Skip to content Skip to sidebar Skip to footer

Le Corbusier สถาปนิกผู้เชื่อมคณิตศาสตร์ให้เข้ากับความเป็นธรรมชาติของมนุษย์

อีกหนึ่งในชื่อที่สถาปนิกหลายคนต้องรู้จัก ผู้ปฏิวัติวงการสถาปัตยกรรม และการวางผังเมืองในศตวรรษที่ 20 ก็คือ ‘Le Corbusier’ (เลอ กอร์บูซิเย) นั่นเอง ผู้ที่ได้ฝากมรดกอันยิ่งใหญ่มากมายให้แก่โลกการออกแบบ

ทั้งจากบทบาทสถาปนิก นักออกแบบ ศิลปิน และนักเขียน ผู้บัญญัติหลักการ 5 ประการของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ที่ได้เปลี่ยนโฉมแนวคิดการออกแบบที่มีต่อแสง พื้นที่ และความกลมกลืนไปกับธรรมชาติ

ในวันนี้ Art of ก็จะมาเล่าเรื่องชีวิต และเบื้องหลังผลงานของ Le Corbusier หนึ่งในสถาปนิกผู้ยิ่งใหญ่ นักปฏิวัติแห่งวงการสถาปัตยกรรม นักออกแบบประจำเดือนนี้ในซีรี่ส์ Designer of the month กันเลย


ลูกหลานแห่งเมืองนาฬิกา ความละเอียดแม่นยำที่มาพร้อมกับความสวยงาม

Le Corbusier (เลอ กอร์บูซิเย) หรือ ชื่อจริง Charles-Édouard Jeanneret-Gris (ชาร์ล เอดัวร์ ฌานแร กรี) เกิดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ปี 1887 ในเมือง La Chaux-de-Fonds แคว้น Neuchâtel ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตนาฬิกาที่มีความเที่ยงตรงสูงของโลกมาตั้งแต่ยุคศตวรรษที่ 18 โดยพ่อของเขาทำงานเป็นช่างเคลือบลงยานาฬิกา แม่เป็นครูสอนเปียโน ส่วนพี่ชายของเขาเป็นนักไวโอลิน

ชื่อของ เลอ กอร์บูซิเย มีที่มาจากนามสกุลของบรรพบุรุษชาวเบลเยียม Lecorbésier (เลอกอร์เบซีเย) ซึ่งเขาได้นำมาใช้เป็นชื่อเล่นในตอนที่เขาโตขึ้น

ตั้งแต่ที่เขาอายุ 13 กอร์บูซิเยก็ได้เข้าไปเรียนรู้วิธีการลงยา และแกะสลักหน้าปัดนาฬิกาในบริษัทที่พ่อทำงาน  ซึ่งเขาได้กล่าวภายหลังว่าการเติบโตในเมืองแห่งนาฬิกานี้ได้ปลูกฝังเรื่องความถูกต้องเที่ยงตรงลงไปในตัวของเขา ต่อมาหลังจากที่เขาอายุ 15 ปี กอร์บูซิเยก็ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนศิลปะประจำเมืองที่เน้นสอนเกี่ยวกับศิลปะประยุกต์ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตนาฬิกา

3 ปีหลังจากนั้นเขาก็เข้าเรียนต่อหลักสูตรการตกแต่งขั้นสูงในสถาบันที่ก่อตั้งโดยจิตรกร Charles L’Eplattenier และ เช่นเดียวกับสถาปนิกร่วมยุคกับเขาอย่าง Frank Lloyd Wright และ Mies van der Rohe ที่ไม่ได้ตั้งใจจะเป็นสถาปนิกตั้งแต่แรก กอร์บูซิเยให้ความสนใจทางด้านทัศนศิลป์มากกว่า

เขาได้เรียนรู้เกี่ยวกับการวาดภาพ ประวัติศาสตร์ศิลป์ และสุนทรียศาสตร์ต่างๆ ก่อนที่จะได้รับคำแนะนำจาก L’Eplattenier ที่เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนให้ลองเรียนด้านสถาปัตยกรรมดู


