470Views
พาไปชม 7 ผลงาน ใน PAKKTAII DESIGN WEEK 2023
หลายๆ คนคงจะคุ้นเคยกับงาน Design Week เช่น งาน Bangkok Design Week ที่ กทม. ในภาคกลาง หรือ Chiangmai Design Week ที่เชียงใหม่ ในภาคเหนือ ในคราวนี้ก็ถึงตาภาคใต้กันแล้ว โดยมาในชื่อ ‘PAKTAII DESIGN WEEK’ ซึ่งเป็นชื่อที่บอกตัวตนของภาคใต้หรือความเป็น ‘ปักษ์ใต้’ บ้านเราได้เป็นอย่างดี
โดย ครั้งแรกของ PAKTAII DESIGN WEEK ในปี 2023 นี้ มากับแนวคิด “The Next Spring หลบเริน แล้วผลิบาน” โดยรวบรวมเอาเพื่อนพี่น้องนักออกแบบสร้างสรรค์จากทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ ที่ตัดสินใจกลับบ้าน เพื่อนมาร่วมกันตีความวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีเสน่ห์หลากหลาย เพิ่มคุณค่าผ่านอัตลักษณ์ภายใต้บริบทสมัยใหม่ สู่งานออกแบบสร้างสรรค์หลากหลายผลงาน
PAKTAII DESIGN WEEK 2023 ใช้พื้นที่หลักในย่านเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา และนำเสนอผ่านหลากหลายรูปแบบกิจกรรม ตั้งแต่นิทรรศการ การบรรยาย เวิร์กช็อป การฉายภาพยนตร์ แฟชั่นโชว์ ไปจนถึงตลาดนัดสร้างสรรค์ ซึ่งไม่อาจบรรยายได้หมด เราจึงขอรวบรวมผลงาน 7 ผลงาน จาก 7 นักสร้างสรรค์มาให้ได้ชมกัน
นิทรรศการ Chinese Spring ฟ้า, ดิน, ถิ่น, บ้าน การเดินทางในระหว่างกลาง
โดย นักรบ มูลมานัส
นิทรรศการนำเสนอการเดินทางของจีน 5 เหล่า ได้แก่ ฮากกา, ฮกเกี้ยน, ไหหลำ, แต้จิ๋ว และกว่อสิ่ว การลงหลักปักฐาน ลำนำไปสู่กลุ่มชนที่ขับเคลื่อนภูมิภาคนี้ ผ่านภาพถ่ายเก่าที่ถ่ายในเมืองสงขลา และรวบรวมโดยคนในชุมชน นำมาสร้างสรรค์ใช้ “ศิลปะการจัดวาง” (Art installation) เกิดเป็นโคมจีนที่แต่งแต้มด้วยภาพร่องรอยความทรงจำของคนในท้องถิ่น
ความประทับใจของนิทรรศการนี้ ไม่เพียงแต่การประดิษฐ์โคมโดยเหล่าชาวจีนในสงขลา แต่ยังรวมถึงการจัดวางโคมในรูปแบบต่าง ๆ ให้เข้ากับตัวบ้าน โดยเฉพาะที่ว่างของคอร์ทกลางบ้าน อันเป็นหัวใจหลักของตึกแถวจีน นิทรรศการใช้พื้นที่ของ “บ้านเก้าห้อง” ถนนหนองจิก หนึ่งในสถาปัตยกรรมจีนที่มีความดั้งเดิมที่สุดในย่านเมืองเก่า
นิทรรศการรีบอร์น-บอร์นเฮีย เปอรานากัน
โดย ปรารถนา ดีไซน์ และนิมินทรา มินทราศักดิ์
“วัฒนธรรมเปอรากัน” เกิดจากการผสานเข้ากันกันของชาวจีนและชาวมลายูในดินแดนคาบสมุทร นำไปสู่อัตลักษณ์เฉพาะตัว และปรากฏผ่านกายภาพต่าง ๆ ตั้งแต่สถาปัตยกรรม เครื่องเรือน ข้าวของเครื่องใช้ ไปจนถึงเครื่องแต่งกาย สำหรับงานนี้ ทีมผู้ออกแบบได้นำวัฒนธรรมเปอรานากันมาตีความใหม่ในรูปแบบของเฟอร์นิเจอร์ กราฟฟิก และแฟชั่นดีไซน์ ให้เข้ากับบริบทร่วมสมัย
