20Views

ส่องงานออกแบบ Pavilion 35 แห่ง ใน World Expo 2025 ที่ Osaka ประเทศญี่ปุ่น
สำหรับงาน World Expo ในทุกๆ ปีนั้น ถือเป็นโอกาสสำคัญของทุกประเทศในโลก ในการนำเสนอเรื่องราวของประเทศตัวเองให้โลกได้เห็น จึงไม่แปลกใจเลยที่ทุกๆ อาคารจะออกแบบกันอย่างจัดเต็มโดยสถาปนิกชั้นนำ เรียกได้ว่าไม่มีใครยอมใคร จึงเป็นอีกหนึ่งงานระดับโลกที่น่าไปเยือนสักครั้ง
วันนี้ Art of จะพามาชมโฉม Pavilion (พาวิลเลียน) ของประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยกัน ว่าแต่ละประเทศมีเรื่องราวการออกแบบอย่างไรบ้าง รวมไปถึงอาคารที่เป็นส่วนหนึ่งของ Expo เองด้วย

มาในธีมของนิทรรศการคือ Obake wonderland ซึ่งผู้เข้าชมสามารถมีส่วนร่วมใน “การแปลงร่าง” (bakeru) สู่อนาคตกับ “ภูตผี” (obake) เป็นการเล่นคำพ้องเสียง เลยทำในธีมเหมือนกับเป็นดินแดนแห่งผี
แปลงในที่นี้หมายถึง “การแปลงร่าง” ที่หลากหลาย เช่น เทคโนโลยีอนาคตเพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon-neutral) เป็นต้น ตัวอาคารเป็นเหมือนรูปตัดสามเหลี่ยม สูงสุดที่ 18 เมตร ฟาสาดเป็นกระจก ที่สะท้อนบรรยากาศโดยรอบ นอกจากนี้วัสดุที่ใช้ทำตัวอาคาร ก็จะถูกนำไปรีไซเคิล และใช้ต่อหลังงานจบด้วย

“ปลดปล่อยจิตใจ ร่างกาย ตัวตน และโลกของคุณ”
พาวิลเลี่ยนที่ต้องการให้เด็กๆ ที่จะเติบโตในโลกอนาคต ได้มีพลังในการสร้างสรรค์เป็นของตนเอง สิ่งต่างๆ รอบตัวสามารถเปลี่ยนแปลงไปตามมุมมองของจิตใจของเรา ซึ่งเปรียบเสมือนว่า สิ่งเหล่านั้นเป็น “กระจกสะท้อน” ของจิตใจ
ด้วยความคิดนี้ นิทรรศการจึงได้ตั้งชื่อว่า “ดินแดนแห่ง NOMO” ซึ่งเป็นดินแดนที่แสดงถึง “ความเชื่อมโยง” ภายในของสิ่งมีชีวิตและสรรพสิ่งทั้งหลาย
ใน “การหมุนเวียน 720°” ซึ่งเป็นการหมุนเวียนที่ส่งผลกระทบต่อกันระหว่างการดำรงชีวิตของมนุษย์และธรรมชาติ เด็กๆ จะได้สังเกตถึงความรู้สึกของตนเอง และปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์นั้น ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ ทางผู้จัดมุ่งหวังที่จะสร้างพาวิลเลียนที่เด็กๆ จะได้รับความรู้สึกนี้กลับไปเพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่า

Blue Ocean Dome
ออกแบบโดยสถาปนิกชื่อดังของญี่ปุ่น Shigeru Ban เป็นโครงสร้างโดมและวัสดุแบบล้ำๆ โดยนิทรรศการภายในโดมนี้ เชิญชวนให้ทุกคนตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ Osaka Blue Ocean Vision ซึ่งประกาศในที่ประชุม G20 ในโอซาก้า ปี 2019 ว่าจะมุ่งลดมลพิษจากขยะพลาสติกในทะเลให้เป็น 0 ภายในปี 2050

