291Views
คุยกับ EKAR Architects ส่อง 5 องค์ประกอบใน Dog/Human House บ้านที่รวมโลกของหมาและคน ได้รับรางวัลจากเวที TOSTEM Asia Design Award
เมื่อคิดจะสร้างบ้านสักหลังหนึ่ง สิ่งที่มักจะคิดถึงอย่างแรกก็คือ ความเป็นอยู่และความสุขของ ‘คน’ ในบ้าน แต่จะเป็นอย่างไรนะ หากทั้งเจ้าของบ้านและสถาปนิกเลือกออกแบบโดยใช้ความสุขของ ‘สัตว์เลี้ยง’ เป็นที่ตั้ง
วันนี้ Art of จะพาไปพูดคุยกับคุณหนึ่ง – เอกภาพ ดวงแก้ว จาก EKAR Architects ผู้ออกแบบบ้าน ‘Dog/Human House’ บ้านที่เป็นเหมือนการรวมโลกของหมาและคนเข้าด้วยกันอย่างลงตัว ไปเจาะลึกกันว่าในการออกแบบบ้านหลังนี้ มีเรื่องราว วิธีคิด และองค์ประกอบอะไรบ้าง เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับทั้งเจ้าของบ้านที่รักสัตว์เลี้ยง และผู้ออกแบบอย่างแน่นอน
โดยบ้านหลังนี้ ได้รับรางวัล Building of the Year จากการประกวดสถาปัตยกรรมระดับเอเชีย อย่าง “TADA หรือ TOSTEM Asia Design Award” ประจำปี 2024 ที่จัดขึ้นโดยแบรนด์ TOSTEM และเปิดรับสมัครผลงานจากสถาปนิกทั่วเอเชีย อีกเวทีประกวดคุณภาพที่บอกได้เลยว่า ทุกผลงานที่ได้รับรางวัลมีเรื่องราวที่น่าสนใจไม่แพ้กันเลย
บ้านที่เกิดจาก ‘ความรักที่มีต่อสัตว์’
Art of: บ้านหลังนี้มีเรื่องราวที่มายังไงบ้าง
คุณหนึ่ง: เริ่มจากเจ้าของบ้านที่เป็นคุณหมอ เขามีหมาใหญ่ 3-4 ตัว เป็นพันธุ์ที่ต้องมีเวลาให้เขาได้วิ่งเล่นและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ถ้าไม่ได้วิ่งนี่สามารถส่งผลถึงชีวิตได้เลย
ในตอนนั้นคุณหมอมีบ้านอยู่ที่กรุงเทพฯ โดยทุกๆ อาทิตย์จะต้องขับรถมาที่นครปฐมเพื่อพาหมาทุกตัวมาวิ่งเล่นที่ที่ดินแปลงนี้ ที่เช่าไว้สำหรับการนี้โดยเฉพาะ ซึ่งข้อมูลตรงนี้น่าสนใจมาก และแสดงถึงความรักความทุ่มเทที่เจ้าของมีต่อสัตว์เลี้ยงจริงๆ
คุณหมอมาพร้อมกับโจทย์ที่อยากสร้าง ‘บ้านหมา’ เล็กๆ ให้หมาได้พักพิงตอนมาวิ่งเล่น ส่วนตัวคุณหมอเอง ไม่ได้ต้องการพื้นที่อะไร เขาบอกว่า นั่งรอใต้ต้นไม้ รอรอบๆ หรือรอในรถก็ได้
อีกประเด็นที่น่าสนใจก็คือ บ้านวัยเด็กของคุณหมอก็อยู่ที่นครปฐมด้วย ทุกๆ ครั้งที่มาจึงเป็นโอกาสที่จะได้ไปเยี่ยมพ่อแม่ไปในตัว แต่ที่บ้านนั้นก็ไม่ได้มีที่อยู่ให้กับคุณหมอแล้ว
เมื่อนำแต่ละประเด็นมาคิดต่อ ก็เลยลองเสนอคุณหมอว่า “หมาน่าจะไม่มีความสุข ถ้าเจ้าของไม่มีความสุข ทำไมไม่ทำบ้านให้ตัวเองอยู่ด้วยได้ไปเลย” คือเป็นบ้านที่สร้างให้ทั้งหมา คุณหมอ และครอบครัว ใช้เวลาร่วมกันได้
ซึ่งหลังจากนั้นคุณหมอก็เปิดใจรับไอเดียนี้ จากที่เช่าที่ดินก็ตัดสินใจซื้อที่ดินตรงนี้เลย จากนั้นบ้านหลังนี้ก็ทั้งได้รับออกแบบและมีหลายอย่างที่ต่อยอดจาก ‘ความรักที่มีต่อสัตว์’ นั่นเอง ต่อมาบ้านหลังนี้ก็มีส่วนที่ให้หมาจากข้างนอกมาใช้บริการได้ด้วย เป็นเหมือนคอมมูนิตี้คนรักหมาเล็กๆ เลย