ผู้ออกแบบได้นำเสนอเปอรานากันอย่างเข้าใจง่าย ผ่านสีสันลวดลายที่สดใส วัสดุสมัยใหม่ รูปทรงต่าง ๆ ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สัญลักษณ์มงคลของชาวเปอรานากัน ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ต่าง ๆ ผลไม้ หรือดอกไม้มงคล ถูกนำมาลดทอนให้เรียบง่าย และเลือกใช้กับเฟอร์นิเจอร์แต่ละชิ้นได้อย่างแยบยล สะท้อนคติความเชื่ออันเป็นหัวใจของวัฒนธรรมนี้อย่างเป็นรูปธรรม
ลองเทเบิ้ล
โดย ลองเทเบิ้ล ทีม
จากคำขวัญของจังหวัดสงขลา สู่รสชาติบนจานอาหาร ผ่านการตีความของเชฟท้องถิ่น นำไปสู่ “ลองเทเบิ้ล” แพลตฟอร์มสร้างสรรค์ที่นำเสนอวัฒนธรรมการกินแบบปักษ์ใต้ และวัตถุดิบท้องถิ่น บนพื้นที่โต๊ะยาวริมทะเลสาบสงขลา บนท่าน้ำของย่านเมืองเก่า ชมพระอาทิตย์ตกพร้อมกับดื่มด่ำกับอาหาร ทั้ง 25 เมนู โดยเชฟ 25 คน
ทางเราได้คอร์ส “นกน้ำเพลินตา” ซึ่งตีความอาหารท่องถิ่นอย่างข้าวหมก ไข่ครอบ และไก่สะเต๊ะ นำเสนอผ่านรูปแบบใหม่อย่างคานาเป้ หรือฮอทดอก เมนูเด็ดอย่างไก่ทอดหาดใหญ่ถูกนำเสนอในรูปแบบของของหวาน แต่สามารถนำเสนอรสชาติได้อย่างครบถ้วน บนบรรจุภัณฑ์ที่เล่าเรื่องนกท้องถิ่น 5 ชนิดของทะเลสาบสงขลา อันเป็นที่มาของคำขวัญ
นิทรรศการ CHINESE SPIRIT จิตวิญญาณ ‘จีน’ ที่ไม่เคยจางหาย
โดย Soul South Studio
มาในซีรีส์เดียวกับ นิทรรศการ Chinese Spring โดยคุณนักรบ มูลมานัส แต่สำหรับ Soul South Studio นำเสนอ Chinese Spirit เล่าเรื่อง ‘จิตวิญญาณ’ ของคนจีน 5 เหล่า ได้แก่ ฮากกา, ฮกเกี้ยน, ไหหลำ, แต้จิ๋ว และกว๋างสิว ผู้อพยพหนีความแร้นแค้นมาจากแผ่นดินเกิน และกลายเป็นผู้สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับเมืองสงขลา การส่งต่อวัฒนธรรมจีนจากรุ่นสู่รุ่น สายสัมพันธ์ของความเชื่อ ประเพณี และภูมิปัญญา เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ไม่เพียงแต่การใช้พื้นที่ของสมาคมฮกเกี้ยน ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างศาลเจ้าพ่อหลักเมือง และศาลเจ้าพ่อกวนอูในใจกลางเมืองเก่าสงขลา แต่ยังถักทอเรื่องราวเข้าสู่เนื้องเมือง ผ่านเหล่าโคมกระดาษ 5 สี 5 ทรง ที่ถูกออกแบบมาสำหรับแขวนอยู่หน้าบ้านหรือกิจการของชาวจีนทั้ง 5 เหล่านี้ ทำให้เห็นว่าร้านที่เปิดกิจการอยู่ทุกวันนี้สืบรากมาจากชาวจีนเหล่าไหน ไม่ว่าจะเป็นคาเฟ่ ร้านอาหาร ร้านขายยา ร้านไอศกรีม หรือบ้านตึกแถวต่าง ๆ ทั่วเมืองเก่า แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายกลมกลืนของลูกหลานจีนทั้ง 5 เหล่าในตัวเมืองเก่าสงขลา
นิทรรศการ REVISTING KIMYONG กลับมาเยี่ยมกิมหยงอีกครั้ง
โดย Hatyai Connext
‘หาดใหญ่’ ถือเป็นอีกหนึ่งเมืองที่มีความสำคัญในฐานะที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการค้าของภาคใต้ ทุกคนที่เคยมาเยือนหาดใหญ่ ก็คงจะคุ้นชื่อของ ‘ตลาดกิมหยง’ เป็นอย่างดี สำหรับเทศกาล PTDW2023 ทีม ‘Hatyai Connext’ เหล่านักสร้างสรรค์ชาวหาดใหญ่ เล่าเรื่องความทรงจำของตลาดกิมหยง 3 ยุคสมัย ผ่านแนวคิด ‘Revisting Kimyong กลับมาเยี่ยมกิมหยงอีกครั้ง’ โดยใช้พื้นที่ชั้น 2 ของตลาดในการถ่ายทอดเรื่องราวผ่านความเปลี่ยนแปลงนี้
