3055Views
Art Toy คืออะไร? ทำไมถึงฮิต? จากบรรดาของเล่นที่หลายคนติดใจ สู่ยุค Labubu ครองเมือง
ณ เวลานี้ เชื่อว่าหลายคนน่าจะได้เห็นเหล่าของเล่นตุ๊กตาที่มีขนาดตั้งแต่เล็กเท่าปลายนิ้ว เท่าอุ้งมือ ไปจนถึงของที่ทำขึ้นมาขนาดใหญ่ความสูงเท่าเด็กประถมหนึ่งคนเลยก็มี ทั้งหมดนี้เรียกว่า “อาร์ตทอย (Art Toy)” ซึ่งก็แปลตรงตัวได้ว่าของเล่นที่มีความเป็นศิลปะ หรือได้รับแรงบันดาลใจมาจากสิ่งต่างๆ โดยมีศิลปิน (Artist) เป็นผู้ออกแบบขึ้นมานั่นเอง
วันนี้ Art of ขอพาเข้าสู่โลกของอาร์ตทอยที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้จัก หรือรู้จักแต่ยังไม่รู้ว่าทำไมมันถึงได้มีบทบาทมากต่อสังคมไทยขนาดนี้ โดยจะไล่ไปตั้งแต่นิยามของอาร์ตทอย ไปจนถึงเรื่องราวของของเล่นชนิดอื่นๆ แบบจัดเต็ม ที่ล้วนมีความสำคัญต่อความเป็นอาร์ตทอยในทุกวันนี้
ในยุคที่ใครหลายคนอาจจะกำลังมองหาสิ่งยึดเหนี่ยวหรือมองหาสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจที่ทำให้เรารู้สึกมีความสุขกับตัวเองขึ้นมาได้มากขึ้นอาร์ตทอยอาจจะเป็นคำตอบ
คำเตือน ระหว่างอ่าน โปรดระวังเผลอไปเปิดแอปหรือเดินไปเอฟอาร์ตทอยจากช็อปมาโดยไม่รู้ตัวนะ
Art + Toy
Art กับ Toy คำสองคำที่มีบริบทต่างกัน แต่เมื่อพอมาอยู่รวมกันกลับให้ความหมายที่ต่างออกไป
โดยปกติ เราอาจจะรู้จักงานศิลปะ (Art) ที่ศิลปินจะนำไอเดียหรือสิ่งที่ตัวเองอยากจะถ่ายทอดแสดงออกมาเป็นผลงานที่ถูกจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ แกลลอรี่ หรือตามสถานที่ต่างๆ
แต่พอเปลี่ยนแนวทางการนำเสนอผ่านของเล่น (Toy) ที่คนรู้จักดี เข้าถึงง่ายขึ้น และสามารถจับต้องได้ กลับได้สิ่งใหม่ที่สร้างความเฉพาะตัวให้กับเหล่าผู้สร้าง ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายมากขึ้น เพราะนอกจากจะต้องนำอัตลักษณ์ของตัวเอง รวมถึงแนวคิดหรือแรงบันดาลใจใส่เข้าไปแล้ว จะต้องคำนึงถึงจำนวน วิธีการผลิต รวมถึงวิธีการโปรโมตให้คนรู้จักอีกด้วย ปัจจัยเหล่านี้ได้ทำให้มูลค่าของของเล่นที่น่าจะเป็นเพียงของเล่นธรรมดาที่เด็กๆ เล่นกัน กลายเป็นของสะสมที่คนทุกวัยต่างต้องการได้มาครอบครองและนำไปจัดแสดงที่บ้านของตัวเอง ราวกับมีแกลลอรี่ส่วนตัว
ความน่ารักที่ใครๆ ก็โดนตก
