Skip to content Skip to sidebar Skip to footer

เรื่องเล่าของ “พลุ” ศิลปะบนท้องฟ้า ดอกไม้ยักษ์แห่งการเฉลิมฉลองยามค่ำคืน 

หากจะพูดถึงงานเฉลิมฉลองทั้งงานประจำปี หรือ เทศกาลใหญ่ต่างๆ ก็คงจะขาดตัวจบสุดยิ่งใหญ่อย่าง “พลุ” ไปไม่ได้

พลุ เป็นหนึ่งในสิ่งประดิษฐ์ที่อยู่คู่กับมนุษยชาติมาอย่างยาวนาน และ คงไม่มีใครไม่เคยเห็นพลุ ไม่ว่าจะเป็นของจริงหรือดูผ่านจอต่างๆ แต่ถึงแม้ว่าเราจะเห็นความสวยงามของมันมาตลอดชีวิต ก็มีน้อยคนมากที่รู้เรื่องราวเกี่ยวกับพลุ ไม่ว่าจะชื่อเรียกชนิด หรือ เบื้องหลังต่างๆ ว่ามันยุ่งยากแค่ไหนกว่าจะเกิดพลุสวยๆ มาให้เราได้ดูกัน   

วันนี้จะมาเล่าเรื่องที่มาและเรื่องราวต่างๆ ของพลุ หนึ่งในผลงานสร้างสรรค์ที่ลงตัวของศิลปะ และ วิทยาศาสตร์ ที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อให้เราดูพลุที่สวยงามได้สนุกยิ่งขึ้น และ ได้รู้ว่าในความสวยงามไม่กี่วินาทีที่เราเห็นนั้นมีอะไรมากมายที่ซ่อนอยู่


พลุ เกิดจากอุบัติเหตุของการค้นหาชีวิตอมตะ

สิ่งประดิษฐ์ต่างๆ มากมายของโลกเกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ พลุ ก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่ใครจะไปคิดว่าพลุนั้นเกิดจากการทดลองที่ดูไม่เกี่ยวข้องกันสักนิดอย่าง การค้นหาวิธีมีชีวิตอมตะ

ราวๆ 200 ปีก่อนคริสตกาล ชาวจีนโบราณในเมืองลั่วหยางได้บังเอิญค้นพบประทัดขึ้นมาจากการโยนไม้ไผ่เข้าไปในกองไฟ จากการที่ไม้ไผ่ได้รับความร้อนอากาศที่อยู่ภายในก้านไม้ไผ่จะจุดระเบิดออกมาพร้อมกับเสียงดังจากความร้อนที่สูงเกินไป

หลังจากนั้นต่อมาช่วงปี 800 ในประเทศจีนเช่นกัน นักเล่นแร่แปรธาตุก็ได้ทดลองนำ กำมะถัน ถ่าน และ โพแทสเซียมไนเตรต (สารที่ใช้ในการถนอมอาหาร) มาผสมรวมกันในระหว่างการค้นหาวิธีเป็นอมตะ ซึ่งหลังจากผสมแล้วสารผสมนั้นมันดันติดไฟและเกิดแรงปะทะขึ้นจนถูกเรียกว่า “ดินปืน” ต่อมาดินปืนเหล่านั้นก็ได้ถูกนำไปใส่ในไม้ไผ่ หรือ ม้วนกระดาษ แล้วจุดไฟให้ระเบิดแตกออก ถือได้ว่านี่เป็นการกำเนิดพลุครั้งแรกของประวัติศาสตร์


พลุ ยุคแรกไม่ได้ถูกใช้เพื่อความบันเทิงสวยงาม

หากได้ชมเทศกาลพลุในยุคแรกนั้น จะเห็นได้ว่าไม่มีอะไรที่เหมือนหรือใกล้เคียงกับพลุในทุกวันนี้เลย

พลุในยุคแรกถูกใช้ในการขับไล่ผี วิญญาณร้ายต่างๆ ฉลองงานแต่งงาน และ วันเกิด โดยใช้วิธีการโยนใส่กองไฟ จุดไฟโดยตรง ไม่ได้จุดระเบิดกลางอากาศหรือใช้สายชนวน ซึ่งพลุในยุคนั้นจะยังไม่มีสีเหมือนในปัจจุบัน ดังนั้นหากพูดถึงงานแสดงพลุในอดีต มันก็คืองานที่เต็มไปด้วยเสียงดังเป็นชุดๆ เสียมากกว่า ซึ่งหลังจากนั้นก็ได้มีการพัฒนาสายชนวน และนำพลุมาต่อกันเป็นสายยาว คล้ายๆ กับประทัดสายที่เรายังเห็นกันตามงานต่างๆ ของชาวจีน

หลังจากนั้นต่อมาในช่วงปี 1200 ในประเทศจีนก็ได้ประยุกต์การใช้ดินปืนในทางสงคราม ทั้งการนำประทัดไปผูกติดกับปลายลูกธนู และ การประดิษฐ์ปืนใหญ่ขึ้นครั้งแรก แต่จากการกำเนิดของเทคโนโลยีปืนใหญ่นี้เองที่ทำให้เกิดพลุแบบจุดระเบิดกลางอากาศเหมือนที่เราเห็นกันในทุกวันนี้


