87Views
ไปช้อปที่ One Bangkok Retail มาแล้วมันเป็นยังไง !? ส่อง Art Direction ของหนังโฆษณาที่กระตุกต่อมความสงสัยให้ทะลุมานอกจอ !
ในปัจจุบันเรื่องของการสำรวจค้นหาประสบการณ์ ที่จะตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ถือเป็นที่หลายคนให้ความสำคัญ ทั้งประสบการณ์ที่ไปสัมผัสด้วยตนเอง หรือประสบการณ์จากผู้อื่นที่ส่งต่อกันผ่านเรื่องเล่า หรือโซเชียลมีเดีย
ซึ่งหนึ่งในแลนด์มาร์คใจกลางเมืองอย่าง ‘One Bangkok Retail’ ก็ดูจะกลายมาเป็นจุดหมายปลายทางที่สร้างประสบการณ์อันแสนตื่นเต้นให้หลายคนพอสมควร โดยเฉพาะหนังโฆษณาที่ปลุกอารมณ์ FOMO สร้างความสงสัย ชวนให้อยากลุกออกไปช้อปที่ One Bangkok Retail ซะเดี๋ยวนี้เลย !
ด้วยความน่าสนใจของตัวหนังโฆษณา ที่ดูจะสะท้อนตัวตนของ One Bangkok Retail ออกมาได้ค่อนข้างชัด ทั้งความแฟชัน-ไลฟ์สไตล์, ดูมีดีไซน์, ความ Photogenic ถ่ายรูปมุมไหนก็สวย
ดังนั้นก่อนจะได้แวะไปพิสูจน์ด้วยตนเอง เลยอยากชวนมาดูหนังโฆษณา แล้วถอด Art Direction ต่างๆ ไปพร้อมๆ กันก่อน !
สร้างจุดรวมสายตา ด้วยสีสัน และการจัดองค์ประกอบ
ตลอดเวลาที่ดูหนังโฆษณาของ One Bangkok Retail สายตาเราถูกดึงดูดไปที่ตัวละครหลักโดยไม่รู้ตัว จากการสร้างเส้นนำสายตา (ที่ไม่ได้หมายถึงเส้นจริงๆ แต่เป็นเส้นแบบ Conceptual !) ผ่านการจัดองค์ประกอบต่างๆ ที่อยู่ในเฟรมภาพ ให้มีความ Contrast กัน
เช่น Contrast ด้วยองค์ประกอบที่มีความแน่นกระจุดตัวด้วยกลุ่มผู้คน นำสายตาไปสู่พื้นที่ที่มีความโปร่งซึ่งตัวละครหลักถูกจัดวางเอาไว้ หรือการจัดวางองค์ประกอบไว้ในระยะที่ต่างกัน Foreground, Middleground หรือ Background
หรืออีกกิมมิคที่ถูกใช้ในหลายๆ ซีน คือเรื่อง ‘สี’ ที่กลุ่มฝูงชนมักจะใส่เสื้อผ้าสีโทนเดียวกันเป็นกลุ่มก้อน และตัวละครหลักมักมีสีที่โดดเด่นออกมา ไม่ว่าจะเป็นจากเครื่องแต่งกาย, ไอเท็มจาก One Bangkok Retail ที่โดดเด่นจนเราต้องหันมอง
สร้างความรู้สึกกดดัน ใช้สายตาที่จับจ้อง สาดส่องสปอร์ตไลท์
แม้ตลอดทั้งหนังโฆษณาจะไม่ได้มีประโยคสนทนา แต่ด้วยภาษากายที่ส่งผ่านสายตา กลับสร้างความรู้สึกกดดันได้เป็นอย่างมาก บางซีนอาจจะใช้จานวนสายตาหลายคู่เพื่อกดดัน (Extra เยอะมากกก น่าจะต้องเตรียมงานเยอะ ทีมงานเก่งสุด ๆ)
แต่บางซีนอย่างฉากในลิฟต์ แม้จะใช้ Extra ไม่กี่คน ก็สามารถใช้องค์ประกอบอื่นๆ เข้ามาช่วยสร้างความกดดันแทนได้ เช่น การเลือกพื้นที่ปิดอย่างลิฟต์ที่พื้นที่มีความคับแคบจนไม่สามารถวิ่งหนีได้ บวกกับฝูงชนทุกคนหันหลัง ก็เหมือนได้เปิดสปอร์ตไลท์ส่องไปที่ตัวละครหลักซึ่งหันหน้ามาที่กล้อง
หลังจากเงียบสร้างความกดดันมาตลอดทั้งเรื่อง เชื่อว่าระหว่างที่ดูหลายคนอาจจะพยายามคิดตามว่าหนังกำลังสื่ออะไร จนเฉลยในตอนท้ายถือเป็นซีน Finale ที่ทาเอาหลายคนแอบยิ้มแน่นอน (ความรู้สึกที่ได้ดูรอบที่สองจะเป็นอีกแบบเลย ใครไม่เชื่อไปลองดูซ้ำ !)
