1235Views
ความหม่นเศร้าอันสุนทรีย์ แนะนำ 5 ศิลปินชาวไอริช ที่ปลดเปลื้องทุกความเศร้าผ่านบทเพลง
ชาวไอริชเป็นอีกกลุ่มเชื้อชาติที่มีพรสวรรค์ในดนตรี กลิ่นไอที่ผสมผสานระหว่างไอริชโฟลค์ กับความป๊อป บวกสไตล์ดนตรีของไอร์แลนด์ สร้างความเป็นเอกลักษณ์อยู่เสมอ สังเกตจากเพลงพื้นบ้านของไอร์แลนด์ จะมีเครื่องดนตรีเฉพาะ ที่ให้ความรู้สึกเศร้า และ เหงาลึก
ในด้านสังคม วัฒนธรรมเอง ชาวไอริชก็เป็นกลุ่มคนที่มีภาษาเป็นของตนเอง มีความเชื่อด้านศาสนา การออกตามล่าหาความฝัน แต่ด้วยความที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษมานาน มีอาณาเขตติดต่อกัน ก็รับวัฒนธรรม และ ภาษาของอังกฤษมามากพอสมควร จึงทำให้บทเพลงค่อนข้างมีความคุ้นหูเรา
วันนี้จึงชวนเพื่อนๆ มาทำความรู้จักกับบางส่วนของศิลปินชาวไอริช ที่มีบทเพลงเศร้า เหงาแต่ทำให้เราสุข ใครมีศิลปินคนไหนอีกก็แนะนำกันได้นะ!
1. Damien Rice
เริ่มที่คนแรกคงจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากราชาเพลงหม่นชาวไอริชคนนี้ (แต่ตัวจริงเป็นคนตลกมากกก 5555) แม้ตลอดระยะเวลาในวงการเพลงเกือบจะ 20 ปี จะไม่ได้มีผลงานเพลงมากนัก แต่ทุกเพลงคือผลงานที่กลั่นออกมาจากความรู้สึกจากห้วงลึก
ด้วยเสียงร้องที่เป็นเอกลักษณ์ เลือกใช้เสียงร้อง เสียงหลบ เสียงเต็ม ไปตามอารมณ์เพลง ผสานกับดนตรี ที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างเสียงร้องกับเสียงกีตาร์โปร่ง แล้วจึงค่อยเพิ่มเครื่องดนตรีอื่นๆ เช่น เครื่องสายเข้ามาในปริมาณ และ ช่วงเวลาที่เหมาะสม
ลองฟังดีๆ จะพบว่าเพลงของ Damien Rice ไม่ได้ถูกบันทึกเสียงมาอย่างปราณีต มันมีความดิบ บางท่อนมีเสียงกีตาร์บอดๆ ซึ่งกลับกลายเป็นส่วนที่ช่วยดึงอารมณ์เพลงได้อย่างมาก ส่วนภาคของเนื้อร้อง แน่นอนว่าเฉียบคม ลึก อารมณ์เหมือนพวกบทกวี ที่มีการใช้โวหารเปรียบเทียบอย่างสวยงาม
อีก 1 ในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เพลงหลายๆ เพลงของ Damien Rice ลงตัว และบาดลึกยิ่งขึ้น คือเสียงร้องของหญิงสาว โดยเฉพาะ Lisa Hannigan ในอัลบั้ม O (2002) และ 9 (2006) แต่แน่นอนว่างานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกลา ในอัลบั้มที่ 3 My Favourite Faded Fantasy (2014) ห่างจากอัลบั้มที่ 2 ถึง 8 ปี ไม่ได้มีเสียงของลิซ่าถูกบันทุกอยู่ เพราะทั้งคู่เลิกรากันไป