เจ้าอาร์ตทอยนี้มีอิทธิพลต่อคนหลายช่วงวัยมาก และกำลังเป็นที่นิยมมากในช่วงปีสองปีมานี้แบบก้าวกระโดด จากที่ในช่วงแรกเริ่มยังไม่เป็นกระแสเท่าไหร่ มีเพียงการโปรโมตผลงานเล็กๆ ของศิลปินต่างชาติที่ยังมีผลงานไม่มาก จนต่อมาเริ่มมีคนรู้จักเยอะขึ้น และศิลปินชาวไทยเองหลายคนก็ได้มีโอกาสแสดงฝีไม้ลายมือผ่านการคิด และพัฒนาคาแรคเตอร์ (Character) ของอาร์ตทอยที่ได้กลายมาเป็นลายเซ็นต์ของตัวเอง คนติดตามที่สนับสนุนก็เลยเพิ่มขึ้นตามกันไปด้วย
จนกระทั่งมีกลุ่มนักธุรกิจที่มองเห็นโอกาส และได้จับมือกับศิลปินหลายๆ คน เพื่อสร้างแบรนด์และนำมาจัดแสดงตามอีเว้นท์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง จนเริ่มมีหน้าร้านให้คนซื้อแบบจับต้องได้ และผ่านช่องทางออนไลน์ด้วย
คนมีชื่อเสียงในสังคมเองหลายคนก็เริ่มหันมาสนใจอาร์ตทอยมากขึ้น ทำให้แฟนคลับหลายคนที่ได้เห็นก็เกิดความชอบตามไปด้วย ถึงกับยอมเสียเงินเพื่อให้ได้มาซึ่งของเหล่านี้ตามประหนึ่งเป็นของสุดรักสุดหวง หรือหลายๆ คนเองที่อาจจะไม่ได้ไหลมาตามกระแสความนิยม แต่เมื่อได้มองอาร์ตทอยที่ตัวเองได้มาเป็นเจ้าของแล้ว กลับรู้สึกได้ว่าเจ้าสิ่งนี้สามารถชุบชูจิตใจของตัวเองให้ฟูขึ้นมาได้
ซึ่งบางครั้งเราอาจจะได้ยินคนเรียกขานอาร์ตทอยกันว่า “น้อง” หรือถ้าให้ได้อารมณ์หน่อยก็ “น้อนนนน” เหมือนกับที่หลายคนยอมตกเป็นทาสของการเลี้ยงสัตว์เลี้ยง เช่น น้องหมา น้องแมว และดูแลประหนึ่งคนในครอบครัว อาจเป็นเพราะความน่ารักที่มาพร้อมกับความพิเศษที่สามารถนำเอาไปวางได้แบบลงตัวและพอดีนั่นเอง
แต่อาร์ตทอยเองก็ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น หรือเพิ่งโด่งดังเปรี้ยงปร้าง ทว่าก่อนหน้านี้ในบ้านเราเองก็มีของหลายสิ่งที่คนนิยมกันอยู่จนกลายเป็นกระแสไวรัลที่พาเอาตลาดทั่วทุกที่ต้องสั่นสะเทือนไม่น้อยเลย
จากสารพัดของเล่นสุดฮิต จนมาถึง ลาบูบู้
ลองมาดูกันว่า ก่อนจะมีอาร์ตทอยที่ฮิตๆ ในตอนนี้ ในอดีตนั้นเคยมีของเล่นอะไรที่ฮิตมาก่อนบ้าง
