Skip to content Skip to sidebar Skip to footer

หมวกของ Oppenheimer คือหมวกอะไร ?

หลังจากภาพยนตร์ Oppenheimer ได้ประสบความสำเร็จไปทั่วโลก ทั้งในแง่ของบทภาพยนตร์และงานภาพที่สวยงามอลังการ ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพของ Cillian Murphy ใส่สูทตัวโคร่งและสวมหมวกปีกกว้างเป็นอีกหนึ่งภาพจำสำคัญของภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ได้จารึกลงไปในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไปแล้ว

ก่อนหน้านี้เราเคยเล่าเรื่องเกี่ยวกับเครื่องแต่งกายในภาพยนตร์เรื่องนี้กันมาบ้างแล้ว วันนี้เราเลยจะขอเล่าเรื่องเกี่ยวกับที่มารวมไปถึงความแตกต่างระหว่างหมวกสุดเท่ของ Oppenheimer และ หมวกทรงอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกัน หากใครอยากจะใส่ตามจะได้เลือกหากันได้ง่ายขึ้น


หมวกปีกกว้างมีหลายประเภทกว่าที่คิด

หมวกปีกกว้างมีมากมายหลายประเภทมากๆ ซึ่งแต่ละประเภทก็มีทั้งส่วนที่เหมือนและแตกต่างที่ชวนให้สับสนอยู่ ตั้งแต่ รูปทรงของตัวหมวก วัสดุ ขนาดของปีกหมวก จนไปถึง ความอ่อน-แข็งของปีกหมวก หมวกตามที่เห็นในภาพยนตร์ปีกหมวกจะเป็นแบบอ่อนมีขนาดกว้างแต่ไม่กว้างมากซึ่งมันก็จะมีหมวกที่คล้ายๆแบบนั้นอยู่หลายทรง เช่น ปานามา เฟโดรา และ พอร์คพาย

และถ้ามองกันจริงๆแล้วหมวกที่ Cillian Murphy ใส่ในภาพยนตร์กับหมวกที่ Oppenheimer ตัวจริงชอบใส่ให้เห็นตามสื่อต่างๆ ก็อาจเป็นคนละทรงกัน เพราะตัวหมวกในภาพยนตร์จะมีความสูงกว่า เพียงความต่างแค่นี้ก็ทำให้กลายเป็นหมวกคนละทรงแล้ว


1. หมวกทรงปานามา ที่ไม่ได้มาจากประเทศปานามา

เริ่มจากหมวกที่คงคุ้นชื่อกันมากที่สุดในบรรดาหมวกที่จะเล่ากันในวันนี้อย่าง “หมวกทรงปานามา” กันก่อน หมวกปานามาเป็นหมวกทรงกลม ปีกกว้างเล็กน้อยถึงปานกลาง ขอบอ่อน ด้านหน้าบุ๋มทั้งสองฝั่งเล็กน้อย ถ้าพูดกันแค่นี้ลักษณะโดยรวมก็เหมือนกับหมวกของ Oppenheimer แต่สิ่งที่ทำให้แตกต่างชัดๆเลยก็คือ “วัสดุ” เพราะ หมวกปานามาทำมาจากเส้นใยพืช พวกฟาง หรือ ใบต้นปาล์ม ในขณะที่หมวกจากภาพยนตร์และตัวจริงใส่นั้นทำมาจาก ผ้าวูล (ผ้าที่ถูกทอมาจากขนสัตว์

เรื่องที่คนเข้าใจผิดมากที่สุดกับหมวกทรงนี้ก็คือ หมวกปานามามาจากประเทศปานามา ทั้งที่จริงๆแล้วหมวกทรงนี้มีที่มาจากประเทศเอกวาดอร์ต่างหาก ส่วนชื่อจริงๆ ของหมวกทรงนี้ก็มีหลายชื่อตามแต่ละพื้นที่ในอเมริกาใต้และอเมริกากลาง เช่น Jipijapa, Toquilla หรือ Montecristi hats ซึ่งก็มาจากชื่อของพื้นที่หรือชนิดของพืชที่เอามาสานและชื่อพวกนี้ก็ยังคงใช้อยู่ในพื้นที่ เพราะฉะนั้นก็อย่าไปเผลอเรียกหมวกปานามาในเอกวาดอร์ เพราะเขาอาจไม่ค่อยชอบกัน

