1367Views
‘Pavilion Tokyo 2021’ ส่อง 9 พาวิลเลียนที่ชวนให้ทุกคนเดินไปสำรวจโตเกียว!
โตเกียว ไม่เพียงแต่เตรียมพร้อมงานโอลิมปิกและพาราลิมปิกในปี 2020 เท่านั้น.แต่ยังรวมไปถึงการเตรียมพร้อมสถานที่ใหม่ๆ การแสดงผลงานศิลปะ และวัฒนธรรม เพื่อต้อนรับชาวต่างชาติ
ยกตัวอย่างได้ชัด คือ Pavilion Tokyo 2021 ที่ชักชวนสถาปนิกและศิลปินชื่อดัง มาร่วมออกแบบผลงานรอบๆ สนามกีฬาที่ออกแบบโดย Kengo Kuma สถาปนิกและศิลปินที่รับเชิญได้แก่ Kazuyo Sejima, Sou Fujimoto, Junya Ishigami และ Yayoi Kusama เป็นต้น
ทำให้ผู้คนได้สำรวจโตเกียวในหลายๆ ย่าน ผ่านการไปเดินเยี่ยมชมพาวิลเลี่ยนตามที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Yoyogi park, Gaienmae, Shibuya ว่าแล้วก็ไปชมพร้อมๆ กันเลย!
1. Suimei by Kazuyo Sejima
ได้รับแรงบันดาลใจมาจากธารน้ำที่คดเคี้ยว ซึ่งเป็นลักษณะพื้นฐานของสวนในยุคเฮอัน (794-1185) ตั้งอยู่ที่ Hama-rikyu Gardens เมื่อมองใกล้ๆ จะเห็นได้ว่าสายน้ำไหลอย่างเชื่องช้า ไปลงธารน้ำ อีกทั้งพื้นผิวยังได้สะท้อนท้องฟ้า และแลนด์สเคปรอบๆ ลงบนตัวผลงาน
Photo: Kazuyo Sejima & Associates
2. The Obliteration Room by Yayoi Kusama
ห้องสีขาวของคุณป้าได้รับการจัดแสดงหลายที่ทั่วโลก มานับครั้งไม่ถ้วน โดยแรกเริ่มของงาน มักจะเป็นเพียงห้องสีขาวสะอาด ไม่ว่าจะเป็นพื้น ผนัง ฝ้า รวมไปถึงข้าวของเครื่องใช้
ผู้ชมงานแต่ละคน จะได้รับสติกเกอร์วงกลมหลากสี เพื่อไปติดตามใจตัวเอง ตรงไหนก็ได้ เป็นผลงานศิลปะที่ฉลาดมาก เพราะคนดูก็สนุกที่ได้มีส่วนร่วม และงานแสดงก็จะเปลี่ยนไปตามกาลเวลา
Photo: Kisa Toyoshima
3. Cloud pavilion by Sou Fujimoto
คอนเซ็ปต์ คือ ‘a place for everyone’ เป็นเหมือนก้อนเมฆที่เป็นหลังคาของโลก
Fujimoto ได้กล่าวไว้ว่าเป็นพาวิลเลียนที่มีข้างนอก ไม่มีผนัง แต่มีพื้นที่ข้างใน พื้นที่ภายในมีความซับซ้อนจากก้อนก้อนเมฆแต่ละชิ้น ซึ่งรองรับด้วยขาบางๆ เพียง 3 ขาเท่านั้น
Photo: Kisa Toyoshima
4. Global ball by Akihisa Hirata
โครงสร้าง ที่มีรูปร่างเหมือนชามขนาดใหญ่ ถูกเจาะให้มีช่องเปิด และขัดกันไปมา เพื่อแสดงให้เห็นถึงผู้คนจำนวนมากที่มาจากหลากหลายเชื้อชาติและพื้นเพ ที่มาเยือนโตเกียวในช่วงโอลิมปิก โดยรูปร่างของตัวงาน ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสนามกีฬาที่มีรูปทรงวงรี มีการใช้เทคโนโลยีการตัดวัสดุแบบ 3d
Photo: ToLoLo studio
