Skip to content Skip to sidebar Skip to footer

Michelangelo ผู้สร้างผลงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งยุคเรอเนซองส์

หากจะพูดถึงชื่อของสุดยอดศิลปินที่คนทั่วโลกรู้จักก็ต้องมีชื่อ Michelangelo โผล่ขึ้นมาแน่นอน ในบทบาทของจิตรกรผู้วาดภาพ The Creation of Adam และ ประติมากรผู้แกะสลัก David หนึ่งในผู้วางรากฐานสำคัญของศิลปะตะวันตกที่ยังส่งผลถึงปัจจุบัน และนอกเหนือจากการเป็นศิลปินมากฝีมือแล้วเขาก็ยังมีอีกบทบาทที่คนไม่ค่อยรู้อย่างการเป็นสถาปนิกและ กวีที่ฝากผลงานไว้อีกมากมาย

ในวันนี้ Art of จะขอเล่าย้อนอดีตไปไกลซักหน่อยเพื่อเล่าเรื่องราวชีวิตและผลงานโดยสังเขปของหนึ่งในสามยักษ์ใหญ่แห่งยุคเรอเนซองส์ สุดยอดศิลปิน และนักสร้างสรรค์ ผู้จารึกผลงานมากมายไว้ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติอย่าง “Michelangelo” ศิลปิน นักออกแบบ และ สถาปนิกประจำเดือนมีนาคมในซีรีส์ Designer of the month กันเลย


กำเนิดอัจฉริยะแห่งสิ่วและค้อน

Michelangelo (มิเกลันเจโล ถ้าออกเสียงแบบอิตาลี หรือ แบบภาษาอังกฤษที่เราติดปากว่า ไมเคิลแองเจโล) มีชื่อเต็มจริงๆ ว่า Michelangelo di Lodovico Buonarroti Simoni เกิดเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 1475 ในเมือง Caprese แคว้น Tuscany ประเทศอิตาลี ในครอบครัวที่เป็นนายธนาคารแห่งเมือง Florence มารุ่นต่อรุ่น แต่คุณพ่อเขาไม่สามารถรักษาสถานะนั้นไว้ได้ และทำงานเป็นข้าราชการประจำเมืองเล็กๆ ใน Caprese และ Chiusi

หลังจากที่คุณแม่ของเขาตาย คุณพ่อของมิเกลันเจโลก็ย้ายไปอยู่ที่เมือง Settignano ที่ที่พ่อของเขาเป็นเจ้าของเหมืองหินอ่อน และฟาร์มเล็กๆ และจากการที่เขาโตมากับเหล่าช่างตัดหินนี้เองทำให้เขาค้นพบความสามารถพิเศษในการใช้สิ่วและค้อน ซึ่งเป็นสิ่งที่แกะสลักชีวิตของเขาจนกลายมาเป็นตำนานแห่งศิลปะตะวันตก

ในวัยเด็กนั้นมิเกลันเจโลรู้ตัวดีว่าเขานั้นไม่ชอบเรียนหนังสือเท่าไหร่ เขามักใช้เวลาในการไปวาดรูปเพื่อศึกษาผลงานตามโบสถ์ต่างๆ มากกว่า เขาได้เข้าเป็นเด็กฝึกหัดด้านการวาดภาพกับ Domenico Ghirlandaio และด้านการแกะสลักกับ Bertoldo di Giovanni และเป็นศิลปินที่ได้รับค่าจ้างตั้งแต่อายุ 14 ซึ่งเป็นเรื่องไม่ปกติเลยในเวลานั้น

ต่อมาในปี 1489 Lorenzo de Medici เจ้าเมือง Florence ได้ขอให้ Ghirlandaio ให้ส่งลูกศิษย์ที่ดีที่สุด 2 คน เพื่อได้เข้าเรียนใน Platonic Academy โรงเรียนของ Lorenzo ซึ่งมิเกลันเจโลเป็นหนึ่งในนั้น จากช่วงปี 1490 – 1492 นั้นเองที่เขาได้พบกับบุคคลสำคัญมากมายในหลากหลายแขนงทำให้เขาได้ขยายมุมมองแนวคิดด้านศิลปะและ วรรณกรรม ซึ่งในระหว่างนั้นเขาก็ได้รับมอบหมายให้แกะสลักภาพนูนต่ำสองชิ้นก็คือ Madonna of the Stairs และ Battle of the Centaurs