ประสบความสำเร็จจากการอยู่ถูกที่ถูกเวลา

หมวกปานามาปรากฎในบันทึกครั้งแรกตอนที่สเปนได้เข้าไปสำรวจในอเมริกาใต้ (พื้นที่ประเทศเอกวาดอร์ในปัจจุบัน) ในช่วงศตวรรษที่ 16 โดยเป็นหมวกที่ชนพื้นเมืองสวมใส่ซึ่งทำมาจากใบปาล์ม Toquilla

ต่อมาในศตวรรษที่ 17 ชาวเอกวาดอร์ชื่อ Manuel Alfaro ก็เห็นช่องทางทำเงินจากหมวกชนิดนี้ด้วยการส่งเข้าไปขายที่ปานามาเพราะในช่วงนั้นเป็นยุคตื่นทองทำให้มีคนมากมายที่ทำงานเกี่ยวกับงานขุดเหมืองทองหลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก

ด้วยความสวยงาม น้ำหนักเบา ระบายอากาศ และป้องกันแสงแดดได้ดี ทำให้หมวกทรงนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากในศตวรรษที่ 18 ทั้งเหล่าคนที่มาทำงานเหมืองในปานามารวมไปถึงชาวอเมริกันที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่และเริ่มเรียกหมวกทรงนี้ว่า หมวกทรงปานามา ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

จากการเดินทางที่ยาวนานท่ามกลางอากาศร้อนทำให้หมวกทรงนี้เป็นที่นิยมใส่ระหว่างเดินทางไปกลับระหว่างอเมริกากลางและใต้เข้าสู่แคลิฟอร์เนียทำให้หมวกทรงนี้ได้เริ่มเข้าสู่สหรัฐอเมริกาบริเวณชายฝั่งเวสต์โคสต์และโด่งดังอีกครั้งจากภาพถ่ายของ New York Times ที่ประธานาธิบดี รูสเวลต์ ของสหรัฐอเมริกามาเยี่ยมชมโครงการก่อสร้างคลองปานามาในปี 1906 จนค่อยๆเป็นที่นิยมเป็นวงกว้างในสหรัฐและกลายเป็นชื่อเรียกไปทั่วโลกในที่สุด


2. หมวกเฟโดรา ที่เคยเป็นหมวกของผู้หญิง

ต่อมาเป็นหมวกอีกหนึ่งชนิดที่เราเคยเห็นกันจนคุ้นตาตามภาพยนตร์มาเฟียอเมริกันยุคเก่าๆ ที่อาจไม่รู้จักชื่อกันอย่าง “หมวกเฟโดรา” ภาพรวมของหมวกเฟโดราก็จะคล้ายๆกับหมวกปานามา ทรงกลม ปีกกว้างเล็กน้อยถึงปานกลาง ขอบอ่อน แต่แตกต่างกันตรงวัสดุที่จะใช้จะเป็น “ผ้าวูล” ซึ่งหมวกทรงนี้นี่เองที่คนมักเข้าใจผิดว่าเป็นหมวกที่ใช้ในภาพยนตร์ Oppenheimer ถึงภาพจำของหมวกทรงนี้จะเป็นหมวกเท่ๆที่ผู้ชายใส่กันแต่รู้หรือไม่ว่าจริงๆ แล้วมันเคยเป็นหมวกของผู้หญิงมาก่อน

หมวกเฟโดราเกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 โดยนักเขียนบทละครเวทีชาวฝรั่งเศส Victorien Sardou ซึ่งมาจากหมวกที่ตัวละครหลักของเขาใส่บนเวที ส่วนชื่อทรงหมวกก็มาจากชื่อ Fedora Romanoff ที่เป็นชื่อของตัวละครหญิงตัวนั้นนั่นเอง