Null Pavilion
“Forging Lives” พาวิลเลี่ยนนี้ จะพาพวกเราไปสู่ประสบการณ์ที่ไม่รู้จัก ร่างกายของเราจะถูกเปลี่ยนแปลงเป็นรูปแบบของดิจิทัล สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ ภายในพาวิลเลี่ยน ซึ่งจะมีกิจกรรม interactive ทั้งหมด

Women’s Pavilion
มีการคอลแลปกับ Cartier แบรนด์เครื่องประดับสุดหรู โดยมาในธีม “เมื่อผู้หญิงเจริญรุ่งเรือง มนุษยชาติก็จะเจริญรุ่งเรือง” เพื่อต่อสู้กับความไม่เท่าเทียม และเฉลิมฉลองความเป็นผู้หญิงจากทั่วโลกผ่านประสบการณ์และมุมมองของพวกเธอ เพื่อเรียกร้องให้มีอนาคตที่เท่าเทียมและยั่งยืนมากขึ้น
ฟาสาดพาวิลเลี่ยนได้รับแรงบันดาลใจจาก Kumiko ซึ่งเป็นงานไม้ประดับตกแต่งของญี่ปุ่นแบบหนึ่ง มาตีความในรูปแบบโมเดิร์น แสดงให้เห็นถึงความละเอียดอ่อนช้อยของงานฝีมือ

Signature Pavilion by Hashimoto Naoki
“Quest of Life” Dynamic Equilibrium of Life สมดุลพลวัตของชีวิต
ในยุคสมัยที่สังคมสมัยใหม่ถูกทดสอบด้วย Covid-19 และมีความแตกแยกมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำไมเราถึงไม่สามารถหลุดพ้นจากความวุ่นวายนี้ได้? อาจเป็นเพราะ “ปรัชญาของชีวิต” มุมมองพื้นฐานเกี่ยวกับ “ชีวิต” ที่กำลังเลือนหายไป พาวิลเลียนนี้จึงจำพาทุกคนไปสำรวจ “สมดุลพลวัตของชีวิต” เพื่อกำหนดนิยามใหม่ให้กับชีวิต
ในความเป็นจริง เราไม่มีขอบเขตที่ชัดเจนระหว่างพวกเรากับสิ่งแวดล้อม อะตอมและโมเลกุลที่ประกอบเป็นตัวเรากำลังถูกแลกเปลี่ยนกับสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง และชีวิตของเราอยู่ในกระแสอันยิ่งใหญ่ที่เริ่มต้นจากเซลล์เดียวซึ่งเกิดขึ้นอย่างมหัศจรรย์เมื่อ 3.8 พันล้านปีก่อน และถูกส่งต่อไปยังอนาคต นี่คือสมดุลพลวัต เพื่อให้ทุกคนได้กลับมาค้นหานิยามชีวิตใหม่อีกครั้ง

Osaka Healthcare Pavilion
เมืองโอซาก้าร่วมกับมหาวิทยาลัยและอุตสาหกรรมต่าง ๆ จัดแสดงพาวิลเลียนด้านการดูแลสุขภาพของโอซาก้า โดยมีแนวคิดหลักคือ “Nest for Reborn” สถาปัตยกรรมเป็นรูปทรงตาข่าย ภายในนิทรรศการ จะได้พบกับ ตัวเราในอนาคตปี 2050 ซึ่งสร้างจากฐานข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล และยังให้เราได้สัมผัสประสบการณ์อาหารและการดูแลสุขภาพแห่งอนาคตไปพร้อมๆ กัน

Signature Pavilion by Shoji Kawamori
แนวความคิดของตัวพาวิลเลี่ยน คือ แนวปะการังแห่งชีวิต โครงสร้างลูกบาศก์ถูกเรียงซ้อนกันอย่างสะเปะสะปะ ซึ่งสร้างช่องว่างและพื้นที่มากมายระหว่างกันและกัน คล้ายกับแนวปะการัง
ตัวนิทรรศการแสดงถึง ความเชื่อมโยงระหว่างสรรพชีวิตทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในจักรวาล ใต้ท้องทะเล และบนบก เปลี่ยนแปลงแนวคิดจากการที่มนุษย์เป็นศูนย์กลางไปสู่การที่ชีวิตเป็นศูนย์กลาง เป็นนิทรรศการที่เอาอนิเมะ มาร้อยเรียงใหม่ให้ pop ขึ้น และพูดเรื่องที่หนักได้อย่างสวยงาม