ถูกหลอกให้ทำของปลอม สู่ Pietà ประติมากรรมชิ้นเอกของโลก

หลังจากการเสียชีวิตของ Lorenzo ทำให้มิเกลันเจโลต้องเดินทางกลับไปบ้านเกิด เขาได้แกะสลักไม้พระเยซูบนไม้กางเขนให้แก่โบสถ์ Florentine church of Santo Spirito ซึ่งทำให้เขาได้ศึกษากายวิภาคอย่างจริงจังจากศพของโรงพยาบาลของโบสถ์ และได้กลับเข้าไปอยู่ในสังกัดของตระกูล Medici อีกครั้งในปี 1494 โดย Piero de Medici ทายาทของ Lorenzo นั่นเอง

แต่ในปีเดียวกัน มิเกลันแองเจโล ก็จำเป็นต้องย้ายออกไปอยู่ที่ Venice และ Bologna (เมืองที่ทำไส้กรอกโบโลญญานั่นแหละ) เพราะการขึ้นมามีอำนาจของตระกูล Savonalora ใน Florence ซึ่งที่ Bologna เขาก็ได้แกะสลักรูปปั้นเล็กๆ มากมาย และศึกษาการแกะสลักนูนสูงที่อยู่รอบๆ มหาวิหาร St. Petronious ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ The Creation of Eve ที่จะได้ไปปรากฏเป็นภาพวาดบนเพดานของโบสถ์ Sistine ในภายหลัง (ไม่ได้มีแค่ The Creation of Adam นะ แต่มี Eve ด้วย)

หลังจากสถานการณ์ใน Florence เริ่มสงบ มิเกลันเจโลก็กลับมาทำงานให้ตระกูล Medici ที่ Florence อีกครั้ง หลังจากนั้นเขาก็ได้งานจ้างให้ซ่อมรูปปั้นสองชิ้นแต่ผู้ว่าจ้างให้เขาทำให้ดูเหมือนมันถูกฝังไว้ เพื่อที่เวลาส่งไปขายที่กรุงโรมแล้วถ้าเป็นของเก่าจะได้ราคาดีกว่า แต่จากเหตุการณ์ที่มิเกลันเจโลถูกหลอกให้ทำงานนี้เอง คนที่รับซื้อรูปปั้นไปกลับถูกใจฝีมือของเขามากจนส่งหมายเชิญให้เขามาอยู่ที่กรุงโรม

มิเกลันเจโลในวัย 21 ปีมาถึงกรุงโรงในปี 1496 เขาได้เริ่มงานแกะสลักรูปปั้นเต็มตัวของ Bacchus เทพเจ้าแห่งไวน์ และช่วงปลายปีต่อมาเขาก็ได้รับงานจากพระดาร์ดินัล Jean de Bilhères-Lagraulas ให้แกะสลักรูปปั้น Pietà ประติมากรรมที่แสดงถึงความโศกเศร้าของพระแม่มารีต่อการจากไปของพระเยซู โดยเขาได้ทำเสร็จในขณะที่เขาอายุ 24 ปี ซึ่งต่อมาผลงานชิ้นนี้ก็ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในผลงานประติมากรรมชิ้นเอกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก (ปัจจุบันนี้อยู่ที่มหาวิหาร St. Peter’s Basilica)


หวนคืนสู่ Florence และการกำเนิด David

มิเกลันเจโลกลับมาที่ Florence ในปี 1499 หลังจากการถูกประหารของ Girolamo Savonarola ผู้นำนักบวชผู้ต่อต้านยุคเรอเนซองส์ และ การกลับขึ้นมามีอำนาจของ Piero Soderini ที่ได้มอบหมายให้มิเกลันเจโลปัดฝุ่นโปรเจ็คที่ถูกทิ้งร้างมายาวนานกว่า 40 ปี ซึ่งก็คือรูปสลักหินอ่อนขนาดมหึมา เด็กหนุ่มผู้ล้มยักษ์ Goliath สัญลักษณ์แห่งอิสรภาพของ Florence อย่าง David นั่นเอง