“ตุ๊กตาบลายธ์” ที่เป็นเด็กผู้หญิงหัวโต ตาโต สามารถจับแต่งตัว ทำผม แต่งหน้าได้หลากหลายทาง ถูกผลิตขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1972 โดยบริษัทของเล่นเคนเนอร์ (Toy Company Kenner) แต่ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก จนต่อมาในช่วงปี ค.ศ. 1997 – 2002 เริ่มมีบุคคลที่มีชื่อเสียงได้ถ่ายภาพตุ๊กตานี้และรวมเป็นอัลบั้มนิตยสาร ทำให้คนทั่วไปเริ่มรู้จักและให้ความสนใจ จนมีการผลิตออกมาใหม่อยู่เรื่อยๆ มีการเปลี่ยนมือผู้ที่เข้ามาลงทุนไม่ใช่แค่ทางฝั่งตะวันตก ทางฝั่งตะวันออกก็มีบริษัทญี่ปุ่นที่ผลิตออกมาเช่นกัน และได้ถูกนำไปถ่ายภาพยนตร์โฆษณาทำให้มีคนรู้จักกันเป็นวงกว้าง
ในการผลิตตุ๊กตาแต่ละรุ่นจะมีจำนวนจำกัด ทำให้บางรุ่นมีราคาที่ไม่ตายตัวเพราะหายากและไม่มีการผลิตแล้ว จึงนับเป็นของที่มีมูลค่าสูงอีกอย่างหนึ่งของนักสะสม ด้วยระยะเวลาที่ยาวนานมาจนปัจจุบัน คนที่เล่นบางคนมองว่าบลายธ์เป็นเพื่อนคู่ใจ เป็นเด็กน่ารักที่ดูแล้วมีชีวิตชีวา และน่าค้นหา แน่นอนว่าคนที่เก็บสะสมย่อมไม่ได้มีแค่ตัวเดียว และแต่ละตัวราคาก็ไม่ใช่ถูกๆ
“เฟอร์บี้” ตุ๊กตาสัตว์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสัตว์หลายอย่าง (แต่นกฮูกน่าจะเป็นสัตว์ที่นิยามได้คล้ายคลึงมากที่สุด) ขนาดย่อมๆ หยิบจับสะดวก มีทั้งใหญ่เล็กต่างกันไป จะว่าไปก็เหมือนจะมีกระแสความนิยมสองระลอกในช่วงปี ค.ศ. 1998 ที่ผลิตออกมาหลายล้านตัวเพราะเป็นที่นิยมมาก และครั้งหลังในช่วงปี ค.ศ. 2005 – 2012 ที่โด่งดังจนออกมาหลายคอลเลคชั่นมาก
เริ่มมีการเอาอิเล็กทรอนิกส์บางอย่างใส่เข้าไป ทำให้ความเป็นตุ๊กตาเข้าใกล้ความเป็น “หุ่นยนต์” มากขึ้น นอกจากลูกตาที่กลอกได้ หูกระดิกได้ ก็เริ่มมีเสียงพูด ขยับตัวได้ และเคลื่อนที่ได้ ในช่วงนั้นก็มีคนมากมายที่ตามเก็บสะสม ทำให้ของขาดตลาดไปมากเลยทีเดียว แต่เมื่อเร็วๆ นี้ในปี 2023 ก็ยังมีรุ่นใหม่ออกมา แสดงว่าทุกวันนี้ก็ยังมีขายและยังมีคนเล่นอยู่ แม้ว่าสำหรับบางคนอาจจะเก็บน้องเข้ากล่อง หรือส่งต่อให้คนอื่นแล้วก็ตาม
“ตุ๊กตาม้าโพนี่” คาแรคเตอร์จากการ์ตูนที่มีหลายขนาดหลากสีสัน ที่เป็นที่ชื่นชอบของเด็กทั้งในปัจจุบัน และเหล่าคนที่เคยเป็นเด็กหลายคน ต่างก็ต้องบอกว่าน้องน่ารักจริงจัง
“ตุ๊กตาลูกเทพ” ซึ่งมีช่วงหนึ่งที่เราอาจจะเจอใครพกพาออกไปยังที่สาธารณะด้วย จับแต่งตัวหรือเป็นคาแรคเตอร์ที่ผลิตตามการ์ตูนอย่างดิสนีย์ นั่นแหละ มีคนสะสมกันจริงจัง พูดคุยด้วย และดูแลประคบประหงมเป็นอย่างดี
