727Views
LUKYANG นักออกแบบสาย Eco และผลงาน Waste โภชนา ศิลปะเลียนแบบอาหารที่ให้ความรู้เรื่องวัสดุเพื่อสิ่งแวดล้อม
ในโลกปี 2023 วิกฤติทางสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่เร่งด่วนและไม่ได้อยู่ไกลตัว เราทุกคนก็สามารถช่วยได้จากมุมของเรา ส่วนในมุมมองของนักออกแบบก็เช่นกัน โดยเฉพาะของนักออกแบบที่เราจะมาแนะนำอย่าง ‘LUKYANG’ ที่เรื่องความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมหรือ ‘Sustainability’ เป็นเหมือนหัวใจสำคัญในการออกแบบงาน
LUKYANG หรือ ลูกยาง เป็นนักออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ต้องการนำเสนองานออกแบบที่ส่งต่อแนวความคิดเรื่อง Eco design ให้กับคนทั่วไปได้เข้าถึงได้ ซึ่งเขาก็ได้ค้นคว้าทดลองเพื่องานออกแบบนี้มาตลอด 10 ปี
โดยผลงานล่าสุดนั้นคือ ‘Waste โภชนา’ ที่เป็นผลงานที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการเพื่อให้ความรู้กับคนทั่วไปเกี่ยวกับวัสดุเหลือใช้และขยะ ผ่านงานศิลปะเลียนแบบอาหารที่สวยงาม ปราณีตและนำไปใช้ต่อยอดได้จริง โดยวันนี้ Art of จะพาไปคุยกับเขาเกี่ยวกับผลงานชิ้นนี้กัน
ทำไมถึงเลือกที่จะสื่อสารเรื่อง ‘วัสดุ’ กับ ‘สิ่งแวดล้อม’
เนื่องจากเป็นนักออกแบบที่สนใจด้านสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว จึงมีความเข้าใจเกี่ยวกับวัสดุและวงจรของวัสดุแต่ละประเภท ซึ่งปัญหาของสิ่งแวดล้อมไม่ได้เกิดจากของเหลือใช้หรือขยะ แต่เป็นพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนไป
โลกกำลังรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมด้วยหลากหลายทาง เช่น การแยกขยะ การลดใช้พลังงาน หรือการนำกลับมาใช้ซ้ำ แต่หลายๆ คนก็ยังทิ้งไม่ถูก หรือใช้ซ้ำอย่างผิดวิธีเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อตัวเองด้วยเหมือนกัน
อย่างเช่น การเข้าใจว่าบิลใบเสร็จเป็นกระดาษสามารถทิ้งรวมกับกระดาษทั่วไปได้นั้นถือว่าเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะบนบิลใบเสร็จมีสาร BPA เคลือบอยู่ ถ้าหลงติดไปกับกระดาษทั่วไปจนผ่านกระบวนการรีไซเคิล สารนี้จะติดไปกับกระดาษที่รีไซเคิลด้วย
หรือกล่องใส่อาหารเดลิเวอร์รี่ ที่หลายคนคิดว่าทนความร้อนได้จึงใช้ซ้ำได้ด้วยการนำมาอุ่นร้อนซ้ำๆ ก็ถือว่าใช้ผิดวิธี เพราะทุกการผ่านความร้อนตัววัสดุจะเสื่อมคุณภาพตามไปด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงควรใช้อุ่นร้อนแค่ครั้งเดียวเท่านั้น
Waste โภชนา จึงเกิดขึ้นมาเพื่อให้ข้อมูลการอุปโภค บริโภคที่ถูกต้องกับทุกคน ผ่านภาพลักษณ์ของอาหารจุดเริ่มต้นของการดำเนินชีวิตประจำวัน
ทำไมถึงทำออกมาเป็นศิลปะเลียนแบบอาหาร?
เลือกสื่อสารผ่านงานศิลปะกระดาษเลียนแบบอาหาร (Food paper craft) เพราะต้องการดึงดูดผู้คนเข้ามาดูความสนุกที่เกิดจากการนำวัสดุที่หลากหลายของผลงาน และได้รู้ถึงที่มาและคำแนะนำของวัสดุเหล่านี้ด้วย
ที่มาของวัสดุพวกนี้คืออะไร?
ส่วนหนึ่งทำมาจากกระดาษรีไซเคิลจากดอกไม้, เปลือกผลไม้ และใบไม้ ที่ได้ทดลองและผลิตเองเพื่อใช้สำหรับสินค้าของ LUKYANG อีกส่วนหนึ่งคือวัสดุเหลือใช้จากการอุปโภคและบริโภคที่พบได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น บิลใบเสร็จ, กล่องกระดาษ และถุงพลาสติก
กระบวนการทำเป็นอย่างไรบ้าง?
เราเริ่มจากการสังเกต และเลือกใช้วัสดุที่มีความเป็นไปได้ที่จะนำมาดัดแปลงเป็นวัตถุดิบเลียนแบบอาหาร ซึ่งวัสดุแต่ละชนิดก็จะมีเรื่องราวที่สอดแทรกไปด้วย เช่น ก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็ก ที่ใช้บิลใบเสร็จมาทำเป็นเส้น ก็จะเล่าถึงปัญหาบิลใบเสร็จว่าคืออะไร หรือเกี๊ยวทอดที่ทำกระดาษจากดอกดาวเรือง ที่ได้มาจากของเหลือจากตลาด และดอกที่ใช้งานแล้ว ส่วนเทคนิคเราเลือกใช้เทคนิคที่หลากหลายครับทั้งด้านการพับ และงานเปเปอร์มาเช่ที่ใช้วิธีการปั้น
คิดว่าจะต่อยอดสิ่งนี้อย่างไรในอนาคต?
Waste โภชนา เป็นนิทรรศการห่าบเร่แผงลอย ดังนั้นจะมีการตระเวนไปขายความรู้ในสถานที่ต่างๆ ต่อไปอีกเรื่อยๆ เพื่อกระจายข้อมูลเหล่านี้ออกไปในซีรีส์ที่แตกต่างกัน อย่างที่ผ่านมานั้นเคยไปแสดงงานที่ต่างๆ ซึ่งชนิดอาหารก็จะปรับเปลี่ยนไปตามสถานที่ ส่วนในปีหน้ากำลังมองหาสถานที่และพาร์ทเนอร์ต่อไป
เป็นอีกหนึ่งผลงานที่คิดถึงความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมอย่างครบลูป ตั้งแต่นำเอางานออกแบบและศิลปะมาช่วยในการให้ความรู้กับผู้ชมเกี่ยวกับหัวข้อที่หลายๆ คนยังไม่ได้มีความเข้าใจที่แน่ชัด ไปจนถึงการใช้วัสดุและกระบวนการก็สามารถถูกนำไปต่อยอดได้จริง
หวังว่าผลงานนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับทั้งผู้ออกแบบ ศิลปิน ผู้ชม และองค์กรต่างๆ ให้เริ่มลองคิดเรื่องความยั่งยืนจากมุมมองของตัวเองดู
📌 หากใครสนใจเกี่ยวกับผลงานของคุณ LUKYANG สามารถติดตามและอ่านเพิ่มเติม ได้ที่