22476Views
ทำไม “เก้าอี้เลคเชอร์” ถึงยิ่งนั่งยิ่งเมื่อย ?
หากจะมีเก้าอี้ในความทรงจำของทุกคนซักตัว ก็เชื่อได้ว่าจะมี “เก้าอี้เลคเชอร์” ติดอยู่ในอันดับต้นๆอย่างแน่นอน ตั้งแต่ภาพที่ชัดเจนที่สุดอย่างในห้องเรียนจนไปถึงโรงพยาบาลหรือสถานที่ราชการต่างๆ เก้าอี้ที่ขึ้นชื่อว่ายิ่งนั่งยิ่งเมื่อยจนอยากสาปคนออกแบบ!
แต่จะมีซักกี่คนที่รู้ว่า เจ้าเก้าอี้ที่ดูแข็งๆ มีขาเหล็กเย็นๆ ที่มาพร้อมกันโต๊ะไม้พับได้ตัวนี้ ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อการเรียนตั้งแต่แรก และยิ่งไปกว่านั้นเก้าอี้ตัวนี้ถูกออกแบบโดยหนึ่งในนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ระดับโลกอย่าง Charles Eames อีกด้วย
วันนี้ Art of เลยจะมาเล่าเรื่องที่มาของ “เก้าอี้เลคเชอร์” เก้าอี้แห่งความทรงจำวัยเรียน ที่ทำให้เราทั้งปวดหลัง เมื่อยตัว ตลอดการเรียนและไม่เรียนของเรากัน
เริ่มต้นจากชื่อ DSS Chair
ผลงานจากงานประกวดก่อนจะเป็นเก้าอี้เลคเชอร์ที่เรานั่งกัน มันเคยเป็นเก้าอี้ตัวเปล่าๆ มาก่อน โดยเป็นผลงานของคู่สามีภรรยานักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ชื่อดัง Charles และ Ray Eames เจ้าของผลงาน DSR Chair และ Lounge Chair and Ottoman ที่ทุกคนคงเคยเห็นตามร้านกาแฟ หรือ ซีนในซีรีส์ หรือภาพยนตร์
ซึ่งเก้าอี้ตัวนี้เป็นหนึ่งในผลงานการประกวดเฟอร์นิเจอร์ต้นทุนต่ำที่จัดโดย The Museum of Modern Art หรือ MoMA ที่นิวยอร์ก ในปี 1948 เก้าอี้ตัวนี้มีชื่อว่า “DSS Chair” ซึ่งย่อมาจาก Dining Height (D), Side Chair (S) บน Stacking Base (S) และถูกออกแบบมาเพื่อใช้นั่งรับประทานอาหารตามชื่อเลย แต่ด้วยคุณสมบัติหลายๆด้านทำให้เก้าอี้ตัวนี้ถูกนำไปใช้ในงานที่หลากหลาย
ส่งผลให้ Herman Miller บริษัทผู้ผลิตมียอดขายถล่มทลายทั้งจาก โรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล สนามกีฬา สถานที่ราชการ และ อื่นๆ อีกมากมาย จนถูกยกให้เป็นเก้าอี้สำหรับหน่วยงานที่ยอดนิยมที่สุด
ต้นแบบของงานออกแบบเก้าอี้สมัยใหม่
เนื่องจากว่าเป็นงานประกวดเฟอร์นิเจอร์ต้นทุนต่ำ ทำให้ผลงานหลายๆชิ้นในเวลานั้นมักถูกทำด้วยพลาสติก เพราะจุดเด่นในเรื่องของความคงทนต่อสภาพแวดล้อมและสามารถผลิตได้เร็วในปริมาณมากๆ
ถึงแม้ DSS Chair จะไม่ได้เป็นผลงานชิ้นเดียวที่ทำมาจากพลาสติกในปีนั้น แต่นี่เป็นเก้าอี้ตัวแรกที่ใช้เส้นใยไฟเบอร์กลาสเพื่อเสริมความแข็งแกร่งและตั้งใจโชว์เพื่อความสวยงาม
หากสังเกตดูดีๆ ก็จะเห็นเส้นใยอยู่บนพื้นผิวของเก้าอี้ที่นอกจากจะดูสวยงามแปลกตาแล้วก็ยังมีความแข็งแรงคงทนกว่าเก้าอี้พลาสติกทั่วไปในยุคนั้น นอกเหนือไปกว่ารูปทรงของเก้าอี้ที่เข้ากับสรีระที่ทำให้นั่งสบายแล้ว ตัวขาเก้าอี้ก็ได้รับการออกแบบให้สามารถเกี่ยวกันได้ เพื่อให้ง่ายต่อการเรียงแถวเวลาใช้งานและตั้งซ้อนได้เวลาเก็บ