Signature Pavilion by Tetsuo Kobori
Playground of Life: Jellyfish Pavilion Life dances, life sings, life opens. ตัวพาวิลเลี่ยน ได้รับแรงบันดาลใจมากจากแมงกระพุรน เป็นรูปทรงโค้งอ่อนช้อย และออแกนิก ตัวนิทรรศการต้องการสื่อถึง สนามเด็กเล่นของชีวิต ที่มีความหลากหลาย จึงอยากให้ทุกคนมาสนุกกับเสียงดนตรี และได้ใช้ชีวิตผ่านการละเล่น และปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์

Signature Pavilion by Sanaa
“Resonance of Lives” เสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ เนื่องจากเรามีความหลากหลาย การอยู่ร่วมกันอย่างไร เพื่อสร้างอนาคตที่ดีขึ้น สถาปัตยกรรมออกแบบโดยสถาปนิกชื่อดังของญี่ปุ่น Sanaa ในแนวความคิด “Forest of Tranquility” ไม่มีผนัง ไม่มีหลังคา เป็นโครงสร้างโปร่งบาง กลมกลืนไปกับธรรมชาติ ทำให้เราไม่มีเส้นแบ่งกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา

Luxemburg Pavilion
“Doki Doki – The Luxembourg Heartbeat” ในภาษาญี่ปุ่น คำว่า Doki Doki หมายถึงเสียงหัวใจที่เต้นรัวด้วยความตื่นเต้น ความกระตือรือร้นและความคาดหวังที่จะให้ผู้ชมตื่นเต้นไปกับประสบการณ์ภายในพาวิลเลี่ยน
วัสดุอาคาร สามารถนำมาใช้ซ้ำ และนำมาใช้ต่อได้หลังงานจบ คิดเรื่องความยั่งยืน (sustainability) มาเต็มๆ นิทรรศการมีการจัดแสดงให้เราได้รู้จักวิถีชีวิตของคนลักเซมเบิร์กมากขึ้น รวมไปถึงร้านอาหารที่เราสามารถไปชิมอาหารพื้นเมืองของเขาได้

Canada Pavilion
“Regeneration” หรือ “การเกิดใหม่” ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากการละลายของทางน้ำที่ถูกแช่แข็งเมื่อเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ สถาปัตยกรรมภายนอกของพาวิลเลียนแสดงถึงปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่พบได้ในแคนาดา เรียกว่า “Ice jam” ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อพื้นผิวน้ำแข็งบนแม่น้ำละลายและไหลไปตามแม่น้ำ สร้างรูปทรงน้ำแข็งผลึก
จากภายนอกที่เยือกเย็น ภายในของพาวิลเลียนจะสื่อถึงความอบอุ่น ความเปิดกว้าง และความมองโลกในแง่ดีของแคนาดา ผู้เข้าชมจะได้ค้นพบและสัมผัสถึงนวัตกรรม ความหลากหลาย และความคิดสร้างสรรค์ของชาวแคนาดา

Belgium Pavilion
กับแนวความคิด “น้ำ” ใน 3 สถานะด้วยกัน
คือ ของเหลว ของแข็ง และแก๊ส ตีความออกมาเป็นตัวพาวิลเลี่ยน ภายในมีการจัดแสดงเกี่ยวกับนวัตกรรมใหม่ล่าสุดทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ และยังมีร้านอาหารข้างในไว้ตอนรับ

Azerbaijan Pavilion
มาในแนวความคิด “Seven bridges for sustainability” เจ็ดสะพานสู่ความยั่งยืน โดยออกแบบพาวิลเลี่ยน เป็นโค้ง arch ที่มีหลายชั้น ผู้ชมจะได้เรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ของประเทศ ผ่านซุ้มแต่ละชั้น

