Skip to content Skip to sidebar Skip to footer

ถอดรหัสแฟชั่นไทยสุดแฟนตาซี ใน ‘แมนสรวง’

ในช่วงหลายปีมานี้ สื่อภาพยนตร์และละครไทย ให้ความสำคัญกับรายละเอียดงานสร้างเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผลงานที่เล่าเรื่องในประวัติศาสตร์ หรือเหตุการณ์ที่อ้างอิงกับช่วงเวลา สถานที่ รวมถึงบุคคลที่มีอยู่จริง ทีมงานล้วนมีความพิถีพิถันมากเพื่อสร้างความสมจริง และให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ผู้ชม

โดยองค์ประกอบหนึ่งของงานสร้างที่สำคัญ นั่นคือ ‘งานออกแบบเครื่องแต่งกาย‘ ซึ่งไม่เพียงแค่สร้างความสมจริง แต่ยังช่วยในการบอกเล่าเรื่องราว และคุณสมบัติของตัวละครแต่ละตัวโดยไม่ต้องผ่านบทพูด ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่ง ฐานะ ลักษณะนิสัย หรือรสนิยมของตัวละครนั้น ๆ ซึ่งหลายครั้ง เสื้อผ้าก็กลายเป็นภาพจำของตัวละครนั้นไปเลย

หากกล่าวถึงปีนี้ ภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ที่เป็นที่จับตามอง นั่นคือ ‘แมนสรวง’ จากโครงเรื่องที่มีพื้นหลังเป็นคณะละครนอก สมัยรัชกาลที่ 3 ตัวละครต่าง ๆ มีความหลากหลายทางฐานะ เชื้อชาติและด้วยงานสร้างที่แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจในรายละเอียดของการค้นคว้าและสร้างความสมจริงให้กับภาพยนตร์

จุดสำคัญของการออกแบบเครื่องแต่งกายในเรื่องนี้คือการตีความของเดิมจนเกิดสีสันและรสชาติใหม่ๆ ทั้งเรื่องรายละเอียดและการผสมผสานของหลายชาติ จนน่าสังเกตไปหมดว่ามาจากชาติอะไรบ้าง!

วันนี้ Art of เลยจะขอพาส่องหนึ่งในองค์ประกอบเครื่องแต่งกาย และถอดรหัสแฟชั่นในภาพยนตร์ ‘แมนสรวง’ กัน


ภาษาเครื่องแต่งกาย และความหลากหลายทางวัฒนธรรม

พื้นหลังของเนื้อเรื่องเจาะจงช่วงเวลาในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นยุครุ่งเรืองด้านเศรษฐกิจการค้า หลากผู้คนจากต่างทิศ ตั้งแต่จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง ไปจนถึงยุโรป ที่ล้วนหลั่งไหลเข้ามาในสยาม ทำให้เกิด ‘ความหลากหลายทางวัฒนธรรม’ ที่เป็นผลจากการค้า

ผู้สร้างจึงเลือกจุดนี้มาขยายเป็นแนวทางหลักของงานสร้าง ที่ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดความแปลกใหม่ของงานภาพ แต่ยังมีการผสมผสานองค์ประกอบของหลากวัฒนธรรมเข้าไปในภาพยนตร์เรื่องเดียว

สำหรับงานออกแบบเครื่องแต่งกาย เราเห็นความหลากหลายผ่าน ‘ตัวละคร’ เช่น ‘ฮ้ง’ ตัวละครที่มีเชื้อสายจีน แสดงออกผ่านชุดที่ใช้ผ้าแพรจีนในการตัดเย็บทั้งหมด ‘ทับทิม’ ตัวละครในแมนสรวง ที่มีเครื่องแต่งกายที่ผสมผสานระหว่างลายวัฒนธรรม ทั้งฝรั่ง จีน ไทย และแขกรวมถึงมีดีเทลที่แปลกตาน่าค้นหามาก ๆ

รวมถึงตัวละครที่เป็น ‘ชาวสยาม’ นอกจากภาษาของเสื้อผ้าอาภรณ์ที่เป็นตัวบ่งบอกฐานะในสังคม การใช้ผ้าและวัสดุที่มาจากหลากหลายที่มา ก็สะท้อนความหลายหลายทางวัฒนธรรมในช่วงเวลานั้นเช่นกัน

โดยเฉพาะการออกแบบชุดที่ไม่ได้เลียนแบบของโบราณแบบ 100% แต่ยังสามารถให้บรรยากาศแบบต้นรัตนโกสินทร์ได้อย่างสนิทตา นับเป็นความสามารถของทีมออกแบบที่ฉีกและกล้าเล่นกับความไทยได้อย่างน่าสนใจ


 เครื่องแต่งกายตัวพระ

สำหรับชุดที่ประทับใจมากที่สุด นั่นก็คือ ‘ชุดยืนเครื่องตัวพระ’ ของ ‘อาโป ณัฐวิญญ์ วัฒนกิติพัฒน์’ ซึ่งทีมงาน ทำการบ้านมาได้อย่างดีมาก ๆ ความพิเศษคือ ความแตกต่างของชุดยืนเครื่องสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งแต่งต่างจากชุดที่นิยมในปัจจุบัน ที่มีสีสด ปักลวดลายขนาดใหญ่ ประดับด้วยดิ้นหรือพลอยที่มีความระยิบระยับ เพื่อให้โดดเด่นเมื่อมองจากระยะไกล