มาถึงปี 2024 ยังมีของเล่นอีกหลายอย่างที่ถูกผลิตขึ้นมา แต่ทุกตัวที่เคยโด่งดังมาก่อน ต่างก็ต้องยอมยกแท่นโพเดียมให้กับตุ๊กตาอาร์ตทอยที่ได้ไปปรากฏตัวให้เห็นกันแทบจะทุกสำนักข่าวแล้วคือ “ลาบูบู้ (Labubu)” จากค่าย Popmart ที่รังสรรค์โดย Kasing Lung ศิลปินชาวฮ่องกง โดยได้แรงบันดาลใจจากทูตในเทพนิยาย
ลาบูบู้ขึ้นแท่นของเล่นยอดฮิตที่ผลิตของออกมาเท่าไหร่ก็ยังไม่พอกับความต้องการของตลาด จนทำให้ราคา ณ ตอนนี้ผันผวนมาก จากหน้าร้านที่สามารถซื้อในหลักร้อยหลักพันบาท ในตอนนี้ก็ขึ้นทะยานไปหลักพันหลักหมื่นมาสักพักแล้ว
บางคนอาจเริ่มรู้สึกแปลกใจ และเกิดคำถามว่า ทำไมสิ่งของหรือของเล่นพวกนี้ถึงได้รับความนิยมสูงมาก เป็นความฉวบฉวยที่เดี๋ยวก็ตกกระแสไปแล้วก็จะถูกลืมหรือเปล่า ก่อนจะไปไขข้อสงสัยกัน เราลองมานึกถึงของที่คล้ายกันดูว่าก่อนหน้านี้… เคยมีอะไรที่เป็นที่นิยมในลักษณะเดียวกัน แต่ก็ยังพบเจออยู่ในทุกวันนี้อีกบ้าง
จากงาน 2D สู่ ‘ฟิกเกอร์’ 3D ที่จับต้องได้
ย้อนกลับไปสักนิด ก่อนที่กระแสของอาร์ตทอยจะได้รับความนิยมสูงขึ้นมาก และบรรดาตุ๊กตาของเล่นที่มาก่อนกาลจนกลายเป็นของสะสมในตู้ที่บ้านของใครหลายๆ คน
เราอาจจะเห็นคนที่เก็บของสะสมที่มาจากคาแรคเตอร์ตัวละครต่างๆ เป็นโมเดลสามมิติที่เรียกว่า “ฟิกเกอร์ (Figure)” โดยมีที่มาจากการ์ตูน มังงะ อนิเมะ หรือภาพยนตร์กันมาบ้าง มีตั้งแต่ขนาดเล็กขนาดเหรียญสิบบาท อาจจะอยู่ในภาชนะกลมๆ ที่ต้องใช้การ “สุ่ม” เพื่อลุ้นว่าจะเปิดออกมาเป็นตัวอะไร หรือที่เราเรียกกันว่า “กาชาปอง (Gachapon)”
หรือใหญ่ขึ้นมาหน่อยก็อาจจะเป็นโมเดลที่เรียกว่า WCF (World Collection Figure) โดยขนาดก็มีความหลากหลายเล็กใหญ่ต่างกันไปตั้งแต่ 7 – 8 ซม. ไปจนถึง 23 – 26 ซม.เมื่อรวมทุกชิ้นส่วนเข้าด้วยกันแล้ว
ขยับขึ้นกว่านั้นอีกก็จะเริ่มเข้าสเกล (Scale) หรือสัดส่วนเป็น 1/12, 1/10, 1/6, 1/4 หรือใหญ่แบบอัตราส่วนเท่าตัวคนจริงคือ 1:1 แต่อาจจะพบไม่มาก เช่น ตามร้านค้าบางแห่งที่มีพื้นที่ในการจัดดิสเพลย์ หรือบ้านนักสะสมที่มีที่วางและมีกำลังทรัพย์มากเป็นพิเศษ
