Skip to content Skip to sidebar Skip to footer

Vivienne Westwood ตัวแม่แห่งแฟชั่นพังก์ นักเคลื่อนไหวแห่งโลกการออกแบบ

หากจะพูดถึงแฟชั่นไอคอนที่มีคาแรคเตอร์สุดจัดจ้าน ผู้แหวกขนบวงการแฟชั่นในประเทศที่มีวัฒนธรรมการแต่งตัวสุภาพตามธรรมเนียมมาอย่างยาวนานอย่างประเทศอังกฤษ ก็คงจะเป็นชื่ออื่นไปไม่ได้เลยนอกจาก Vivienne Westwood แฟชั่นดีไซนเนอร์ระดับตำนาน ผู้ให้กำเนิดแฟชั่นพังก์ และอยู่ในวงการออกแบบมามากกว่า 60 ปี

ในวันนี้ Art of ก็จะขอมาเล่าเรื่องราวชีวิต และผลงานของหนึ่งในดีไซน์เนอร์ผู้นำโลกแฟชั่น ผู้เปลี่ยนวิธีการแต่งตัว การมอง และแนวคิดเกี่ยวกับแฟชั่นของเราไปตลอดกาลอย่าง “ วิเวียน เวสต์วูด (Vivienne Westwood)” นักออกแบบประจำเดือนเมษายนในซีรี่ย์ Designer of the Month กันเลย


ฉันไม่คิดว่าผู้หญิงในชนชั้นแรงงานแบบฉันจะหาเลี้ยงชีวิตในโลกศิลปะได้

Vivienne Swire (Westwood เป็นนามสกุลของสามีคนแรก) เกิดเมื่อวันที่ 8 เมษายน 1941 ในหมู่บ้าน Hollingworth มณฑล Cheshire ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยพ่อของเธอทำงานเป็นคนดูแลคลังสินค้าของโรงงานผลิตเครื่องบิน

ต่อมาในปี 1958 เมื่อวิเวียนอายุ 17 ปี ครอบครัวของเธอก็ได้ย้ายมาอยู่ที่กรุงลอนดอน เธอได้เลือกเรียนหลักสูตร Jewelry and Silversmith ใน Harrow Art School (ปัจจุบันคือ University of Westminster) แต่หลังจากที่เรียนไปได้เทอมเดียวเธอก็ตัดสินใจลาออกโดยเธอได้พูดว่า “ฉันไม่คิดว่าผู้หญิงในชนชั้นแรงงานแบบฉันจะหาเลี้ยงชีวิตในโลกศิลปะได้

หลังจากที่ทำงานในโรงงานและเรียนในโรงเรียนฝึกสอนครู วิเวียนก็ได้งานเป็นคุณครูโรงเรียนประถม แต่ด้วยความสนใจเดิมด้านแฟชั่นและเครื่องประดับที่เธอมีก็ทำให้เธอทำเครื่องประดับไปขายที่ตลาด Portobello แถว Notting Hill ควบคู่ไปด้วย


กำเนิดตัวแม่แฟชั่นพังก์

ในปี 1962 วิเวียนได้แต่งงานกับ Derek Westwood โดยเธอได้ตัดชุดแต่งงานของเธอเอง และมีลูกในปีต่อมา แต่หลังจากที่เธอเจอกับ Malcolm McLaren ได้ไม่นานเธอก็ตัดสินใจหย่ากับ Derek และมีลูกอีกคนในปี 1967 วิเวียนยังทำงานเป็นครูจนถึงปี 1971 และออกแบบเสื้อผ้ากับมัลคอล์ม ซึ่งเขามีอีกงาน คือ การเป็นผู้จัดการวงพังก์แห่งเกาะอังกฤษอย่าง “Sex Pistols” และศิลปินในวงก็มักจะใส่เสื้อผ้าที่ทั้งคู่ออกแบบอยู่บ่อยๆ จนทำให้เริ่มเกิดเป็นกระแสขึ้นมา