5. Teahouse GO-AN by Terunobu Fujimori
คนรักชา จะต้องรักในบ้านชาหลังนี้ ที่ออกแบบโดย Terunobu Fujimori สถาปนิกและนักประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ผู้ที่เป็นผู้อำนวยการของ Edo-Tokyo Museum
ฐานของบ้านชาหลังนี้ถูกปกคลุมด้วยหญ้า ในขณะที่ชั้นสองสร้างด้วยแผ่นไม้ซีดาร์ หรือที่รู้จักในชื่อ yakisugi ผู้มาชมงาน จะต้องเดินผ่านประตูบานเล็กๆ และปีนขึ้นไปด้วยบันไดแคบๆ เพื่อเข้าไปยังสถานที่ชงชาแห่งนี้ โดยเมื่อมองจากภายในจะสามารถเห็นวิวของสนามกีฬาได้
ตอนกลางคืน มีการเปิดไฟ ทำให้ตัวสถาปัตยกรรมกลายเป็นเหมือนโคมไฟขนาดใหญ่ ให้แสงสว่างโดยรอบ
Photo: ToLoLo studio, Kisa Toyoshima
6. Kokage-gumo by Junya Ishigami
ตัวพาวิลเลียนได้ตั้งอยู่ที่ สวนของ Kudan house แมนชั่นสไตล์สแปนิชที่สร้างขึ้นในปี 1927 สร้างโดยคุณ Mankichi Yamaguchi โดยมีโครงสร้างที่กลืนไปกับธรรมชาติ จากไม้ carbonised yakisugi cedar เป็นเสาและหลังคาที่ให้ร่มเงา ทั้งยังทำหน้าที่ซ่อนบริบทเมืองรอบๆ ทำให้เหมือนย้อนไปไหนปี 1920s
Photo: Shuji Goto
7. Street Garden Theatre
โครงสร้างไม้นี้ ออกแบบโดย Teppei Fujiwara เพื่อแสดงถึงสวนใจกลางเมืองโตเกียว โครงสร้างมีหลายชั้น ที่ผู้ชมสามารถเดินผ่านบันไดอละขั้นต่างๆ หรือจะสามารถนั่งลงบนตัวพาวิลเลียนและชมต้นไม้หลากชนิดก็ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นมะเขือเทศ หรือโรสแมรี่
Photo: Kisa Toyoshima
8. Tokyo Castle by Makoto Aida
ตั้งอยู่หน้าถนนเส้นกิงโกะ ใกล้สถานี Gaienmae โดยศิลปินได้สร้างปราสาทไว้เสียดสีการสร้างสนามกีฬาที่ใช้งบมหาศาล ด้วยงบประหยัดสุดๆ โดยหลังแรกทำจากกระดาษลังสูงกว่า 8 เมตร และหลังที่สองที่ขนาดเล็กว่าเท่านึงที่หุ้มด้วยผ้าใบสีน้ำเงิน
ไอเดียเริ่มจาก ‘Shinjuku Castle’ 1995 งานของเขาที่งบน้อย เขาจึงได้รับแรงบันดาลใจจากบ้านชั่วคราวของคนจร ที่ใช้วัสดุคือ กระดาษลัง และผ้าใบ เพื่อปกป้องพวกเขาจากฝน ซึ่งหลังจากนั้นก็กลายมาเป็นสไตล์ชัดเจนของเขา
Photo: Kisa Toyoshima
9. 2020-2021 by Daito Manabe + Rhizomatiks
ผลงานสร้างจาก AI เป็นการประมวลข้อมูลจากอีเวนท์ที่ถูกแคนเซิลเนื่องในสถานการณ์โควิด ตัวงานตั้งอยู่ฝั่งตรงข้าม The Watari Museum of Contemporary Art ซึ่งเป็นที่จัดแสดงงาน The Pavilion Tokyo 2021 ที่รวบรวมภาพร่าง แปลน และโมเดลของแต่ละพาวิลเลียนให้ชมอีกด้วย
Photo: Keizo Kioku