520Views
Artist Unlocked – Louis Sketcher จากภาพวาดคนเมือง สู่คาแรคเตอร์แมวสุดกวน
ในบรรดาภาพวาดจากศิลปิน จะมีภาพประเภทหนึ่งที่เป็นภาพวาดเมือง อาคาร สถาปัตยกรรม หรือองค์ประกอบของสถาปัตยกรรม อาจจะเป็นภาพสเก็ตช์ลายเส้นขาวดำ หรือภาพที่ลงสีด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ภาพเหล่านี้เรียกว่า ‘Urban Sketch’ หรือแปลตรงตัวเลยก็คือ ‘ภาพวาดเมือง’
ภาพวาดลักษณะนี้จะให้อารมณ์ของภาพที่สื่อถึงลักษณะพิเศษบางอย่างที่ศิลปินพบเจอ ณ ขณะนั้น อาจมีเรื่องราวเล็กๆ แฝงอยู่ในภาพ หรืออาจเป็นแสงเงาที่ต่างออกไปในวันที่พบเห็นเลยวาดขึ้นมา ซึ่งก็อาจไม่ได้ตรงร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะไม่ได้ตั้งใจวาดภาพเหมือน
การวาดภาพแนวนี้จึงต้องอาศัยประสบการณ์ ความชอบ และการฝึกฝนมาพอสมควร โดยหนึ่งในศิลปินที่มีลายเส้นเป็นเอกลักษณ์ท่านหนึ่งที่หลายคนคงเคยเห็นภาพผ่านตามาบ้าง นั่นคือ คุณศุภชัย วงศ์นพดลเดชา หรือ หลุยส์ จาก ‘Louis Sketcher’ ที่ Art of ได้ติดต่อไปขอนัดพูดคุยเพื่ออัปเดตเรื่องราวทั้งเรื่องงานและเรื่องอื่นๆ ในชีวิต ซึ่งล่าสุดก็มีการริเริ่มทำ Art Toy แมวสุดกวนออกมา
ในการสัมภาษณ์ครั้งนี้ทาง Art of ได้พูดคุยกับคุณหลุยส์ถึงเรื่องราวการทำงานที่ผ่านมาในฐานะศิลปิน จุดเปลี่ยน และมุมมองของเขา ที่เชื่อว่าจะสามารถสร้างแรงบันดาลใจเพื่อเป็นแนวทางให้กับทุกๆ คนไม่ว่าจะเป็นผู้ที่อยู่ในวงการศิลปะเองหรือผู้ที่เสพผลงานทั่วไปก็ตาม
Art of จะพาทุกคนมาทำความรู้จักและเปิดมุมมองไปพร้อมๆ กันว่า หลุยส์ในวันนี้… แตกต่างจากหลุยส์สเก็ตช์เชอร์ก่อนหน้านี้อย่างไร แล้วได้ Unlock อะไรบ้าง จากการที่ได้วาดภาพมาร่วมสิบปี
คำนิยามติดตลก ที่บอกเล่าถึงสิ่งที่ต้องทำในตอนนี้
ศิลปินท่านนี้ได้ให้นิยามของตัวเองก่อนเลยว่า “หลุยส์ในวันนี้น่าจะเป็นศิลปินนักวาดภาพที่ได้ออกไปผจญโลกข้างนอกน้อยลงและเป็นนักวาดที่ทำงานอยู่ในห้องของตัวเองมากขึ้น อาจจะเรียกว่านักวาดภาพอินโทรเวิร์ทก็ได้ ต่างจากความเป็นหลุยส์สเก็ตช์เชอร์เมื่อก่อนที่เน้นหนักไปทาง Urban Sketch จริงๆ คือออกไปวาดภาพนอกสถานที่ วาดภาพจากสิ่งรอบตัวที่เจอ จนมาถึงจุดที่ได้รวบรวมมาเป็นหนังสือ Moment in Bangkok”
เหตุผลหลักๆ อาจเป็นเพราะช่วงนี้หลุยส์กำลังเตรียมออกหนังสือภาพเล่มใหม่ และหันมาวาดภาพประกอบมากขึ้น ในขณะที่ก็มีงานทำของจุกจิกและมีโอกาสได้ทำ Art Toy เพิ่มขึ้นมา ซึ่งต้องอาศัยการจัดการตัวเองเยอะ และงานส่วนใหญ่ก็บังคับให้หลุยส์ต้องอยู่แต่ที่บ้านนั่นเอง