ผลงานชิ้นนี้แล้วเสร็จในปี 1504 และได้กลายเป็นผลงานที่โด่งดังที่สุดของมิเกลันเจโล ด้วยเทคนิคที่ไม่ธรรมดา และการตีความถ่ายทอดความหมายเชิงสัญลักษณ์ของเขา ทำให้แผนเดิมที่จะตั้งรูปปั้นนี้จะถูกตั้งไว้ที่หน้าจั่วของอาสนวิหาร Florence Cathedral ถึงกับต้องระดมทีมศิลปินมาเพื่อปรึกษากันเพื่อจะหาที่ตั้งที่เหมาะสมกับผลงานชิ้นเอกนี้ โดยหนึ่งในนั้นก็คือ ลิโอนาโด ดา วินชี ศิลปินรุ่นพี่ และคู่แข่งตลอดกาลของเขา

ซึ่งในท้ายที่สุดนั้นรูปสลักนี้ก็ถูกตั้งไว้ที่หน้าตึก Palazzo Vecchio บริเวณจตุรัส Piazzo della Signoria ก่อนที่ในอีกเกือบ 400 ปีรูปสลักนี้จะถูกย้ายไปตั้งที่ Accademia Gallery ในปี 1873 จนมาถึงปัจจุบัน ซึ่งก็ได้มีการวางของจำลองไว้ที่บริเวณที่ตั้งดั้งเดิมแทน


จากการกลั่นแกล้งกัน กลายมาเป็นภาพ Fresco สุดยิ่งใหญ่บนเพดานโบสถ์ Sistine Chapel

ในปี 1505 มิเกลันเจโลก็ได้ถูกเชิญกลับมายังโรมโดยพระสันตะปาปา Julius ที่ 2 เพื่อให้สร้างหลุมฝังศพของเขาเอง แต่ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นมิเกลันเจโลก็ได้รับมอบหมายงานมากมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ภาพจิตรกรรมบนเพดานของโบสถ์น้อย Sistine Chapel ภาพวาดบนปูนเปียก หรือ Fresco ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของมนุษยชาติ

ผลงานขนาดใหญ่กว่า 500 ตารางเมตรนี้ใช้เวลาวาดแล้วเสร็จประมาณ 4 ปี ตั้งแต่ปี 1508 – 1512 ส่วนที่ว่าทำไมจู่ๆ พระสันตะปาปาถึงมอบหมายงานใหญ่ และท้าทายนี้ให้มิเกลันเจโล ทั้งๆ ที่เขาก็กำลังทำงานให้ตัวท่านเองอีกงาน ก็มาจากการโน้มน้าวของ Bramante ผู้กำลังทำงานสร้างมหาวิหาร St. Peter Basilica ที่ไม่พอใจมิเกลันเจโลที่ได้งานหลุมฝังศพไป โดยตั้งใจให้มิเกลันเจโลได้รับมอบหมายงานที่เขาไม่คุ้นเคยอย่างงานจิตรกรรมนั่นเอง

แรกเริ่มเดิมทีนั้นมิเกลันเจโลได้รับโจทย์ให้วาดเหล่าอัครสาวกทั้ง 12 คน บนส่วนที่เป็นสามเหลี่ยมโครงสร้างรับน้ำหนักของเพดานโค้งแต่ละช่องที่กระจายตัวอยู่ แต่เขากลับเสนอไอเดียที่ซับซ้อนยิ่งกว่าให้แก่พระสันตะปาปา และขอให้เขามีอิสระในการทำงานนี้อย่างเต็มที่ โดยจะขอเล่าเรื่องเกี่ยวกับการก่อกำเนิดจนไปถึงการล่มสลายของมนุษย์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของคำสอนในศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกทั่วทั้งเพดานแทน

