1819Views
Harry Potter กับการเมืองโลกเวทมนตร์
หลายคนเติบโตมากับการผจญภัยของ ‘Harry Potter’ แล้วจำได้ไหม…ว่าครั้งสุดท้ายที่ดู-ที่อ่าน เรารู้สึกกับมันอย่างไร?
สำหรับแอดมินตอนเป็นเด็ก จำได้ว่าชอบเล่มที่ 1 และ 4 มากที่สุด เพราะเป็นช่วงที่หนังสือพาเราไปรู้จักโลกเวทมนตร์ที่น่าตื่นเต้นล้ำจินตนาการ
ส่วนเล่มที่ทำให้หงุดหงิด คือเล่ม 5-ภาคีนกฟีนิกส์ เพราะบรรยากาศมันช่างน่าอึดอัด อยากทุบอัมบริดจ์ ยิ่งเล่มหลังจากนั้นยิ่งอึมครึม ยิ่งไม่ชอบเข้าไปใหญ่ ชีวิตอะไรมันจะมืดมนขนาดนั้น
จนตอนนี้มีโอกาสกลับมาอ่านอีกครั้ง ความคิดเหล่านั้นก็เปลี่ยนไป เล่ม 5 กลายเป็นเล่มที่ต้องตั้งใจอ่านมากกว่าเดิม แปลกดีที่หนังสือนิยายแฟนตาซีกลับสามารถแตะความอึดอัดในใจ และยังสะท้อนประวัติศาสตร์การต่อสู้ของคนผู้คนกับอำนาจมืดได้อย่างเป็นอมตะ
ชวนทุกคนมาอ่านกันว่าทำไม Harry Potter and the Order of the Phoenix มันถึงได้กระแทกใจ เหมือนหลุดออกมาจากเหตุการณ์ใกล้ตัว
มามอง แฮร์รี่ พอตเตอร์ อีกครั้ง ผ่านตัวเราเองที่โตขึ้นกันเถอะ!
พอถูกกระทรวงหมายหัว เสกคาถาผู้พิทักษ์ก็ส่งคุณไปอัซคาบันได้
ในช่วงต้นเรื่อง แฮร์รี่ พอตเตอร์ ได้เสกคาถาผู้พิทักษ์เพื่อคุ้มครองตนเองและดัดลีย์จนทำให้ถูกจับในข้อหาใช้เวทมนตร์ต่อหน้ามักเกิลในพ่อมดที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ถึงขั้นว่าถูกไล่ออกจากโรงเรียนทันทีและต้องไปขึ้นศาล
แน่นอนว่าหลักการกฎหมายพ่อมด ก็มีหลักการที่ใกล้เคียงกับกฎหมายมักเกิ้ลอย่างเราๆเนี่ยละ เช่น ‘Innocent until proven guilty’ ที่แปลว่า ให้ถือว่าผู้ต้องหาบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าผิดจริง และ สิทธิที่จะได้รับการไต่สวนอย่างเป็นธรรม
ดังนั้น แม้จะเป็นคำสั่งไล่ออกจากโรงเรียนโดยตรงจากรัฐมนตรีกระทรวงเวทมนตร์อย่างฟัดจ์ ก็ยังถูกหักล้างให้ไม่เป็นผลด้วยกฎข้อนี้
และแม้ฟัดจ์จะอยากตัดสินให้แฮรี่ผิดมากแค่ไหน เขาก็ไม่อาจมีอำนาจเหนือคณะลูกขุนในศาลไปได้ เมื่อทำการลงคะแนนเสียงกันแล้วว่าไม่ผิด กระทรวงเวทมนตร์ก็ต้องปล่อยแฮร์รี่ไป
เพราะศาลต้องยึดถือหลักการเดียวกันกับทุกคน ไม่เอาอคติของตนมาเลือกปฎิบัติ
‘สงบเงียบ’ กับ ‘สงบสุข’ นั้น ไม่เหมือนกัน
การกลับมาของโวลเดอร์มอร์ตั้งแต่ท้ายเล่ม 4 จนมาถึงเล่มที่ 5 สร้างความหวาดกลัวให้กับรัฐมนตรีกระทรวงเวทมนตร์อย่างมาก
ฟัดจ์เป็นชายตัวอ้วนที่จับพลัดจับผลูได้ตำแหน่งมา แน่นอนว่าเขาเข้ามาสู่ตำแหน่งเพราะชอบอำนาจ แต่ไม่เคยคิดว่าตัวเองต้องมารับมือกับปัญหาที่ใหญ่ขนาดนี้
