1634Views
ส่องวัฒนธรรมอินเดียใน Bridgerton ซีซั่น 2
Bridgerton นั้นป็นซีรี่ส์โรแมนติกอิงประวัติศาสตร์กึ่งแฟนตาซีในยุครีเจนซี่ของอังกฤษ หากใครติดตามตั้งแต่ซีซั่นแรก ก็จะพบว่ามีรายละเอียดหลายอย่างที่ไม่ตรงตามประวัติศาสตร์ แต่กลับเพิ่มสีสันและรสชาติใหม่ๆ ให้กับเนื้อเรื่องมากขึ้น ในซีซั่น 2 นี้ทางผู้จัดทำได้เลือกปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่จากหนังสือ โดยเปลี่ยนนักแสดงนำหลักเป็นเชื้อชาติอินเดีย นั่นคือ Simone Ashley ที่มาแสดงเป็น Kate Sharma คู่กับ Anthony Bridgerton พี่ชายคนโตนั่นเอง
ทำไมถึงต้องเป็นเชื้อชาติอินเดีย? ตั้งแต่ซีซั่น 1 มาแล้วที่ซีรี่ส์ต้องการนำเสนอความหลากหลายทางเชื้อชาติที่มากขึ้น และเนื่องจากสมัยก่อนนั้นประเทศอินเดียเองก็ยังเคยเป็นหนึ่งในอาณานิคมของอังกฤษ อังกฤษมีการเปิดบริษัทอินเดียตะวันออกเพื่อทำการค้าขาย คนอินเดียและอังกฤษจึงมีการแลกเปลี่ยนและเดินทางไปมาเสมอ แต่จริงๆ แล้วตามท้องเรื่องนั้นเกิดขึ้นในยุค 1800s ซึ่งเป็นยุคก่อนอังกฤษจะปกครองอินเดียเสียอีก!
ในซีซั่นนี้จึงมีการสอดแทรกวัฒนธรรมอินเดียมาให้ผู้ชมได้เห็นผ่านสายตาของพี่น้อง Sharma ซึ่งในมุมมองของคนทั่วไปนั้นก็จะเห็นรายละเอียดอินเดียต่างๆ มากมาย ตั้งแต่ภาษา เสื้อผ้า เครื่องประดับและประเพณีต่างๆ แต่ในขณะเดียวกัน จากมุมมองของอินเดียนั้นอาจจะสับสนเล็กน้อย เนื่องจากอินเดียเป็นประเทศที่ใหญ่มาก ภาษาและวัฒนธรรมต่างๆ นั้นมาจากต่างสถานที่ แต่ในซีรีส์นั้นกลับรวมทุกๆ รายละเอียดไว้ด้วยกันราวกับมาจากสถานที่เดียวกัน
อย่างไรก็ถามถือเป็นความพยายามที่ดีที่ริเริ่มสอดแทรกความหลากหลายทางวัฒนธรรมเข้าไปในซีรีส์ระดับโลก สำหรับในเรื่องนี้จะมีประเด็นไหนกันบ้าง ลองไปอ่านกัน!
พี่น้องตระกูล Sharma (The Sharma sisters)
ในหนังสือนั้นนางเอกชื่อ Kate Sheffield เป็นคนอังกฤษ แต่ในฉบับซีรี่ส์นี้นั้นได้เปลี่ยนเป็น Kate Sharma ซึ่งเป็นลูกติดของ Mr. Sharma ที่ Lady Mary Sheffield Sharma แต่งงานด้วย และทั้งคู่มีลูกสาวอีกคนหนึ่งคือ Edwina Sharma ซึ่งพี่น้องคู่นี้ได้เดินทางจากเมือง Bombay ประเทศอินเดีย มาที่ London เพื่อหาคู่ให้ Edwina น้องสาวคนเล็กนั่นเอง
ถึงแม้ในความเป็นจริงในสมัยนั้นจะเป็นการยากมากที่หญิงอินเดียจะแต่งงานกับชายอังกฤษที่ประเทศอังกฤษ แต่ในซีรีส์ที่มีความแฟนตาซีอยู่แล้วก็ทำให้เป็นจริงได้และถ่ายทอดออกมาได้สวยงาม โดย Julia Quinn ผู้แต่งหนังสือกล่าวว่าทีมงานนั้นปรับหนังสือมาเป็นซีรีส์ได้ดีมาก โดยยังคงความเป็นตัวตนของ Kate ได้อย่างสมบูรณ์เช่นความรัก ความทุ่มเทให้กับครอบครัวและความเป็นผู้เสียสละ
การออกแบบเครื่องแต่งกาย (Costume Design)
เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของพี่น้อง Sharma นั้นโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์มาก โดย Sophie Canale ซึ่งเป็น Costume Designer กล่าวว่า ต้องการแสดงความเป็นครอบครัว Sharma ออกมาบนเสื้อผ้า โดยผสมผสานโครงชุดแบบรีเจนซี่ของอังกฤษเข้ากับรายละเอียดแบบอินเดียไม่ว่าจะเป็นลายปัก เลื่อมและความเป็นส่าหรี อีกทั้งมีการใช้ลาย Paisley หรือลายหยดน้ำที่มาจากอินเดียสอดแทรกเข้าไปในลายปักบนชุด
สีสันนั้นได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Jewel Tone หรือสีจากอัญมณี ไม่ว่าจะเป็น แซฟไฟร์ มรกต อเมทิส ทับทิม ตามแบบฉบับอินเดียเพื่อให้ตัดกับสีทั่วๆ ไปของครอบครัว Bridgerton ที่ออกสีขาวหรือพาสเทล
สีชุดของ Kate นั้นในตอนต้นเรื่องจะออกสีเข้มเพื่อให้เข้ากับบุคลิกที่เข้มงวด เด็ดเดี่ยว แต่เมื่อเวลาผ่านไปจนท้ายๆ เรื่อง เมื่อเริ่มเปิดใจให้ Anthony มากขึ้น สีสันก็มีความนุ่มนวลมากขึ้น แต่ยังคงสีน้ำเงินแซฟไฟร์ ม่วงและเขียวมรกต ในขณะเดียวกัน สีชุดของ Edwina นั้นสีอ่อนและดูนุ่มนวลมาตั้งแต่ต้นเรื่อง เพราะเธอเชื่อและพร้อมจะมีความรักอยู่เสมอ
การออกแบบเครื่องประดับ (Jewellery Design)
เครื่องประดับที่สองสาวใส่ในเรื่องก็มีความเป็นอินเดียด้วยสีทองและโรสโกลด์ ไม่ว่าจะเป็นต่างหู jhumkas (ทรงระฆัง) สร้อย เครื่องประดับผม และชิ้นที่โดดเด่นนั่นก็คือกำไลที่ของ Kate นั่นเองที่ตามวัฒนธรรมของอินเดียนั้นเจ้าสาวจะใส่กำไลสีเขียวในวันแต่งงาน
ภาษาต่างๆ ของอินเดีย
พี่น้อง Sharma นั้นพูดคำจากภาษาที่มาจากอินเดียหลายครั้ง แต่คำเหล่านี้ไม่ได้มาจากที่ใดที่หนึ่ง เช่น Kate เรียก Edwina ว่า ‘Bon’ ที่แปลว่าน้องสาวในภาษา Bengali อีกทั้ง Edwina เรียกพี่สาวว่า ‘Didi’ ซึ่งเป็นภาษา Hindi และทั้งคู่เรียกพ่อว่า ‘Appa’ ซึ่งเป็นคำที่ใช้กันในอินเดียทางใต้
ชาของอินเดีย (Masala Chai)
ในเรื่องนั้นมีประโยคเด็ดที่ Kate กล่าวว่า “I despise English tea.” หรือ ฉันไม่ชอบชาอังกฤษ! และเธอยังนำใบชา Masala Chai มาชงกินเองที่ระเบียงบ้าน Bridgerton อีกด้วย
พิธี Haldi (Haldi ceremony)
ในคืนก่อนงานแต่งงานของ Edwina ครอบครัว Sharma มีการทำ Haldi ceremony ซึ่งในวัฒนธรรมอินเดียเป็นการแต้มขมิ้นให้กับบ่าวสาวก่อนวันแต่งงาน
สัญลักษณ์การชูนิ้วก้อย (Pinky finger)
ในอินเดียจะมีพิธีที่เรียกว่า ‘Saptapadi’ ที่คู่บ่าวสาวจะเดิน 7 วนรอบ รอบไฟศักดิ์สิทธิ์ ในแต่ละรอบจะกล่าวคำปฏิญาณแก่กันและกันและมีการใช้นิ้วก้อยชูขณะเดิน
การเปลี่ยนเชื้อชาติในครั้งนี้ไม่ได้ทำให้โลกของซีรีส์นั้นดูยัดเยียดหรือเน้นเรื่องความมีอยู่ของความเป็นอินเดียมากเกินไป แต่ทำให้มีสีสันที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการนำเสนอของทีมงานว่าจะทำอย่างไรให้คนดูไม่รู้สึกถูกยัดเยียดมากเกินไป ซึ่งถือว่า Bridgerton season 2 นี้ทำได้ดีเลยทีเดียว น่าสนใจมากว่าในอนาคต วงการซีรีส์และภาพยนตร์จะมีการนำเสนอมุมมองแบบไหนอีกเกี่ยวกับความหลากหลายทางเชื้อชาติ รวมไปถึงความหลากหลายทางเพศด้วย
source: Netflix | AVCLUB | Fashionista | Movieweb | Vice | Filmcompanion | Dailymail | Cheatsheet