Skip to content Skip to sidebar Skip to footer

เจาะลึกอาชีพ Production Designer กับ ‘Affogato Project’

ที่ผ่านมา Art of ได้เคยนำเสนอเรื่องราวเบื้องหลังการออกแบบในวงการภาพยนตร์และซีรีส์ต่างประเทศมาหลายเรื่อง ในคราวนี้เราจะมาเล่าเรื่องราวเบื้องหลังของทีมงานคนไทยกันกันบ้าง ซึ่งบอกได้เลยว่าคนไทยนั้นเก่งไม่แพ้ใครในโลก!

อาชีพที่เราจะมาเจาะลึกกันก็คือ ‘Production Designer’ ซึ่งทีมที่เราพามารู้จักในวันนี้ชื่อว่า ‘Affogato Project’ ทีมคู่หูรุ่นใหม่ไฟแรงที่อยู่เบื้องหลัง Music Video มากมาย เช่นเพลง ‘หรือฉันคิดไปเอง’ – Zom Marie, ‘Nobody’s perfect’ – 4EVE, ‘One last cry’- Violette Wautier, Damn – Waii, แลกเลยปะ – Billkin x PP Krit x 4EVE และหลายเพลงของ MILLI เช่น ‘Not Yet!’, ‘17 นาที’ รวมถึง ‘Live at 88rising Double Happiness’ อีกด้วย

เรื่องราวของทีม ‘Affogato Project’ นั้นจะเป็นอย่างไร สนุกและท้าทายแค่ไหน ลองมาอ่านกัน


‘Affogato’ ส่วนผสมที่แตกต่างแต่ลงตัว

Affogato Project (ออกเสียงว่า แอฟ-โฟ-กาโต้ โปรเจ็ค) นั้นประกอบไปด้วยเพื่อน เมธิสสา อินทฤทธิ์ และแองจี้ ธัญวรัตม์ โรจะโยธิน ซึ่งทั้งสองกล่าวว่า พวกเธอก็เหมือนกับขนม Affogato ที่เป็นส่วนผสมระหว่างไอศกรีมและช็อตกาแฟ ที่ถึงแม้จะดูแตกต่างกันแต่ก็เข้ากันอย่างลงตัว ทั้งสองคนนั้นจบมาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยโดยเพื่อนนั้นจบมาจากสาขา Communication Design ส่วนแองจี้จบมาจากสาขาสถาปัตยกรรมภายใน โดยในขณะที่เรียนนั้นเคยรู้จักกันแค่ห่าง ๆ

ทั้งสองเริ่มต้นจากการทำงานตามสายอาชีพที่จบมา และเมื่อ 2 ปีที่แล้วก็ได้มีโอกาสมาร่วมงานกันใน MV เพลง Lovephobia ของวง mints และก็พบว่าทำงานร่วมกันได้อย่างลงตัว ทั้งเพื่อนที่ถนัดในการออกแบบ Concept Art และ Graphic Design ผสมลงตัวกับแองจี้ที่มีความรู้เรื่องการออกแบบสถานที่และโครงสร้างงานอินทีเรีย

หลังจากนั้นจึงเกิดขึ้นมาเป็น ‘Affogato Project’ คู่หูทีม Production Designer ที่ตั้งใจจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนวงการ Production ของไทย


อะไรคืออาชีพ Production Designer?

อาชีพ Production Designer หรืออาจเรียกว่า Art Director (ผู้กำกับศิลป์) นั้นก็คือผู้อยู่เบื้องหลังในการออกแบบภาพที่ปรากฏออกมาที่เบื้องหน้า ซึ่งอาจมีเนื้องานที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับโปรเจ็คนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบองค์ประกอบภาพ ฉาก สิ่งของ สี และอารมณ์โดยรวม

ทีม Affogato Project นั้นกล่าวอย่างหนักแน่นว่า งาน Production นั้นเป็นเหมือนกับงานกลุ่ม ผลงานจะเสร็จสมบูรณ์ได้ก็ต้องประกอบไปด้วยความทุ่มเทของทุกๆ ฝ่ายประสานงานกัน เช่น ผู้กำกับ, ผู้กำกับภาพ, ทีมกล้องไฟ, ทีมกำกับศิลป์, ทีมคอสตูม, ทีมหน้าผม, ทีมสวัสดิการและสถานที่, ศิลปินและต้นสังกัด ทุกฝ่ายล้วนมีความสำคัญทั้งสิ้น

“ทีมงานหลายคนที่เจอก็มีพลังงานที่คล้ายๆ กัน พวกเราต้องการขับเคลื่อนวงการโปรดัคชั่นและวงการเพลงไทยให้ไปข้างหน้า” คุณเพื่อนกล่าว 


