Skip to content Skip to sidebar Skip to footer

Analog Squad อีกซีรีส์คุณภาพจาก Netflix กับทุกองค์ประกอบที่กลมกล่อม

เป็นอีกปีที่ในสตรีมมิ่งชื่อดังอย่าง Netflix เต็มไปด้วยผลงานคุณภาพโดยทีมงานทำหนังคนไทย และล่าสุดนี้ ซีรีส์จากทีมคนไทยอย่าง ‘Analog Squad ทีมรักนักหลอก’ ก็มาช่วยสร้างความอบอุ่นใจและช่วยสะท้อนเรื่องราวในชีวิตของทุกคนก่อนจะที่ขึ้นปีใหม่กัน

Analog Squad เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชายที่ห่างหายจากครอบครัวไปกว่า 20 ปี และต้องจ้างครอบครัวปลอมๆ เพื่อมาแสดงเป็นภรรยาและลูกๆ ในโอกาสที่เดินทางกลับไปพบพ่อแม่ที่จังหวัดพังงา โดยช่วงเวลาในเรื่องนั้นย้อนไปปี ค.ศ. 1999 ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นศตวรรษใหม่ในปี 2000 

ซีรีส์เรื่องนี้กำกับและร่วมเขียนบทโดย ต้น – นิธิวัฒน์ ที่เคยมีผลงานกินใจหลายเรื่องเช่น คิดถึงวิทยา หนีตามกาลิเลโอ และ Season Change ทำให้เรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่อบอุ่นหัวใจและให้อะไรกับคนดูมากทีเดียว

ซึ่งนอกเหนือจากพล็อตที่น่าสนใจแล้ว องค์ประกอบศิลป์ต่างๆ ก็ส่งผลต่อการเล่าเรื่องไม่แพ้กัน วันนี้ Art of จึงขอนำประเด็นบางส่วนมาพูดถึงกัน


ย้อนสู่ความอนาล็อกยุค 90 ด้วยทุกองค์ประกอบปี 1999 ก่อนถึง Y2K

ช่วงรอยต่อของศตวรรษในปี 1999 เป็นเหมือนช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านจากยุค ‘อนาล็อก’ ไปยังยุค ‘ดิจิทัล’ รวมถึงจากชื่อเรื่องประกอบกัน ทำให้ชัดเจนว่ามวลรวมของเรื่องนี้เลือกถ่ายทอดความรู้สึกจากยุคอนาล็อกเป็นหลัก

ในยุคอนาล็อกที่เทคโนโลยียังไม่ได้ก้าวกระโดดมากนัก จังหวะก้าวเดินในชีวิตช้าลง ผู้คนคุ้นเคยกับการรอคอย เมื่อคิดถึงกันก็พยายามเสาะแสวงหาทางมาเจอกัน ทำให้ประเด็นเรื่อง ‘ครอบครัวปลอม’ นั้นน่าสนใจมาก เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีโซเชียลมีเดียที่ช่วยให้เห็นอัปเดตของครอบครัวเหมือนสมัยนี้ การที่จะรู้จักใครสักคนอย่างแท้จริงจึงต้องเจอหน้ากันเท่านั้น

ซึ่งเทคโนโลยีที่โดดเด่นมากในเรื่องนี้ก็คือ ‘เพจเจอร์’ ที่ผู้ใช้จะต้องโทรไปที่คอลเซ็นเตอร์เพื่อให้ส่งข้อความให้ หรือร้านเช่าวีดีโอที่ลูกค้าจะได้มีปฏิสัมพันธ์กับพนักงานคุมร้าน ที่คล้ายๆ เหมือนเป็นห้องสมุดที่แลกเปลี่ยนความสนใจกัน นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวของภาพถ่ายฟิล์ม ที่ทำให้ทุกการกดชัตเตอร์มีความหมาย หรือกิมมิคเล็กๆ อย่างการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเสมือนจริงด้วย ‘ทามาก็อต’ ที่ช่วยเซ็ตอารมณ์ตั้งแต่ต้นเรื่อง เพื่อเปรียบเทียบสื่อถึงโลกจริง กับอีกโลกอีกใบที่สัตว์เลี้ยงตายก็เริ่มใหม่ได้ 

ทั้งหมดนี้เต็มไปด้วยองค์ประกอบความอนาล็อกจากยุค 90 ที่เซ็ตขึ้นมาได้อย่างดี ชวนให้รู้สึก Nostalgia เหมือนได้ย้อนเวลากลับไปจริงๆ


การใช้สีและแสง (Colour & Lighting)

เรื่องสีเป็นอีกองค์ประกอบที่โดดเด่นมากในเรื่องนี้ โดยสีที่เห็นชัดเจนมากก็คือการใช้สีคู่ตรงข้ามกัน เช่น เขียวและแดง ซึ่งเป็นคู่สีที่เหมาะมองในการใช้เล่าเรื่องมาก เพราะเป็นเป็นซีรีส์ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง (Contrast)  ตั้งแต่เรื่องประเด็นครอบครัวที่ตั้งคำถามกับคนดูว่า แท้จริงแล้วอะไรคือเรื่องจริงหรือหลอก? ถ้าให้เลือกระหว่างกินยาเม็ดสีฟ้ากับแดง เราจะเลือกแบบไหนกันนะ?