ออกแบบจาก ‘มุมมอง’ ของหมา
Art of: คิดว่าอะไรคือหัวใจสำคัญของการออกแบบบ้านหลังนี้
คุณหนึ่ง: เริ่มจากการตั้งคำถามก่อนเลยว่า “ทำไมโลกนี้ถึงไม่มีพื้นที่ให้สิ่งมีชีวิตอื่นนอกจากมนุษย์เลย” สิ่งก่อสร้างมักจะเอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง มนุษย์ตัดไม้เอาพื้นที่มาสร้างบ้าน สร้างถนน อย่างในกรณีนี้ หมาใหญ่ไม่มีที่วิ่งจนเจ้าของต้องขับมาถึงตรงนี้เลย
“สำหรับบ้านหลังนี้ เลยอยากทำสถาปัตยกรรมที่เอาสัตว์เป็นที่ตั้งบ้าง”
สิ่งที่เห็นชัดเจนมาก คือเรื่องการออกแบบจาก ‘มุมมอง’ ของหมา โดยองค์ประกอบหลายๆ อย่างจะมีระยะความสูงที่ ‘ต่ำ’ กว่าปกติ สัมพันธ์กับ ‘ระดับสายตา (eye level)’ ของหมา เช่น รูปร่างหลังคาที่มีการกดต่ำกว่าทั่วไป ทางเดินส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณที่หลังคาต่ำ ส่วนหลังคาตรงกลางสูง เพื่อเป็นพื้นที่ธรรมชาติ ให้ต้นไม้สูงขึ้นได้
หมาจะมองเราจากที่ต่ำเสมอ เวลาที่หมาอยากจะเล่นกับเราก็ต้องกระโดดขึ้นมาหา แต่ถ้าเราอยากจะเข้าไปในโลกของหมาบ้าง ก็ต้องย่อตัวลงไปหาเขา บ้านหลังนี้จึงเป็นมีพื้นที่ที่ให้คนได้เหมือนก้าวเข้าไปสู่โลกของหมามากขึ้น
พื้นที่ ธรรมชาติ ตามธรรมชาติของหมา
Art of: พื้นที่ธรรมชาติดูเป็นอีกไฮไลต์สำคัญของบ้านนี้เลย มีการออกแบบอะไรที่เป็นพิเศษบ้าง
คุณหนึ่ง: เริ่มจากพื้นที่สนามหญ้า ที่เป็นส่วนให้หมาวิ่งเล่น พื้นที่ตรงนี้ถือว่าไม่ได้ใหญ่มาก เมื่อเทียบกับระยะการวิ่งของหมา เลยออกแบบให้มีส่วนที่เป็นทางลาดเนินหญ้า ให้หมาได้ใช้พลังงานในการวิ่งมากขึ้น
นอกจากนี้ระดับความสูงเนิน ก็สูงพอๆ กับระดับสายตาคนด้วย พอหมาไปอยู่บนเนินก็จะประสานสายตากับเจ้าของพอดี “ทำให้เจ้าของได้เห็นสิ่งที่เขารักเต็มๆ ตา”
ส่วนพื้นที่สวนตรงด้านใน เป็นเหมือนเขาวงกต มีพืชคลุมดินหลากหลายชนิด ทำเป็นลักษณะนี้เพื่อให้หมาได้สำรวจ ได้แอบตามพุ่มไม้ ตามธรรมชาติของเขา ส่วนไม้ยืนต้น ปลูกเป็นต้นขานาง ที่มีรูปร่างสูงตรงเพื่อไม่ให้มีใบแผ่กวนโครงสร้างหลังคาทางด้านข้าง โดยสวนนี้จะมีภูมิสถาปนิกจาก L49 มาช่วยออกแบบด้วย
สระว่ายน้ำของชาวสี่ขา
Art of: ส่วนสระว่ายน้ำ ดูเรียบง่ายมาก แต่น่าจะต้องมีอะไรที่พิเศษ
คุณหนึ่ง: พื้นที่สระน้ำก็มีการออกแบบเฉพาะ เช่น ที่ขั้นบันไดของหมาสำหรับขึ้นลงสระว่ายน้ำ จะมีช่วงลูกนอนที่ยาวกว่าทั่วไป เพื่อให้สามารถเดินได้ทั้งสี่ขาได้อย่างมั่นคง บันไดยาวตลอดแนว เพื่อให้หมาไม่ต้องหาที่ขึ้นลง เขาสามารถเดินได้แบบสมูทไม่กระชั้น และรู้ตัวอีกทีก็เดินขึ้นลงได้จนสุดแล้ว ไม่ต้องกระโดดลงไป หรือหาที่ตะกายขึ้นบก
องค์ประกอบและวัสดุ