กำเนิดพลุสี และพลุสมัยใหม่

พลุสีคาดว่าน่าจะเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ฮั่น ช่วงราวๆ ศตวรรษที่ 14 ชาวจีนเริ่มเรียนรู้ที่จะใช้แร่และสารเคมีต่างๆ ผสมเข้ากับดินปืนไนเตรตต่ำเพื่อสร้างควัน และ ไฟสีต่างๆ เพื่อใช้เป็นสัญญาณในการสื่อสารช่วงสงคราม เช่น Arsenical Sulphide สำหรับสีเหลือง, คอปเปอร์อาซีเตต สำหรับสีเขียว และ สีอื่นๆ อีกมากมาย

ดินปืนและพลุได้เข้าสู่ยุโรปตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 แต่กว่าจะได้รับความนิยมก็ในศตวรรษที่ 17 ซึ่งในปี 1758 มิชชันนารีชาวฝรั่งเศส Pierre Nicolas le Chéron d’Incarville ที่อาศัยอยู่ในกรุงปักกิ่งก็ได้เขียนเกี่ยวกับวิธีการและสูตรการทำพลุของชาวจีนแล้วส่งต่อให้ Paris Academy of Sciences ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในอีกห้าปีต่อมา ส่งผลให้เทคโนโลยีการสร้างพลุเพื่อความสวยงามได้รับการต่อยอดในทางฝั่งตะวันตก

พลุตั้งแต่สมัยโบราณมาจนถึงศตวรรษที่ 18 นั้นจะมีสีค่อนข้างชืด ไม่ว่าจะสีทอง สีแดง สีเขียว จนกระทั่งในปี 1786 นักเคมีชาวฝรั่งเศส Claude Louis Berthollet ก็ได้ค้นพบว่า โพแทสเซียมคลอเรต เป็นตัวทำออกซิไดซ์ที่รุนแรงและเมื่อนำไปผสมกับแร่ต่างๆ ที่ใช้อยู่เดิมได้ส่งผลให้พลุสว่างมากขึ้น มีสีสันที่สดใสขึ้น และมีประกายแสงเจิดจ้าขึ้น ซึ่งถึงแม้ว่าเขาจะตั้งใจทำเพื่อจุดประสงค์ทางการทหาร แต่การค้นพบครั้งนี้ก็เป็นการปฏิวัติวงการพลุให้เข้าสู่ยุคสมัยใหม่


พลุ ทำงานอย่างไร?

โดยทั่วไปแล้วพลุนั้นจะมีหลักการทำงานเหมือนกันซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือ ส่วนจุดขึ้นฟ้า และ ส่วนที่สองคือ ส่วนจุดพลุ โดยสิ่งที่ทำให้พลุแตกต่างกันทั้งรูปร่าง สีสัน และ จังหวะ คือ ส่วนที่อยู่ภายในซึ่งจะมี 2 ส่วนที่สำคัญอีกเช่นกัน คือ เม็ดดาว และ ฟิวส์หน่วงเวลา ซึ่งช่างทำพลุจะทำหน้าที่สร้างสรรค์และจัดวางส่วนประกอบเพื่อให้เกิดพลุแบบต่างๆ ขึ้น

เม็ดดาว คือ ก้อนกลมแข็งที่เกิดจากการผสมสารเคมีและโลหะต่างๆ เพื่อสร้างแสง สี และ กำหนดลักษณะของเอฟเฟคต่างๆ เช่น สตรอนเซียมคาร์บอเนตให้สีแดง อลูมิเนียมและแมกนีเซียมให้สีขาวสว่าง ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นจากความร้อนจากแรงกระตุ้นไอออนโลหะให้ปล่อยแสงสีต่างๆ ออกมา โดยลักษณะการจัดเรียงของเม็ดดาวต่างๆ นั้นก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่กำหนดรูปร่างของพลุด้วย

ฟิวส์หน่วงเวลา เป็นส่วนที่สำคัญมากเพราะนี่คือส่วนที่จะกำหนดเม็ดดาวส่วนไหนจะจุดก่อนหลัง เป็นได้ทั้งการตั้งจังหวะของพลุ บังคับทิศทาง และ กำหนดลักษณะของพลุที่ออกมา ซึ่งสามารถทำให้ซับซ้อนได้มาก เช่น เวลาเราเห็นพลุประเภทที่แตกออกแล้วมีแสงวิ่งวนไปมาแล้วค่อยแตกตัวออก นั่นก็เป็นสิ่งที่ฟิวส์หน่วงเวลาทำ


ชนิดของพลุต่างๆ

ที่มาของชื่อของพลุส่วนใหญ่มักจะอ้างอิงมาจากชื่อของดอกไม้ต่างๆ ทำให้พลุถึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า “ดอกไม้ไฟ” ซึ่งจริงๆ แล้วพลุนั้นมีหลากหลายรูปแบบมา เลยจะขอยกตัวอย่างมาแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น