เก้าอี้รุ่นนี้มีสีที่หลากหลายทั้งสีพื้นฐาน สีที่สั่งทำพิเศษเพื่อลูกค้าโดยเฉพาะ และยิ่งไปกว่านั้นยังสามารถสั่งทำเบาะรองเสริมเพื่อเล่นคู่สีได้อีกด้วย จากยอดขายที่มากมายทำให้เก้าอี้ทรงนี้กลายเป็นหนึ่งในต้นแบบของเก้าอี้สมัยใหม่ที่คนเห็นก็ต้องจำได้ในทันที
ถูกต่อยอดจนกลายเป็นเก้าอี้เลคเชอร์
ด้วยความสำเร็จอย่างสูงของ DSS Chair ทำให้ดีไซน์นี้ถูกต่อยอดเป็นหลายๆรุ่น ตั้งแต่ DSS-N ที่เป็นรุ่นแบบไม่มีขอเกี่ยวกัน รุ่น 0716 ที่มีที่วางแขน รุ่น 0717 ที่เป็นแบบเก้าอี้เปล่าๆแต่สามารถเพิ่มโต๊ะเพิ่มที่วางแขนได้ภายหลัง
แต่รุ่นที่เราจะคุ้นเคยมากที่สุดก็คงจะเป็น DSS-TA รุ่นโต๊ะพับได้ และ 0715 รุ่นโต๊ะพับไม่ได้ ซึ่งก็คือชื่อจริงๆของ “เก้าอี้เลคเชอร์” นั่นเอง เก้าอี้ DSS-TA รหัส TA ที่เพิ่มขึ้นมาย่อมาจาก Tablet arm หรือก็คือแขนเก้าอี้ที่เป็นโต๊ะได้ ส่วนฟังชั่นที่เกี่ยวกันเพื่อจัดแถวและตั้งซ้อนได้ยังอยู่เหมือนเดิม ตัวโต๊ะที่เป็นที่วางแขนด้วยทำมาจากไม้อัดซ้อนกันและปิดผิวด้วยแผ่นลามิเนต
ด้วยองศาที่เอียงเข้าตัวเล็กน้อยทำให้เขียนได้สะดวกขึ้น แต่นั่นก็ทำให้ไม่เหมาะกับจะวางของกินหรือเครื่องดื่มสักเท่าไหร่ เก้าอี้รุ่นนี้เป็นที่นิยมอย่างมากเช่นเดียวกับรุ่นดั้งเดิมโดยเฉพาะอย่างยิ่งตามโรงเรียนและมหาวิทยาลัย เพราะการรวมเก้าอี้และโต๊ะมาไว้ด้วยกันทำให้ประหยัดพื้นที่ ยกย้ายได้ง่าย
เวลาจะจัดกิจกรรมตามที่ต่างๆหรืองานรวมกลุ่มกันชั่วคราวก็ยกเก้าอี้ไป และเวลาไม่ใช้งานแล้วก็ยกซ้อนเก็บ ซึ่งก็มีการออกแบบฐานรถเข็นสำหรับตั้งเก้าอี้ด้วยเพื่อให้เคลื่อนย้ายทั้งแถวได้สะดวกยิ่งขึ้น
ได้รับการออกแบบอย่างดีแต่ทำไมนั่งไม่สบาย ?
ถึงแม้ตัวที่นั่งจะถูกออกแบบให้รับสรีระมาอย่างดี แต่พอมารวมกับโต๊ะแล้วทำไมมันถึงปวดเมื่อยได้ขนาดนั้น เหตุผลรวมๆก็เพราะเก้าอี้ตัวนี้ไม่ได้ตั้งใจออกแบบให้ใช้เป็นเก้าอี้สำหรับการเรียนตั้งแต่แรกและชัดเจนว่าไม่ได้เป็นผลงานที่ออกแบบสำหรับทุกคน (Universal Design) ทั้งคนถนัดซ้ายเขียนได้ลำบาก หรือ คนตัวใหญ่ที่ต้องเบียดตัวเองเข้าไปนั่ง
ตัวโต๊ะที่มีขนาดเล็กและกว้างไม่ถึงกึ่งกลางเก้าอี้บังคับให้ต้องนั่งบิดตัวและเอียงตัวไปทางขวาเข้าหาโต๊ะ ทำให้เวลานั่งน้ำหนักเทไปทางฝั่งขวาฝั่งเดียวแทนที่จะนั่งหน้าตรงและกระจายน้ำหนักเท่าๆกัน เมื่อรวมกับที่พักแขนที่จะดันตัวช่วงบนฝั่งขวาขึ้น
ส่งผลให้กระดูกสันหลังเบี้ยวไปจากแกนกลางลำตัวส่งผลเราปวดหลังจากที่เรานั่งเป็นเวลานานๆ ส่วนเรื่องที่ทำไมเราถึงเมื่อยคอและท้ายทอยนั่นก็เพราะเราต้องหันไปมองกระดาษที่อยู่ทางด้านขวาตลอดนั่นเอง
เขียนโดย รวีศิลป์ อัศวกิตติประภา
source:
https://eames.com/en/dss
https://www.eamesinstitute.org/collection/artifacts/dss-3/
https://collections.vam.ac.uk/item/O181097/dss-stacking-chair-eames-charles/
https://www.eamesinstitute.org/collection/artifacts/dss-ta/
https://www.antibeige.de/invest-in-education-2/