จากห้องสมุดสู่การเดินทางรอบยุโรป

กอร์บูซิเยได้เรียนด้านสถาปัตยกรรมจาก René Chapallaz ที่สถาบันเดียวกันตามคำแนะนำ ถึงแม้ว่าในตอนแรกเขาจะกลัวงานทางด้านนี้มากแต่เขาก็เชื่อในวิสัยทัศน์ของอาจารย์ และก้าวเท้าเข้าสู่วงการสถาปัตยกรรมตอนที่อายุได้ 16 ปี 

เขาเริ่มศึกษาเกี่ยวกับด้านสถาปัตยกรรมจากห้องสมุด ไปเดินพิพิธภัณฑ์ต่างๆ และร่างแบบก่อสร้างอาคาร ก่อนที่ในปี 1905 เขาและเพื่อนนักเรียนอีก 2 คนจะได้ร่วมกันออกแบบ และสร้างบ้านหลังแรกให้กับเพื่อนของอาจารย์

กอร์บูซิเยก็ได้เริ่มออกหาประสบการณ์นอกประเทศทั่วยุโรป ทั้งฮังการี ออสเตรีย และอิตาลี ในปี 1907 เขาได้สัมผัสกับความประทับใจไม่รู้ลืมจาก Florence Charterhouse จนถึงขั้นเขียนไว้ในบันทึกว่านี่เป็นวิธีการออกแบบเพื่อแก้ปัญหาสำหรับบ้านพักคนงานที่น่าสนใจมากจนกอร์บูซิเยเรียกว่านี่คือสวรรค์บนดินสำหรับคนงานเลยทีเดียว

หลังจากนั้นกอร์บูซิเยได้เดินทางไปปารีส และได้ทำงานเป็นมือเขียนแบบให้กับบริษัทของ Auguste Perret ผู้บุกเบิกการใช้คอนกรีตเสริมเหล็กสำหรับบ้านพักอาศัยทั่วไป และสถาปนิกผู้ออกแบบ Théâtre des Champs-Élysées หนึ่งในแลนด์มาร์กของงานสไตล์อาร์ตเดโคในยุโรป

ต่อมาในปี 1910 เขาก็เดินทางอีกครั้งไปที่เยอรมนี โดยทำงานให้กับ Peter Behrens ซึ่งเขาได้ทำงานร่วมกับ Mies van der Rohe และ Walter Gropius ที่กำลังทำงานอยู่ที่นี่ในเวลานั้นเช่นกัน


ศิลปิน นักเขียน และสถาปนิกผู้(ไม่เน้น)ทำงานสถาปัตยกรรม

กอร์บูซิเยย้ายมาอยู่ปารีสอย่างถาวรเมื่อปี 1917 แต่ว่าเขาไม่ได้ทำงานด้านสถาปัตยกรรมเลยในช่วงแรก เขาใช้เวลาช่วงนั้นในการวาดภาพแนว Purism งานศิลปะสไตล์ใหม่ที่เขาเริ่มต้นร่วมกับศิลปิน Amédée Ozenfant โดยปฏิเสธแนวความคิด Cubism ที่รังสรรค์ความงามผ่านรูปทรงเรขาคณิต ซึ่งพวกเขามองว่ามันไร้เหตุผล และขาดความโรแมนติก

หลังจากนั้นในปี 1922 กอร์บูซิเยก็กลับมาโฟกัสที่งานสถาปัตยกรรมอีกครั้งโดยทำร่วมกับลูกพี่ลูกน้อง Pierre Jeanneret  เขาทุ่มเทอย่างมากในแนวคิดเกี่ยวกับงานสถาปัตยกรรมในอนาคต