เจาะลึกกระบวนการทำงาน Production Designer ในงาน Music Video

1. คำนึงถึงรายละเอียดเบื้องต้น

เริ่มจากการรับรายละเอียดโปรเจ็ค(หรืออาจเรียกว่าบรีฟ) มาจากผู้กำกับ รวมถึงระยะเวลาและงบประมาณ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วงาน Music Video จะมีระยะเวลาเตรียมงานประมาณ 2-3 สัปดาห์ ทั้งสองจะถือคติว่า ‘เราจะทำงานกับสิ่งที่มี’ นั่นก็คือทำผลงานให้เสร็จออกมาให้ดีที่สุดด้วยงบและเวลาที่มีนั่นเอง

2. Mood board

ในขั้นต้น นอกจากเรื่องเวลาและงบประมาณ เราจะได้รับบรีฟเรื่องราว รับ Storyboard มาจากผู้กำกับ ถ้าเป็นงาน MV ก็จะมีบรีฟเรื่องท่อนและอารมณ์เพลงมาด้วย

หน้าที่ต่อจากนั้นเราก็จะมาทำการบ้านเรื่อง Mood & Tone ทำออกมาเป็น Mood board ที่เกี่ยวข้องก่อน เช่น สไตล์ ยุค ประเทศ ฉากสถานที่ สกีมสี สิ่งของในฉาก (prop) และอาจรวมไปถึงลักษณะของที่ว่าง (space)ในการถ่ายทำ

3. การออกแบบ

เมื่อได้รับการคอนเฟิร์มจาก Mood board แล้วก็จะเริ่มออกแบบซึ่งละงานก็จะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป ตั้งแต่การตกแต่งสถานที่ที่มีอยู่แล้ว ไปจนถึงออกแบบเพื่อสร้างฉากขึ้นมาใหม่ทั้งหมดในสตูดิโอ การออกแบบเหล่านี้ต้องมีการประสานงานกับฝ่ายอื่นๆ ด้วยเช่นการออกแบบสีให้เข้ากันทั้งในคอสตูมและแสงไฟ

“เพื่อนจะเป็นคนที่จินตนาการฟุ้งๆ ในเชิงอารมณ์และแนวความคิด ส่วนแองจี้จะเป็นคนที่คำนึงถึงความเป็นจริงในเชิงการก่อสร้างและงบประมาณ ทำให้จินตนาการนั้นถูกสร้างออกมาเป็นความจริงได้” คุณเพื่อนกล่าว “เราเคยทำงานออกแบบภายในมา ก็เลยจะมีความรู้เรื่องโครงสร้างและวัสดุ รวมถึงการใช้งานจริง” คุณแองจี้เสริม

4. การเตรียมงาน

เมื่อออกแบบเสร็จแล้ว ก็ต้องลิสท์ของที่ต้องมีทั้งหมด แยกว่าอะไรที่ต้องหาซื้อบ้าง อะไรที่ต้องทำขึ้นมาใหม่บ้าง หรือถ้ามีการต้องก่อสร้างฉากหรือใช้งานฝีมือเฉพาะทางก็ต้องประสานงานกับผู้ผลิตงาน ซึ่งในบ้านเรามีช่างฝีมือที่เก่งระดับโลกเลย สามารถสร้างในสิ่งที่เราออกแบบไว้ได้อย่างยอดเยี่ยม

ในหลายๆ ครั้งทั้งสองก็ต้องเป็นคนทำสิ่งของบางอย่างที่ไม่คิดว่าจะได้ทำ “เราจะมีแฮชแทคกันขำๆ ว่า #วันนี้Artdiทำอะไร” บางครั้งอาจจะมาจากบรีฟที่พีคๆ เช่น กระทงธีมวันคริสต์มาส เลือดปลอมที่ต้องดูน่ารักเลยต้องผสมกากเพชร เครื่องเบญจรงค์ยักษ์ เสกป่าฤดูร้อนบนตึกร้าง เป็นต้น

เมื่อหลายครั้งต้องลองทำหลายๆ อย่างด้วยตนเอง ก็ทำให้ชื่นชมหลายๆ อาชีพเช่น คนจัดดอกไม้ หรือคนจัดลูกโป่งมืออาชีพ งานฝีมือเหล่านี้นั้นอาศัยประสบการณ์และมีคุณค่ามาก

5. การทำงานในช่วงถ่ายทำ

ช่วง 1-2 วันก่อนเริ่มถ่ายทำจะวุ่นที่สุด เพราะต้องเตรียมการทุกอย่างให้พร้อม เมื่อถึงวันถ่ายทำ ทีมจะต้องไปถึงกองก่อนเพื่อถ่ายภาพสถานที่ไว้ก่อนและจึงเริ่มเตรียมงาน ระหว่างถ่ายทำนั้นก็ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ประสานงานและจัดองค์ประกอบภาพในเฟรมกล้องให้สวยที่สุด