นอกจากนี้สีเขียวและแดงยังเป็นสีที่ถูกใช้เยอะมากในสิ่งของแบบอนาล็อคต่างๆ เพื่อสื่อสารชัดเจนในการใช้งาน เช่น ปุ่มและตู้โทรศัพท์ เครื่องเล่นเกมส์ และเครื่องเล่นชนิดอื่นๆ หรือกระทั่งห้องที่ใช้สีแดงอย่างห้องล้างฟิล์ม ส่วนคู่สีฟ้าส้มก็เป็นอีกคู่ที่ถูกใช้ในหลายฉาก โดยเฉพาะในฉากเมืองและฉากทะเล

การใช้แสง (Lighting) ในเรื่องนี้ก็มีความโดดเด่นมาก โดยเฉพาะถ้าสังเกตดีๆ ในหลายฉาก จะมีแสงเฉพาะจุด (accent light) ที่โดดเด้งออกมาสวยงามทั้งนั้น ไม่ว่าจะมาจากโคมไฟ  ไฟประดับ หรือกระทั่งแสงเรืองรองจากนอกหน้าต่าง ให้ความรู้สึกมีชีวิตชีวาขึ้นมาก 


ถ่ายทอดความรวดร้าวที่ซ่อนอยู่ภายในด้วย ‘เพลงบลูส์’

ในระหว่างที่ดูซีรีส์ เชื่อว่าหนึ่งในองค์ประกอบที่ดึงดูดความสนใจให้เราได้มากๆ อย่างหนึ่งคงหนีไม่พ้นดนตรีประกอบ ด้วยเสน่ห์ของ ‘ดนตรีบลูส์’ ซึ่งหลายคนอาจจะไม่คุ้น หรือบางคนได้ยินผ่านหูผ่านหนังคาวบอย และมาผสมผสานดึงอารมณ์ด้วยดนตรีคันทรี่ที่ใช้เครื่องดนตรีน้อยชิ้น

เมื่อพูดถึงดนตรีบลูส์ สำหรับใครที่ไม่รู้จัก ถ้าลองไปเสิร์ชก็จะพบว่าเป็นแนวดนตรีที่เริ่มต้นจากคนผิวดำในอเมริกา ถ่ายทอดอารมณ์โศก คับข้องใจ และน้อยเนื้อต่ำใจจากสภาพชีวิตอันยากลำบากและถูกเหยียด ซึ่งด้วยความที่เป็นดนตรีแบบชาวบ้าน ไม่ได้มีทฤษฎีดนตรี จึงมีบางเสียง บางโน้ตที่แปร่งๆ ไปบ้างจนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ

ซึ่งแน่นอนว่าเหมาะกับซีรีส์เรื่องนี้แบบสุดๆ ด้วยความที่ตัวละครทุกตัว ต่างมีบาดแผลที่ฝังลึกเป็นของตัวเอง รวมถึงการดำเนินเรื่องด้วยคำโกหก เรื่องราวทั้งหมดจึงไม่ได้สมบูรณ์แบบ เมื่อฟังแล้วชวนให้ฉงน สงสัย เหมือนกับเสียงที่เพี้ยนหลุดออกจากบรรไดเสียงไปนั่นเอง

อีกแนวเพลงที่ได้ยินบ่อยๆ ในซีรีส์คือเพลงคันทรี่ที่ใช้เครื่องดนตรีน้อยชิ้น เรียกได้ว่าเป็นอีกแนวเพลงที่เป็นดนตรีของชาวบ้าน เรื่องราวที่เล่าก็มักเป็นเรื่องของชีวิตในแต่ละบริบทพื้นที่ ในซีรีส์ก็มักจะมีเครื่องดนตรีนำเป็นกีตาร์ หรือแบนโจ เหมือนเป็นเสียงที่เล่าเครื่องราวของแต่ละตัวละคร

ซึ่งถ้าพูดถึงภาพรวมถือว่าค่อนข้างแปลกใหม่ในการใช้เพลงบลูส์ อาจจะไม่ได้ฉูดฉาด แต่ก็สร้างอารมณ์ร่วมได้ดี เครื่องดนตรีเหมาะกับความเป็นอนาล็อกเหมาะกับธีมเรื่องด้วย


นอกจากนี้ทีมการตลาดของซีรีส์ก็ได้จัดทำแคมเปญที่น่าสนใจมาก ด้วยการติดตั้งบิลบอร์ดจำลองเพจเจอร์ยักษ์ และให้ผู้คนสามารถเขียนคำสารภาพเกี่ยวกับครอบครัวไปขึ้นอยู่บนนั้นได้ สามารถไปลองเล่นกันได้ที่

https://www.pagelink453.com/

© 2021 Art of. All rights reserved.

  083-138-5607
contact@artofth.com

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save