Damien เรียกช่วงเวลาที่หายไปว่าเป็น 8 ปีอันชอกช้ำ เรื่องของลิซ่าบวกกับชื่อเสียง เกียรติยศต่างๆ ที่ได้มาก่อนหน้าทำให้เค้าไม่สามารถแต่งเพลงที่ออกมาจนสุดท้ายต้องใช้เวลาถึง 8 ปี
ในอัลบั้มที่ 3 ได้ Rick Rubin มาโปรดิวซ์ให้ ต่างกับอัลบั้มก่อนๆ ที่โปรดิวซ์เอง ภาคดนตรีก็ดูเนี้ยบขึ้น ทุกอย่างดูโตขึ้น แต่ด้านเนื้อหายังคงบาดลึก และ ที่สำคัญด้วยเรื่องราวทั้งหมดกลับส่งผลให้คนฟังอินในเนื้อหาขึ้นแทน
- ก่อนแยกตัวออกมาสร้างผลงานเดี่ยว เคยมีวงที่ชื่อ Juniper จะมีความร็อคมากกว่า มี Bell X1 ด้วย
- The Blower’s Daughter ถูกนำไปประกอบภาพยนตร์เรื่อง Closer ซึ่งช่วยสร้างอารมณ์เหงาให้ภาพยนตร์ได้อย่างลงตัว
2. Glen Hansard
ไม่แน่ใจว่าจะเป็นชื่อที่หลายๆ คนพอคุ้นกันอยู่บ้างมั้ย แต่ถ้าบอกว่าเป็นผู้ร้องเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง ‘Once‘ หลายคนอาจจะร้องอ๋อขึ้นมาบ้าง แต่เนื่องจากเป็นคนที่มีความเกี่ยวข้องกับหลายๆ วง ซึ่งแต่ละวงก็ล้วนแล้วแต่บาดลึกทั้งนั้น จึงจะขอเล่าแบบย่อๆ ให้ฟังกัน
Glen Hansard รู้ตัวตั้งแต่เด็กว่าเส้นทางที่เขารักนั่นคือการเป็นนักดนตรี เมื่ออายุได้ 13 ปีก็ลาออกจากโรงเรียนเพื่อทำมันอย่างจริงจัง เริ่มทำเดโม่ส่งไปตามค่ายต่างๆ จนได้เจอกับ โปรดิวเซอร์ อย่าง Denny Cordell
The Frames
วงดนตรีชาวไอริชแนว Rock+Folk ที่ถูกตั้งขึ้นโดย Glen Hansard ในปี 1990 มีสมาชิกวงผลัดเปลี่ยนกันไปมากมาย ยกเว้นเกล็นเพียงคนเดียว อัลบั้มที่ทำให้เริ่มมีชื่อเสียงคือ Fitzcarraldo (1995) จนในปี 2001 การไปทัวร์ที่สาธารณรัฐเช็ค ทำให้เกล็นได้เจอกับ Markéta Irglová
John Carney
มือเบสยุคก่อตั้งของ The Frames ผู้มีความฝันอยากเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ โดยเฉพาะภาพยนตร์ที่มีเพลงเป็นตัวดำเนินเรื่อง แน่นอนว่าก็ต้องขอให้เพื่อนซี้อย่างเกล็นเป็นคนแต่งเพลงที่จะใช้ประกอบหนังให้ เป็นเหตุให้ไปขลุกตัวแต่งเพลงกับ Markéta Irglová ว่าที่นางเอกของเรื่อง
โดยเริ่มแรกได้ Cillion Murphy เป็นผู้ระดมทุน และ เล่นเป็นตัวเอกของเรื่อง (เพราะเคยเป็นนักดนตรีก่อนจะผันตัวมาเป็นนักแสดงด้วย) แต่การต้องเล่นภาพยนตร์คู่กับนักแสดงไร้ชื่ออย่าง Markéta Irglová อาจจะเป็นสิ่งที่ Cillion Murphy ไม่ปรารถนานัก + กับเสียงร้องที่อาจจะไม่เหมาะกับเพลงที่เกล็นแต่งมานัก จึงกลายเป็นดีลล่มไป