กอร์บูซิเยได้นำเสนอต้นแบบเมืองสมัยใหม่ในงาน Paris Salon d’Automne โดยคิดจากความเป็นไปได้ของปัญหาที่อาจเกิด เช่น เรื่องความแออัดจากประชากรที่เพิ่มขึ้น โดยประกอบไปด้วยกลุ่มอพาร์ตเมนต์สูง 60 ชั้น ที่มีอาคารซิกแซกขนาดเล็กกว่าล้อมรอบ และสวนขนาดใหญ่ ซึ่งถึงแม้ว่าเมืองนี้จะไม่ได้สร้างแต่ว่าในภายหลังนี่เป็นหนึ่งในตัวอย่างสำคัญของการวางผังเมืองสมัยใหม่

กอร์บูซิเยรวบรวมบทความที่เขาเขียนลงใน L’Esprit Nouveau นิตยสารที่เขาก่อตั้งร่วมกับ Ozenfant มาเป็นหนังสือ เล่มแรกคือ Toward an Architecture (1920-1923) ซึ่งเกี่ยวกับการทดลองแนวคิดต่างๆ เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมสมัยใหม่

ส่วนอีกเล่มคือ The Decorative Art of Today (1925) ที่เกี่ยวกับความคิดเห็นที่เขามีต่องานตกแต่งในยุคนั้น ซึ่งเค้าเห็นว่ามันพยายามจะเป็นงานศิลปะจนบิดเบือนจิตวิญญาณของวัตถุ เขามองว่าในอนาคตข้าวของศิลปะตกแต่งจะเป็นของที่มีประโยชน์ใช้สอยให้ชีวิตสะดวกสบายมากขึ้น และยังสามารถทำให้คนรู้สึกพึงพอใจด้วยความงามที่บริสุทธิ์


Villa Savoye และหลัก 5 ประการของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่

ผลงานของกอร์บูซิเย สามารถแบ่งเป็น 2 ช่วงใหญ่ๆ คือ ก่อน และหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงแรกในปี 1927 เขาได้กำหนดหลักการ 5 ประการของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ขึ้นมาซึ่งเน้นไปที่ประสิทธิภาพการใช้พื้นที่ 

เขานำความคิดนั้นมาประยุกต์ใช้เป็นรูปธรรมในหนึ่งในผลงานคลาสสิคตลอดกาลของเขาอย่าง “Villa Savoye” (1928-1931) บ้านพักตากอากาศของตระกูล Savoye ในย่านชานเมืองปารีส ตามหลักที่เขาคิดขึ้นดังนี้

  1. เสา – Villa Savoye สร้างบนเสาคอนกรีตเสริมเหล็กที่ยกส่วนพื้นที่ใช้สอยหลักขึ้นเหนือจากพื้นดิน โดยการทำแบบนี้จะทำให้แสง และลมเข้าสู่ชั้นล่างได้สะดวก ลดพื้นที่ที่ตัวอาคารสัมผัสกับพื้นดินซึ่งทำให้ลดความชื้นที่จะเข้าสู่ตัวอาคารได้เป็นอย่างดี และพื้นที่ที่เปิดโล่งนี้ยังสามารถใช้ประโยชน์ใช้สอยได้อย่างอิสระอีกด้วย
  2. หลังคาแบบเรียบ – แทนที่จะใช้หลังคาเฉียงๆ เหมือนในอดีต กอร์บูซิเยได้ทำให้พื้นที่หลังคานี้สามารถใช้ประโยชน์ได้ ทั้งอาจเป็นสวน เป็นพื้นที่เดินเล่น หรือ จะเป็นสระว่ายน้ำเลยก็ยังได้
  3. ผังพื้นแบบอิสระ – เนื่องจาก Villa Savoye ใช้เสาแทนที่ผนังรับน้ำหนักทำให้การกำหนดพื้นที่ใช้สอยของอาคารไม่ถูกจำกัดด้วยโครงสร้าง การวางผนังทั้งหมดสามารถเป็นไปได้ทุกที่ หรือ จะปล่อยพื้นที่เปิดไว้กว้างๆ เลยก็ได้
  4. หน้าต่างแนวยาวแบบริบบิ้น – อีกหนึ่งประโยชน์ของการใช้เสารับน้ำหนักแทนที่ผนังก็คือ การที่สามารถทำหน้าต่างได้รอบอาคารโดยไม่มีผนังเต็มมากั้นทำให้ทุกห้องได้รับแสงอย่างเต็มที่ ทำให้มองเห็นทัศนียภาพได้อย่างเต็มตา และช่วยเชื่อมโยงพื้นที่ภายนอก และภายในได้เป็นอย่างดี
  5. ผนังด้านนอกอาคาร – จากการที่เสาทำหน้าที่รับน้ำหนักทั้งหมดของตัวอาคารทำให้ผนังด้านนอกอาคารสามารถออกแบบได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องคิดถึงเรื่องโครงสร้าง เช่น สามารถใช้ผนังเป็นกระจกแบบที่มีกรอบบางๆ ได้ เพราะว่าไม่จำเป็นต้องมีคาน หรือ โครงสร้างใดๆ รอบหน้าต่างมาทำหน้าที่รับน้ำหนักไปนั่นเอง