จุดเปลี่ยนเล็กๆ ที่ทำให้หลุยส์ตัดสินใจวาดภาพเป็นอาชีพ
หากได้ย้อนกลับไปสักนิดถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้หันมาจับดินสอและสีน้ำ หลุยส์กล่าวว่า “น่าจะเป็นเพราะผมโตมากับการวาดรูปโดยตลอดโดยเฉพาะตอนเรียนมหาวิทยาลัย ที่คณะสถาปัตย์ จุฬา ในคณะก็ได้มีงานที่ต้องใช้มือสเก็ตภาพค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะงานในภาควิชา
จนราวๆ ปีสี่ก็เริ่มออกไปวาดข้างนอกมากขึ้นจนกลายเป็นงานอดิเรกอย่างจริงจัง เมื่อเรียนจบก็ทำงานเป็นสถาปนิกมาเรื่อยๆ แต่ก็เริ่มเกิดความเบื่อ มีการเปลี่ยนที่ทำงานบ้าง ระหว่างนั้นก็ได้เริ่มสานต่อเพจของตัวเองที่เปิดเอาไว้ มีงานสอนบ้าง มีงานวาดภาพประกอบบ้าง
แต่จุดเปลี่ยนน่าจะเกี่ยวกับช่วงเวลาในสมัยนั้น ที่พอทำงานไปสักพักก็จะมีความลังเลในใจ เพราะไม่แน่ใจว่าเราจะทำอาชีพสถาปนิกต่อไปดีไหม?! ได้คุยกับเพื่อนถึงเรื่องในอนาคตว่าอีก 10 ปีเราจะเป็นสถาปนิกที่เก่งพอได้ไหม?! จนสุดท้ายก็ได้ข้อสรุปกับตัวเองว่า ลองเริ่มออกมาวาดภาพเต็มตัวดีกว่า แล้วก็ยาวมาถึงทุกวันนี้”
จากนั้นเมื่อได้คุยกันถึงสิ่งที่เป็นแรงกระตุ้นให้หลุยส์กล้าที่จะออกมาเป็นนักวาดเต็มตัว หลุยส์ให้เหตุผลว่า “น่าจะมีทั้งความมั่นใจในตัวเองในตอนนั้นว่าเราวาดรูปสวย ซึ่งพอมองย้อนกลับไปดู ก็สงสัยว่ามันสวยตรงไหนกันนะ ฮ่าๆๆ พร้อมกับคำชมของเพื่อนและคนรอบตัวมาโดยตลอด ทำให้กล้าที่จะโพสต์ผ่านทางสื่อโซเชียล มีเดีย เท่ากับว่าแรงชมเหล่านั้นเป็นแรงผลักดันที่ดีแล้วก็ทำให้ฝีมือการวาดภาพดีขึ้นจริงๆ”
เห็นได้ชัดว่าถ้าหลุยส์ไม่กล้าที่จะแสดงผลงานของตัวเองให้คนอื่นเห็นก็คงไม่มีใครทราบว่าหลุยส์วาดภาพได้ หรือมีศิลปินที่ชื่อหลุยส์ยืนอยู่ตรงนี้ ในวันนี้
ความเป็นเมืองผ่าน Urban Sketcher กับความชอบที่ตอบได้ยาก
เมื่อได้ถามเจาะลึกเข้าไปว่าการที่ต้องพกอุปกรณ์วาดภาพออกไปไว้ข้างนอก ทำไมถึงเริ่มจากการวาดเมืองหรือสิ่งรอบตัวที่พบเห็น เจ้าตัวก็บอกว่า “เดิมทีเป็นคนที่ชอบศึกษาประวัติศาสตร์ และชอบอาคารสถาปัตยกรรมต่างๆ อยู่ก่อนแล้ว ตั้งแต่ก่อนจะออกไปวาดเอง ถ้าอยากไปเที่ยวเมืองไหนก็จะเซิร์ชภาพแล้ววาดตาม ไม่ใช่เฉพาะที่ไทย แต่รวมไปถึงเมืองอื่นๆ ในต่างประเทศอย่าง เมืองเวนิซ ประเทศอิตาลี ก็ชอบ
นอกจากนั้นการเรียนก็น่าจะมีส่วนที่ทำให้เป็นคนชอบสังเกตรายละเอียด โครงสร้างหน้าตาอาคาร รู้สึกว่ามันสวยงามเลยอยากวาด พอวาดจนหมดก็เก็บแล้วเปลี่ยนเล่ม เคยมีคนติดต่อขอซื้อสมุดที่ตัวเองวาดอยู่เหมือนกันแต่ก็ไม่ได้ขาย ทุกวันนี้ก็ยังเก็บไว้ทุกเล่ม”