หลังจากนั้นได้ไม่นานหมวกทรงนี้ก็เป็นที่นิยมขึ้นในหมู่ผู้หญิง เพราะเป็นช่วงที่ผู้หญิงกำลังหาหมวกที่สามารถใช้งานกันแดดกันฝนได้จริง เป็นทางเลือกอื่นนอกจาก Bonnet (หมวกทรงฝาชีที่มีผ้าเชือกผูกใต้คาง) และ หมวกปีกกว้างประดับประดาแบบยุควิคตอเรีย เพราะความคงทน ความคล่องตัว ทั้งหมดนั้นเองที่ทำให้หมวกนี้เป็นที่นิยมมากในหมู่นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีในยุคนั้น

กลายเป็นหมวกของผู้ชายทั่วโลก


ในปี 1924 เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดจากประเทศอังกฤษได้เริ่มที่จะใส่หมวกเฟโดราแทนหมวกทรงโบวเลอร์ที่เป็นหมวกปีกสั้นทรงกลมแข็งๆ และมันก็ค่อยๆได้รับความนิยมขึ้นโดยเฉพาะในเขตเมือง ทั้งความสวยงามและฟังชั่นการป้องกันสภาพอากาศที่แปรปรวนของอังกฤษ ทำให้หมวกทรงนี้กลายเป็นหนึ่งของแฟชั่นผู้ชายอังกฤษในที่สุด

ช่วงเวลาเดียวกันในสหรัฐอเมริกา หมวกเฟโดราก็ได้รับความนิยมอย่างมากเช่นกัน โดยเฉพาะในหมู่แก๊งมาเฟียที่กำลังเรืองอำนาจจากกิจการใต้ดินต่างๆ ในยุคที่อเมริกาแบนเหล้า ห้ามผลิต ขนส่ง และ ค้าขาย เช่นเดียวกับศิลปิน นักแสดง และนักดนตรีเพลงแจ๊สที่มักใส่แสดงบนเวที

ส่วนการที่เทรนด์การใส่หมวกทรงนี้เป็นที่แพร่หลายทั่วอเมริกาและทั่วโลกนั้นมาจากอุตสาหกรรมภาพยนตร์ คอสตูมของนักแสดงชายส่วนใหญ่ในยุคนั้นมักจะใส่หมวกทรงนี้เพื่อสื่อถึงความแข็งแกร่งและมีรสนิยม ในยุคที่เรียกได้ว่าเป็นยุคทองของฮอลลีวูดทำให้เทรนด์แฟชั่นนี้กระจายไปทั่วโลก

และเมื่อเวลาผ่านไปภาพยนตร์เหล่านั้นก็ได้กลายเป็นผลงานคลาสสิคทำให้หมวกเฟโดราก็กลายเป็นหนึ่งในไอเทมแฟชั่นคลาสสิคไปโดยปริยาย


หมวกพอร์คพาย หมวกของ Oppenheimer

หมวกทรงพอร์คพาย” โดยรวมจะมีความคล้ายกับหมวกเฟโดราทั้งขนาดและความอ่อนของปีกหมวก คล้ายจนคนเข้าใจผิดว่าถูกใช้ในภาพยนตร์ Oppenheimer แต่ก็มีความแตกต่างที่สังเกตุได้ง่ายก็คือ ตัวหมวกจะมีความเตี้ยกว่า รอยบุ๋มจะน้อยมากหรือไม่มีเลยและที่ชัดเจนที่สุดคือด้านบนจะแบน ส่วนเรื่องวัสดุนั้นหมวกทรงนี้จะมีความหลากหลายมาก ตั้งแต่วูลเหมือนเฟโดราจนไปถึงเส้นใยพืชแบบปานามา

ที่มาของชื่อ “พอร์คพาย” มาจากรูปร่างหน้าตาที่คล้ายกับพายหมูอาหารของประเทศอังกฤษที่มีหน้าเรียบแล้วยกขอบขึ้นมา แต่ก็มีคนเรียกอีกแบบว่า “English Pasty Hat” ส่วนเรื่องที่ทำไมคนถึงเปรียบเทียบจนกลายเป็นชื่อนั้นคาดว่ามาจากการที่ยุคนั้นจะมีร้านเบเกอรี่กระจายอยู่ทุกชุมชนแล้วการที่คนทั่วไปเห็นเป็นประจำนี้เองทำให้คนเริ่มเปรียบเทียบและเรียกกัน