John Carney ผู้ไร้ซึ่งหนทาง มองไปมองมาก็เอาวะ เกล็นเองก็เคยเล่นหนังอินดี้มาเรื่องนึง แถมตอนแต่งเพลงก็แอบกุ๊กกิ๊กกันขึ้นมาแล้ว เมื่อทุกอย่างลงตัว หนังเรื่อง “Once” ก็กำเนิดเกิดขึ้น จากเงินสนับสนุนจากรรมการภาพยนตร์ไอร์แลนด์+เงินส่วนตัวเล็กน้อย
ด้วยความเป็นหนังทุนต่ำ กล้อง Handycam สั่นๆ สถานที่ก็ใช้ห้องอัดบ้านเกล็น แม่เกล็นก็ถูกเชิญมาเล่น แต่ด้วยเคมีทุกอย่างของภาพยนตร์ ส่งให้ได้รับรางวัลออสการ์สาขาเพลงประกอบยอดเยี่ยมในปี 2008 และตั้งวงที่ชื่อ The Swell Season Official ขึ้นมาด้วยกัน
The Swell Season
จากชื่อหนังสือของ Josef Škvorecký ซึ่งเป็นหนังสือโปรดของเกล็นสู่ชื่อวงของทั้งคู่ ได้ออกอัลบั้มมา 2 อัลบั้ม (ไม่รวมอัลบั้มเพลงประกอบ Once) The Swell Season (2006), Strict Joy (2009) และในระหว่างทำอัลบั้มที่ 3 ก็เลิกรากันไป
ความรักจบลง แต่เสียงเพลงยังคงอยู่ ทั้งคู่แยกย้ายกันไปทำงานเพลงของตัวเอง ภายใต้สังกัดเดียวกัน Anti Records (คือไม่ได้จบกันไม่ดีนะ) ยังคงมีเสียงเพลงหม่นเศร้าให้เราได้เสพกันต่อไป
- The Swell Season (2011) หนังสารคดีชีวประวัติออกมา ในชื่อเดียวกับชื่อวง
- Markéta Irglová มีความสัมพันธ์ครั้งใหม่กับ Tim Iseler ซึ่งป็น Sound Engineer ในสตูดิโอ มีลูกน่ารักง
3. Hozier
ศิลปินชาวไอริชอีกคนที่เติบโตมาในครอบครัวสายดนตรี ทำให้เลือกที่จะเดินทางสายดนตรีตั้งแต่เด็ก ถูกหล่อหลอมมากับดนตรีบลูส์ แจ๊ส และ โซล
อายุ 15 ก็เริ่มตั้งวงดนตรี ทำงานเกี่ยวกับดนตรี ออกแสดง เป็นในฐานะศิลปินอิสระ จนได้เซ็นสัญญากับค่าย Island record ก็ออกซิงเกิ้ลแรก Take Me To Church (2013) ที่ฮิตถล่มทลาย
รวมถึงอัลบั้มชื่อเดียวกับเจ้าตัวอย่าง Hozier ก็กลายเป็นอัลบั้มที่มียอดขายสูงสุดในสัปดาห์แรกของอัลบั้มที่วางจำหน่ายในปี 2014 กันเลยทีเดียว
ด้วยอิทธิพลของคริสตศาสนานิกายคาทอลิกในไอร์แลนด์ ทำให้เพลงของ Hozier หลายๆ เพลงมีเนื้อหาที่เสียดสีศาสนา เพราะความเชื่อว่าศาสนามี่ห่างไกลจากคำสอนดั้งเดิม เป็นสิ่งที่สร้างความไม่เท่าเทียมมากมาย เช่นเรื่องเพศ, เรื่องศีลธรรม, ความเท่าเทียมของ LGBTQ+ เช่นเพลงแจ้งเกิดของเขาอย่าง Take Me To Church ที่มีเนื้อหาเสียดสีสังคมเกี่ยวกับเรื่องสถานะการเป็น LGBTQ+ ที่ต้องปกปิดสถานะของตนเอาไว้ แต่ยังคงต้องเทิดทูนแล้วตายไปพร้อมๆ กับมัน
- พ่อของ Hozier เป็นมือกลองของวงบลูส์ Free Booze
- หน้าปกอัลบั้ม Hozier ถูกวาดขึ้นโดยแม่ของเชาที่เป็นจิตรกร