แต่พอถามว่าชอบภาพไหนเป็นพิเศษ หลุยส์ก็ใช้เวลาอยู่อึดใจหนึ่งก่อนจะพูดว่า “ตอบยากนะ” พร้อมกับกำลังคิดต่อ
“มันเหมือนถามว่าเราชอบฟังเพลงอะไร เพราะเอาจริงก็ชอบฟังเพลงหลายแนว ดังนั้นภาพที่วาดก็ชอบหมด ไม่มีภาพไหนที่ไม่ชอบ แค่อาจจะมีบางภาพที่พอได้กลับมามองแล้ว ก็อาจทำให้นึกถึงช่วงเวลา หรือสถานที่ที่ไปวาดที่อาจจะไม่ได้แฮปปี้นัก ก็มองเป็นเรื่องขำๆ ไป
แต่ถ้าถามว่าภาพไหนที่ตัวเองประทับใจมากที่สุด ก็น่าจะเป็นภาพที่กำลังทำหรือเรียบเรียงอยู่ในตอนที่คุยกันนี่แหละครับ เช่น ช่วงนี้ก็คงจะเป็นภาพตอนที่ไปวาดที่เชียงใหม่เพราะกำลังรวบรวมทำหนังสืออยู่ อย่างตอนไปวาดที่อ่างแก้ว หรือรูปวาดที่แม่กำปอง โดยเฉพาะอ่างแก้ว เป็นสถานที่ที่ชอบมากอยู่แล้ว อากาศก็ดีด้วย เลยตั้งใจวาดเป็นพิเศษ”
หลุยส์ยังได้อธิบายเพิ่มเติมถึงความไม่แน่นอนในการวาดภาพเมืองอีกว่า
“จริงๆ แล้ว Urban Sketch นั้นเค้ากำหนดว่าต้องวาดเสร็จในสถานที่นั้นๆ เลยครับ ห้ามวาดจากรูปถ่ายด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เค้าก็จะวาดกันเร็วๆ ใช้เวลากันไม่นาน แต่ของผมถ้าสถานที่เป็นใจ ไม่ร้อนไม่เจอฝนก็อยากจะวาดเก็บรายละเอียดไปเรื่อยๆ และถ้าเป็นการวาดเพื่อเก็บข้อมูล หรือเอาไปใช้ในหนังสือ ก็อาจจะไม่ได้ทำมันเสร็จตรงสถานที่นั้นซะทีเดียว อาจจะถ่ายรูปแล้วมาเก็บรายละเอียดทีหลัง หรือพูดอีกอย่างคือผมก็ไม่ค่อยยึดติดกับการที่ว่ามันต้องเป็น Urban Sketching ขนาดนั้นแล้ว”
จากเมืองสู่แมว แถมยังเป็นแมวบาริสต้าที่ทำกาแฟหก แบบไม่สนใคร!
หลังจากคุยเรื่องการวาดภาพเมืองไปเต็มอิ่ม ทาง Art of ก็ได้ถามถึงผลงานใหม่ที่เพิ่งได้ลองทำออกมา
นั่นก็คือ Art Toy ชิ้นแรกของหลุยส์เองที่เป็นน้องแมวหน้านิ่งในชุดบาริสต้าทำท่าเดิน และทำกาแฟหกพื้น
“ปกติชอบแมวแต่ไม่ได้เลี้ยงครับ แค่ชอบเล่นด้วย” หลุยส์บอกพร้อมกับอมยิ้มเล็กน้อย
“ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเหมือนหลายๆ คนที่ที่บ้านไม่ให้เลี้ยงเนื่องจากมีเรื่องที่ต้องดูแลรับผิดชอบเยอะ แต่จะให้เลี้ยงตอนนี้ก็อาจจะไม่สะดวกนักเพราะนี่ก็ย้ายมาอยู่คนเดียว
พอถึงช่วงโควิดที่ไม่ได้ไปไหน บวกกับช่วงที่กระแสภาพ NFT ค่อนข้างดัง ก็เลยมีเวลาสเก็ตช์ภาพอยู่หลายแบบตอนอยู่ใน Hospitel ก็เลยวาดไปวาดมาจนกระทั่งได้น้อง ‘มุ่งมั่น’ แมวหน้านิ่งสีส้มที่มาในรูปแบบต่างๆ โดยเปลี่ยนเครื่องแต่งกายและของตกแต่งไปเรื่อยๆ ส่วนตัวรู้สึกว่าสีหน้าของน้องตัวนี้ไม่ได้มีอารมณ์แสดงออกมา และดูกวนดี