หมวกที่ใส่ในภาพยนตร์ถูกออกแบบขึ้นมาใหม่โดยทีมเสื้อผ้าของภาพยนตร์ โดยเก็บความสูงและความกว้างของปีกหมวกแบบเฟโดราไว้ แต่เอาความบุ๋มบนตัวหมวกออก ส่วนเหตุผลที่ผู้กำกับเลือกใช้ความสูงแบบหมวกเฟโดราแทนคาดว่าเป็นเพราะหมวกพอร์คพายจริงๆแล้วถูกออกแบบมาเพื่อไม่ให้คนที่สูงอยู่แล้วดูสูงเกินไป

ซึ่ง Cillian Murphy ที่เป็นนักแสดงนั้นตัวเล็กกว่า Oppenheimer ตัวจริง ผู้กำกับจึงเลือกให้ใส่หมวกที่พัฒนาขึ้นใหม่จากทรงเฟโดราเป็นหมวกหลักแทนทรงพอร์คพายจริงๆ มากกว่า


ความคลาสสิคของหมวกพอร์คพายที่ไม่เคยหายไปจากประวัติศาสตร์วงการมายา

หมวกทรงนี้เกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงปี 1830 เป็นที่นิยมทั้งในอังกฤษ และ สหรัฐอเมริกา โดยเริ่มจากเป็นหมวกของผู้หญิงก่อนที่จะมีเป็นของผู้ชาย ซึ่งขอบจะมีทั้งแบบม้วนกับแบบเรียบ มีคาดริบบิ้น ผูกโบว์ หรือ เหน็บขนนกที่ตัวหมวกบ้าง และในอดีตนั้นผู้หญิงจะนิยมสวมหมวกพอร์คพายเล็กๆไว้บนของตกแต่งบนหัวอีกทีเพื่อเพิ่มความสวยงาม

หลังจากที่หมวกนี้เริ่มเสื่อมความนิยมลงจนมาถึงช่วงปี 1920 หมวกทรงพอร์คพายก็กลับมาเป็นกระแสอีกครั้งในสหรัฐอเมริกาโดย Buster Keaton นักแสดงภาพยนตร์เงียบที่ใส่หมวกพอร์คพายในภาพยนตร์ที่เค้าเล่นเกือบทุกเรื่อง เขาถึงขั้นดัดแปลงหมวกเฟโดราและหมวกทรงอื่นๆให้มาเป็นหมวกทรงพอร์คพายและเปลี่ยนโฉมปรับแต่งหมวกทรงนี้มากกว่าหนึ่งพันใบตลอดชีวิตของเขา

หมวกพอร์คพายเสื่อมความนิยมทั่วโลกอีกครั้งหลังจากจบสงครามโลกครั้งที่สอง แต่เหล่านักดนตรีชาวแอฟริกันอเมริกันก็ยังคงนิยมใส่กันอยู่ เช่น ในวงดนตรีแจ๊ส และ บลู ในช่วงปี 1951-1955 หมวกทรงนี้ยังคงปรากฎอยู่ในหน้าจอทีวีอยู่บ้างทั้งในซิทคอมและรายการทีวี แต่ถ้าใครในยุคนั้นที่ใส่หมวกทรงนี้แล้วเป็นที่นิยมมากที่สุดก็คงจะเป็นเจ้าหมีโยกี้แบร์ ที่เป็นตัวการ์ตูนนั่นเอง

ในยุคปัจจุบัน หมวกพอร์คพายก็ยังเป็นหนึ่งในหมวกคลาสสิคสัญลักษณ์ของยุค 1930-1940 หรือ แนวเพลงแจ๊ส เพลงบลู และยังคงปรากฏในภาพยนตร์ หรือ ซีรีย์ต่างๆอยู่ เช่น ไฮเซนเบิร์ก จากเรื่อง Breaking Bad


เขียนโดย รวีศิลป์ อัศวกิตติประภา

© 2021 Art of. All rights reserved.

  083-138-5607
contact@artofth.com

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save