313Views
มาดูผลงานการประกวดของนักศึกษาไทยที่ได้ไปเข้าร่วมการแข่งขันออกแบบถึงระดับเอเชียแปซิฟิก American Standard Design Award 2024
American Standard แบรนด์สุขภัณฑ์ระดับโลกในเครือลิกซิลกำลังเดินทางเข้าสู่ปีที่ 150 แล้ว! ตั้งแต่ปี 1875 อเมริกันสแตนดาร์ดนำเสนอสุขภัณฑ์และพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการใช้งานในห้องน้ำที่มีคุณภาพ สวยงาม สะดวกสบาย และทันสมัยตลอดมา นอกจากจะให้ความสำคัญกับผู้ใช้งานแล้ว แบรนด์ก็ยังให้ความสำคัญกับไอเดียและแนวคิดใหม่ ๆ ของนักศึกษาและนักออกแบบอีกด้วย
การประกวด American Standard Design Award (ASDA) เป็นงานที่จัดต่อเนื่องปีนี้เป็นปีที่ 3 เน้นให้นักศึกษาได้แสดงฝีมือการออกแบบ โดยในปี 2024 นี้มาภายใต้หัวข้อ ‘Home Away from Home’ การออกแบบห้องน้ำในโรงแรม บูทีก รีสอร์ทที่มอบความรู้สึกอบอุ่นเปรียบเสมือนอยู่บ้าน โดยในปี 2024 นี้มีนักศึกษาจากทั่วเอเชียแปซิฟิกทั้ง ไทย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และ เวียดนามส่งผลงานเข้ามาประชันความสามารถอย่างล้นหลาม
อันที่จริงแล้ว ห้องน้ำเป็นห้องที่หลายคนใช้เวลาอยู่นาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาไปเที่ยวพักผ่อน ฟื้นฟูพลังชีวิต แต่ก็ต้องมีความแปลกใหม่ไม่ซ้ำเดิม จึงเกิดออกมาเป็นหัวข้อการประกวดที่ต้องการให้ออกแบบสิ่งใหม่ที่เยียวยาความเหนื่อยล้าจากการทำงาน แต่ก็สบายอบอุ่นเหมือนอยู่บ้าน โดยต้องไม่ลืมเรื่องความยั่งยืนด้วย
“เป็นเรื่องน่ายินดีที่ปีนี้ ASDA ได้รับความสนใจจากนักศึกษาส่งผลงานเข้ามามากกว่า 1,000 ชิ้น” คุณออดรีย์ โหย่ว ลีดเดอร์ เอเชียแปซิฟิก, ธุรกิจเทคโนโลยีการใช้น้ำ ลิกซิล ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับงานประกวดนี้ คุณออดรีย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “เมื่ออยู่ไกลบ้าน เราต้องการพื้นที่ที่ช่วยผ่อนคลาย สร้างแรงบันดาลใจ และฟื้นฟูจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นสไตล์ สี หรือ รูปแบบการตกแต่ง สิ่งสำคัญคือความรู้สึกสบายที่ต้อนรับเราทุกครั้งที่ก้าวเข้าไปในห้อง นักเดินทางจะประทับใจกับประสบการณ์การเข้าพักที่มอบความสบายเสมือนกับหรือยอดเยี่ยมกว่าที่บ้าน นั่นหมายความว่านักออกแบบจะต้องใส่ใจรายละเอียดในงานออกแบบเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีเยี่ยมในการเข้าพักทั้งสไตล์การตกแต่ง ความสบาย และห้องน้ำที่สะอาด ในขณะที่เจ้าของโรงแรมหรือผู้ประกอบการอาจให้ความสำคัญด้านความยั่งยืนเรื่องการประหยัดน้ำและพลังงานเพื่อสร้างความแตกต่างในแง่ประสิทธิภาพการนำเสนอและการดำเนินธุรกิจของตนแก่แขกผู้เข้าพัก”