และสิ่งที่ฟัดจ์เลือกทำคือการ ‘ปิด’
ปิดหูตัวเองไม่ฟังความจริง
ปิดตาคนทั้งกระทรวง
ปิดปากแฮร์รี่และดัมเบิลดอร์
เขาเชื่อเหลือเกินว่า เมื่อทุกอย่าง’เงียบ’ นั่นหมายถึง’สงบ’ แต่การหลอกตัวเองและคนอื่นว่ามันไม่มีปัญหา ไม่ได้ทำให้ปัญหามันหายไป นี่ยังไม่นับการใช้อำนาจโดยมิชอบในการไล่เซนเซอร์และดิสเครดิตอีกนะ คุณจะเห็นว่าช่วงกลางเล่ม คำพูดไพเราะบน Daily Prophet ไม่มีใครให้ค่าอีกแล้ว ผู้คนเริ่มแสวงหาแหล่งข่าวอื่นๆ อย่าง The Quibbler หรืออาจจะเป็นข่าวลือด้านนอก ซึ่งนั่นแย่กว่าซะอีก เพราะก่อให้เกิดความหวาดระแวงไปทั่ว
สุดท้ายแม้โลกเวทมนตร์จะได้รัฐมนตรีคนใหม่ แต่ความสูญเสียที่กำลังจะเกิดตามมาก็ร้ายแรงอย่างประเมินค่าไม่ได้เสียแล้ว
เรื่องนี้สามารถให้บทเรียนอะไรกับเราได้บ้าง?
ในความเป็นจริงแล้ว ประเด็นเรื่องการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะชนเป็นที่ถกเถียงกันมานานแล้ว ว่ารัฐควรจะเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชนของตนมากแค่ไหน การปกปิดย่อมก่อให้เกิดความไม่ไว้ใจและหวาดระแวง ซึ่งจะส่งผลต่อไปแบบโดมิโน ในขณะที่เปิดเผยมากเกินไปอาจนำไปสู่ความตื่นตระหนก
สำคัญที่สุดคือมีมาตราการรับมืออย่างไร เพราะแม้ข่าวจะน่าตกใจ แต่ถ้าท่าทางของผู้นำเข้มแข็งและมีขั้นตอนชัดเจน แม้ว่าข่าวจะน่าตระหนก แต่คนจะหายตกใจและเตรียมพร้อมรับมือได้อย่างทันท่วงที
ท่าทางไม่ยี่หระและความละเลยต่อสถานการณ์ตรงหน้าส่งผลให้ท้ายที่สุดแล้วฟัดจ์ก็หลุดจากตำแหน่ง เหมือนกับที่เขาบอกกับนายกของมักเกิลไปว่า “ขนาดนี้แล้วคุณคิดว่าผมจะยังอยู่ในตำแหน่งได้อีกหรือ ผมไม่เคยเห็นพวกเขาพร้อมใจกันไล่ใครขนาดนี้มาก่อนตลอดการทำงานของผม”
การเปลี่ยนแปลงมักเริ่มขึ้นในโรงเรียน
ไม่ว่าจะฟัดจ์หรือจะโวลเดอร์มอร์ เมื่อต้องการจะควบคุมฝูงชนเป้าหมายแรกก็คือ ‘ฮอกวอตส์’
ฟัดจ์ส่งอัมบริดจ์มาเพื่อควบคุมและออกแบบหลักสูตรการสอนใหม่เน้นให้ท่องจำบทเรียน เด็กๆถูกสั่งห้ามถามและขอให้เชื่อว่าสิ่งที่กระทรวงเลือกมาให้นั้นดีที่สุด
ตลอดทั้งภาคนี้อัมบริดจ์ย้ำหลายครั้งว่า “ด้านนอกนั้นสงบสุขดี ไม่มีความจำเป็นอะไรที่นักเรียนจะต้องเรียนรู้การป้องกันตัวจากศาสตร์มืด” และ “ทุกคนควรเรียนรู้เวทมนตร์แบบฉบับที่ปลอดภัยและได้รับการรับรองจากกระทรวงแล้วเท่านั้น”
ทำไมกระทรวงเวทมนตร์ต้องจริงจังกับโรงเรียนขนาดนี้ด้วย?