บริเวณตรงกลางของเพดานนี้มีเนื้อหามาจาก 9 ตอนของคัมภีร์ปฐมกาล โดยแบ่งออกเป็นสามส่วน คือ การสร้างโลก การสร้าง และร่วงหล่นของมนุษย์จากพระเจ้า และความเป็นไปของมนุษย์โดยเล่าผ่าน โนอาห์ และครอบครัว โดยพื้นที่ที่เคยตั้งใจจะวาดเหล่าอัครสาวก ถูกแทนที่ด้วยชาย-หญิง 12 คนที่ทำนายถึงการกำเนิดของพระเยซู ส่วนภาพวาดที่สำคัญที่สุดบนเพดานนี้ก็คือ ภาพ The Creation of Adam ที่เราคุ้นตานั่นเอง


พระเยซูไร้หนวด เทวดาไร้ปีก และ The Last Judgement

ในปี 1534 หลังจากผลงานบนเพดานโบสถ์ประสบความสำเร็จอย่างงดงามได้ 25 ปี พระสันตะปาปา Clement ที่ 7 ได้มอบหมายให้มิเกลันเจโลวาดภาพ Fresco ที่โบสถ์ Sistine Chapel อีกครั้งที่ผนังหลังแท่นบูชา โดยเป็นภาพ The Last Judgement การกลับมาที่โลกมนุษย์ครั้งที่สองของพระเยซู และการพิพากษามนุษย์ครั้งสุดท้ายโดยพระเจ้า ซึ่งนี่ก็ได้กลายเป็นผลงานจิตรกรรมบนปูนเปียกที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเขา

หากใครมีโอกาสได้เห็นภาพนี้แล้วหาพระเยซูไม่เจอก็ไม่ต้องแปลกใจไป เพราะมิเกลันเจโลได้เปลี่ยนภาพตามขนบของพระเยซูที่คนคุ้นเคยมาเป็น ภาพของพระองค์ที่มีร่างกายล่ำสัน อ่อนเยาว์ เปลือยเปล่า ไร้หนวดเครา และไม่มีบัลลังค์ นอกจากนี้เขาก็ได้วาดให้เหล่าเทวดาไม่มีปีก และถ้าสังเกตกันดีๆ ภาพของนักบุญ Bartholomew ที่อยู่ข้างๆ พระเยซูที่ปกติจะถือผิวหนังของตัวเองแต่ในภาพนี้ผิวหนังนั้นกลับหน้าตาแอบคล้ายๆ ตัวของมิเกลันเจโลเอง

หลังจากที่ภาพนี้แล้วเสร็จในปี 1541 ก็ได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการที่ร่างกายของพระเยซูและพระแม่มารีเปลือยเปล่า โดยมีการรณรงค์ให้ลบภาพนี้ออกหรือให้เซนเซอร์บังไว้ แต่พระสันตะปาปาที่อยู่ในตำแหน่งตอนนั้นได้คัดค้านไว้

แต่ในท้ายที่สุดก่อนที่มิเกลันเจโลจะเสียชีวิตในปี 1564 ก็ได้มีการตัดสินใจให้วาดภาพทับเพื่อบังอวัยวะเพศทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในภาพนี้ โดยให้ Daniele da Volterra ลูกศิษย์ของเขาเป็นคนวาดทับ และให้ Marcello Venusti เพื่อนของมิเกลันเจโลวาดภาพที่เหมือนต้นฉบับแบบไม่มีเซนเซอร์ขึ้นมาอีกภาพ ซึ่งตั้งอยู่ที่ Capodimonte Museum ใน Naples


ผลงานชิ้นสุดท้ายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคเรอเนซองส์ มหาวิหาร St. Peter’s Basilica แห่งวาติกัน

นอกเหนือจากบทบาทของประติมากร และจิตรกรนั้น มิเกลันเจโลก็ได้รับมอบหมายให้ทำงานด้านการสถาปัตยกรรมอีกมากมาย ตั้งแต่ การวางผังอาคารและออกแบบจตุรัส Capitoline Hill งานออกแบบภายในชั้นบนของ Palazzo Farnese (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสถานทูตฝรั่งเศสในอิตาลี) และโบสถ์ Santa Maria degli Angeli ที่เขาได้เปลี่ยนโครงสร้างหลังคาโค้งบริเวณโรงอาบน้ำแบบโรมัน นอกจากนี้ก็ยังมีผลงานการออกแบบทั้งซุ้มประตู โบสถ์ และวิหารใหญ่น้อยอีกมากมาย

