงือกแห่งสงขลา
“Samila Mermaid เรื่องเล่าของนางเงือกแห่งสงขลา” ภายใต้โครงการ Livable City Project
ประกอบไปด้วยกิจกรรมมากมาย ได้แก่
– เวิร์คชอปทำว่าวนางเงือก
– นิทรรศการ “ทะเลต้องมนต์ เสียงสะท้อนนางเงือกสงขลาสู่โลก ” เปิดโอกาสให้คนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในการเล่าและต่อยอดตำนานนางเงือกจากรูปปั้นที่ตั้งอยู่ในท้องถิ่น
– Songkhla Mermaid Dance การแสดงรองเง็งโนราร่วมสมัย
“กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ณ สงขลาธรรมชาติอันงดงาม มีอ่าวขนาดใหญ่ที่นางเงือกมักแวะเวียนมาอยู่บ่อยครั้ง ครั้งหนึ่ง นางเงือกได้พบรักกับชาวประมงผู้หนึ่ง เมื่อความรักเบ่งบาน นางเงือกก็ตั้งครรภ์ นางเงือกจึงกลั้นใจขึ้นบกไปหาชาวประมงที่หาดสมิหลา แต่ก็กลัวคนจะมาจับนาง เมื่อเห็นชายจากหมู่บ้านเดินมา นางเงือกจึงกลัวและกลับลงนํ้าไป
นางเงือกตัดสินใจไปคลอดลูกที่หน้าวัดแหลมจาก ในทะเลสาบนํ้าจืดสงขลา นางฝากนกแก้วบินไปหาชาวประมงที่หาดสมิหลา เพื่อรอเฝ้าบอกข่าวแก่ชาวประมงตราบแต่นั้นเป็นต้นมา จนกระทั่งปัจจุบัน นกแก้วจึงอยู่คู่กับหุ่นนางเงือกที่เฝ้ารอบอกข่าวแก่ชาวประมง”
โรแมนติก สงขลา Romantic Songkhla โดย FOS Lighting Design Studio
พระจันทร์ และดอกกุหลาบ ตัวแทนความโรแมนติกได้รังสรรค์พื้นที่ว่างด้วยจินตนาการและความรัก เพิ่มบรรยากาศให้กับเมืองแห่งท้องทะเลและภูเขาแห่งนี้ให้มีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง
จากที่ว่างระหว่างถนนเส้นสำคัญสองเส้น สามารถเกิดเป็นแหล่งกิจกรรมยามค่ำคืนได้ เป็นต้นแบบของการใช้ประโยชน์พื้นที่ว่าง ในขณะเดียวกันก็เป็นทางเดินเชื่อมระหว่างถนนอีกด้วย
microWAVE FILM FESTival – เทศกาลรวมคลื่น~หนังเคลื่อน
เทศกาลหนังที่รวมคลื่นคนทำหนัง เปิดรับทุกคลื่นความถี่ เพื่อผลักดันวงการหนังไทยไปข้างหน้า โดยมีการฉายภาพยนตร์หลากหลายแนวกว่า 30 เรื่อง บนหลายโลเคชั่น ที่มีคาแรกเตอร์พิเศษเฉพาะตัว
• The Shorts หนังสั้นคุณภาพของนักศึกษาจบใหม่ทั่วประเทศ
• The Souths หนังไทยที่ได้รับแรงบันดาลใจจากปักษ์ใต้
• The Specials หนังคัดพิเศษ สะท้อนชีวิต สังคมและธรรมชาติ
Classes – คลาสอัพสกิลนอกห้องเรียน ให้นักทำหนังคลื่นลูกใหม่ที่เข้ารอบกว่า 30 คน
Conversations – พูดคุยเรื่องในและนอกวงการหนังที่หลายคนไม่เคยรู้ กับ speakerในวงการ กว่า 20 คน
Networking – รวมคลื่นคนทำหนัง ทุกความถี่ทั่วไทย
Living Dialogue – นิทรรศการเชิดชูบทหนังปักษ์ใต้ เปิดบทสนทนาระหว่างหนังและผู้คน
Living Cinema – การแสดงเสมือน (ชีวิต) จริง นอกจอหนัง
Sound & Sight Seeing – ท่องเที่ยวเมือง ในมุมมองคนทำหนัง
สถานที่: โรงสีแดง หับโห้หิ้น/ Virung Coffee & Bar/ a.e.y. space
บทความโดย Pradhom, CEA
ภาพโดย CEA, Pradhom
1 Comment
by artofth
ชอบตำนานนางเงือก!