Architectural Promenade เพราะ การเดิน คือ การสัมผัสงานสถาปัตยกรรมที่ดีที่สุด

อีกหนึ่งแนวคิดที่กอร์บูซิเยนำมาใช้ในการออกแบบ Villa Savoye ก็คือ Architectural Promenade แปลแบบตรงๆ ก็คือ “ทางเดินสถาปัตยกรรม” เขาได้นำแนวคิดนี้มาจากงานสถาปัตยกรรมแถบอาหรับที่มักจะมีโถงทางเดินอยู่รอบอาคาร โดยเขาเคยกล่าวไว้ว่า “เราจะสัมผัสและชื่นชมสถาปัตยกรรมได้ดีที่สุดจากการเดิน

ด้วยเหตุนี้เองทำให้ Villa Savoye มีการออกแบบ และจัดวางการเดินจากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่งหลากหลายแบบ ที่ทั้งน่าทึ่งและคาดไม่ถึง ตั้งแต่ทางเดินภายในบ้านไปจนถึงดาดฟ้า เพื่อทำให้คนที่อยู่อาศัยได้สัมผัสถึงพื้นที่ และผลงานสถาปัตยกรรมแห่งนี้ที่เชื่อมพื้นที่ภายนอก และภายในเข้าหากันได้อย่างแท้จริงตามความตั้งใจของผู้ออกแบบ


เมื่อร่างกายกลายเป็นมาตรฐาน Modulor ระเบียบทางคณิตศาสตร์

ในปี 1948 อีกหนึ่งแนวคิดที่กอร์บูซิเยคิดค้นขึ้น และส่งผลต่อวงการสถาปัตยกรรมมาจนถึงปัจจุบันก็คือ “Modulor” มาตรฐานสัดส่วนของมนุษย์กับสถาปัตยกรรม ซึ่งต่อมาเขาได้ใช้ระบบนี้มาเป็นจุดศูนย์กลางในการสร้างสรรค์งานออกแบบของตัวเองตลอดเพื่อใช้ในการกำหนดพื้นที่ใช้สอยที่เหมาะสมกับผู้อยู่อาศัย

ระบบ Modulor นั้นมีรากฐานมาจากภาพ “Vitruvian Man” ของ Leonardo da Vinci ผลงานของ Leon Battista Alberti และคนอื่นๆ ที่นำอัตราส่วนทองคำมาวัดกับร่างกายมนุษย์ ซึ่งกอร์บูซิเยนั้นนำหลักนั้นมาใช้ต่ออย่างสุดขั้ว โดยเริ่มจากแบ่งส่วนสูงรวมเป็นสองส่วนโดยมีสะดือเป็นเส้นแบ่ง แล้วตัดย่อยส่วนเหล่านั้นด้วยอัตราส่วนทองคำไปเรื่อยๆ เพื่อหาชุดตัวเลขความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในอิริยาบถต่างๆ กับสภาพแวดล้อม