แต่ถ้าจะให้พูดถึงผลงานสถาปัตยกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่มิเกลันเจโลออกแบบก็ต้องเป็นมหาวิหาร St. Peter’s Basilica แห่งวาติกัน โดยเขาได้รับไม้ต่อในปี 1546 ต่อจาก Bramante สถาปนิกที่แกล้งโน้มน้าวพระสันตะปาปาให้มอบหมายงานเพดานที่โบสถ์ Sistine ให้เขา ซึ่งโครงการนี้ได้ดำเนินการมาเกือบจะ 50 ปีแล้ว แต่กลับมีความคืบหน้าน้อยมาก โดยมีแค่การวางรากฐานของอาคารเท่านั้น

มิเกลันเจโลได้เริ่มต้นจากแนวคิดที่ต้องการให้มหาวิหารนี้มีความแข็งแรง แข็งแกร่ง ทั้งในเชิงโครงสร้าง และรูปลักษณ์ภายนอก โดยเขาได้ศึกษาผลงานทั้งสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมที่ประสบความสำเร็จในช่วงศตวรรษที่ 16 มากมาย ซึ่งมีสิ่งที่เหมือนกันก็คือ ส่วนใหญ่จะมีโดมแบบ Brunelleschi

ผู้สร้างโดมบนมหาวิหารเมือง Florence โดยจะเป็นโดม 8 ด้าน โครงสร้างอิฐก่อ 2 ชั้นให้ข้างในกลวงเพื่อลดน้ำหนัก และ เป็นโครงสร้างที่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองไม่ต้องใช้นั่งร้านขณะก่อสร้าง และลักษณะร่วมอีกอย่าง คือ มีแปลนแบบสมมาตรทั้งแบบ Greek Cross และ Latin Cross

ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วมิเกลันเจโลก็ได้เลือกวางแปลนแบบ Greek Cross แนวทางเดียวกับที่ Bramante วางไว้ ซึ่งเขาได้พัฒนาแบบจากความซับซ้อน สวยงามแบบเกล็ดหิมะ มาเป็น ความเป็นเอกภาพที่ยิ่งใหญ่ ที่ทั้งแข็งแกร่งและหนักแน่น ในส่วนของโดมนั้นเขาได้ใช้โครงสร้าง 2 ชั้น แบบเดียวกับที่เขาเคยทำที่ Florence แค่มีจำนวนโครงรับน้ำหนักที่มากกว่า และอีกเรื่องที่ท้าทายก็คือ โดมนี้เป็นโดมแบบวงรีสูงขึ้นมา ทำให้ในเชิงโครงสร้างการรับแรงนั้นซ้บซ้อนกว่าแบบวงกลมปกติ

ในขณะที่การก่อสร้างกำลังดำเนินไป มิเกลันเจโลก็ได้เสียชีวิตลงในปี 1564 ด้วยวัย 88 ปี ในตอนนั้นโครงสร้าง และวงด้านล่างของโดมวงรีนั้นได้เริ่มก่อสร้างไปแล้ว ซึ่งพระสันตะปาปา Pius ที่ 5 ก็ได้มอบหมายให้ผู้ช่วยของมิเกลันเจโลรับหน้าที่ดูแลโครงการต่อเพื่อให้แน่ใจว่าผลงานชิ้นนี้จะเป็นไปตามความต้องการของมิเกลันเจโลที่สุด


เขียนโดย รวีศิลป์ อัศวกิตติประภา

source:

https://www.michelangelo-gallery.org/biography.html
https://en.wikipedia.org/wiki/Michelangelo
https://en.wikipedia.org/wiki/St._Peter%27s_Basilica

© 2021 Art of. All rights reserved.

  083-138-5607
contact@artofth.com

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save