อาจเป็นเพราะวัยรุ่นเป็นวัยที่เต็มไปด้วยพลัง ท่ามกลางสภาพแวดล้อมแห่งการเรียนรู้และการตั้งคำถาม แนวคิดต่างๆสามารถนำขึ้นมาถกเถียงกันได้
วัยรุ่นเป็นวัยแห่งการเริ่มและการตั้งตัว เมื่อพบการกระทำของผู้ใหญ่ที่บิดเบี้ยวและยังส่งผลต่อผู้คนและอนาคต ย่อมทำให้เกิดการตั้งคำถามและอาจนำไปสู่ความโกรธ
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจ ที่กระทรวงจะพยายามควบคุม-ปลูกฝังแนวคิดตั้งแต่เเรก ถือเป็นวิธีที่ได้ผลที่สุดในการจำกัดแนวคิดที่จะเป็นภัยในอนาคต
เพราะฉะนั้นการเริ่มจากการจัดการโรงเรียนถือเป็นแผนที่ฉลาด
แต่จะสำเร็จรึเปล่า มันก็อีกเรื่องหนึ่ง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง… เมื่อฮอกวอตส์ไม่ได้มีแต่บ้านสลิธีริน
ตัวร้ายสุดของเรื่อง คือ โวลเดอร์มอร์
แต่ตัวละครที่คนเกลียดที่สุด คือ ‘อัมบริดจ์’
อันนี้ไม่เปลี่ยนแปลง เราเกลียดอัมบริดจ์ตั้งแต่เด็ก จนตอนนี้ก็ยังเกลียดอยู่
แต่ถ้ามาลองวิเคราะห์ดูจะพบว่าคนประเภทอัมบริดจ์นี่… น่ากลัวมาก
หลายคนคงรู้สึกรำคาญและหงุดหงิด อัมบริดจ์มักพูดจาสวยหรูแต่เนื้อความเต็มไปด้วยการดูถูกเหยียดหยาม มักอวดว่าตัวเองเป็นเลือดบริสุทธิ์สูงส่งและคอยกดเผ่าพันธุ์อื่นและพวก Half blood ทั้งหลาย (ทั้งที่จริงมีแม่เป็นมักเกิลด้วยนะ แต่นางแหล)
บวกกับน้ำเสียง กิริยา และชุดสีชมพูฟรุ้งฟริ้งที่ขัดกับนิสัยอย่างสิ้นเชิง ทำให้ตัวละครนี้น่ารำคาญติดอันดับไปเลย!
หากลองมาวิเคราะห์ดู สาเหตุที่ทำให้อัมบริดจ์ถูกคนดูเกลียดนั้นส่วนหนึ่งมาจากความรู้สึกที่ว่า เราทุกคนเคยเจออัมบริดจ์ในชีวิตจริงนั่นเอง
ต่างจากโวลเดอร์มอร์ที่แสดงออกอย่างเปิดเผยว่าฉันเลว อัมบรดิจ์เป็นตัวอย่างว่า ‘คนเลว’ ไม่จำเป็นต้องแสดงออกว่าเป็นเผด็จการ เป็นโจร เป็นขโมย
เขา/เธอสามารถจะสวมชุดอ่อนหวาน ใช้คำพูดสวยหรู ทำงานที่ดูดีน่านับถือ เป็นถึงสมาชิกสภาสูง แต่การกระทำเหี้ยมโหดไม่ต่างอะไรกับพวกผู้เสพความตาย
ความน่ากลัวคือ คนพวกนี้ชั่วร้ายแต่ฉลาด
อัมบริดจ์รู้ว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ไต่เต้าขึ้นสู่อำนาจ และจะใช้อำนาจอย่างไรเพื่อสนองจิตใจที่บิดเบี้ยวของตน
ตลอดภาค 5 อัมบริดจ์มักอ้างชื่อกระทรวงเวทมนตร์และคำสั่งของฟัดจ์ในการกระทำต่างๆ แต่กลับใช้อำนาจโดยมิชอบ เช่น บังคับให้แฮรี่เขียนปากกาขนนกดำที่กรีดมือตัวเอง ใช้สัจจะเซรุ่มกับนักเรียน และท้ายสุดยังคิดจะใช้ 1 ใน 3 คาถาต้องห้ามกับนักเรียนด้วยซ้ำ!
ทั้งๆที่ชอบอ้างกฎหมาย แต่ทั้งหมดที่ทำนี่แน่นอนว่าผิดกฎหมาย!! แต่เธอก็รอดทุกครั้งด้วยการให้เหตุผลว่าทำไปเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของโรงเรียน (เฮ่ย!? มันใช่หรอ)
ทำขนาดนี้แล้วก็ยังอยู่ได้ คนอย่างยัยคางคกนี่อยู่ในกระทรวงนานถึง 3 รัฐมนตรีเลยนะ