นอกเหนือจากอัตราส่วนทองคำแล้วกอร์บูซิเยยังใช้ตัวเลขฟิโบนัชชี และเลขฐานคู่ประกอบการวัดจากร่างกายมนุษย์ในการสร้างฐานข้อมูลสำหรับระบบนี้ เขามีความเชื่ออย่างลึกซึ้งมากว่าความเป็นระเบียบทางคณิตศาสตร์ของจักรวาลนั้นมีความเชื่อมโยงต่ออัตราส่วนทองคำ และลำดับฟิโบนัชชี ดังนั้นทุกจังหวะการเคลื่อนไหวของทุกกิจกรรมของมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในจักรวาลนี้ล้วนมีรากฐานมาจากความเป็นระเบียบของคณิตศาสตร์อย่างเลี่ยงไม่ได้

นักวิชาการหลายท่านให้ความเห็นต่อระบบ Modular นี้ว่ามันเป็นทฤษฏีที่มีความเป็นมนุษยนิยม แต่ก็มีคนที่เห็นแย้งว่าเรื่องนี้นั้นตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง มันเป็นการทำให้ร่างกายเป็นคณิตศาสตร์ “ทำให้ร่างกายเป็นมาตรฐาน” เป็นการทำให้ร่างกายมีเหตุผล 


Notre-Dame du Haut การออกแบบโบสถ์จากคนไม่เชื่อในพระเจ้า

ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กอร์บูซิเยได้รับโอกาสในการสร้างผลงานสำคัญหลายแห่ง ตั้งแต่ อาคารสำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ไปจนถึงโบสถ์วิหาร ทั้งๆ ที่เขาประกาศตนอย่างชัดเจนว่าไม่เชื่อในพระเจ้า

แต่กอร์บูซิเยก็มีความเชื่ออย่างแรงกล้าว่าสถาปัตยกรรมนั้นมีความสามารถในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ศักดิ์สิทธิ์ และสะท้อนไปถึงจิตวิญญาณ ซึ่งเราจะขอยกตัวอย่างมาหนึ่งผลงานซึ่งก็คือ “Notre-Dame-du-Haut” ศาสนสถานแรกที่เขาออกแบบ

กอร์บูซิเยได้มาเจอซากปรักหักพังของโบสถ์แห่งนี้ขณะที่เขาเดินทางบนภูเขา Ronchamp ในปี 1950 เขาร่างแบบโดยตั้งใจที่จะสร้างสถานที่แห่งความเงียบสงบ และสันติที่มอบความสุขภายในให้แก่ผู้มาสวดมนต์ภาวนา กอร์บูซิเยเชื่อว่าความรู้สึกศักดิ์สิทธิ์นั้นไม่ว่าจะมาจากทางศาสนาหรือไม่ก็ตามล้วนแล้วแต่เป็นแรงผลักดันให้ผู้คนเกิดความพยายาม

สถานที่นี้สร้างขึ้นเพื่อฟื้นฟูจิตวิญญาณของคริสตจักรที่เสื่อมลงผ่านศิลปะ และสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ โดยโปรเจกต์นี้มีวิธีคิดที่แตกต่างจากผลงานอื่นๆ ของกอร์บูซิเยตรงที่ให้ความสำคัญกับเอกลักษณ์เฉพาะของที่ตั้งที่อยู่บนยอดเขาที่สามารถเห็นเส้นขอบฟ้าได้รอบด้านเป็นหลัก

โดยเขาย้อนค้นคว้าไปถึงอดีตของพื้นที่บริเวณนั้นตั้งแต่ยุคที่ยังบูชาพระอาทิตย์เลยทีเดียว ทำให้เห็นว่าแสงมีผลต่อความรู้สึกศรัทธาของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยโบราณ โครงสร้างของอาคารหลังนี้ส่วนใหญ่ทำมาจากคอนกรีต และหิน ล้อมด้วยผนังหนาที่ซ่อนเสาไว้ทดแทน เสาค้ำตรงกลางรับน้ำหนักหลังคาที่โค้งขึ้นราวกับใบเรือที่พริ้วไหวไปตามกระแสลมบนยอดเขา

