Skip to content Skip to sidebar Skip to footer

Bourse de Commerce พิพิธภัณฑ์ที่รวมอดีตและปัจจุบันเข้าด้วยกัน โดย TADAO ANDO

Bourse de Commerce พิพิธภัณฑ์ที่รวมอดีตและปัจจุบันเข้าด้วยกัน เหมือนรุ่นปู่และรุ่นหลาน ถูกสร้างสรรค์ใหม่ด้วย Tadao Ando

เป็นที่รู้กันว่าปารีสนั้น เป็นเมืองสำคัญที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์และอาคารสำคัญต่างๆ มากมายที่ถูกอนุรักษ์ไว้อย่างดี หลายๆ อาคารเก่าแก่นั้นถูกแปลงไปเป็นพิพิธภัณฑ์โดยยังคงรูปแบบลักษณะอาคารเก่าให้คนรุ่นใหม่ได้ชื่นชมอย่างไม่ผิดเพี๊ยน และทำได้ยอดเยี่ยมในเรื่องการบูรณะสถาปัตยกรรมเก่าและการเติมอาคารส่วนใหม่เข้าไป เช่น การบูรณะพิพิธภัณฑ์ Lourve โดยการสร้างพิรามิดกระจกขึ้นตรงกลางลานพระราชวังเก่า หรือ Musée d’Orsay ที่แปลงโฉมมาจากสถานีรถไฟเก่ามาเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย

ซึ่งการบูรณะเหล่านี้ นอกจากจะเป็นการปรับใช้อาคารให้เหมาะกับยุคสมัยใหม่มากขึ้น ยังช่วยอนุรักษ์อาคารเก่าไปในตัวด้วย

ในวันนี้เราจะพาไปที่ Bourse De Commerce ที่เป็นพิพิธภัณฑ์อีกแห่งที่ปรับปรุงและเพิ่มการใช้สอยเข้าไปได้อย่างน่าประทับใจไม่แพ้ที่อื่นๆ ในปารีสเลย เป็นอีกที่หนึ่งที่แนะนำให้ไปสัมผัสด้วยตัวเองสักครั้ง จึงมาขอเล่าถึงประวัติศาสตร์ และมุมเล็กๆ ที่หลายคนอาจไม่เคยสังเกตเห็นในที่แห่งนี้ เชื่อว่าถ้าได้ทราบแล้วจะต้องเดินชมได้อย่างสนุกมากขึ้นแน่นอน


สร้างพลังงานใหม่ในสถานที่เก่าแก่

อาคาร Bourse de Commerce ก็เช่นกัน ที่ในอดีตชื่อว่า The Halle aux blés ถูกสร้างตั้งแต่ปี ค.ศ. 1763 (จาก Layout เดิมใน ศตวรรษที่ 16) อาคารนี้ถูกปรับปรุงมาหลายครั้งจากหลากหลายผู้ออกแบบ จนกระทั่งปี 1889 ที่ถูกปรับปรุงจนเป็น Bourse de Commerce อันเป็นอาคารสำคัญในการเป็นสถานที่แลกเปลี่ยนค้าขายธัญพืชและแป้ง ซึ่งเรียกได้ว่าตั้งอยู่ใจกลางเมืองปารีสเลย!

โดยตั้งแต่ปี 2016 สถานที่แห่งนี้ได้รับอนุญาตให้ปรับปรุงกลายเป็นที่พิพิธภัณฑ์ร่วมสมัย โดยส่วนใหญ่จะจัดแสดงคอลเลคชั่นสะสมส่วนตัวของ François Pinault มหาเศรษฐีเจ้าของแบรนด์อย่าง Gucci, Balenciaca, YLS และอื่นๆ ซึ่งประกอบไปด้วยชิ้นงานสะสมกว่า 3,500 ชิ้น มีมูลค่ากว่า 1.25 พันล้านยูโรเลยทีเดียว!

ในปี 2017 ได้มีการเปิดตัวแบบของอาคารที่ปรับปรุงใหม่โดยสถาปนิก Tadao Ando เจ้าของรางวัล Pritzker Prize ผู้มีงานออกแบบด้วยวัสดุคอนกรีตเสริมเหล็กอันเป็นเอกลักษณ์ ร่วมกับสถาปนิกท้องถิ่นชาวฝรั่งเศส NeM Architectes และผู้รับผิดชอบในงานอนุรักษ์ คือ Pierre-Antoine Gatier ซึ่งการปรับปรุงอาคารทั้งหมดมีมูลค่าถึง 170 ล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยพื้นที่กว่า 3,000 ตร.ม.

ทั้ง Ando และ Pinault เคยร่วมงานกันมาแล้ว 2 ครั้งในเมืองเวนิส ประเทศอิตาลี โดยโปรเจ็คแรกคือ Teatrino di Palazzo Grassi (2006) ซึ่งคือการต่อเติม หอประชุมด้านหลังอาคารปราสาทเก่า และงาน Punta della Dogana (2009) อดีตที่ทำการด่านศุลกากรถูกรีโนเวทให้กลายเป็นพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะที่ทาง Pinault สะสมไว้

และในโปรเจ็คที่ 3 ซึ่งเป็นโปรเจ็คแรกในฝรั่งเศสของทั้งคู่ คือ La Bourse de Commerce ที่สถาปนิกตีความงานอนุรักษ์ในรูปแบบใหม่โดยเลือกใช้คำว่า Reinvigorate คือ การให้พลังงานใหม่ แทนที่คำว่า Renovate หรือ คือการบูรณะในรูปแบบทั่วๆ ไป ซึ่งในที่นี้ สถาปนิกหมายถึง การคงสภาพทางประวัติศาสตร์ของอาคารเดิมไว้ให้ได้มากที่สุด และทำการนำเสนอสถาปัตยกรรมร่วมสมัยที่ตอบโจทย์ของกิจกรรมสมัยใหม่เข้าไปโดยไม่แตะต้องตัวอาคารเดิม