Poland Pavilion
ด้วยแนวความคิด “Gene of creativity” “ยีนแห่งความคิดสร้างสรรค์” ในงานนี้ โปแลนด์จะนำเสนอตัวเองว่าเป็นประเทศที่มีทรัพยากรหลักคือประชากรที่มีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งสืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้ชาวโปแลนด์สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ มีความยืดหยุ่นในสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันของโลก
การออกแบบสถาปัตยกรรมของพาวิลเลียนโปแลนด์เน้นการใช้ไม้ รูปทรงของอาคารมีลักษณะคล้ายกับคลื่นเรียงต่อกัน ภายในนิทรรศการ จะมีห้องคอนเสิร์ตที่มีการแสดงผลงานเปียโนของโชแปง (Fryderyk Chopin) ที่เป็นคนโปลิชนั่นเอง

Austria Pavilion
มาในแนวความคิด “Composing the Future” เพราะประเทศออสเตรียนั้น มีชื่อเสียงเรื่องดนตรีคลาสสิก ธีมในงานจึงเป็นการออกแบบอนาคตผ่านเสียงดนตรี และได้ถ่ายทอดผ่านองค์ประกอบของพาวิลเลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นโน้ตดนตรี หรือบรรทัด 5 เส้นที่ขดวนเป็นสถาปัตยกรรม

Qatar Pavilion
พาวิลเลี่ยนของกาตาร์นั้น ออกแบบโดย Kengo Kuma สถาปนิกชื่อดังของญี่ปุ่น ผู้ออกแบบสเตเดียมโอลิมปิก 2020 ที่โตเกียว โดยได้รับแรงบันดาลใจจากการสร้างเรือดอว์ของกาตาร์และการเข้าไม้แบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น จากการค้าทางทะเล ทำให้กาตาร์และญี่ปุ่น มีความสัมพันธ์อันดี ซึ่งแสดงออกถึงการออกแบบที่รวมวัฒนธรรมเข้าไว้ด้วยกัน

Brazil Pavilion
สถาปัตยกรรมของพาวิลเลี่ยน ได้รับเลือกจากสถาปนิกที่ชนะการประกวดแบบ Studio MK27 ตัวอาคารมี 3 ชั้นด้วยกัน โดยมีแนวความคิดคือ “น้ำ ที่เป็นศูนย์กลางแห่งชีวิต” ปกคลุมด้วยหลังคาโค้งแอ่น มีม่านเป็นเหล็ก ที่่กั้นการมองเห็นระหว่างภายในและภายนอก โดยจะมีการปล่อยไอน้ำตลอด ทำให้เห็นมีบรรยากาศล่องลอย เหมือนเมฆ

Spain Pavilion
มาในธีม “กระแสน้ำคุโรชิโอ” ซึ่งเป็นหนึ่งในความลับของการเดินเรือของสเปนที่มีอยู่ตลอดหลายศตวรรษ กระแสน้ำนี้สร้างความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมและการค้าระหว่างทวีปที่เชื่อมโยงสเปนและญี่ปุ่นเข้าด้วยกัน วัสดุอาคารเน้นย้ำเรื่องความยั่งยืน โดยมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ รวมถึงวัสดุที่ได้จากการรีไซเคิลและการนำกลับมาใช้ใหม่อีกด้วย

China Pavilion
พาวิลเลียนของประเทศจีนมีแนวคิดหลักคือ “การสร้างชุมชนแห่งชีวิตสำหรับมนุษย์และธรรมชาติ สังคมแห่งอนาคตที่พัฒนาอย่างยั่งยืน”
ภายนอกของพาวิลเลียนได้รับแรงบันดาลใจจากแผ่นไม้ไผ่ และมีรูปร่างคล้ายกับม้วนพู่กันจีนโบราณที่คลี่ออก พาวิลเลียนนี้เน้นย้ำปรัชญาจีนที่ว่า มนุษย์ต้องเคารพธรรมชาติ ปฏิบัติตามวิถีทางของมัน และอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ

Australia Pavilion
กับแนวความึคิดการไล่ตามดวงอาทิตย์ “Chasing the sun” ที่ต้องการนำเสนอความหลากหลาย ผู้คนที่มีจิตใจดีงาม มีความคิดสร้างสรรค์ รวมไปถึงธรรมชาติที่สวยงามของประเทศออสเตรเลีย วัสดุของตัวอาคารพาวิลเลี่ยนนั้น ยังมาจากวัสดุรีไซเคิล และจากอีเว้นท์อื่นๆ เพื่อแสดงออกเรื่องความยั่งยืน

Singapore Pavilion
”Where dreams take shape” ได้รับแรงบันดาลใจจากคำเรียกกันที่น่ารักๆ “Little Red Dot หรือ จุดแดงเล็กๆ” มาขยายขึ้น เปลี่ยนแนวคิดนี้ให้เป็นรูปทรงบอลลูนที่ยิ่งใหญ่ ล้อมรอบด้วยเมฆแห่งฝัน รูปทรงบอลลูนที่เรียกว่า “Sphere of Dreams” ถูกหุ้มด้วย “Dream Discs” หลายพันชิ้นที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล
มีการแสดงภายในนิทรรศการ โดยศิลปินชาวสิงคโปร์ เช่น Ashley Yeo, Jerrold Chong, Melissa Tan, และ Zul Mahmod

Kuwait Pavilion
การออกแบบพาวิลเลี่ยนแบบล้ำๆ นี้ ได้รับแรงบันดาลใจจากแลนด์สเคปและวัฒนธรรมของคูเวต ห่อหุ้มด้วยผนังโปร่งแสงที่ส่องสว่างในเวลากลางคืน ตัวอาคารเน้นไปที่โดมกลาง ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากการพักผ่อนใต้ท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยดาวในทะเลทราย พื้นที่ถูกออกแบบให้เป็นสถาปัตยกรรมอิสลาม รวมถึงลานภายในและสวนที่มีต้นไม้ตกแต่งสไตล์คูเวต

Japan Pavilion
พาวิลเลี่ยนของญี่ปุ่นมีการวางผังเป็นวงกลมสะท้อนถึงวงจรของชีวิต วงกลมขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยแผ่นไม้จำนวนมาก เมื่อมองผ่านช่องว่างระหว่างแผ่นไม้เหล่านี้ ผู้เข้าชมจะได้เห็นภายใน เชื่อมโยงระหว่างภายนอกและภายใน ผ่านการจัดแสดงและสถาปัตยกรรม สร้างแรงบันดาลใจให้เข้าใจสิ่งที่อยู่ “ระหว่าง” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธีมของพาวิลเลี่ยน วัสดุของแผ่นไม้เหล่านี้คือ CLT ที่ถูกออกแบบให้สามารถถอดออกได้ง่าย เพื่อใช้ซ้ำในอาคารต่างๆ ทั่วญี่ปุ่นหลังจากงาน Expo จบแล้ว

USA Pavilion
ได้รับแรงบันดาลใจมาจากปรัชญา wabi-sabi โดยตัวอาคารภายนอกเป็นสามเหลี่ยม 2 อาคารประกบกัน มีฟาสาดเป็นไม้ ซึ่งตรงข้ามกับลูกบาศก์ตรงกลางอย่างสิ้นเชิง ที่สามารถเรืองแสง และเป็นจอ LED ขนาดใหญ่ได้
ตัวนิทรรศการมาในคอนเสป “Imagine What We Can Create Together“ ที่ชวนให้ทุกคนคิดว่าเราสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์สร้างอะไรขึ้นมาได้บ้าง ภายใต้เรื่องราวต่างๆ เช่น การสำรวจอวกาศ การศึกษา หรือแม้แต่การเป็นผู้ประกอบการ