ช่องเปิดขนาดต่างๆ ทั่วผนังถูกจัดวางด้วยอัตราส่วนทองคำทำหน้าที่กระจายแสงอย่างนุ่มนวลเข้ามาแบบไม่สมมาตรช่วยเสริมความรู้สึกศักดิ์สิทธิ์ และเสริมความสัมพันธ์ของธรรมชาติภายนอกเข้ามาสู่ภายในของพื้นที่

อีกหนึ่งจุดเด่นของวัดน้อยแห่งนี้ก็คือหลังคาขนาดยักษ์ที่สร้างจากคอนกรีตเสริมเหล็กที่เหมือนลอยอยู่เหนือผนัง และเช่นเดียวกับ Villa Savoye อันโด่งดัง กอร์บูซิเยใช้เสาคอนกรีตที่ซ่อนอยู่รับน้ำหนักแทนที่จะเป็นผนัง ทำให้การวางกรอบหน้าต่างแบบบางทำได้ยาวตลอดแนวของอาคาร

เทคนิคนี้ทำให้แสงนวลอ่อนๆ ลอดเข้ามาได้อย่างสม่ำเสมอ และทั่วถึง ส่งผลให้ภายในสว่างขึ้น และดูโปร่งมากขึ้น


Chandigarh เมืองหลวงแห่งสถาปัตยกรรม Modernism ที่ขับเคลื่อนด้วยความทะเยอทะยาน

โครงการออกแบบเมือง Chandigarh เมืองหลวงแห่งรัฐปัญจาบ และรัฐหรยาณาของอินเดียเป็นผลงานการออกแบบที่ใหญ่ที่สุดของกอร์บูซิเย เขาได้รับงานนี้มาจากนายกรัฐมนตรีของอินเดียในปี 1950

โดยทำงานร่วมกับผู้เชียวชาญด้านการออกแบบเมือง และสถาปัตยกรรมเขตร้อนอีกสองคน หนึ่งในนั้นคือลูกพี่ลูกน้องของเขา Pierre Jeanneret ซึ่งย้ายไปอินเดียเพื่อดูแลโปรเจกต์นี้จนเขาเสียชีวิต

กอร์บูซิเยตั้งใจให้โครงการนี้เป็นเมืองแห่งต้นไม้ เน้นบ้านเรือนที่เรียบง่าย มีอาคารทุนสูงที่เป็นแนวโมเดิร์นนิสขั้นสุดอยู่ไม่กี่อาคาร แบ่งพื้นที่พักอาศัย พาณิชย์ และอุตสาหกรรม มีสวนสาธารณะ และโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง โดยที่มีใจกลางเป็นอาคารราชการสำคัญ เช่น รัฐสภา และศาลยุติธรรม ซึ่งนี่ก็คือการนำความตั้งใจที่เขาเคยออกแบบเมืองต้นแบบในอดีตมาพัฒนาเพื่อสร้าง และใช้งานจริง

อาคารหลังแรกที่สร้างก็คือ อาคารศาลสูง ที่เริ่มต้นก่อสร้างในปี 1951 แล้วเสร็จในปี 1956 โดยมีจุดเด่นคือส่วนของหลังคาคอนกรีตลาดเอียงที่มีด้านล่างเป็นทรงโค้งเหมือนร่มคว่ำซ้ำๆ โดยตลอดแนวอาคาร มีผนังที่กอร์บูซิเยได้ออกแบบช่องตารางคอนกรีตสูงหนาโน้มออกมา เพื่อทำหน้าที่บังแดดที่แรงจัดไม่ให้เข้าอาคารมากไป และมีเสาขนาดใหญ่ทาสีสดใสเพื่อให้ดูมีชีวิตชีวาขึ้น และเพื่อให้ทนต่อสภาพอากาศได้ดีขึ้น