วิเวียนเป็นหนึ่งในผู้สร้างปรากฎการณ์แฟชั่นพังก์ขึ้นมาในยุค 70 เธอคลั่งไคล้แนวคิดการวิพากย์ระบบต่างๆ ที่เป็นอยู่ในสังคมเป็นอย่างมาก โดยเธอได้สื่อสารมันผ่านทางเสื้อผ้าที่เธอออกแบบ และผลิตเพื่อสะท้อนบริบททางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศอังกฤษในยุคนั้น ยุคที่วัยรุ่นเริ่มพัฒนาการสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองผ่านทางเสื้อผ้าที่สวมใส่สอดคล้องไปกับรสนิยมทางดนตรีของตนเอง

วิเวียนได้เริ่มเปิดร้านเสื้อผ้าเล็กๆ ชื่อว่า ‘Let it Rock’ ร่วมกับมัลคอล์มที่แถบเชลซีของลอนดอนในปี 1971 แต่หลังจากเปิดไปได้หนึ่งปีเธอก็เบนความสนใจมาที่แฟชั่นสไตล์ Biker งานซิป งานหนัง หัวกระโหลก และกระดูกไขว้ โดยเปลี่ยนชื่อร้านเป็น ‘Too Fast to Live, Too young to die’ และได้เริ่มใช้ของตกแต่งใหม่ๆ บนเสื้อผ้าอย่าง เข็มซ่อนปลาย กากเพชร และกระดูกไก่ ใช่ กระดูกไก่จริงๆ !!!


ตั้งคำถาม และเข้าท้าทายขนบด้วยการออกแบบ

วิเวียนและมัลคอล์มเคยถูกดำเนินคดีในเรื่องการผลิตสิ่งพิมพ์ลามกอนาจาร หลังจากที่ผลิตเสื้อยืดที่สกรีนถ้อยคำ ปลุกเร้า ยั่วยวน ซึ่งพวกเขาได้ตอบรับอย่างดีด้วยการรีแบรนด์ใหม่ ด้วยการผลิตเสื้อยืดที่มีข้อความและภาพที่มีเนื้อหารุนแรงกว่าเดิม!!! และเปลี่ยนชื่อร้านเป็น ‘Sex’ ในปี 1974

ผลงานการออกแบบในร้าน Sex ของวิเวียนมีรากฐานมาจาก ‘Fetishism’ (การหาความสุขทางเพศในวัตถุต่างๆ ที่มักไม่เกี่ยวกับเรื่องเพศ) และ ‘Sadomasochism’ (คนที่มีความสุขจากการทำร้ายหรือถูกทำร้ายทั้งทางร่างกายหรือจิตใจ) โดยตั้งใจที่จะกระตุ้นชนชั้นกลางที่กินอยู่สบาย และเหล่าวัยรุ่นให้ตั้งคำถามและท้าทายสภาพสังคมที่เป็นอยู่ เช่น เสื้อยืดที่สกรีนถ้อยคำหรือภาพลามก หรือกระโปรงชุดเดรสที่ทำมาจากยาง โดยใช้สโลแกนว่า “ชุดยางสำหรับออฟฟิศ”

ต่อมาในปี 1976 ร้านก็ได้ถูกเปลี่ยนชื่ออีกครั้ง เป็น ‘Seditionaries’ โดยยังเก็บความท้าทายที่มีต่อบรรทัดฐานทางสังคมไว้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ รสนิยม ไปจนถึงประวัติศาสตร์ แต่ว่าได้เปลี่ยนวัสดุที่ใช้ เอกลักษณ์แฟชั่นของวิเวียนทั้งกางเกงขายาวสไตล์ Bondage ที่มีแถบสายคาดรัดตามส่วนต่างๆ เสื้อถักโมแฮร์ที่ถักห่างมากๆ จนมองทะลุข้างใน และเสื้อแขนยาวผ้ามัสลินที่สกรีนลายต่างๆ ที่มีแขนเสื้อผูกปรับได้ ซึ่งทั้งหมดนั้นได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญของแฟชั่นพังก์อย่างรวดเร็ว


แฟชั่นเสื่อมลงได้ แต่จิตวิญญาณของพังก์จะไม่หายไป

การออกแบบผลงานของวิเวียน และมัลคอล์มนอกจากจะกระตุ้นปฏิกริยาทางสังคมแล้วก็ยังสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลากหลายวงการ แต่ก็มีคนที่ใช้ประโยชน์จากสไตล์ และแนวความคิดแบบพังก์โดยไม่สนใจคุณค่าจริงๆ ของมัน โดยมองเห็นแค่เปลือกนอกที่เป็นโอกาสทางการตลาดเท่านั้น ไม่ใช่สื่อกลางที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงจริงๆ

จากการยุบวง Sex Pistols กระแสของพังก์ก็ค่อยๆ ออกจากกระแสหลัก วิเวียนก็ได้รับแรงบันดาลใจใหม่ๆ จาก โจรสลัด และเหล่าชนชั้นสูงที่รอดมาจากการปฏิวัติฝรั่งเศส ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประหารกิโยติน หรือ การสูญเสียครอบครัว ทำให้ในปี 1980 ร้านก็ได้รับการปรับปรุงและเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ‘Worlds End’ ซึ่งในปัจจุบันถึงแม้ว่าร้านจะปิดไปแล้วแต่ก็ยังคงใช้ชื่อเดิม และเก็บการออกแบบตกแต่งภายในร้านแบบเดิมตามที่วิเวียนและมัลคอล์มทำไว้เมื่อ 40 ปีแล้ว

หลังจากที่ร้านได้ปิดตัวลงในปี 1984 วิเวียนก็ย้ายไปอยู่ที่อิตาลี และหลังจากนั้นก็ได้รับเชิญให้จัดแสดงคอลเลกชั่นประจำฤดูใบไม้ผลิ-ฤดูร้อน ที่มีชื่อว่า “Hypnos” ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเสื้อนักฟุตบอล และวัฒนธรรมเกย์ ที่งาน Best of Five global fashion awards ที่กรุงโตเกียวร่วมกับดีไซน์เนอร์ชื่อดังอีกหลายคน เช่น Calvin Klein, Claude Montana และ Gianfranco Ferre


ไม่ลืมอดีต และมุ่งหน้าสู่อนาคต

ในปี 1986 วิเวียนก็ได้ออกแบบโลโก้ที่เป็นลูกแก้วกลมๆ แล้วมีวงแหวนล้อมรอบที่เราเห็นกัน โดยเป็นการผสมผสานระหว่าง “ออร์บ” ลูกแก้วที่มีการประดับตกแต่งโดยรอบและมียอดเป็นกางเขนที่เป็นสัญลักษณ์แห่งคริสตจักรในยุคกลาง (อาจเคยเห็นจากภาพเขียนเหล่ากษัตริย์ในยุคนั้นถือ หรือ ประดับที่ยอดไม้เท้า) และ “วงแหวนของดาวเสาร์” ตัวแทนของการเดินทางสำรวจพื้นที่ และนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสื่อถึงการนำศิลปะ ประเพณี และองก์ความรู้ดั้งเดิมไปสู่อนาคต

ซึ่งในปีเดียวกันนั้นเอง วิเวียนก็ได้มอบหมายให้ Carlo D’ Amario นักประชาสัมพันธ์ด้านแฟชั่นชาวอิตาลีหุ้นส่วนธุรกิจคนใหม่ขึ้นเป็น Managing Director ของแบรนด์ และค่อยๆ หลุดจากความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่ย่ำแย่ของเธอกับมัลคอล์มก่อนที่จะเปิดตัวร้านใหม่ที่ลอนดอนอีกครั้งบนถนน Davies Street ในปี 1988

คอลเลคชั่น Mini-Crini เรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของแบรนด์ โดยเป็นการศึกษา ‘เครื่องแต่งกายในอดีต’ แล้วนำมาออกแบบผสมผสานในรูปแบบใหม่ และได้กลายมาเป็นแนวคิดที่วิเวียนนำมาใช้บ่อยๆ ซึ่งชุดที่มีชื่อเสียงที่สุดสำหรับคอลเลกชั่นนี้ คือ ชุดกระโปรงทรงกระดิ่งตัวสั้นที่ดูย้อนยุค และมีความเป็นเด็ก