ฟิกเกอร์หนึ่งตัวนั้นจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ต้องอาศัยความน่าสนใจจากตัวฟิกเกอร์เอง และต้นแบบเนื้อเรื่องที่ทำให้เกิดฟิกเกอร์นั้นขึ้นมา ถึงจะบอกได้ ประกอบกับอีกหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น ความละเอียดของชิ้นงาน วัสดุที่ใช้ทำ การขึ้นรูป ขนาดสุทธิ หรือแม้แต่การคิดข้อต่อชิ้นส่วนเอฟเฟกต์ที่แสดงถึงฝีมือของสตูดิโอที่ผลิต (หรือที่คนจะเรียกว่า “ค่าย“) รวมถึงการออกแบบชิ้นงานนั้นๆ ว่าจะออกแบบมาสวยงาม มีเทคนิคการเชื่อมต่อและแยกชิ้นส่วนอย่างไรเพื่อที่จะสามารถนำมาประกอบโดยที่ไม่หัก สามารถต่อ ติด และประกอบขึ้นได้ตามที่ออกแบบไว้โดยที่แทบจะไม่เห็นรอยต่อเลย สิ่งเหล่านี้นับเป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างความน่าเชื่อถือให้ฟิกเกอร์ของแต่ละค่าย
สำหรับค่ายที่ทำผลงานได้ดี เมื่อเปิดตัวฟิกเกอร์ออกมา ผู้คนก็มักจะจับจองกันแบบ “พรีออเดอร์ (Pre-order)” จนหมดโควต้า และเฝ้ารอตัวอื่นๆ ที่จะตามมา หรือมีการเรียกร้องให้ผลิตเพิ่ม โดยที่จะมีคนค้นหาฟิกเกอร์กันตามท้องตลาด และมีคนปล่อยจำหน่ายต่อหรือที่เรียกกันว่าการ “Re-sale” ไม่ว่าของนั้นจะผลิตซ้ำหรือไม่ก็ตาม
แต่โดยส่วนมาก กำลังการผลิตนั้นก็มีจำกัด เพื่อให้ได้คุณภาพที่ดีและใกล้เคียงกันในทุกชิ้นที่ออกมา จึงมักจะไม่ค่อยมีการผลิตซ้ำ เมื่อเวลาผ่านไปก็อาจทำให้ฟิกเกอร์บางตัว (หรือบางไลน์การผลิต) กลายเป็นของหายาก ดังนั้นหากเก็บของและกล่องไว้ให้ดี ก็มีโอกาสสูงที่จะปล่อยต่อได้ในราคาที่สูงขึ้น หรือใกล้เคียงเดิม
ยังไม่นับงานระบายสี (Painting) หรือการคัสตอม (Custom) หุ่นจำลองหรือโมเดลอื่นๆ อีก ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นศาสตร์เฉพาะที่ต้องอาศัยความทุ่มเทในการฝึกฝนฝีมืออย่างมาก และมีกลุ่มคนที่ชอบเหมือนกัน รวมตัวกันเป็นคอมมูนิตี้ (Community) อีกมากนับไม่ถ้วน
แต่สิ่งสำคัญที่สุด ฟิกเกอร์ถือเป็นสิ่งที่ช่วยต่อยอดทางจินตนาการของทุกคนที่สนใจ ทำให้ความชอบชัดเจนมากขึ้นและเป็นรูปธรรมมากกว่าการแค่ได้รับชม หรือรับฟังผ่านสื่อดิจิตอล ดังนั้นฟิกเกอร์จึงมีคุณค่าทางด้านจิตใจต่อนักสะสม และมีมูลค่าไม่แผ่วลง ตราบที่ยังคงมีความต้องการในตลาด จวบจนทุกวันนี้
อ้าว! เหมือนกับการสะสม “อาร์ตทอย” ในตอนนี้เลยนี่!
ไปๆ มาๆ คงจะเริ่มเห็นความเชื่อมโยงถึงกันบ้างแล้ว แต่บางคนอาจนึกสงสัยต่อไปว่า แล้วถ้าเมื่อก่อนยังไม่สามารถทำชิ้นงานแบบนี้ หรือไม่มีต้นแบบมากพอให้ผลิตตาม ก่อนหน้านี้คนเก็บสะสมอะไรกันล่ะ?