Palace of Assembly

Palace of Assembly คือ อาคารที่สำคัญที่สุดในกลุ่มอาคารรัฐสภาซึ่งหันหน้าเข้าไปทางศาลสูง โดยเริ่มสร้างในปี 1952 แล้วเสร็จในปี 1961 โดยมีจุดเด่นภายนอกอยู่ที่หลังคาคอนกรีตโค้งขึ้นขนาดใหญ่บริเวณหน้าทางเข้าที่วางอยู่บนเสาคอนกรีตเสริมเหล็กตามสไตล์การออกแบบของกอร์บูซิเยสะท้อนบนผิวน้ำของสระน้ำ ส่วนตรงกลางมีหลังคาคล้ายปล่องระบายความร้อนอยู่เหนือห้องประชุมวงกลมขนาดใหญ่ และประตูทางเข้าบานใหญ่สีสันสดใสเคลือบเงาสวยงาม

กอร์บูซิเยต้องการให้ทุกด้านของอาคารเห็นทิวทัศน์โดยเขาใช้โครงสร้างเสารับน้ำหนักเพื่อให้ได้พื้นที่ และผนังเปิดโล่งจนเห็นแนวเทือกเขาหิมาลัย นอกจากนี้ในส่วนของภายในก็ยังมีอีกหนึ่งจุดเด่นสำคัญก็คืออาคารหลังนี้ใช้ทางลาดแทนบันไดทั้งหมด ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความลื่นไหลของคนที่มาใช้พื้นที่ ตามแนวคิดเรื่องทางเดินสถาปัตยกรรมที่เขาเชื่อถือ


ฝากมรดกผลงานไว้ทั่วโลก สถาปนิกผู้ไม่เคยหยุดทำงานแม้ในช่วงบั้นปลายของชีวิต

ผลงานสถาปัตยกรรมในช่วงหลังของกอร์บูซิเยนั้นมีความหลากหลายมาก แต่ก็มักจะอิงสไตล์การออกแบบจากโครงการก่อนๆ เขาออกแบบตั้งแต่กระท่อมสำหรับพักร้อนริมทะเลเมดิเตอเรเนียน หอพักนักเรียนบราซิลในปารีส หอศิลป์ที่โตเกียวสนามกีฬาในแบกแดด อพาร์ตเมนต์ที่เบอร์ลิน ไปจนถึงพรมแขวนตกแต่งใน Opera House ในซิดนีย์

กอร์บูซิเยเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวายเมื่อเขาอายุได้ 77 ปีหลังจากการว่ายน้ำที่ French Riviera ในปี 1965 ซึ่งมีอีกหลายโปรเจกต์ที่เขาได้ออกแบบค้างไว้ที่ทั้งภายหลังได้สร้าง และไม่ได้สร้าง โดยผลงานชิ้นสุดท้ายที่เสร็จสมบูรณ์ก็คือหอศิลป์ริมทะเลสาบในเมืองซูริกที่สร้างแล้วเสร็จในปี 1967 ซึ่งต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น Centre Le Corbusier


เขียนโดย รวีศิลป์ อัศวกิตติประภา

source:

https://www.britannica.com/biography/Le-Corbusier
https://en.wikipedia.org/wiki/Le_Corbusier
https://www.biography.com/artists/le-corbusier
https://www.archdaily.com/902597/on-the-dislocation-of-the-body-in-architecture-le-corbusiers-modulor
https://www.archdaily.com/155922/ad-classics-ad-classics-palace-of-the-assembly-le-corbusier
https://en.wikipedia.org/wiki/Palace_of_Assembly
https://en.wikipedia.org/wiki/Modulor
https://en.wikipedia.org/wiki/Notre-Dame_du_Haut

© 2021 Art of. All rights reserved.

  083-138-5607
contact@artofth.com

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save