Art of มีโอกาสได้ไปสัมภาษณ์ผู้ชนะจากประเทศไทยทั้ง 3 คน วันนี้จะเอาผลงานชนะเลิศ 3 อันดับแรกมาให้รู้จักกัน
___
‘Pixel Cube’
ผลงานชนะเลิศอันดับที่ 1 โดย พสธร กีฬา จาก คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
งานของผมเน้นความยืดหยุ่น และก็แสวงหาความแปลกใหม่
‘Pixel Cube’ ถือเป็นผลงานที่หวือหวาแปลกตาอย่างที่คงไม่เคยเห็นห้องน้ำโรงแรมที่ไหนจะวูบวาบแบบนี้ พสธรมองว่าเพราะโรงแรมมีแขกมาพักที่หลากหลายจึงอยากออกแบบห้องน้ำที่ ‘ยืดหยุ่น’ สามารถปรับไปตามความต้องการของแขกได้
องค์ประกอบหลักที่สังเกตได้เป็นอย่างแรกก็คงจะเป็น ‘กล่องอะคริลิก’ เจ้ากล่องนี้มีขนาดเท่า ๆ กัน เพราะถูกออกแบบมาเป็นระบบ modular system เพื่อให้สามารถต่อประกอบกั้นห้องเป็นรูปแบบต่าง ๆ ได้ไม่จำกัด เข้ากับห้องโรงแรมได้ทุกรูปแบบ สามารถต่อได้ทั้ง พื้น-ผนัง-ฝ้า โดยการกั้นพื้นที่ทั้งหมดออกแบบจำลองขึ้นมาเพื่อให้สัมพันธ์กับฟังก์ชันการใช้งาน และประสิทธิภาพสูงสุดของสุขภัณฑ์แต่ละชิ้น
“ผมอยากลองทำอะไรใหม่ ๆ
ที่มันสัมพันธ์กับพื้นที่แล้วก็ได้ใช้เทคโนโลยี”
คุณพสธรยังเล่าถึงผลงานอีกว่าได้รับแรงบันดาลใจมาจากการออกแบบ exhibition ด้วยความโปร่งแสงของวัสดุ เราสามารถเลือกจะทำให้บางส่วนทึบ บางส่วนโปร่งได้เพื่อสร้างบรรยากาศและลูกเล่น
การเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำให้น่าตื่นเต้น จะเห็นว่านอกจากการใช้ไฟ LED เข้ามาช่วยสร้างบรรยากาศแล้ว การเสริมระบบ interactive ที่พื้น และหน้าจอก็สามารถเลือกภาพที่จะฉายได้ ดีไซน์นี้ทำให้เราสามารถ customize ประสบการณ์ให้ลูกค้าได้อย่างตรงจุด ไม่ว่าจะเป็นลูกค้ากลุ่มไหน ชื่นชอบอะไรเป็นพิเศษทางโรงแรมก็สามารถเตรียมประสบการณ์ที่แปลกใหม่ไว้สำหรับต้อนรับลูกค้าได้อย่างเฉพาะตัว
ถือเป็นผลงานที่สนุกและว้าวมาก ๆ ตอนนี้อาจจะยังดูล้ำสมัย แต่ต่อไปในอนาคตคาดว่าจะได้เห็นอะไรแบบนี้แน่นอน
___
‘The Forest House’
ผลงานชนะเลิศอันดับที่ 2 โดย อภิรดา ศิริปัญญา จาก คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์
“หนูอยากชวนให้คนที่มาพัก ได้เปิดผัสสะ สัมผัสบรรยากาศการอาบป่า Forest Bathing”
อภิรดา แบ่งเวลาช่วงทำธีสิสมาส่งผลงานประกวด เธอสนใจเรื่องความยั่งยืนและธรรมชาติมากเป็นพิเศษจึงต้องการนำเสนอพื้นที่ที่จะสามารถเชื่อมต่อระหว่างภายในและภายนอกอย่างแนบเนียน
หากเปรียบในห้องน้ำเป็นภายในถ้ำที่อบอุ่น ภายนอกก็คือป่าและธรรมชาติที่เขียวชอุ่ม ห้องน้ำของเธอจึงเลือกใช้วัสดุผิวสัมผัสแบบธรรมชาติ ห้องน้ำนี้แม้จะมีความมิดชิดแต่ก็เปิดสู่พื้นที่ธรรมชาติภายในพื้นที่ส่วนตัว