Happy Meal ของเล่นที่ไม่ได้มาแค่ของเล่นเพียงชิ้นเดียว
ย้อนกลับไปไกลอีกสักหน่อย ก่อนที่จะมีฟิกเกอร์จะเป็นที่นิยมกว้างขวาง ตลอดระยะเวลาประมาณ 20 – 30 ปีมานี้ ของเล่นที่แถมมาเมื่อเราสั่งซื้อชุดอาหารต่างๆ ตามร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด เช่น แมคโดนัลด์ เคเอฟซี เบอร์เกอร์คิง โดยที่หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับคำว่า “ชุดแฮปปี้มีล (Happy Meal)” หรือ “ชุดชิคกี้มีล (Chicky Meal)” ก็เป็นของเล่นที่มีคนสะสมชนิดที่เรียกว่าเฝ้ารอว่าเมื่อไหร่ตัวใหม่จะออกมากันนะ
ของเล่นเหล่านี้จะถูกบรรจุอยู่ในซองพลาสติกขนาดใหญ่พอๆ กับแฮมเบอร์เกอร์หนึ่งชิ้น หรืออาจจะเล็กกว่าน่องไก่หนึ่งน่องเล็กน้อย โดยทั่วไปอาจจะมีให้สะสมประมาณ 4 ตัวต่อหนึ่งคอลเลคชั่น ซึ่งที่มาของตัวเลขอาจจะมาจากแคมเปญ ลิขสิทธิ์ที่ทางร้านทำไว้กับแบรนด์ดิ้งของคาแรคเตอร์นั้นๆ หรือเกี่ยวเนื่องกับช่วงเวลาที่ทำให้คนจดจำได้ง่ายเพราะหากปล่อยสัปดาห์ละตัวก็จะปล่อยได้ 4 สัปดาห์หรือหนึ่งเดือนพอดี
นอกจากนี้บางคอลเลคชั่นมี 8 ตัว, 16 ตัว, 40 ตัว หรือขึ้นหลักร้อยก็มี (บางคนอาจจะกำลังนึกอยู่ หรือหันไปมองในตู้โชว์ที่บ้านของตัวเองแล้วพบว่า เฮ้ย! บ้านเราก็มี!) ทุกวันนี้อาจจะดูบางตาลงไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้หายไปจากหน้าเคาน์เตอร์หรือตู้ดิสเพลย์เวลาเราเดินเข้าไปรับประทานเลย เพียงแต่ปริมาณและรูปแบบอาจจะปรับเปลี่ยนไปตามความต้องการของผู้ซื้อบ้าง
จากที่มีหนึ่งตัว ก็จะต้องเก็บให้ครบเพราะคอลเลคชั่นนี้จะดูสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อได้วางเรียงด้วยกัน หากไม่ครบก็จะดูเหมือนขาดอะไรไป เรื่องราวคุ้นๆ เหมือนกับอาร์ตทอยอีกแล้ว
บทสรุปของความเหมือน และ คุณค่าที่ประเมินค่าไม่ได้
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนน่าจะพบสิ่งที่มีความคล้ายคลึงกันของเหล่าบรรดาของเล่น ไม่ว่าจะเป็นปริมาณต่อหนึ่งคอลเลคชั่นที่ทำให้เรารู้สึกว่า “น่าจะ” ต้องมีให้ครบ และ “อยากหามาให้ได้” และ การได้เห็นสิ่งที่เราชื่นชอบกลายมาเป็นวัตถุที่จับต้องได้ ทำให้เรารู้สึกว่าได้ใกล้ชิดมากเข้าไปอีก