เมื่อถ่ายทำเสร็จก็ต้องจัดสถานที่ให้เหมือนกับก่อนถ่ายทำ บางงานก็จะมีกระบวนการรื้อฉากต่างๆ เนื้องานของทีมก็จะจบลงที่ส่วนนี้ กระบวนการหลังจากนี้ก็จะเป็นหน้าที่ของฝ่ายอื่นๆ


เรื่องราวสนุกๆ และท้าทายของการทำงาน Production

“เนื่องจากงาน Music Video นั้นส่วนใหญ่เป็นงานที่กระบวนการทำงานสั้น ไม่เกิน 1 เดือนทำให้มีความตื่นเต้นตลอดเวลาในการคิดงานและแก้ปัญหาเฉพาะหน้า” ทั้งสองกล่าว

“สำหรับเพื่อนมันจะมีความสุขแบบสะใจ 3 ครั้ง ครั้งแรกคือตอนออกแบบและแองจี้ขึ้นโมเดลออกมาเป็นสามมิติ ครั้งที่สองเมื่อเห็นช่างสร้างออกมาเป็นของจริง ครั้งสุดท้ายคือเห็นทุกอย่างประกอบกันอยู่ที่หลังกล้อง มันเป็นความสุขที่ได้เห็นมันเสร็จออกมา” คุณเพื่อนเสริม

“การออกแบบงาน MV มันน่าตื่นเต้นตรงที่เราจะออกแบบให้แฟนตาซีได้ประมาณนึง เพราะคนไม่ได้ต้องใช้งานแบบถาวรในความเป็นจริง” คุณแองจี้กล่าว

“พวกเรามีความสุขที่ได้เจอผู้คนใหม่ๆ หลากหลาย หรือกระทั่งมีโอกาสได้ทำงานกับบางคนอีกหลายๆ ครั้ง หากทำงานด้วยกันเข้าขา พวกเขาก็อาจนึกถึงเราอีกในงานหน้า ทีมงานคนไทยเก่งมาก ทุกๆ คนมีความฝันอยากดันวงการให้มีคุณภาพไปอีกขั้น”


คิดว่าทำไมวงการ Music Video Production ในไทยเรื่มกลับมาคึกคักมากขึ้น?

“หลังๆ มานี้ Social media เริ่มมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้คนสามารถเลือกเสพสื่อได้หลากหลาย ทุกคนต้องผลิตสื่อออกมาให้ดีที่สุด อย่างเช่น Music Video หากมีเพลงดีแล้ว มีภาพที่ช่วยส่งเสริมกัน ก็ช่วยบอกเล่าเรื่องราวได้ชัดเจนมากขึ้น”

คิดว่ามีจุดไหนที่วงการ Production ในไทยยังพัฒนาได้อีก?

“น่าจะเป็นเรื่องระยะเวลาในการทำงานต่อวัน หลายๆ ครั้งทีมงานต้องทำงานติดต่อกันเป็นเวลายาวนานถึง 16-20 ชั่วโมง ซึ่งไม่ดีต่อสุขภาพและชีวิตเลย รวมถึงมาตรฐานความปลอดภัยหลายๆ อย่างด้วยที่เราน่าจะช่วยกันยกระดับมากขึ้น”

อยากทำงานร่วมกับศิลปินคนไหนอีก?

เพื่อน: “ถ้าฟุ้งๆ ศิลปิน Global เลย อยากทำให้ Billie Eilish เคยฟังมาว่าเวลาเขาทำเพลง เขาจะมีภาพ visual ในหัวที่ชัดมากๆ ออกมาพร้อมกันกับเพลงเลย น่าสนใจมากๆ ค่ะ”

แองจี้: “ถ้าเป็นศิลปินคนไทย อยากทำงานให้คุณ Tangbadvoice ค่ะ เพราะทุกเพลงของเขาจะเล่าเหมือนเป็นหนังเรื่องนึง น่าสนุกค่ะ”

ฝากผลงานหน่อย

“จริงๆ ก็ถือว่าพวกเรายังใหม่อยู่นะ มีอะไรต้องเรียนรู้และลองผิดลองถูกอีกเยอะเลย ยังไงก็ฝากทีม affogato.project ไว้ด้วยนะคะ กำลังค่อยๆ เติบโตขึ้นค่ะ งานส่วนใหญ่เน้นไปที่มิวสิควีดีโอ แต่ถ้ามีโอกาสก็อยากไปแตะโซนซีรีส์และภาพยนตร์ดูบ้างค่ะ ยังไงสามารถติดตามผลงานและ process ต่างๆ ได้ทาง instagram @affogato.project นะคะ”

© 2021 Art of. All rights reserved.

  083-138-5607
contact@artofth.com

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save