จนได้ยกหนึ่งแถวของ Instagram เพื่อเอาไว้ลงภาพน้องมุ่งมั่นเลย ซึ่งก็ค้นพบว่าการจัดเรียงให้เป็นระเบียบตลอดแบบนี้ต้องใช้ความพยายามสูงอยู่” หลุยส์กล่าวพร้อมกับหัวเราะถึงสิ่งที่ต้องจัดการอีกเรื่อง
“ส่วนเหตุผลที่ได้ทำออกมาเป็น Art Toy ก็เพราะมีคนชวน เลยทำ โดย Toylaxy เขาจะดูแลเรื่อง Production ให้ สิ่งที่เราต้องทำคือวาดออกมาเพิ่มเติมในด้านอื่นๆ ที่ไม่ใช่มุมเดิมเพื่อให้เห็นองค์ประกอบของน้องครบจะได้นำไปขึ้นรูปได้
ความรู้สึกแรกเมื่อได้เห็นน้องชิ้นแรกออกมาก็รู้สึกดีนะ แฮปปี้ ประทับใจที่เห็นงานของตัวเองจากสองมิติ ได้กลายมาเป็นหุ่นตัวเล็กๆ ที่จับต้องได้ตัวแรก! ล่าสุดก็มีไปวางอยู่ที่งาน Thailand Toy Expo 2024 ที่ Central World ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ไปวางเปิดตัวแบบยังไม่ Official แต่ก็มีคนทักมาถามบ้างประมาณหนึ่ง”
Art of เลยถือโอกาสถามว่าแพลนในอนาคตว่าจะมีน้องมุ่งมั่นตัวใหม่ออกมาอีกหรือไม่ หลุยส์ก็บอกว่า “ถ้ามีโอกาสก็อาจจะทำเพิ่มอีก นับเป็นหนึ่งในแพลนที่อยากทำต่อนอกเหนือจากหนังสือรวมเล่มภาพวาด และหนังสือภาพประกอบที่ยังอยากทำต่อไปเรื่อยๆ การวาดก็คงสลับกันไประหว่างวาดมือบนกระดาษ กับใช้เครื่องมือวาดแบบดิจิตอลตามแต่เวลาและสถานที่จะเอื้ออำนวย”
ทิ้งท้ายกับสิ่งที่ตัวเองได้ปลดล็อกมา และอยากบอกต่อ
ก่อนจบการสนทนา หลุยส์เองเป็นคนที่บอกว่า “นี่ก็ไม่ได้มีใครมาสัมภาษณ์นานพอสมควร ก็ทำให้ได้นึกย้อนกลับไปว่า เออ นี่ก็ได้ทำอะไรไปเยอะอยู่นะ” ทาง Art of จึงได้ขอให้หลุยส์ฝากข้อความถึงผู้ที่อยากลองทำอะไรบางอย่างเป็นของตัวเองบ้าง หลุยส์ก็นั่งคิดสักพัก ก่อนจะพูดประโยคง่ายๆ แต่ได้ใจความชัดเจนว่า
“ก็ต้องทำไปเรื่อยๆ สร้างมันขึ้นมาให้เป็นมากกว่าบับเบิ้ลความคิดในหัว จากนั้นก็สะสมไปเรื่อยๆ แล้วเราจะพบว่าวันหนึ่งมันไม่เสียเปล่า เพราะอย่างน้อยเราก็ได้ทำ นั่นก็นับเป็นประสบการณ์ที่ดีแล้ว”
มีทิ้งท้ายอีกเล็กน้อยจากคำถามที่ได้ถามไปว่าอยากบอกอะไรเพิ่มเติมกับคนที่จะได้มาอ่าน คราวนี้จะเป็นเรื่องอะไรก็ได้ มีอะไรที่อยากบอกอีกไหม หลุยส์ก็ยิ้มพร้อมกับถามว่า “เรื่องอะไรก็ได้หรอ” ก่อนที่จะบอกว่า “อาจจะไม่เกี่ยวกับที่เราคุยกันมาเลยตลอดเกือบชั่วโมงนี้ก็ได้นะ”
“เวลาเดินในที่สาธารณะก็อยากให้ใส่ใจผู้คนรอบๆ บ้าง ว่าเราขวางทางหรือไปเกะกะใครหรือเปล่า แล้วก็ถ้าเจอเราหรือคนอื่นๆ มานั่งวาดรูปอยู่ในเมืองก็มาทักทายกันได้นะ”
นี่อาจจะเป็นความในใจที่อยากจะสื่อสารถึงเมืองที่ตัวเขาเองเดินไปวาดภาพอยู่เป็นประจำก็เป็นได้
ติดตาม Louis Sketcher ได้ที่ Instagram | Facebook page | X
เขียนโดย พชร เลิศผดุงธรรม
ภาพโดย Louis Sketcher