ความน่าตื่นตาตื่นใจคือการชุบชีวิตพื้นที่ว่างของตลาดด้วยการฉายภาพ (Projection Mapping) ที่ฉาบลงไปบนผนังของอาคาร สร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับทุกคนที่มาเยือนอย่างมีชีวิตชีวา รวมถึงเล่าเรื่องยุคสมัยของตลาดผ่านภาพต่าง ๆ โดยเฉพาะยุคโรงหนัง ตั้งแต่ทางเข้านิทรรศการที่เปิดด้วยโปสเตอร์หนังขนาดใหญ่ที่วาดด้วยมือ โดยจิตรกรที่เคยวาดภาพโปสเตอร์หนังจริง ๆ ในเมืองหาดใหญ่ ย้อนความทรงจำเก่า ๆ และสร้างความทรงจำใหม่ ๆ ให้กับทุกคนที่มาเยือน
ประติมากรรม บินละห์
โดย Melayu Living
ความคล้ายคลึงกันในเชิงภูมิศาสตร์ การเป็นเมืองท่าการค้า และสายสัมพันธ์เชิงประวัติศาสตร์ของอ่าวปัตตานี และทะเลสาบสงขลา เป็นแรงบันดาลใจให้ ทีม ‘Melayu Living’ นักสร้างสรรค์จากปัตตานี เลือกใช้พื้นที่ชุมชนแหลมสน หัวเขาแดง เป็นสถานที่ตั้งของผลงานประติมากรรม ‘บินละห์’ ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก ‘ว่าวเบอร์อามัส’ ว่าวมลายูอันเป็นภูมิปัญญาร่วมของภูมิภาค และถูกทำขึ้นในชุมชนแหลมสนนี้
ประติมากรรมตั้งตระหง่านอยู่ริมน้ำ อันเป็นจุดบรรจบกันของท้องฟ้าและท้องทะเล ชื่อ ‘บินละห์’ สื่อถึงการโบยบินเหมือนว่าว ทั้งยังพ้องความหมายกับคำว่า ‘คุณธรรม’ ในภาษาอาหรับ และพระนามของพระเป็นเจ้าของชาวมุสลิม รูปทรงของประติมากรรมมีความโดดเด่นท้าทาย ออกแบบจากโครงสร้างของว่าวเบอร์อามัส อันเกิดจากการประกอบของโครงไม้ไผ่ และศิลปะบนกระดาษ นำมาสร้างสรรค์ให้มีความร่วมสมัย
นิทรรศการ THAI CRAFTAHOLIC – ELEMENT OF CRAFT
โดย Creative Nakhon
นิทรรศการนำเสนอการมาบรรจบกันของงานหัตถกรรมท้องถิ่น และความร่วมสมัย โดยศิลปิน ‘Creative Nakhon’ จากนครศรีธรรมราช ใช้พื้นที่ศาลฤาษีดัดตน สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอายุร่วมร้อยปี จัดแสดงงานศิลปะจัดวาง (Installation Art) อย่าง ‘Element of Craft’ ซึ่งแสดงภาพรูปทรงเรขาคณิต (Geometrical Shape) และแม่สี (Primary Colors) ที่สีความสมัยใหม่ ร่วมถึงการจัดแสง บนพื้นหลังของอาคารประวัติศาสตร์
ศิลปินเลือกรูปทรงเรขาคณิตพื้นฐานในการสื่อสาร ผ่านวัสดุอย่างโลหะ และด้วยวิธีการท้องถิ่นอย่างการตอก การสลัก การดุน และการสาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘การถม’ ซึ่งเป็นเทคนิคเฉพาะที่เป็นอัตลักษณ์ของช่างนครศรีธรรมราช ในการสร้างสีบนผิวโลหะ เพื่อค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของการออกแบบศิลปะสร้างสรรค์ด้วยเทคนิคจากภูมิปัญญาท้องถิ่น
เขียนโดย ปฐมฤกษ์ วงศ์แสงขำ (Pradhom)
ภาพประกอบโดย ปฐมฤกษ์ วงศ์แสงขำ และ CEA