Peony หรือ ทรงดอกโบตั๋น เป็นพลุที่เห็นได้ทั่วไปที่สุด ลักษณะก็คือเป็นพลุที่จะระเบิดแตกตัวเป็นเม็ดแสงทรงกลมแต่จะไม่มีหางออกมา

Chrysanthemum หรือ ทรงดอกเบญจมาศ เป็นพลุอีกหนึ่งชนิดที่เห็นได้บ่อย โดยลักษณะทั่วไปจะคล้ายกับ Peony แต่จะแตกตัวเป็นเส้นแสงที่ไม่มีแสงทรงกลมกระจายออกมาตอนระเบิดแตกตัวออกมา

Willow หรือ ทรงต้นวิลโลว์ ลักษณะจะคล้ายๆ กับ Chrysanthemum แต่หลังจากระเบิดตัวออก เส้นแสงจะค่อยๆ ร่วงลงช้าๆ เกิดเป็นภาพคล้ายๆ โดมที่ห้อยย้อยลงมาเหมือนต้นวิลโลว์ เพื่อทำให้คนรู้สึกอ่อนช้อยและละมุนกว่า

Dahlia หรือ ทรงดอกรักเร่ ลักษณะจะคล้ายๆ กับ Peony แต่จำนวนที่แตกออกมาจะน้อยกว่า มีขนาดใหญ่กว่า ระเบิดออกมากว้างกว่า และมีหางออกมา

Diadem หรือ ทรงมงกุฏ ลักษณะก็คือจะเป็นพลุสองวง เป็น Peony หรือ Chrysanthemum อยู่วงนอก และมีกลุ่มแสงแตกตัวอยู่วงในอยู่กับที่ โดยจะมีสีและเอฟเฟคที่แตกต่างกันชัดเจน

Comet หรือ ทรงดาวตก พลุลักษณะนี้จะมีส่วนหัวที่สว่างสดใสหางทอดยาวเป็นประกายเหมือนดาวตก ซึ่งมักจะใช้เป็นส่วนเปิดต่อจากจุดระเบิดจากพื้นขึ้นไปบนฟ้าช้าๆ ก่อนที่แตกตัวเป็นพลุแบบอื่นบนอากาศ

Palm หรือ ทรงต้นปาล์ม ลักษณะจะเป็นการระเบิดตัวออกของกลุ่มพลุแบบดาวตก ที่แตกตัวกระจายออกเหมือนยอดต้นปาล์ม

Crossette หรือ ทรงครอสเซท จะเป็นพลุที่แตกตัวออกมาหลายๆ เม็ดก่อนซึ่งจะมีหางหรือไม่มีหางก็ได้ แล้วหลังจากนั้นแต่ละเม็ดก็จะแตกตัวอีกทีเป็นสี่ทิศมีหางแล้ววิ่งไขว้ไปมา

Horsetail หรือ ทรงหางม้า ลักษณะเด่นของทรงนี้ก็คือจะมีการแตกตัวแยกออกเป็นกลุ่มเส้นๆ ตั้งแต่ยังไม่ถึงจุดสูงสุดแล้วค่อยๆ ห้อยย้อยลงมาเหมือนหางของม้า ซึ่งจะแตกต่างกับพลุแบบอื่นชัดเจนที่มักจะไปถึงจุดสูงสุดแล้วค่อยแตกตัว

Ring หรือ ทรงวงแหวน ลักษณะก็คือพลุจะแตกตัวออกเป็นวงแหวน ไม่มีหาง ซึ่งพลุที่เราเห็นเป็นหน้ายิ้ม ดาว หรือ ว่าหัวใจก็เกิดจากพลุประเภทวงแหวนนี้

Roman Candle พลุประเภทนี้จะแตกต่างจากประเภทอื่นเพราะมันจะไม่มีการแตกตัวในอากาศแต่จะเหมือนเส้นแสงที่ยิงกราดไปมาจากบนพื้นขึ้นสู่ท้องฟ้าเสียมากกว่า และจะยิงกันเป็นชุดๆ

Cake พลุแบบเค้ก จะเหมือนการรวมฮิตพลุหลายๆ แบบเข้าด้วยกันแล้วยิงอย่างต่อเนื่องเป็นชุดใหญ่ เรียกได้ว่านี่คือพลุตัวปิดของจริง เพราะ มันมักจะเริ่มการยิงแบบ Roman Candle กราดขึ้นไปบนฟ้าแต่จะมีการจุดระเบิดแตกตัวกลางอากาศเป็นพลุอีกหลายๆ แบบต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ซึ่งสามารถยิงเกินได้มากกว่า 1,000 นัดเลยทีเดียว


เขียนโดย รวีศิลป์ อัศวกิตติประภา

source:
https://ssec.si.edu/stemvisions-blog/evolution-fireworks
https://www.americanpyro.com/history-of-fireworks
https://en.wikipedia.org/wiki/Fireworks
https://science.howstuffworks.com/innovation/everyday-innovations/firework-shapes.htm
https://www.pbs.org/a-capitol-fourth/fireworks-fun/name-that-firework/

© 2021 Art of. All rights reserved.

  083-138-5607
contact@artofth.com

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save