Skip to content Skip to sidebar Skip to footer

ทำไมการ์ตูนของ Studio Ghibli ถึงดู “มีชีวิต”

เคยสังเกตกันมั้ยว่า บางครั้งเราแค่ได้ดูตัวละครเดิน กินข้าว หรือยืนเงียบๆ มองท้องฟ้า อยู่ในฉากธรรมดาๆ แต่กลับ ‘รู้สึก’ และสัมผัสได้ถึงอะไรบางอย่างจากแอนิเมชันของ ‘Studio Ghibli’

หนึ่งในสตูดิโอที่เป็นไอคอนิคของวงการแอนิเมชัน ที่บางครั้งอาจจะไม่ได้มีฉากแอ็กชันอลังการ แต่ดึงเราให้รู้สึกมีประสบการณ์ร่วมไปกับตัวละคร ที่เต็มไปด้วย ชีวิต ความรู้สึก และความอบอุ่น

ถ้าให้อธิบายสั้นๆ ว่าทำไมการ์ตูนของ Studio Ghibli ถึงดูมีชีวิต ก็เพราะการให้ความสำคัญกับองค์ประกอบของความเป็นมนุษย์ และรายละเอียดเล็กๆ ที่สะท้อนความจริงของชีวิต

วันนี้ลองพามาดูองค์ประกอบที่น่าสนใจที่ทำให้ Studio Ghibli กลายเป็นสตูดิโอที่มี “จังหวะ” และ “จิตวิญญาณ” อันเป็นเอกลักษณ์ไปพร้อมๆ กัน !

ก่อนจะไปอ่าน ใครอยากดูแบบวิดีโอ เรามีทำคลิปเรื่องสตูดิโอจิบลิเอาไว้ 2 Part ในยูทูบด้วย ! ตามไปดูกันได้เลย !


จิตวิญญาณแห่ง ‘ธรรมชาติ’ ที่ไม่ได้เป็นแค่ฉากหลัง

ธรรมชาติที่รู้สึกมีชีวิต

หลายครั้งแอนิเมชันทางฝั่งตะวันตกมักจะได้รับอิทธิพลจากแนวคิดแบบปิตุลักษณ์ (Masculine) ที่ธรรมชาติมักถูกมองว่าเป็นเหมือน ‘ทรัพยากร’ ที่ตัวเอกต้องเอาชนะ หรือควบคุม เป็นฉากหลังให้ฮีโร่ออกไปพิชิต

แต่ในแอนิเมชันฝั่งตะวันออก โดยเฉพาะผลงานของ Studio Ghibli จะมีแนวคิดแบบมาตุลักษณ์ (Feminine) จะมองว่าเราคือส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เป็นทั้งแหล่งพลังงาน ความอบอุ่น และความศักดิ์สิทธิ์

ทำให้หลายๆ ครั้งฉากธรรมชาติในจิบลิจะดูมีชิวิต เหมือนเป็นอีกตัวละครหนึ่ง ด้วยวิธีการลงสีที่ไม่เท่ากันของคลื่นทะเล วิธีการขยับของหยดน้ำ หรือตัวอย่างเช่นตัวละครไฟ Calcifer ใน Howl’s Moving Castle

ความเชื่อมโยงกับบริบทสังคม

เรื่องของธรรมชาติ ถือเป็นสิ่งที่เกี่ยวโยงกับบริบททางสังคมในวัฒนธรรมญี่ปุ่นมาตั้งแต่โบราณ ด้วยความที่เคยเป็นเมืองเกษตรกรรม จึงเชื่อว่าธรรมชาติมีพลังแห่งการสร้างสรรค์ เป็นจุดกำเนิดของชีวิต เช่น เป็นแหล่งที่มาของอาหาร 

แนวคิดนิกายชินโต กับความเชื่อในจิตวิญญาณในธรรมชาติ สะท้อนไปถึงธรรมชาติที่อยู่ในเรื่อง ด้วยความเชื่อที่ว่า ป่าแห่งใดก็ตามที่มีวิญญาณสิงสถิตอยู่ ป่าแห่งนั้นจะต้องคงความสมบูรณ์เอาไว้ได้ในระดับหนึ่ง เช่นโทโทโร่ใน My Neighbor Totoro


ความงามของ ‘ที่ว่าง’ โลกที่ไม่เร่งรีบ และมีจังหวะของตัวเอง

ความงามของที่ว่าง จากปรัชญา ‘Ma’ 

Ma (間) คำภาษาญี่ปุ่นที่หมายถึง “ช่องว่าง” หรือ “ช่วงหยุด” ระหว่างสิ่งหนึ่งกับอีกสิ่งหนึ่ง ซึ่งเห็นได้ในหลายๆ อย่างเช่นสถาปัตยกรรมญี่ปุ่น ที่ช่องว่างนั้นกลับมาช่วยให้ตัวงานสถาปัตยกรรมนั้นสวย และสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