ในขณะที่ชุดในภาพยนตร์ อ้างอิงภาพรวมของชุดโบราณ นั่นคือ เน้นรายละเอียด ลวดลายมีขนาดเล็ก ปักห่าง ๆ กันบนพื้นผ้า หรือใช้ผ้าที่มีการยกลายอยู่แล้ว รวมถึงทรวดทรงของตัวพระที่ผอมบาง ชุดค่อนข้างรัดรูป ซึ่งความนิยมชุดลักษณะนี้จะเริ่มหายไปในช่วงรัชกาลที่ 5 จุดนี้ถือว่าผู้ออกแบบชุดให้รายละเอียดได้ดีมาก

นอกจากนี้ ยังมีการแต่งเติมรายละเอียดต่าง ๆ ให้ชุดยืนเครื่องมีความแปลกใหม่ เช่น การใช้คู่สีของชุด การปรับใช้ผ้าที่มีลวดลายแบบฝรั่ง หรือการใช้ผ้าคลุมร่วมกับชุด ซึ่งจุดนี้ช่วยเสริมความแฟนตาซีให้กับภาพยนตร์ แต่ยังคงภาพรวมที่ถูกต้องแบบต้นรัตนโกสินทร์ไว้ได้อย่างกลมกล่อมมาก ๆ 


 เครื่องแต่งกายสตรีชั้นสูง

เครื่องแต่งกายชุดแรกที่น่าสนใจคือ เครื่องแต่งกายสตรี ตัวละครอย่าง ‘แม่ครูพิกุล’ ครูสอนรำในคณะละครผู้เคยใช้ชีวิตในวัง การออกแบบที่เน้นความถูกต้องสมจริงตั้งแต่หัวจรดเท้า ตั้งแต่การนุ่งผ้า คือนุ่งจีบหรือนุ่งโจงด้วย ‘ผ้าพิมพ์ลาย’ และการห่มสไบ

ทั้งแบบสไบชั้นเดียว และสไบสองชั้น ซึ่งเป็นการแต่งที่แสดงฐานะของผู้ใส่ สังเกตจาก ‘สไบชั้นนอก’ ที่ใช้ ‘ผ้าแพรจีน’ ซึ่งเป็นสินค้านำเข้า เนื้อผ้าที่มีความละเอียดและแวววาว ตัดกับสไบชั้นในซึ่งมีสีเข้มทึบ

ที่คุ้นตาอีกอย่างคือทรงผม ลักษณะ ‘ผมปีก’ ซึ่งเป็นแฟชั่นสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ก่อนที่สตรีไทยจะเริ่มไว้ผมยาวตามตะวันตก รวมถึง ‘จอนหู’ คือการไว้ผมเป็นเส้นยาวลงมาข้างใบหู เป็นเอกลักษณ์ที่เห็นบ่อยครั้งในยุคนั้น เราจะมีภาพจำอย่างตัวละคร ‘คุณหญิงจำปา’ ในภาพยนตร์บุพเพสันนิวาส 2 (2565)


เครื่องแต่งกายบุรุษชั้นสูง

ถัดมาที่ผู้ชาย ตัวละคร ‘พระยาบดีศร’ และ ‘พระยาวิเชียรเดช’ แต่งกายตามลักษณะของขุนนางสยามสมัยต้นรัตนโกสินทร์ โดยสวม ‘เสื้อแขนกระบอก’ สองชั้น นุ่งโจงกระเบน สวมผ้าคาดเอว และคาดเข็มขัดทอง โดยเฉพาะตัวละคร พระยาวิเชียรเดช มีการสวม ‘เสื้อครุย’ ทับชั้นนอก ซึ่งเสื้อครุยนี้เป็นอาภรณ์ของขุนนางที่มีหลักฐานมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย

การสวมเสื้อผ้าหลายชิ้นเป็นเครื่องบ่งบอกฐานะของผู้มีอันจะกิน รวมถึงผ้าที่มีหลากหลายที่มา อย่างผ้าแพรจากจีน ผ้าอัตลัต ผ้าเข้มขาบ และผ้าเยียรบับ เหล่านี้เป็นผ้าชั้นสูงที่มีลายยกทองเป็นดอกต่อเนื่องกันทั้งผืน ซึ่งมีที่มาจากอินเดีย หรือแถบตะวันออกกลาง อาจเป็นของนำเข้าหรือสั่งทอเป็นลายตามแบบ


 เครื่องแต่งกายนางละคร

นอกจากคนทั่วไป ในภาพยนตร์ยังปรากฏการแต่งกายของ ‘นางละคร’ ในคณะละครนอก โดยนุ่งผ้าจีบหน้านาง ห่ม ‘ผ้าห่มนาง’ คือเป็นผ้าผืนยาวห่มท่อนบน แล้วพาดไหล่สองข้าง ทิ้งตัวยาวไปถึงน่อง โดยปกติจะมีการปักลวดลายลงไปเพื่อความสวยงาม แต่ในภาพยนตร์ใช้เป็น ‘ผ้าพิมพ์ลาย’ ซึ่งเป็นผ้าอินเดียที่ได้รับความนิยมในช่วงเวลานั้นเช่นกัน

ส่วนเครื่องประดับประกอบด้วย กรองศอ เข็มขัด ปั้นเหน่ง กำไล และที่สำคัญคือ ‘รัดเกล้าเปลว’ ซึ่งเป็นเครื่องประดับศีรษะที่บ่งบอกถึงละครที่ไม่ใช่ละครหลวง ดังปรากฏในเอกสารสมัยรัชกาลที่ 4 ลักษณะโดยรวมของการแต่งกายแบบนี้ ชวนให้นึกถึงนางรำในละครเรื่องพิษสวาท (2559) ซึ่งโดดเด่นด้วยภาพของรัดเกล้าเปลว และผ้าห่มนางเช่นกัน


เขียนโดย ปฐมฤกษ์ วงศ์แสงขำ (Pradhom)

© 2021 Art of. All rights reserved.

  083-138-5607
contact@artofth.com

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save