Italy Pavilion
“Art regenerates Life” ศิลปะสร้างชีวิตใหม่ พาวิลเลียนของอิตาลีเป็นการตีความใหม่ของเมืองอุดมคติแห่งยุคเรอเนซองส์ โดยสถาปนิก Mario Cucinella
แนวคิดหลักคือ “ศิลปะสร้างชีวิตใหม่” ซึ่งศิลปะที่ว่านี้ หมายรวมตั้งแต่ฝีมือการสร้างสรรค์ไปจนถึงแฟชั่น การออกแบบ รวมถึงวิศวกรรมศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม โชว์ความ Made in Italy เต็มๆ ภายในพาวิลเลี่ยนยังมีร้านอาหารและอาหารอิตาเลี่ยนอร่อยๆ ด้วย

France Pavilion
มาในแนวความคิด “ความรัก” ในวัฒนธรรมญี่ปุ่น ตำนานของด้ายแดงหมายถึงการเชื่อมโยงระหว่างสองคนด้วยด้ายวิเศษที่มองไม่เห็นที่ผูกอยู่ที่นิ้วก้อย ฝรั่งเศสเองก็มี “ด้ายแดง” ของตนเอง ซึ่งนำเสนอมุมมองใหม่ เป็นความรักในหลากหลายรูปแบบ เช่น “การรักตนเอง” “การรักผู้อื่น” และ “การรักธรรมชาติ”
ตั้งแต่ทางเข้า จะพบกับด้านหน้าของพาวิลเลียนที่เปิดออก คล้ายกับเวทีการแสดงที่เปิดกว้างสู่ภายนอก
ในขณะที่ยังคงมีความลึกลับอยู่ ด้านข้างของพาวิลเลียนจะคล้ายกับม่านเวทีที่ปิดบังไว้ทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีสวนที่เผยให้เห็นในช่วงสุดท้ายของการเดินชมนิทรรศการ

Germany Pavilion
“Wa! Germany” คำว่า “Wa” ในภาษาญี่ปุ่นสามารถแปลได้ 3 แบบ คือ
“Wa 輪” หมายถึง “วงกลม” แสดงถึงการหมุนเวียน
“Wa 和” หมายถึง “ควากลมกลืน สามัคคี”
“Wa わ” หมายถึง “ว้าว” แสดงถึงความประหลาดใจ
ตัวพาวิลเลี่ยนมีรูปทรงวงกลม และเน้นไปเรื่องการก่อสร้างแบบยั่งยืน คือสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้

UK Pavilion
ได้รับแรงบันดาลใจจากของเล่นตัวต่อของเด็ก โดยเล่าถึงแนวคิดเล็กๆ ที่สามารถรวมพลังกันจนกลายเป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนโลกได้ เพราะทุกความคิด ไม่ต่างจากตัวต่อเล็กๆ แต่ละชิ้น ที่ล้วนมีศักยภาพที่จะเติบโตเป็นสิ่งยิ่งใหญ่
ตั้งแต่การคิดค้นรถไฟพลังไอน้ำ จนถึงการสร้างท่าอวกาศปลอดคาร์บอนแห่งแรกของโลก พาวิลเลียนของสหราชอาณาจักรจะแสดงให้เห็นว่าสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์เหนือคือดินแดนแห่งโอกาส ที่เปิดรับนักคิดชั้นนำจากทั่วโลกมาร่วมกันสร้างสรรค์ทางออกให้กับความท้าทายระดับโลก

The Netherlands Pavilion
พาวิลเลียนนี้ถูกออกแบบให้เป็นโครงสร้างทรงกลมอยู่ที่ศูนย์กลาง เหมือนมี “ดวงอาทิตย์ที่มนุษย์สร้างขึ้น” ซึ่งสื่อถึงยุคใหม่ของพลังงานที่สะอาด ไม่จำกัด และเข้าถึงได้