แต่ในบริบทของแอนิเมชัน จะหมายถึงฉากที่เราเว้นพื้นที่เงียบๆ ตัวละครนั่งนิ่งๆ ไม่จำเป็นต้องพูดคุยกัน ซึ่งการทิ้งที่ว่างแบบนี้ ไม่ใช่ความว่างเปล่าแบบไร้ความหมาย แต่เป็นช่องว่างให้ความรู้สึกได้ทำงาน ยิ่งทำให้แต่ละซีนที่เราเห็นสมบูรณ์ในตัวเองยิ่งขึ้น

จังหวะอันเป็นเอกลักษณ์ของการ์ตูนจิบลิ

จากช่องว่างที่สอดแทรกอยู่ตลอดในการ์ตูของจิบลิ ทำให้เกิดเป็นจังหวะการเล่าที่เป็นเอกลักษณ์ ทุกอารมณ์ความรู้สึกเล็กๆ ของตัวละคร จะมีพื้นที่ให้ค่อยๆ เติบโต ไปตามจังหวะของมันเอง เป็นจังหวะที่มีความเป็นมนุษย์ ไม่จำเป็นต้องสนุกตื่นเต้นตลอดเวลา

Studio Ghibli จึงไม่กลัวที่จะทิ้งฉากนิ่งๆ เป็นนาที หรือไม่กลัวที่จะทิ้งให้ตัวละครอยู่เฉยๆ แล้วปล่อยให้ธรรมชาติพูดแทน ซึ่งบางครั้งก็ใช้เสียง Ambient ธรรมชาติ หรือดนตรีประกอบเข้ามาช่วยส่งเสริมในจุดนี้ได้อย่างลงตัว


ถ่ายทอดความอบอุ่นของชีวิตผ่าน ‘อาหาร’

อาหารที่สมจริง เหมือนที่เรากินจริง ๆ !

ในการ์ตูนของจิบลิ ทุกครั้งที่มีฉากอาหารโผล่มา เมื่อตัวละครกินอะไรซักอย่าง มักทำให้รู้สึกหิวขึ้นมาทุกครั้ง เพราะ Studio Ghibli มักให้เวลากับฉากอาหาร ไม่ใช่แค่การกิน แต่รวมไปถึงทุกกรรมวิธีในการทำอาหาร การเตรียมโต๊ะ จัดจาน

ซึ่งนั่นทำให้ไม่ใช่แค่ภาพที่ออกมาสมจริง แต่ทำให้เรารู้สึกได้ถึงกลิ่น รส ไปจนถึงความสุขของการกินอาหารที่ถ่ายทอดออกมาผ่านสีหน้าท่าทางของตัวละคร ช่วยให้เห็นความเป็นมนุษย์ แม้บางครั้งจะไม่ได้มีผลกับเส้นเรื่อง

อาหารใช้สะท้อนคาร์แร็คเตอร์ของตัวละคร

นอกจากอาหารที่สมจริง หลายๆ ครั้งจิบลิมักใช้ฉากอาหารในการสื่อสารให้เห็นลักษณะนิสัยของตัวละครไปพร้อมกัน เช่น ฉากที่ Sophie กับ Howl ทำกับข้าว ก็สะท้อนบุคลิกของโซฟีที่มุ่งมั่น Howl ที่ดูเป็นคนใจดีอบอุ่น หรือไฟ Calcifer ที่พยศแต่ก็ใจดี

หรือใช้การทำอาหารเป็นการเล่าเรื่องของตัวละคร เช่น Chihiro จาก Spirited Away เป็นเด็ก 8 ขวบที่ทำอาหารได้อย่างคล่องแคล่ว เพราะไม่มีพ่อแม่ทำให้


‘ตัวละคร’ ที่มีมิติทางอารมณ์ พร้อมการเคลื่อนไหวที่มีความหมาย

ความลึกทางอารมณ์ของตัวละคร

ความเรียล ของตัวละครในจิบลิ ไม่ได้มาจากการวาด การลงสี การใช้เส้นที่เหมือนจริง แต่มาจากการที่มีความเป็นมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์แบบ มีทั้งข้อดี ข้อเสีย มีความผิดพลาด, ความลังเล, ความจริงใจ, ความรัก, ความกลัว มีด้านมืดด้านสว่าง เช่น Yubaba ใน Spirited Away ถึงจะดูร้าย แต่ก็มีมุมรักลูกตัวเอง

การเคลื่อนไหวเล็ก ๆ ช่วยให้ตัวละครมีชีวิตจิตใจ

การสร้างแอนิเมชันของจิบลิ จะไม่มองข้ามการเคลื่อนไหวเล็กๆ ที่ทำให้ตัวละครมีชีวิต เช่นใน Porco Rosso ที่ตัวละครเอื้อมหยิบโทรศัพท์พลาด ต้องมีการเอื้อมไปหยิบอีกครั้ง ซึ่งบางครั้งก็เกิดขึ้นได้กับมนุษย์จริงๆ อย่างพวกเรา

© 2021 Art of. All rights reserved.

  083-138-5607
contact@artofth.com

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save