Art of: เรื่องวัสดุก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ ออกแบบยังไงให้ทั้งหมาและคนใช้งานร่วมกันได้อย่างลงตัว
คุณหนึ่ง: พื้นที่ของหมา จะใช้วัสดุที่ไม่ลื่น ซึ่งจะดีต่อข้อเข่าของหมา เช่น กระเบื้องหยาบ ทรายล้าง กรวดล้าง ลักษณะแบบวัสดุที่ใช้ภายนอกอาคาร ซึ่งอาจไม่เหมือนกับงานออกแบบพื้นที่ของหมาในที่อื่นๆ ที่มักจะเน้นใช้วัสดุเรียบลื่น เพื่อให้ทำความสะอาดง่าย
อีกจุดที่พิเศษก็คือ ‘เสาหมาฉี่’ คือหมาผูกพันกับสถานที่ด้วยกลิ่น หมาฉี่ไว้ตามมุมต่างๆ เพราะรู้สึกรักบ้านของมัน จึงออกแบบเสาสำหรับให้หมาฉี่ใส่โดยเฉพาะ และตรงฐานจะมีความโค้งลาดลงเพื่อให้ทำความสะอาดได้ง่าย
ส่วนพื้นที่ของคนก็ปกติเลย คือเน้นความสบายและการใช้งาน เช่น พื้นไม้เอ็นจิเนียร์ ไม้เทียม คอนกรีตขัดมัน โดยคนจะเริ่มถอดรองเท้าเมื่อเข้าสู่พื้นที่คนที่พื้นเรียบขึ้น
เชื่อมกับ ‘ธรรมชาติ’ อย่างไร้รอยต่อ
Art of: พูดถึงพื้นที่ของคนบ้าง ออกแบบยังไงให้เข้ากับบริบทบ้านนี้ที่สุด
คุณหนึ่ง: ในเมื่อตั้งต้นจากการออกแบบเพื่อเชื่อมโยงกับสัตว์ จึงรวมไปถึงการคิดเรื่องของมุมมองระหว่างคนและธรรมชาติด้วย ผนังลอนคู่ใสช่วยให้แสงสว่างแต่ไม่ได้รบกวนจากภาพวิวมากนัก
มีการใช้กระจกใสและกรอบบานอลูมิเนียมประตูและหน้าต่างที่บางเป็นพิเศษของแบรนด์ TOSTEM ที่เชื่อมต่อภายในภายนอกได้อย่างไร้รอยต่อ ไม่ขวางสายตา ไม่ขวางธรรมชาติ และยังกันแมลงได้ดี โดยกรอบบานอลูมิเนียม TOSTEM นี้ใช้ที่ประตูบานเปิด ประตูบานเลื่อน และหน้าต่างบานเลื่อน ของฝั่งบ้านคนทั้งหมด
TOSTEM Asia Design Award
Art of: พูดถึงงานประกวด TOSTEM Asia Design Award กันบ้าง มีที่มายังไงถึงส่งบ้านหลังนี้ไปเข้าร่วม
คุณหนึ่ง: ติดตามมาจากปีก่อน ผลงานที่ได้รับรางวัลเป็นผลงานที่มีคุณภาพ ทำให้มองว่างานประกวดนี้น่าสนใจ และตัวผมเองก็มีโครงการออกแบบที่ใช้ทอสเท็มอยู่แล้ว จึงตัดสินใจลองส่งประกวดดู
จากตอนที่ไปรับรางวัล ก็เห็นว่าผลงานที่ได้รับรางวัลจากประเทศอื่นดูดีมีคุณภาพมาก และกรรมการที่ตัดสินก็ได้รับการคัดเลือกมาอย่างดีเหมือนกัน ถือเป็นงานประกวดที่น่าประทับใจ ปีหน้าก็คาดว่าจะลองส่งอีก ผมคิดว่าการได้แชร์งานให้คนอื่นได้เห็น ก็ทำให้เป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นได้ และช่วยพัฒนาวงการสถาปัตยกรรมไปได้อีกด้วย
Art of: อยากฝากอะไรถึงสถาปนิกรุ่นใหม่ๆ บ้าง
คุณหนึ่ง: ท้ายที่สุดแล้ว สถาปัตยกรรมก็เป็นเรื่องของผู้ใช้งาน ลองตั้งคำถามตั้งแต่แรกดีๆ ว่าสิ่งที่เราออกแบบ ตอบโจทย์ผู้ใช้จริงๆ ไหม อย่างเช่น ถ้าเราทำบ้านเพื่อหมา ก็อยากให้พิจารณาดีๆด้วยความจริงใจว่าเราทำเพื่อหมาหรือเพื่อเรา งานออกแบบงานหนึ่งอาจจะไม่ถูกใจคนทุกคนได้ แต่มันต้องออกแบบมาเพื่อตอบคำถามบางอย่างได้ถูกต้อง