ความสวยงามที่ดูเหนือจริง ด้วยพฤติกรรม และสถานการณ์สุด Photogenic
อีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้หนังโฆษณานี้ดูน่าสนใจ ก็คือซีนต่างๆ ที่ออกแบบวาง Grid & Composition มาได้อย่างสวยงาม ชวนให้คิดต่อไปถึงการออกแบบตัวศูนย์การค้า One Bangkok ที่น่าจะใส่ใจเรื่องการดีไซน์ สร้างความ Photogenic ได้ไม่แพ้กัน
แต่ในขณะเดียวกันในหนังโฆษณาก็ได้มีการเปลี่ยนเปลี่ยนชีวิตประจำวันธรรมดาให้ดูมีความแฟชั่น ให้กลายเป็นความสวยงามที่ดูเหนือจริง พร้อมกับเพลง และสถานการณ์ที่ดูค่อนข้าง Surreal (แอบเหมือนพวกหนังลัทธิอยู่ไม่น้อย ) ก็สร้างความกดดันให้เราไปได้พร้อมๆ กัน ซึ่งนั่นกลายเป็นเสน่ห์ที่ชวนให้หลายคนอยากไปค้นหาด้วยตนเอง
สอดแทรก Easter Egg เล่า Key Message สำคัญแบบไม่ต้องตะโกน
อีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้หนังโฆษณานี้สื่อสารออกมาได้กลมกล่อมมากๆ คือการพูดถึง One Bangkok Retail ซึ่งควรจะเป็น Message หลักออกมาได้แบบไม่ต้องตะโกน แต่นำเอาแบรนด์ไปสอดแทรกอยู่ในจุดต่างๆ ของแต่ละซีนได้แบบกลมกลืน
ซึ่งวิธีการนี้ถือว่าเหมาะมากๆ กับ Direction ในการเล่าเรื่องมากๆ เพราะสิ่งของที่ใส่มาเช่น ถุงชอปปิง, แก้วกาแฟ ถือเป็นองค์ประกอบที่เล่าเรื่องราวในตัวเอง ทำให้ให้เห็นว่าคนที่ถือไอเท็มเหล่านี้ คือคนที่เพิ่งไปช้อปที่ศูนย์การค้า One Bangkok Retail กลับมานั่นเอง
และที่สำคัญแม้จะไม่ต้องตะโกนชื่อแบรนด์ออกมา แต่ในทางกลับกันพอได้รู้ว่าเป็นโฆษณาของ One Bangkok Retail คนดูอย่างเรานี่แหละที่จะพยายามมองหาเองด้วยซ้ำ ว่าแต่ละซีน ผู้กำกับเค้าแอบเอาโลโก้ไปซ่อนไว้ตรงไหน !