Saudi Arabia Pavilion
ออกแบบโดยสถาปนิกชื่อดัง foster + partner กับแนวคิดในเรื่อง วัสดุ low-carbon และพลังงานแสงอาทิตย์
ตัวพาวิลเลี่ยน นำมาจากการเรียงตัวออแกนิกของหมู่บ้านพื้นเมืองของซาอุดิ โดย foster + partner ได้ stimulate เรื่องการไหลของลม เพื่อจัดวางตัวพาวิลเลี่ยน ให้ได้ลมเย็นๆ พัดผ่านตลอดเวลาในหน้าร้อน พร้อมกับพืชพรรณไม้พื้นเมืองที่นำมาจัดแสดง ให้ได้บรรยากาศแบบพื้นถิ่นๆ

Switzerland Pavilion
พาวิลเลี่ยนที่มีขนาด footprint เล็กที่สุดในงาน Expo! โดม 5 โดม ที่มีเปลือกของอาคาร เป็นฟอยล์พร้อมกับโครงสร้างน้ำหนักเบา น้ำหนักรวมกันทั้งหมดไม่เกิน 400 กิโลกรัม ซึ่งนับเป็นเพียงน้ำหนัก 1% ของเปลือกอาคารอื่นๆ ทั่วไป พาวิลเลี่ยนนี้ยังสามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย ด้วยการใส่ Cargo bike 2-3 คันก็ขนย้ายได้แล้ว นอกจากนี้ฟอยล์ยังสามารถรีไซเคิลได้และจะนำไปทำเฟอร์นิเจอร์พิเศษหลังจากงาน Expo อีกด้วย

Bahrain Pavilion
พาวิลเลี่ยนได้รับแรงบันดาลใจจากเรือดอว์ดั้งเดิมของบาห์เรน โดยใช้เทคโนโลยีการสร้างเรือแบบดั้งเดิมเพื่อแสดงฝีมือและมรดกการผลิตของบาห์เรน พาวิลเลียนนี้ยังเป็นการยกย่องเจ้าภาพของงาน Expo โดยการนำศิลปะการเข้าไม้ของญี่ปุ่นมาประยุกต์อีกด้วย

Czech Republic Pavilion
“Talent and Creativity for Life”. โครงสร้างพาวิลเลี่ยนทำจากแผ่นไม้ CLT (Cross-Laminated Timber) ในขณะที่ด้านหน้าของอาคารจะถูกปกคลุมด้วยคริสตัลโบฮีเมียนเป็นเหมือนฟาสาดงานศิลปะ เป็นการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีสมัยใหม่และเทคโนโลยีดั้งเดิมได้อย่างลงตัว
นิทรรศการเป็นแบบ interactive เริ่มจากเดินวนข้างล่างขึ้นข้างบนไปจนถึงหลังคาพาวิลเลี่ยน

Thailand Pavilion
ไม่ใช่ใครอื่นไกล นี่คือพาวิลเลี่ยนของประเทศไทยนั่นเอง มาในแนวความคิด “ภูมิ” ประเทศแห่งการกินดี อยู่ดี มีภูมิคุ้มกัน
“ภูมิพิมาน” ออกแบบโดย A49 โดยมีการตีความจากสถาปัตยกรรมไทย จากรูปทรงหลังคาจอมแห การย่อมุมลดหลั่นขององค์ประกอบต่างๆ และการใช้ลวดลายจักสานของเฉลว
ด้วยไซต์ที่ตั้งของพาวิลเลี่ยนมีขนาดแคบและยาว ทำให้สถาปนิกได้แก้ปัญหาและนำหลักการการสะท้อนมาใช้ คือการทำอาคารเป็นรูปทรงครึ่งจั่ว ขนานไปกับผนังสูง ทำให้เราสามารถมองเป็นจั่วที่สมบูรณ์เงาที่สะท้อนบนผนังขนาดใหญ่
นิทรรศการภายในนั้น มาจากคอนเซ็ป“ภูมิคุ้มกัน” ที่ต้องการแสดงให้เห็นว่าประเทศไทย เป็นประเทศที่มีระบบสาธารณสุขและการแพทย์ที่ดี และอาหารการกินที่อุดมสมบูรณ์
อ่านบทความเต็มๆ เกี่ยวกับ Thai Pavilion at World Expo 2025 ได้ที่
https://www.facebook.com/artofth/posts/766586308893800