การนำรูปแบบ รายละเอียดต่างๆ ของแฟชั่นในอดีตมาเล่าใหม่ปรากฎให้เห็นมาเรื่อยๆ ตั้งแต่คอลเลกชั่น Harris Tweed ปี 1987 ที่ใช้ผ้าลายตารางกับสไตล์ชุดขี่ม้าของชนชั้นสูง คอลเลกชั่น Time Machine ปี 1988 ที่เป็นชุดสูทสไตล์อังกฤษแบบดั้งเดิมนำมาผสมผสานกับชุดเกราะยุคกลาง โดยใช้การทำทรงผ้าที่ข้อศอก เอว และไหล่เหมือนชุดเกราะในยุคนั้น และคอลเลกชั่น Voyage to Cythera ปี 1989 ที่มาจากแฟชั่นยุคนีโอคลาสสิก ทั้งการใช้คอร์เซต และการซ้อนผ้าหลายๆ ชั้นแบบกระโปรงสุ่มในยุคนั้นนำมาฉีกออกให้เห็นผิวข้างใน เป็นการตีความเรื่องความเซ็กซี่ในยุคสมัยใหม่


นักออกแบบ นักเคลื่อนไหว และบทบาทอื่นๆ ในตลอดช่วงชีวิต

ด้วยความสำเร็จมากมายในอาชีพทำให้ในปี 1992 เธอได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันวิเศษยิ่งแห่งจักรวรรดิบริติช ระดับที่ 2 Officer of the Order of the British Empire (OBE) จากคุณูปการทางด้านแฟชั่น แต่ตอนที่เธอเข้ารับเหรียญจากสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธที่ 2 เธอไม่ได้ใส่อะไรเลยข้างล่าง!? นอกจากถุงน่องบางๆ

ซึ่งช่างภาพเก็บภาพตอนที่เธอหมุนตัวจนเห็นไปไหนต่อไหนไว้ได้ ซึ่งเธอบอกว่าพระราชินีทรงชอบใจภาพนี้มาก หลังจากนั้นในปี 2006 เธอก็ได้เลื่อนชั้นยศมาเป็นระดับที่ 4 Dame Commander of the Same Order (DBE) ระดับที่จะได้รับคำนำหน้าเรียกชื่อว่า Sir หรือ Dame นั่นเอง

วิเวียน รณรงค์ สนับสนุน และเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และต่อต้านการบริโภคนิยมมาตั้งแต่ยุคแรกๆ ซึ่งมันสวนทางกับกิจการทางด้านแฟชั่นของเธอ ทั้งเดินลงถนนประท้วง อ่านแถลงการณ์ตามสถานที่สำคัญต่างๆ และทำแคมเปญรณรงค์ โดยเธอทำร่วมกับเหล่ากลุ่มที่เคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

แต่ก็มีคนกล่าวว่าเธอใช้เรื่องนี้เพื่อทำการตลาดแบรนด์ตัวเอง เพราะสินค้าของเธอบางอย่างก็ถูกทำขึ้นที่ประเทศจีน และใช้วัสดุอย่าง PVC หรือ เส้นใยสังเคราะห์ต่างๆ ซึ่งส่งผลร้ายต่อธรรมชาติ และถึงแม้ว่าเธอจะออกมาให้สัมภาษณ์ว่าเธอรู้สึกไม่สบายใจที่จะปกป้องแบรนด์ของตัวเอง และขอให้ผู้ซื้อมีกำลังมากพอที่จะซื้อของจากเธออย่าซื้อมากเกินไป นั่นก็ย้อนแย้งกับแบรนด์ของเธอที่ออกคอลเลกชั่น 9 คอลเลกชั่นต่อปี

บนเส้นของนักออกแบบ และนักเคลื่อนไหวที่ตั้งคำถาม และขับเคลื่อนสังคมอย่างจัดจ้านมาตลอด 60 ปี วิเวียนได้รับรางวัล และได้รับบทบาทมากมาย ตั้งแต่เป็นเจ้าของรางวัลการออกแบบมากมาย เป็นตัวแทนองค์กร Greenpeace ผู้สนับสนุน NGOs และคนทำแคมเปญต่างๆ ทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชนเรื่องสิ่งแวดล้อมไปจนถึงเรื่องอาวุธนิวเคลียร์

และไม่ว่าใครจะว่าอย่างไรก็ตามเธอก็ไม่เคยหยุดที่จะเป็นกระบอกเสียง และรณรงค์เคลื่อนไหวในประเด็นทางสังคมต่างๆ เลย จนในที่สุดวิเวียนก็ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบในวันที่ 29 ธันวาคม 2022 ที่อายุ 81 ปี ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ


เขียนโดย รวีศิลป์ อัศวกิตติประภา

source:
https://www.viviennewestwood.com

© 2021 Art of. All rights reserved.

  083-138-5607
contact@artofth.com

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save