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของเอกลักษณ์บางอย่างที่มีความเฉพาะตัว และสะท้อนให้เห็นถึงสภาพแวดล้อม สังคม ในเวลานั้นที่ทำให้สิ่งนี้ถูกสร้างขึ้นมา ที่ทำให้เรานึกถึงทุกครั้งที่เราได้มอง
แต่สิ่งที่ช่วยยืนยันได้ดีที่สุดที่ทำให้คนส่วนมากกล้าที่จะตัดสินใจครอบครองหรือไขว่คว้าเพื่อให้ได้มาเป็นของตัวเองที่นอกเหนือจากความน่ารักหรือความคิดสร้างสรรค์ของศิลปิน นั่นคือ “คุณค่า (Value)” ที่แต่ละคนต่างมอบให้กับของเหล่านั้น ซึ่งอาจจะมากกว่าการเป็นแค่สิ่งของเพื่อตั้งโชว์เพียงอย่างเดียว มันคือสิ่งที่เต็มไปด้วยความหมาย ความทรงจำ ความชื่นชมและเรื่องราวที่ฝากฝังเอาไว้แก่อาร์ตทอยและบรรดาของเล่นใดๆ โดยไม่รู้ตัว
บางคนแค่ได้เห็นก็ยิ้มได้ทุกครั้งที่กลับเข้าบ้านมาเห็นแกลอรี่ส่วนตัว หลังจากทำงานมาเหนื่อยๆ ทั้งวัน บางคนอาจจะนึกถึงที่มาที่ไปหรือใครคนหนึ่งที่มอบของชิ้นนี้มาให้ ทุกครั้งที่ได้หยิบขึ้นมาชื่นชม ปัดฝุ่น เช็ดทำความสะอาดหลังจากได้เคลียร์งานกองใหญ่ออกจากโต๊ะทำงาน
บางคนอาจจะมีภาพในหัวลอยเข้ามาทุกครั้งที่ได้หันไปมองว่า “เราใช้ความพยายามมากขนาดไหนกว่าเราจะได้สิ่งนี้มา” และบางคนอาจจะพกพาติดตัวไปไหนต่อไหนแทนเพื่อนคู่คิดที่เราไม่อยากทำหายไปไหนก็เป็นได้ ความรู้สึกเหล่านี้แหละที่เป็นตัวขับเคลื่อนให้ทุกวันนี้ยังคงมีคนถามหาว่า “มีใครปล่อยคอลนี้บ้าง” หรือ “งานนั้นมีตัวไหนออกใหม่บ้างนะ”
แต่สำหรับบางคนก็อาจจะยังสงสัยกับตัวเองอยู่ก็ได้ว่าอะไรคือ “คุณค่า” ที่เราต้องมอบให้ และจำเป็นต้องมีหรือเปล่า ? ไม่มีใครตอบได้ ตราบใดที่เราเองมีกำลังพอที่จะใช้จ่ายออกไป และสบายใจที่จะได้มาครอบครองโดยที่ไม่ได้รบกวนใคร
ท้ายที่สุดแล้ว เหตุผลของการตัดสินใจว่าต้องซื้อของเล่นเหล่านี้ อาจจะจบลงด้วยประโยคง่าย ๆ แค่ว่า “ของมันต้องมี!” ก็เป็นไปได้นะ ขอให้ทุกคนเอนจอยกับการสะสม และร่วมกันอุดหนุนของมีลิขสิทธิ์เพื่อเป็นพลังในการสนับสนุนศิลปินให้สร้างสรรค์งานออกมาให้เราๆ ยอมเปย์เงินกันต่อไป
เขียนโดย พชร เลิศผดุงธรรม
ภาพ: นิทรรศการ Everybody/Cries/Sometimes by Crybaby Molly (Produced by Trendy Gallery)
และ Chalotte’s Castle by Mackcha (Produced by Trendy Gallery) โดย Trendy Gallery และ River City Bangkok
source: Urvanity-art | Britannica | Thetoychronicle | Wikipedia | Wikipedia | Depositphotos | Mcdonald’s | Popmart