นอกจากวัสดุจำพวกหินและกระเบื้องแล้ว ภายในยังเลือกใช้ ‘ดิน’ มาเป็นตัวเอกของงานด้วย เพราะต้องการนำเสนอความสวยงามที่ไม่สมบูรณ์แบบ เธอจึงเลือกใช้เทคโนโลยี 3D Printing ที่ใช้กับดินเทคโนโลยีใหม่ที่เพิ่งได้รับการคิดค้นมาผสมผสานกับความรู้การทำผนังดินของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เป็นการใช้วัสดุธรรมชาติที่ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งยังเป็นการสืบสานภูมิปัญญาการสร้างบ้านดินของคนพื้นถิ่นอีกด้วย เป็นความยั่งยืนทั้งในแง่ของการรักษาธรรมชาติและรักษาภูมิปัญญาสร้างอาชีพให้คนพื้นถิ่นอีกด้วย
___
‘Mini Secret Base’
ผลงานชนะเลิศอันดับที่ 3 โดย ณภัชนันท์ โชคธนนิตินันท์ จาก คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
“หากเปรียบห้องน้ำเป็นเหมือนกับฐานทัพลับสมัยเด็ก ที่เราสามารถที่จะทำอะไรก็ได้ โดยไม่มีใครมาวุ่นวายก็คงดี”
ผลงานนี้จึงเป็นเหมือนการออกแบบ ‘บ้านต้นไม้’ หรือ ‘ห้องใต้หลังคา’ พื้นที่สุดพิเศษในจินตนาการของใครหลาย ๆ คน เป็นส่วนหนึ่งของบ้านในฝัน แต่ก็แตกต่างไปจากประสบการณ์บ้านแบบเดิม ๆ
ดีไซน์นี้จึงเต็มไปด้วยความสนุกสนานแบบเด็ก ๆ ความเก๋อยู่ที่การแยกเอาห้องสุขาไปไว้เป็นห้องอย่างเป็นสัดส่วน ทำให้การใช้งานพร้อมกันหรือการอาบน้ำเป็นไปได้อย่างผ่อนคลาย
แถมพื้นที่ด้านบนสุขายังเอามาประยุกต์เป็นพื้นที่สำหรับปีนป่าย สร้างสเปซทางตั้งที่เหมือนกับบ้านต้นไม้ขึ้นมาให้เด็ก ๆ ได้เล่นกัน
___
โฉมหน้าของนักศึกษาผู้ชนะรางวัลทั้ง 3 คนรับรางวัลกับผู้บริหารของลิกซิล เอเชียแปซิฟิก
เรียงจากซ้ายไปขวา วิวัฒน์ สุรพัฒนานนท์ ลีดเดอร์ ลิกซิล ประเทศไทย, ธุรกิจเทคโนโลยีการใช้น้ำ, อภิรดา ศิริปัญญา, พสธร กีฬา, ณภัชนันท์ โชคธนนิตินันท์ และ Loy Liangwei ลีดเดอร์ แบรนด์มาร์เก็ตติ้ง ลิกซิล เอเชียแปซิฟิก
การประกวดนี้มีจัดขึ้นทุกปี นิสิตนักศึกษาคนไหนสนใจก็คอยติดตามข่าวได้เลย จะได้ไม่พลาดโอกาสหาประสบการณ์ดี ๆ ผู้ชนะเลิศแต่ละอันดับจากทุกประเทศจะได้รับรางวัลเป็นเงินมูลค่ารวมทั้งหมด 4500 ดอลลาร์
และผู้ชนะอันดับ 1 ยังได้ไปเข้าร่วมประกวดระดับภูมิภาคกับผู้ชนะจากประเทศอื่น ๆ พร้อมกันนี้ยังได้รับเชิญให้เข้าร่วมเอ็กซ์คลูซีฟทัวร์ที่ LIXIL Experience Centre ประเทศสิงคโปร์ และร่วมทำเวิร์กช็อป การออกแบบที่จัดขึ้นเป็นพิเศษที่ LIXIL Design Centre อีกด้วย
เข้าไปดูผลงานเต็ม ๆ ของทั้ง 3 คน หรือ ติดตามข่าวการประกวดได้ที่เว็บไซต์
American Standard ASDA