ผนังคอนกรีตที่สร้างประสบการณ์ใหม่

สำหรับแนวความคิดของการปรับปรุงอาคารนี้ Ando กล่าวว่า เขาต้องการที่จะรวมอดีตและปัจจุบันเข้าด้วยกัน โดยไม่ทำลายอดีต เสมือนการอยู่ร่วมกันของปู่และหลาน ที่ทั้งสองรุ่นล้วนให้แรงบันดาลใจและพลังต่อกันและกัน โดยเขาได้ใช้รูปแบบผนังคอนกรีตอันเป็นเอกลักษณ์ของเขา เพราะคอนกรีตสำหรับเขานั้นเหมือนเป็น ‘ความไม่มีอะไร‘ ที่ไม่รบกวนสิ่งรอบตัวและยังเอื้อให้เกิดการเติมเต็มเรื่องราว

เมื่อยืนอยู่ภายนอก อาคารหลังนี้ดูจะเป็นอาคารเก่าอีกหลังหนึ่ง ที่ไม่ต่างจากอาคารประวัติศาสตร์หลังอื่นอีกมากมายในกรุงปารีส แต่พอเข้าไปภายในเรากลับเจอห้องคอนกรีตทรงกระบอกขนาดมหึมา ที่ดูเหมือนจะผิดที่ผิดทางและไม่เข้ากับพื้นที่โดยรอบ แต่กลับสร้างความน่าสนใจให้กับอาคารเป็นอย่างมาก

ผนังคอนกรีตทรงกระบอกถูกเจาะช่องทางเข้าเล็กๆเพียง 3 ช่องส่วนด้านบนเปิดโล่งมองเห็นโดมกระจก Cast Iron ที่ถูกสร้างในปี 1889 ซึ่งเป็นปีเดียวกับการก่อสร้าง ‘หอไอเฟล’ เพื่อรองรับงาน Exposition Universelle ส่วนด้านรอบนอกของกำแพงมีบันไดและทางเดินวนรอบเพื่อนำผู้ชมขึ้นไปบนกำแพง

ที่นอกจากจะใช้เชื่อมเข้าพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะแล้ว ยังใช้เพื่อช่วยให้ผู้ชมเข้าไปใกล้กับงาน ‘Panorama de Commerce’ ภาพวาด Fresco ยาว 140 เมตรสูง 10 เมตรที่เขียนอยู่บนฝ้าของโดม (Copula) โดยรอบ ที่บอกเล่าเรื่องราวของการเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ผ่านการค้าขายไปทั่วโลกของประเทศฝรั่งเศส

ทั้งภาพ Fresco และหลังคา Cast Iron ล้วนเป็นสิ่งที่ฝรั่งเศสต้องการประกาศต่อชาวโลกในยุคนั้นถึงความเป็น ‘สมัยใหม่’ แต่การสร้างผนังภายในอาคารโดยใช้วัสดุอย่างคอนกรีตซึ่งเป็นวัสดุที่สร้างปล่อยกาซคาร์บอนสูงเป็นอันดับต้นๆ จึงอาจะไม่ใช่วัสดุที่ ‘สมัยใหม่’ ที่สุด จึงเกิดคำถามว่าสามารถใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่านี้ได้หรือไม่


สะท้อนอดีตผ่านงานศิลปะ

อีกสิ่งที่น่าสนใจ คือความสวยงามของอาคารเดิม นอกจากการบูรณะภาพวาด Fresco ยาว 140 เมตรได้อย่างสวยงามแล้ว สถาปัตยกรรมของอาคารเดิม ทั้งบันไดไขว้อันสวยสดงดงาม หรือการบูรณะรูปแบบของประตูหน้าต่างให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง แม้กระทั่งการซ่อนผลงานศิลปะแบบ In-Situ (ศิลปะที่เฉพาะเจาะจงกับสถานที่นั้น ๆ) ไว้ตามมุมต่างๆ ก็สร้างความน่าตื่นเต้นในการเดินสำรวจอาคาร

อย่างผลงานของ Ryan Gander ที่ติดตั้งน้องหนูที่ทะลุผนังออกมาต้อนรับผู้มาเยือนที่โถงทางเข้าซึ่งเป็นที่สนใจของคนเป็นอย่างมาก หรืออีกหนึ่งผลงานที่ Maurizio Cattelan วางนกพิราบสตาฟไว้ที่ขอบบัวของคอร์ดอาคาร นั้นแม้จะเป็น Element ที่เรียบง่าย แต่กลับทำให้เราจินตนาการถึงอาคารหลังนี้ในอดีตที่ครั้งนึงเคยมีชีวิตของผู้คนชาวปารีสที่มาจับจ่ายใช้สอย ในพื้นที่แห่งนี้ เหมือนทำให้อาคารหลังนี้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ในช่วงเวลาปัจจุบัน

โมเดลจำลองที่เห็นได้ชัดว่า ส่วนที่เป็นไม้หมายถึงอาคารเก่า และสีเทาเหมายถึงส่วนที่เป็นคอนกรีตที่สร้างใหม่นั่นเอง

ภาพอาคารดั้งเดิมในปี 1838

การก่อสร้างในขั้นการหล่อคอนกรีต

เขียนและเรียบเรียงโดย
ธนพล โฆษิตสุรังคกุล , เบญญดา ถาวรเศรษฐ

source : Youtube / Archilover / carnets-traverse / Architecturaldigest / Pinaultcollection / wikipedia

© 2021 Art of. All rights reserved.

  083-138-5607
contact@artofth.com

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save