4. Lisa Hannigan
นักร้องที่มีเสียงร้องลมๆ และแหบเล็กๆ อันเป็นเสน่ห์ ที่เล่นเครื่องดนตรีได้หลากหลาย เพลงของเธอจึงประกอบไปด้วยเครื่องดนตรีหลายชนิด ที่มีมิติใหม่ๆ ในการฟังจากการผสมเล็กผสมน้อย
เธอเริ่มต้นวงการเพลง ด้วยการพบกับ Damien Rice ในคอนเสิร์ตที่ดับลิน ตอนสมัยมหาลัย ในปี 2001 และก็ถูกชวนมาร้องคอรัสให้เขาในปีถัดมา เธอไปทัวร์คอนเสิร์ตพร้อมเขาและวงเสมอ โดยเป็น Vocal support และในบางครั้งก็เล่นกีต้าร์ เบส หรือกลอง
ความสัมพันธ์ของเธอกับ Damien และความเห็นที่ไม่ตรงกันช่วงหนึ่ง ทำให้วงเกิดความตึงเครียด จน Lisa ต้องขอออกมา แม้ทุกคนจะนินทากันว่า Damien รักเธอ ขนาดที่ยอมทิ้งชื่อเสียงและวงการเพลงที่เขาสร้างมาได้
Lisa ออกมาทำเพลงในแบบของเธอเอง ที่สดใสกว่าตอนที่อยู่กับ Damien โดยอัลบั้มแรก Sea Sew เธอซ้อมเพลงในยุ้งข้าว ก่อนจะไปอัดในสตูดิโอในดับลิน มีเพลงหลักๆ ชื่อ Lille ที่ถูกปล่อยให้โหลดฟรีบนอินเตอร์เนต ปกอัลบั้มนั้น ก็เกิดจากการถักผ้าของเธอเอง เรียกได้ว่าอินดี้สุด อัลบั้มนี้ได้รับเสียงจากนักวิจารณ์ว่า น่าจะเป็นอัลบั้มที่ดีที่สุดของไอริชปีนั้น พร้อมกับได้รับการรีวิวบน Los Angeles Times และ The New York Times
เธอเป็นศิลปินในจิตใจเลยก็ว่าได้ Live ของเธอ เธอมักจะปิดตาร้องเพลง อิน และดำดิ่งในบนเพลงแต่ละเพลง ถ่ายทอดออกมาจากเบื้องลึกของเธอ โดยเฉพาะเพลงเศร้า ที่เศร้าสุดขั้วหัวใจ ยกตัวอย่างเช่น เพลง Little Bird, Safe Travels แน่นอนว่าเพลงสมัยที่เธอร้องกับ Damien นั้นดาร์กกว่ามาก ไม่ว่าจะเป็น Volcano หรือ I remember
ตอนนี้เธอมีผลงานด้วยกันทั้งหมด 3 อัลบั้ม คือ Sea Sew (2008), Passenger (2011) และ At Swim (2016) เธอยังได้เป็นนักร้องเชิญของ Jason Mraz ใน U.S. tour ปี 2008
ส่วนตัวแอดมินชอบเพลงสดใสของ Lisa มาก จึงอยากแนะนำให้ฟังกัน เช่น เพลง I don’t know, An Ocean and a Rock
- ชื่ออัลบั้ม Sea Sew มาจากชีวิตในวัยเด็กเธอ ที่มักใช้เวลาช่วงฤดูร้อนที่หมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของแม่เธอ เนื้อเพลงส่วนใหญ่ของเธอ จึงมักเกี่ยวกับทะเล
- An Ocean and a Rock ถูกใช้ในวิดิโอเพื่อสนับสนุน same-sex marriage
- เพลงที่ทำให้เธอนึกถึง Damien: Couldn’t love you more – John Martyn (1977)
5. Kodaline
วง Alternative Rock ชาวไอริช ที่เขียนบทเพลงจากเรื่องจริงของความสัมพันธ์รอบตัวคนในวง ทั้งครอบครัว เพื่อน พี่น้อง ความรัก เรื่องทั่วๆ ไปในชีวิตที่มีสุข เศร้า สมหวัง ผิดหวังปะปนกันไป เหมือนกับการเขียนไดอารี่ ที่ได้แบ่งให้กับคนทั่วโลกได้อ่าน พวกเขายังคิดว่า การร้องและปลดปล่อยเพลงเศร้าออกไป กลับทำให้พวกเขามีความสุขมากขึ้น เมื่อได้รับพลังบวกๆ จากแฟนเพลง
เดิม Kodaline รู้จักในชื่อว่า 21 Demands ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้ในปี 2012 สมาชิกประกอบด้วย Steve Garrigan, Mark Prendergast, Vincent May และ Jason Boland โดยที่ Garrigan และ Prendergast รู้จักกันตั้งแต่วัยเยาว์เติบโตมาด้วยกันในเมือง เดียวกัน และเข้าโรงเรียนที่เดียวกัน
เริ่มแรก วง 21 Demands ไม่ได้รับความสนใจมากนัก จนกระทั่งพวกเขาเข้าร่วมแสดงความสามารถพิเศษของ RTÉ ซีซั่น 5 จบด้วยการเป็นรองแชมป์ประจำซีซั่น จึงได้ปล่อยผลงานเพลง “Give Me A Minute” ที่ได้ Top Irish Singles chart และเป็นผลให้เขาเริ่มปล่อยเพลงต่อๆ มา
อีกสิ่งที่ชอบในวงนี้มากๆ คือเรื่อง ไดนามิกเพลง ทั้งในภาคดนตรี ทั้งการสื่ออารมณ์ ที่ผสานไปด้วยกันได้ดีมากๆ บางเพลงไล่จากเครื่องดนตรี Acoustic กีตาร์ตัวเดียวจนไปจบที่ดนตรีๆ หนักๆ การไล่อารมณ์เพลงผ่านวิธีการร้อง ในหลายรูปแบบ เช่น โหยหวน ,หนักแน่น , สนุกกระชับ ทั้งหมดสื่อสารออกมาเหมือนเราได้ร่วมเดินทางไปกับเพลง ได้ดูหนังที่สมบูรณ์เรื่องหนึ่ง ที่มีจุด Climax มีจุดผ่อนคลาย
ตอนนี้พวกเขามีผลงานเพลงทั้งหมด 4 อัลบั้ม ได้แก่ In a Perfect World (2013), Coming Up for Air (2015), และ Politics of Living (2018) เพลงของพวกเขายังได้ถูกนำไปใช้ในภาพยนตร์มากมาย ยกตัวอย่างเช่น All I want เพลงเดียว ก็ถูกนำไปใช้ใน 13 Reasons Why, Grimsby, Boomerang หรือ The Fault in our Stars ยังไม่รวมถึงเพลง Love Like This, Shed a Tear และ Ready เป็นต้น
นอกจากนี้เพลง All I Want ยังถูกนำไปใช้ในงาน TCM Remembers, Turner Classic Movies เพื่อรำลึกถึงปีของบุคคลสำคัญในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่เสียชีวิตในปี 2014
- Kodaline เป็นชื่อที่ไม่ได้มีความหมายอะไร เกิดมาจากวันที่ดื่มเบียร์กันหนักหน่วง จนคนนึงบอกว่า ชื่อนี้เป็นไง และทุกคนก็เออออ
- สมาชิกในวงเชื่อกันว่า ถ้าเพลงที่ร้องไม่ได้แต่งจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นจริง คนฟังก็จะฟังออกว่าไม่จริง